Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เครื่องถ้วยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์

Posted By Plookpedia | 10 มิ.ย. 60
6,233 Views

  Favorite

เครื่องถ้วยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์

 

ธนบุรีเป็นเมืองหลวงต่อจากกรุงศรีอยุธยา ในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งราชวงศ์จักรี ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงย้ายเมืองหลวงจากธนบุรีไปอยู่ที่กรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯ ปัจจุบันวัฒนธรรมประเพณี และงานศิลปกรรมต่างๆ ยังคงสืบทอดมาจากสมัยอยุธยา ในเรื่องเครื่องปั้นดินเผาหรือเครื่องถ้วยที่ใช้ในชีวิตประจำวันยังคงผลิตต่อมา เป็น พวกหม้อข้าว หม้อแกง หม้อน้ำ ครก ไห แบบต่างๆ ส่วนเครื่องถ้วยที่มีคุณภาพที่ใช้อยู่ในราชสำนักหรือบ้านขุนนางและคหบดีนั้น มักจะนิยมสั่งทำจากเมืองจีน โดยให้รูปแบบลวดลายไป ดังเช่นในสมัยอยุธยา ด้วยมีพ่อค้าจีนเข้ามาค้าขายมาก ประกอบกับราชสำนัก และขุนนางผู้ใหญ่ ก็มีสำเภาจัดสินค้าพื้นเมืองออกไปขายยังเมืองจีนด้วย จึงสะดวกแก่การสั่งทำเครื่องถ้วยชามตามความสวยงามที่ตนต้องการ ไทยจึงมีเครื่องถ้วยเบญจรงค์และเครื่องถ้วยลายน้ำทองมาใช้ ในสังคมไทยอย่างมากมายและขยายความนิยมออกไปยังคนสามัญทั่วไปด้วย จากลักษณะเนื้อดินและร่องรอยของเทคนิคการเผาบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์บางใบ มีลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยญี่ปุ่น ที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาแถบอะริตะมาก จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่า นอกจากการสั่งทำที่เมืองจีนหรือพ่อค้าจีนคิดทำเลียนแบบลายไทยส่งมาขายแล้ว อาจมีการสั่งทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทองจากญี่ปุ่น สืบต่อจากสมัยอยุธยาก็เป็นได้

 

โถลายน้ำพร้อมฝา
โถลายน้ำทองพร้อมฝา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ชุดชา
ชุดชา เครื่องถ้วยจักรี



การผลิตเครื่องถ้วยลายน้ำทองของคนไทย ที่สำคัญคือ "เตากรมพระราชวังบวร"ซึ่งกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตั้งเตาถ้วยชามเขียนลายไทย แบบเครื่องถ้วยลายน้ำทองขึ้น ที่มีชื่อมากคือ กระโถนค่อม และในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีขุนนางบางคน เช่นพระยาสุนทรพิมล (เผล่ วสุวัต) ได้นำช่างจีนมาทำเครื่องถ้วยในเมืองไทย โดยตั้งเตาเผาไว้ที่ในบริเวณบ้านของท่านเอง และสั่งทำถ้วยชามสีขาวมาจากจีน แล้วให้ช่างเขียนลายแบบไทยขึ้น โดยวิธีเขียนสีลงยาบนเคลือบ (overglaze enamels) เป็นลายวรรรณคดี และลายไทยต่างๆ

จากการที่ต้องติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น ตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา ราชสำนักไทยเริ่มนิยมเครื่องถ้วยจากตะวันตก อันทำให้วัฒนธรรมในด้านชีวิตความเป็นอยู่เริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเรื่องการรับประทานอาหาร นั่นคือ มีการนั่งโต๊ะแบบตะวันตก ใช้ช้อนส้อม เครื่องถ้วยชามเริ่มมีรูปแบบแปลกๆ เพิ่มขึ้น เช่น มีชุดกาแฟ เหยือกน้ำ ชามอ่าง สำหรับใส่เหล้า ผลไม้ แจกันแบบต่างๆ เพื่อใช้ประดับโต๊ะและห้องต่างๆ เครื่องถ้วยจีน และญี่ปุ่นก็ยังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดลายครามจีน ซึ่งทำขึ้น สำหรับตั้งโต๊ะ ถึงกับมีการประกวดโต๊ะกัน ในโอกาสต่างๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดทั้งเครื่องถ้วยตะวันตก และเครื่องถ้วยจีน เช่น เครื่องถ้วยชุดน้ำชาจักรี เป็นชุดชาลายดอกเดซีสีต่างๆ ๙ สี โดยมีเครื่องหมายพระราชวงศ์ คือ จักรและตรี ปรากฏบนฝา และที่ใต้ก้นถ้วยชา ซึ่งทรงสั่งทำจากโรงงานแซฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส และเครื่องถ้วยชุดลายอักษรพระนาม จ.ป.ร. ซึ่งทรงสั่งทำจากจีน โดยใช้ลายอักษรพระนามาภิไธยย่อในพระองค์ ผูกเป็นลายออกมา ๑๒ แบบ คือ ลายอักษรพระนาม เลียนแบบลายจีนอย่างหนังสือใหญ่ ลายยี่ยาว ลายยี่ซ้อน ลายยี่คด ลายยี่ขัด ลายยี่ขอดขัด ลายยี่สยาม ลายกระแปะ ลายกระแปะฮ่อ ลายฮ่อเครื่องมงคล ลายลูกไม้ค้างคาว และลายลูกไม้อักษรพระนาม

หลังจากสิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว ความนิยมในเครื่องถ้วยยุโรปมีมากขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าเครื่องถ้วยจีนและญี่ปุ่นจะยังคงนิยมอยู่เช่นเดิม สามารถหาซื้อได้ตลอดมา จนปัจจุบัน ส่วนเครื่องถ้วยเบญจรงค์ และลายน้ำทองของไทยก็ลดความนิยม ไม่มีการสั่งทำอีก มีแต่สะสมของโบราณ ไว้เป็นมรดกสืบทอดต่อมาเท่านั้น 

อย่างไรก็ดีปัจจุบันการผลิตเครื่องถ้วยยังมีโรงงานหลายแห่งดำเนินการอยู่ มีทั้งที่ผลิตเครื่องถ้วยแบบเดิม ทั้งรูปแบบเก่า และด้วยเทคนิคแบบเดิม กับที่มีการพัฒนาปรับรูปแบบให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยมีรูปแบบที่เป็นสากล ทั้งสีสัน และลวดลาย ที่ประดับ สำหรับเครื่องถ้วยที่เลียนแบบของเก่า มีหลายโรงงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า แต่ละแห่งนั้น คุ้นเคย และสนใจ เครื่องถ้วยโบราณแบบใด เช่น เครื่องดินเผาประเภท หม้อน้ำ คนโท หม้อทะนน หม้อข้าว หม้อแกง ซึ่งเดิมเรียกว่า หม้อบาง จากตะนาวศรี ก็ยังคงมีผลิตอยู่ในแถบจังหวัด นนทบุรี และที่เกาะเกร็ด และเรามักจะเห็นว่ามี จำหน่ายมากที่แถวสะพานสูง บางซื่อ นอกจากนี้ ยังมีผลิตแถวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในภาค อีสานบางจังหวัด สำหรับคนโทหรือน้ำต้นยังพบว่า มีการผลิตที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง การสืบทอดรูปแบบเครื่องถ้วยสังคโลกของสุโขทัย และเครื่องถ้วยล้านนาจากเตาเวียงกาหลงและสันกำแพง ก็มีหลายโรงงาน ทั้งในจังหวัดสมุทรสาคร อำเภอกระทุ่มแบน ตำบลอ้อมน้อย ที่จังหวัดสุโขทัย มีทั้งในเขตเมืองเก่า และที่อำเภอศรีสัชนาลัย และในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง ซึ่งล้วนแต่ทำได้สวยงามและคล้ายคลึงของเก่ามากทีเดียว

เครื่องถ้วยเบญจรงค์และเครื่องถ้วยลายน้ำทอง ก็มีหลายโรงงานที่ให้ความสนใจผลิตสืบต่อมา โดยทำได้อย่างสวยงามและประณีต บางโรงงานทำเลียนแบบของเก่าได้ดี ทั้งสีสัน และการตกแต่งลวดลาย ที่สวยงามจริงๆ ก็มีราคาสูงมากเช่นกัน เพราะทำยาก หลายขั้นตอน ต้องใช้ความละเอียดในการลงยาสีและการเขียนทอง ซึ่งช่างต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ โรงงานที่ผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง มีอยู่ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอมีนบุรี กรุงเทพฯ และสุพรรณบุรี

 

ขึ้นรูป
การขึ้นรูปเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทองในปัจจุบัน
เตาเผา
ลักษณะการนำภาชนะเข้าเผา ในเตาแบบสมัยใหม่



ยิ่งกว่านั้นโครงการศิลปาชีพพิเศษ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรผู้ยากไร้ ให้ได้มีอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยทรงให้หาครูมาสอนการทำเครื่องปั้นดินเผาแก่ประชาชนที่สนใจ ที่บ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร โปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งลวดลายที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากลวดลายประเพณี เพื่อให้นักเรียนของมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ ได้มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ดังนั้นเครื่องปั้น ดินเผาของบ้านกุดนาขาม แม้ว่าจะมีรูปแบบคล้าย ของโบราณแต่ลวดลายที่เขียนประดับจะเป็นภาพ พระบรมสาทิสลักษณ์และลายธรรมชาติ เช่น ลาย นก ลายดอกไม้ไทย และลายสัตว์ป่าหายาก เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่เป็น เอกลักษณ์ของงานศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาล ที่ ๙ ที่โดดเด่นประเภทหนึ่ง 

ดังนั้นจึงเป็นที่น่ายินดี ที่ศิลปะการทำเครื่องถ้วยของไทยคงจะไม่สูญไป เมื่อมีช่างที่สนใจสืบทอดศิลปะแขนงนี้ต่อมาและประชาชนก็ให้ความสนใจ ซื้อหาไว้ใช้เป็นของขวัญ ของกำนัลและสะสมให้เป็นมรดกแก่ลูกหลายสืบไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow