Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศิลปะการใช้ภาษาในวรรณคดีท้องถิ่น

Posted By Plookpedia | 09 มิ.ย. 60
3,497 Views

  Favorite

ศิลปะการใช้ภาษาในวรรณคดีท้องถิ่น

      ถ้อยคำภาษาที่ใช้ในวรรณคดีท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นภาษาที่ใช้ในท้องถิ่น คำภาษาถิ่นที่ใช้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าวรรณคดีที่พบเป็นวรรณคดีของท้องถิ่นใด วรรณคดีท้องถิ่นบางเรื่องมีคำภาษาบาลีหรือภาษาเขมรปะปนอยู่บ้าง ถ้าเป็นวรรณคดีสมัยหลังบางเรื่องอาจใช้คำภาษาไทยกลางด้วย วรรณคดีเก่าแก่ของอีสานและล้านนาจะใช้ศัพท์โบราณซึ่งมีปรากฏในวรรณคดีภาคกลางสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยาด้วยศิลปะการใช้ภาษาในวรรณคดีท้องถิ่นมีหลายระดับโดยขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและเจตนาของผู้แต่งประกอบกับโอกาสและสถานการณ์ในการถ่ายทอด หากผู้แต่งเป็นกวีที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตมีความรู้ด้านอักษรศาสตร์สูงและเป็นการแต่งในโอกาสพิเศษ เช่น แต่งถวายเจ้านาย หรือกวีผู้แต่งมีเวลาขัดเกลาไม่ต้องรีบร้อนเผยแพร่ถ้อยคำภาษาที่ใช้ก็มักมีความประณีตไพเราะสละสลวย งดงามทั้งเสียงและความหมาย แต่ถ้าผู้แต่งเป็นกวีชาวบ้านที่มีความรู้ในวงศัพท์น้อยทั้งยังมีความจำเป็นต้องรีบแต่งให้เสร็จเพื่อนำออกเผยแพร่โดยเร็ว เช่น แต่งเพลงพื้นบ้าน เพื่อใช้ร้องโต้ตอบกันสด ๆ หรือผู้แต่งมุ่งเสนอเนื้อหามากกว่าวรรณศิลป์ถ้อยคำภาษาที่ใช้ก็มักขาดความประณีต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเสียงสัมผัสและการเลือกใช้คำภาษาบาลีให้เหมาะกับความหมาย ตัวอย่างของบทประพันธ์ที่กวีสามารถใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะมีความงามทั้งเสียงและความหมาย ได้แก่ โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่ ของล้านนา ซึ่งพรรณนาความงามของพระราชวังและสิ่งก่อสร้างในเมืองเชียงใหม่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ามังรายว่ามีความแข็งแรงและงดงามเหมือนวิมานของเทวดา ดังนี้

 

มังรายเรืองแรกสร้าง       สรีสถาน

วชิระปราการ                  ใหม่หม้า
       เมโรก่อหินธาร                สูงส่ง งามเฮย
            รังแรกหอตั้งต้า               เพศเพี้ยงพิมานเท

 

 

กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าว่า แต่เดิมมีกำลังรี้พลมากจนไม่อาจนับได้มีรถและทหารที่เก่งกล้าเป็นจำนวนแสนมีช้างม้ามากมายบ้านเมืองมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองและสุขสำราญเป็นที่เลื่องลือ มีแขกเมืองมาเยือนจำนวนมาก มีแต่ความสนุกสนานรื่นรมย์ เทวดาทุกชั้นฟ้าถึงกับชะโงกดู ดังนี้

 

ริพลหมี่อาจอั้น                สังขยา

  แสนส่ำรถโยธา                แก่นกล้า

                 คชสารใช่โยยา                 เหม็งหมื่น พรายเอย

             อัสสะมวลช้างม้า              มากเรื้องเรืองเลา

สุขเกษมใต้ฟ้าโลก             ลือเลา

                                                                                                     สะพรั่งนิรันดร์เมา            ชู่มื้อ

                แขกเมืองมากแกมเกลา      สนุกสนั่น เมืองเอย

          ทุกเทพไธ้ฟ้าหยื้อ              ชู่ชั้นพิมานเล็ง

 

            โคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่ หน้า ๙ - ๑๐

 

วรรณคดีเรื่องวันคารของภาคใต้ บรรยายความโดยเล่นสัมผัสสระในแต่ละวรรคได้อย่างไพเราะและได้ใจความดี ดังนี้

 

ไข้หนาวราวสามเดือน          แต่จะเคลื่อนไม่ไหวหวั่น

     อาการการทั้งนั้น                วันสามซ้อนนอนโศกครวญ

จืดปากอยากปลาทู              เป็นสุดรู้มาหลายเดือน

     บุญญานางมาเตือน             ออกโอษฐ์เอื้อนเตือนภัสดา

 

 นายดั่น วันคาร โสฬสนิมิต หน้า ๖๖

 

กวีผู้แต่งนิราศหริภุญชัยของล้านนา บรรยายภาพการพายเรือและการร้องไห้ของตนที่เศร้าเสียใจเพราะจากนางผู้เป็นที่รักได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ดังนี้

 

แสวแสวพายฟากฟุ้ง            สินธุ์สาย

   สนุกสนั่นนาวาหลาย            หลากเหล้น

         อันเรียมกันแสงฟาย            ฟองเนตร นุชเอ่

           ยลเยื่องใดจักเล้น                หล่อหื้อหายทรวง

 

นิราศหริภุญชัย หน้า ๗๓

 

ตัวอย่างจากมหาชาติของล้านนาตอนหนึ่งซ้ำคำว่า ทุก เพื่อจำแนกสถานที่ต่าง ๆ ให้เห็นว่าพระนางมัทรีได้ตามหาสองกุมารทุกหนทุกแห่ง ดังนี้

 

         ทุกขอกข้างอาราม                ทุกดงรามและป่ากล้วย

ทุกซอกห้วยเครือหนาม          ทุกดงงามป่าไม้

  ทุกแหล่งไหล้เขาเขียว            ทุกรูเปลวปากถ้ำ

ทุกท่าน้ำและลอมคา              ทุกรูผาเหวหาด

        ทุกที่ตาดเหวหิน                   ทุกรูดินและจอมปลวก

 ทุกบวกน้ำและสระหนอง        ทุกหินกองหินก่อ

 ทุกผาช่อผาชั้น                     ดอยดงดันมัวมืด

             นางก๋ไปหยืดร้องหา              ก็บ่หันสองบัวตราหน่อท้าว

                                                                                             ในด่านด้าวแดนใด

 

มหาชาติพายัพฉบับสร้อยสังกร หน้า ๑๔๓

 

ในวรรณคดีอีสานเรื่องขูลูนางอั้ว กวีมีวิธีชมความงามของท้าวขูลูและนางอั้ว ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าตัวละครทั้งสองคงจะสวยงามมาก กวีชมท้าวขูลูว่างามเหมือนพระอินทร์ลงมาวาดและชมนางอั้วว่างามหยดย้อยดั่งภาพวาด ดังนี้

 

โสมสันคือ              ดั่งอินทร์ลงแต้ม

 ชื่อว่าขูลูน้อย           เสมอตาพระบาท

ขูลูนางอั้ว หน้า ๖ 

อั้วเคี่ยมน้อย           งามย้อยดั่งเขียน

 

ตัวอย่างของการชมธรรมชาติในวรรณคดีอีสาน เช่น ในเรื่องขุนทึงตอนขุนทึงประพาสป่า ผู้แต่งบรรยายภาพสัตว์และดอกไม้เห็นภาพได้ชัดเจน ดังนี้

 

  ท้าวก็เข้าป่ากว้าง      มีค่างชะนีหลาย

       หยายยังตัน             ขอบขัณฑ์ขนงกว้าง

         มีทังราชสีห์ช้าง        ทองทวายควายเถื่อน

เลื่อนเลื่อนเค้า          เป็นเจ้าหมู่พล

     ขุนทึง หน้า ๑๑๒   

เป็นสถานกว้าง       มาลาบานเฮื่อ

                เหลือกิ่งก้าน          คือบ้านประเทศหลัง นั้นเด

 มีทังอาฮวนเค้า       ดำดวนภูมเรศ

 ดอกเกดแก้ว          ทองเข้มจิ่มผา

                                                                                                      มีทังจำปาซ้อน       จำปีฮสฮ่วง

       พวงพี่ต้น              เหลือล้นดอกเจียง

ขุนทึง หน้า ๑๒๓    

 

ในวรรณคดีล้านนาชื่อ คร่าวสี่บทของพญาพรหมโวหาร กวีพรรณนาความรู้สึกเศร้าเสียใจได้อย่างลึกซึ้ง เช่น พรรณนาความรู้สึกเศร้าเสียใจที่สูญเสียนางไปว่า เมื่อนางจากไปเขาอยู่ข้างหลังแทบไม่รู้สึกตัวเหมือนคนบ้าคนเมาถึงกับบางมื้อลืมกินข้าวกินน้ำเหยียบแผ่นดินก็รู้สึกหวิว ๆ หวาว ๆ เหมือนตัวลอยดังความที่ว่านี้

 

ลุนหลังนายพี่เมาซวนซุก        ปานเพศบ้าเมาวิน

           ข้าวและน้ำลางคาบลืมกิน       ย่ำเทียวดินหวิดหวาวลุ่มใต้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow