Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เครื่องถ้วยสมัยอยุธยา

Posted By Plookpedia | 10 มิ.ย. 60
6,610 Views

  Favorite

เครื่องถ้วยสมัยอยุธยา

 

สมเด็จพระเจ้าอู่ทองหรือพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงตั้งอยุธยาเป็นราชธานี ใน พ.ศ. ๑๘๙๓ นับจากนั้นเป็นต้นมา อยุธยาได้เป็นราชธานี มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาเป็นเวลา ๔๑๗ ปี เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ มีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายหลายชาติ ในบรรดาสินค้าที่ซื้อขายกันในอยุธยา ที่น่าสนใจสิ่งหนึ่งคือ "เครื่องถ้วย"อาณาจักรอยุธยาเอง เมื่อได้มีอำนาจเหนือรัฐสุโขทัย ก็ได้พยายามสนับสนุนการผลิตเครื่องสังคโลก ที่มีชื่อเสียงของสุโขทัย ทั้งที่แหล่งเตาเผาศรีสัชนาลัย แหล่งเตาเผาบ้านเตาไห และที่แหล่งเตาเผาวัดพระปรางค์ เพื่อเป็นสินค้า ส่งไปจำหน่ายในหัวเมืองต่างๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นการส่งสินค้าเครื่องถ้วยออกไปขายแข่งกับเครื่องถ้วยจีนที่ถูกรัฐบาลจีนระงับส่งออกชั่วคราว ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ จน พุทธศตวรรษที่ ๒๑ จึงลดความสำคัญลง จนเลิกการผลิต อาจเป็นเพราะรัฐบาลจีนเริ่มส่งเครื่องถ้วยของตนออกไปขายอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งเครื่องถ้วยที่มีรูปแบบแปลกใหม่เรียกว่า เครื่องห้าสี หรือเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ประกอบกับเหตุการณ์สงคราม ภายในอยุธยาเอง หรืออาจเป็นเพราะเครื่อง ถ้วยจากแหล่งเตาเผาใหม่ที่อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี มีคุณภาพไม่ดีพอ ทำให้การผลิต เครื่องสังคโลกต้องเลิกไปในที่สุด 

 

ชามเบญจรงค์
ชามเบญจรงค์ลายสิงห์ สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓
กระโถนเบญจรงค์
กระโถนเบญจรงค์ลายเทพนมสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓



เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง 


เครื่องถ้วยลายเขียนสีที่เรียกว่า เครื่องห้าสี หรือเครื่องถ้วยเบญจรงค์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ที่เขียนลายโดยวิธีลงยา (enamel) ด้วยสีต่างๆ ตั้งแต่ ๓ สีขึ้นไป จีนเรียกว่า อู่ไฉ่ โต้วไฉ่ เฝินไฉ่ และฝาหลั่งไฉ่ ตามเทคนิคการเขียนลายสีที่แตกต่างกันไปของจีน แต่ถ้าเป็นเครื่องถ้วยไทยแล้วหมายถึงเครื่องถ้วยเบญจรงค์อย่างของไทยที่สั่งจีนทำ ใช้รูปแบบลายแบบลายไทย จีนนิยมเครื่องถ้วยลงยาห้าสีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าวั่นลี่และสืบต่อมา จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ราชสำนักไทย สมัยอยุธยาได้สั่งซื้อเข้ามาใช้และต่อมาได้จัดส่งลายไปสั่งทำด้วย โดยสั่งทำเป็นโถปริกและโถฝาขนาดกลาง เขียนเป็นลายกระหนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพนมนรสิงห์ เป็นต้น เครื่องถ้วยเบญจรงค์ของไทย มีทั้งที่สั่งทำที่จิงเต๋อเจิ้นและที่ทำจากเตาเผามณฑลฝูเจี้ยนและกวางตุ้ง เมื่อการใช้เครื่องถ้วยชนิดนี้เป็นที่นิยมในตลาดเมืองไทย เครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่สั่งทำจากจิงเต๋อเจิ้นนั้น มักจะเป็นของใช้ในราชสำนัก เพราะเนื้อดินปั้นละเอียด แกร่ง และบาง ช่างที่ทำมีฝีมือดี และเขียนลายได้ละเอียดสวยงาม 


เครื่องถ้วยลายน้ำทอง 


อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ที่เขียนลาย ด้วยวิธีลงยาเช่นกัน แต่เป็นพวกที่ลงพื้นภาชนะด้วยสีทองที่ทำจากทองคำ เครื่องลายน้ำทองที่ดีๆไทยสั่งทำจากจีนเช่นเดียวกับเครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายน้ำทองนี้ จีนนิยมมากในสมัยราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าคังซี (พ.ศ. ๒๒๐๕-๒๒๖๖) และพระเจ้าหย่งเจิ้น (พ.ศ. ๒๒๖๖-๒๒๗๙) ร่วมรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งน่าจะมีการสั่งทำเครื่องถ้วยน้ำทองจากญี่ปุ่นด้วย

การสั่งทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์ และลายน้ำทองจากจีน คงจะได้สั่งทำสืบต่อมา ในสมัยกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ โดยมีการปรับปรุง และคิดค้นรูปแบบ และลวดลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าธนบุรีนั้นพบว่า ในราชสำนักญี่ปุ่น ก็ใช้เครื่องถ้วยจากประเทศไทย เรียกว่า "เครื่องถ้วยดนบูริ" ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องถ้วยเบญรงค์ หรือลายน้ำทอง ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานเป็นเครื่องบรรณาการ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow