Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นภาคใต้

Posted By Plookpedia | 09 มิ.ย. 60
2,610 Views

  Favorite

การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นภาคใต้

      ภาคใต้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึง พระสงฆ์ที่มีความรู้ฉลาดหลักแหลมของสุโขทัยในขณะนั้นว่ามาจากนครศรีธรรมราช วรรณคดีภาคใต้ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาน่าจะมีอยู่มากมาย อย่างไรก็ตามจากการสำรวจในขณะนี้พบว่าวรรณคดีจำนวนหนึ่งเขียนโดยใช้อักษรขอมโดยเฉพาะวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาซึ่งยังจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดจึงจะสรุปได้ว่ามีเนื้อหาอย่างไรและน่าจะแต่งขึ้นในสมัยใด  วรรณคดีที่ใช้อักษรไทยเท่าที่สำรวจได้ขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงปีที่แต่ง ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์    นักวิชาการทางวรรณคดีของภาคใต้กล่าวว่าวรรณคดีที่เขียนบนสมุดข่อยหรือที่เรียกว่า "หนังสือบุด" ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน  ส่วนใหญ่มีอายุประมาณ ๑๕๐ - ๒๐๐ ปี อาจกล่าวได้ว่าน่าจะเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่แต่งสำหรับสวดโดยแต่งด้วยกาพย์ ๓ ชนิด คือ กาพย์ฉบัง กาพย์ยานี และกาพย์สุรางคนางค์  ซึ่งเรียกว่า ราบ ๓๒ และ ๒๘ หลายเรื่องได้รับอิทธิพลจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พาลีสอนน้องคำกาพย์และคำกาพย์เรื่องโคบุตร เรื่องพระอภัยมณี เรื่องชาลวัน เรื่องศรีธนญชัย และเรื่องลักษณวงศ์ กวีหรือนักเขียนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นภิกษุหรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน วรรณคดีภาคใต้มีหลายประเภทเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นคือวรรณคดีพระพุทธศาสนา เช่น พระมหาชาดก กายนครคำกาพย์ วรรณคดีคำสอน เช่น กฤษณาสอนน้อง สุภาษิตร้อยแปด สุภาษิตสอนหญิง วรรณคดีพิธีกรรม เช่น บททำขวัญนาค บททำขวัญเรือบททำขวัญข้าว วรรณคดีตำนานว่าด้วยความเป็นมาของศาสนสถานที่สำคัญ ๆ เช่น ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานการสร้างพระปรางค์เมืองหงสา วรรณคดีนิทานที่รู้จักกันแพร่หลายในภาคใต้ เช่น เรื่องพระสุธนมโนห์รา นางสิบสอง นกกระจาบ สุบิน นายดั่น และวันคาร วรรณคดีนิราศ เช่น นิราศเกาะสมุย นิราศถ้ำเขาเงิน นิราศพัทลุง นิราศเสือขบ

 

วรรณคดีภาคใต้ที่เขียนบนสมุดข่อยสีขาว
วรรณคดีภาคใต้ที่เขียนบนสมุดข่อยสีขาวที่เรียกว่า บุดขาว บางเรื่องมีภาพประกอบสวยงาม

 

      วรรณคดีมุขปาฐะของภาคใต้ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านภาคใต้สำคัญ ได้แก่ เพลงบอกและเพลงกล่อมเด็ก เพลงบอกเป็นเพลงที่ใช้ขับร้องบอกข่าวสารต่าง ๆ มีหลายทำนอง ส่วนเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้ที่เรียกว่า "เพลงชาน้อง" หรือ "เพลงร้องเรือ" พบเป็นจำนวนมากกว่าภาคอื่น ๆ เพลงกล่อมเด็กของภาคใต้หลายบทมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวรรณคดีที่รู้จักกันดีในท้องถิ่น ในด้านนิทานพื้นบ้านของภาคใต้เท่าที่มีผู้รวบรวมไว้ก็มีหลายประเภทโดยในกลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามมีเพลงกล่อมเด็กและนิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาต่างออกไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow