Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การประยุกต์ใช้ตู้พระธรรมในปัจจุบัน

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
1,083 Views

  Favorite

การประยุกต์ใช้ตู้พระธรรมในปัจจุบัน

      บรรดาตู้พระธรรมที่มีอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักรนั้นส่วนหนึ่งมีประวัติความเป็นมากล่าวคือ เมื่อแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการประกาศจัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณเป็นหอพระสมุด สำหรับพระนครนั้นมีกระแสพระราชดำริว่าควรใช้ตู้ลายทองรดน้ำของเก่า (ตู้พระธรรม) เป็นตู้สำหรับใส่หนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการหอพระสมุดได้ทราบว่ามีอยู่ตามวัดโดยมากจึงให้ราชบัณฑิตไปขอจากพระสงฆ์ผู้เป็นเจ้าของ พระสงฆ์ส่วนมากยินดีถวายให้แก่หอพระสมุดสำหรับพระนครเพื่อสนองพระราชประสงค์จึงทำให้ได้ตู้และหีบลายทองรดน้ำรวมทั้งตู้ลายจีนตู้ประดับกระจกและอื่น ๆ มาเป็นสมบัติของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจำนวนมาก
      ตู้พระธรรมที่ได้มาในคราวนั้นส่วนมากด้านหลังตู้ไม่ได้ตกแต่งด้วยลายทองมีแต่ลงรักทึบซึ่งมีทั้งรักแดงและรักดำมีที่ลงรักปิดทองทึบและตกแต่งลวดลายบ้างแต่เพียงส่วนน้อย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเป็นกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครทรงดำริให้ช่างทำประตูตู้ขึ้นใหม่เฉพาะตู้ที่ด้านหลังมิได้ตกแต่งด้วยลายทองให้ทำเป็นประตูกระจกเพื่อใช้เปิดปิดแทนด้านหน้าเป็นการป้องกันมิให้ภาพลายทองหมอง
      ปัจจุบันตู้ดังกล่าวมิได้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติเพียงแห่งเดียวบางส่วนอยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพมหานคร โดยตั้งแสดงรวมไว้กับศิลปวัตถุอื่น ๆ ให้ประชาชนได้ชม ส่วนตู้ที่อยู่ในความดูแลของหอสมุดแห่งชาติปัจจุบันเลิกใช้เป็นที่เก็บหนังสือแล้วแต่ยังเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ในอาคารหอพระสมุดวชิรญาณในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร และให้บริการเพื่อส่งเสริมการศึกษาศิลปะลายไทยและให้ความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมความเจริญของชาติโดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าชมและศึกษาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะตู้เหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นวิวัฒนาการของกิจการหอสมุดแห่งชาตินับแต่แรกเริ่มเท่านั้น ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในทางศิลปวัฒนธรรมของชาติและเป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญของไทยในด้านหนังสือ อักษรศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะลวดลายที่ตกแต่งประดับอยู่ที่ตู้เหล่านั้นล้วนแต่มีลักษณะสุนทรียภาพทางศิลปะอย่างยอดเยี่ยมซึ่งช่างไทยแต่โบราณได้บรรจงสร้างสรรค์ไว้อย่างวิจิตรงดงามยากที่จะถ่ายทอดด้วยลายลักษณ์อักษรให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow