หลับเหอ หลับตารี่รี่
น้องนุ้ยของพี่ รู้ปักหัวหมอน
ปักลายขี้นิด ลายติดขี้หนอน
ปักเพชรยาธร ร่อนรำเวหา
ปักเป็นตัวกุ้ง พวยพุ่งลงมา
ปักเป็นตัวปลา ว่ายน้ำสู่วัง
ปักเป็นเข้ทอง เที่ยวลอยล่องหาฝั่ง
ปักเป็นชาววัง แห่ห้อมล้อมนวลน้อง เหอ...
เพลงกล่อมเด็กข้างต้นนี้เป็นเพลงร้องในท้องถิ่นภาคใต้ เรียกว่า เพลงร้องเรือ เพลงนี้บรรยายภาพหมอนซึ่งปักเป็นรูปต่าง ๆ เด็กน้อยมีความสุขเมื่อนอนเปลฟังเสียงแม่เห่กล่อม
... อื่อ ชา ชา อื้อ อือ ชา ชา หลับสองตา
แม่นายมาคำหล้าค่อยตื่น หลับบ่ชื่น นายค่อยหลับแถม
อื่อ ชา ชา อื้อ อือ ชา ชา...
เพลงกล่อมเด็กและคำร้องประกอบการเล่นของเด็กในภาคเหนือมีมากมายหลายสำนวนภาคกลางก็มีหลายเพลงที่ไพเราะน่าฟัง คำสอนเตือนใจของคนอีสาน เรียกว่า คำผญา เช่น สอนว่า
... คำปากพ่อแม่นี้ หนักเกิ่งธรณี
ใผผู้ยำแยงนบ หากจักเฮืองเมื่อหน้า...
แปลว่า คำพูดของพ่อแม่มีน้ำหนักครึ่งแผ่นดินใครเคารพเชื่อฟังก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต บทเพลง บทกลอน นิยาย นิทาน ที่แต่งขึ้นหรือแพร่หลายอยู่ในท้องถิ่นใดก็เรียกได้ว่าเป็น "วรรณคดีของท้องถิ่น" นั้น วรรณคดีท้องถิ่นมีหลายประเภท แสดงถึงความรู้ ความงาม ความสนุกสนานร่าเริง และความสัมพันธ์ใกล้ชิด ในครอบครัวของคนไทยวรรณคดีท้องถิ่นมีคุณค่าทางวัฒนธรรมและปลูกฝังความดีงามในจิตใจคนไทยทุกวัยทุกท้องถิ่น เราจึงควรศึกษาและธำรงไว้มิให้สูญสิ้นไป
วรรณคดีท้องถิ่น มีทั้งเรื่องราวบอกเล่า ร้อง ขับขานเป็นคำคล้องจอง และทำนองไพเราะ และเขียนเป็นภาษาท้องถิ่น ใช้สำนวนโวหารเปรียบเทียบเพื่อเป็นคติสอนใจบรรยายความงาม บางเรื่องเป็นนิทาน บางเรื่องเป็นเรื่องราวทางศาสนา และบางเรื่องเป็นตำนานความรักของคนหนุ่มสาว
วรรณคดีท้องถิ่นเกิดจากปัจจัยสนับสนุน ที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑) ศาสนา
๒) ชนชั้นสูงในท้องถิ่น และ
๓) วิถีชีวิตในท้องถิ่น
พระสงฆ์และผู้ที่เคยบวชเรียนได้ศึกษาพุทธประวัติชาดกและหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้วแต่งเป็นเรื่องราวสำหรับสวดและแสดงพระธรรมเทศนา อีกทั้งชาวบ้านมีความเชื่อในการสร้างหนังสือทางศาสนาเพื่อถวายวัดเป็นพุทธบูชาว่าได้บุญกุศลจึงทำให้มีวรรณคดีชาดกภาษาท้องถิ่นหลายสำนวน ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามก็มีเรื่องเล่าประเภทนิทานนิยายและบทเพลงกล่อมเด็กที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนา
วรรณคดีท้องถิ่นส่วนใหญ่แต่งโดยกวีชาวบ้านแต่มีบางเรื่องแต่งโดยกวีที่เป็นพระสงฆ์ที่มีความรู้และชนชั้นสูงในราชสำนัก มีถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะและมีลักษณะคำประพันธ์หลายรูปแบบ
วิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น มีการทำมาหากินและการพักผ่อนบันเทิงจึงมีบทร้องรำ นิทาน นิยาย เกิดขึ้นมาก เป็นวรรณคดีที่ใช้ภาษาของท้องถิ่นนั้น ๆ วรรณคดีท้องถิ่นได้เนื้อเรื่องและแนวความคิดมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ พุทธประวัติและชาดก เรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานที่สำคัญบุคคลสำคัญของท้องถิ่น นิทานพื้นบ้าน เรื่องแต่งจากภาคกลางที่แพร่หลายเข้าไปในท้องถิ่นตลอดจนประสบการณ์ส่วนตัวและจินตนาการของกวี จิตรกรรมฝาผนังในวัดในท้องถิ่นหลายแห่งเป็นภาพวาดแสดงเรื่องราวจากวรรณคดีท้องถิ่น
วรรณคดีในท้องถิ่นภาคเหนือหรือล้านนา
วรรณคดีลายลักษณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือส่วนใหญ่เขียนลงบนใบลานและสมุดข่อย ในสมัยโบราณแต่งเป็นภาษาบาลีมีเรื่องราวตามคติพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นก็มีวรรณคดีที่แต่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่ให้คติคำสอน เช่น โคลงเจ้าวิทูรสอนโลก นิทานหลายเรื่องนำมาจากชาดก เช่น เรื่องฉัททันต์ และที่แต่งเลียนแบบชาดก เช่น เรื่องหงส์หิน เจ้าสุวัต สังข์ทอง ควายสามเขา
วรรณคดีที่ใช้วิธีขับร้องสู่กันฟัง ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นของเด็ก และบางทีก็มีดนตรีประกอบ ได้แก่ การร้องโต้ตอบระหว่างพ่อเพลงและแม่เพลงที่เรียกว่า "ซอ" ช่างซอชายและช่างซอหญิงจะซอเล่านิทานและเหตุการณ์ในท้องถิ่นบ้าง สอนคติธรรมทางพระพุทธศาสนาบ้างหรือเป็นการเกี้ยวพาราสีกันของหนุ่มสาว
วรรณคดีในท้องถิ่นอีสาน
คนอีสานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลาวเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกันใช้ภาษาและตัวอักษรเขียนแบบเดียวกัน กวีชาวอีสานส่วนมากเป็นพระสงฆ์หรือผู้เคยบวชเรียนมาก่อนซึ่งต่อมาก็ได้แต่งและเขียนเรื่องเป็นภาษาไทย วรรณคดีอีสานที่แพร่หลาย คือ เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ขูลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ กาพย์ปู่สอนหลาน และกาพย์หลานสอนปู่ เชียงเหมี้ยง ส่วนวรรณคดีอีสานที่เป็นชาดก เช่น เรื่องมโหสถ เตมีย์ สุวรรณสาม และมหาเวสสันดรชาดก นอกจากนี้มีวรรณคดีพิธีกรรม นิทาน คำสอน ตำนาน ตลอดจนเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า หมอลำ ซึ่งใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ
วรรณคดีในท้องถิ่นภาคใต้
ส่วนใหญ่แต่งเป็นกาพย์ฉบัง กาพย์ยานี และกาพย์สุรางคนางค์ วรรณคดีภาคใต้มีหลายประเภทเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่น ได้แก่ วรรณคดีพระพุทธศาสนา วรรณคดีคำสอน วรรณคดีพิธีกรรม วรรณคดีตำนาน วรรณคดีนิทาน เพลงบอก เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งมีผู้รวบรวมไว้จำนวนมาก
ศิลปะการใช้ภาษาและคุณค่าของวรรณคดีท้องถิ่น
วรรณคดีท้องถิ่นใดก็ใช้ภาษาของท้องถิ่นนั้น บางเรื่องอาจมีคำภาษาบาลี ภาษาเขมร และภาษาไทยกลางปนอยู่บ้าง บางเรื่องอาจใช้การบอกเล่าเป็นภาษาพื้นบ้านธรรมดา บางเรื่องที่แต่งโดยกวีก็ใช้ถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะประณีต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอกาสและความมุ่งหมายของการแต่งเรื่องนั้น วรรณคดีท้องถิ่นมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทย ฉายภาพชีวิตและแนวความคิดของคนไทยว่ามีความผูกพันกันในชุมชนยึดมั่นในคุณธรรมและแสดงลักษณะนิสัยของชาวบ้าน ที่รักความสนุกสนาน เจ้าบทเจ้ากลอน วรรณคดีจึงเป็นเครื่องบันเทิงใจทั้งในยามพักผ่อนและในการประกอบพิธีกรรมตามวิถีวัฒนธรรมไทย
ชีวิตคนไทยทุกท้องถิ่นผูกพันกับธรรมชาติ ศาสนา ประเพณี และการทำมาหากิน มีการบอกเล่า ร้อง ขับขาน เป็นตำนาน นิทาน เพลง และคำคล้องจอง ซึ่งมีทำนองไพเราะสนุกสนานฟังแล้วเพลิดเพลิน เรียกว่า วรรณคดีมุขปาฐะ เมื่อมีการเขียนแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นในสมัยก่อนจึงมีตำราจารึกในคัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย สมุดสา และหนังสือ เป็นวรรณคดีลายลักษณ์ที่ใช้ภาษาและคำประพันธ์ของท้องถิ่นนั้น