Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนวคิดเกี่ยวกับตู้พระธรรม

Posted By Plookpedia | 08 มิ.ย. 60
1,580 Views

  Favorite

แนวคิดเกี่ยวกับตู้พระธรรม

      ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าคนไทยเริ่มใช้ตู้พระธรรมมาตั้งแต่เมื่อใด แม้ในศิลาจารึกจะได้กล่าวถึงการสร้างวัสดุสิ่งของหลายสิ่งหลายอย่างถวายวัดเพื่อเป็นพุทธบูชาหรืออุทิศไว้กับพระพุทธศาสนาตามที่ต่าง ๆ  แต่ก็ไม่ได้ปรากฏข้อความในที่ใด ๆ  บ่งบอกว่าได้มีการสร้างตู้หรืออุทิศตู้ให้แก่วัดหรือพระพุทธศาสนาคงมีแต่คำบางคำปรากฏอยู่ในศิลาจารึกบางหลักซึ่งอาจนำมาพิจารณาใช้เป็นแนวคิดที่จะช่วยให้คลี่คลายปัญหานี้ได้ เช่น คำว่า พระธรรมมณเฑียร หอปิฎก หอพระปิฎกธรรม คำเหล่านี้ หมายถึง อาคารหรือสถานที่เก็บพระไตรปิฎกหรือพระธรรมคัมภีร์เรียกตามความนิยมในปัจจุบันว่าหอพระไตรปิฎกหรือหอไตร คำเหล่านี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลายหลัก ดังจะได้ยกตัวอย่างพอเป็นสังเขป ดังนี้

๑. ศิลาจารึกวัดช้างล้อม (หลักที่ ๑๐๖) จังหวัดสุโขทัย

      ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัยภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๔๑ - ๔๒ ความว่า "แล้วจึงมาตั้งกระทำหอพระปิฎกธรรมสังวรใจบูชาพระอภิธรรม"

๒. ศิลาจารึกจังหวัดเชียงราย (หลักที ๘๗)

       จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย - บาลี เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๑ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๙ - ๑๐ ความว่า "หื้อไม้สักแปลงพิหารทั้งหอปิดก"

๓. ศิลาจารึกวัดป่าใหม่ (หลักที่ ๑๐๑)

      ปัจจุบันอยู่ที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ อำเภอเมืองฯ จังหวัดพะเยา จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๐ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๓ - ๑๔ ความว่า "ไว้กับอุโบสถห้าครัว ไว้กับหอปิฎกห้าครัว"

๔. ศิลาจารึกวัดพระธาตุ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ (หลักที่ ๗๑) จังหวัดลำพูน

       จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๒ ความว่า "จึงให้สร้างพระธรรมมนเทียรอันอาเกียรณ์"

๕. ศิลาจารึกวัดศรีอุโมงคำ (หลักที่ ๑๐๕) อำเภอเมืองฯ จังหวัดพะเยา

       จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๖ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗ ความว่า "๕๕๐ เงินไว้กับหอปิฎก"
   

    พิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกซึ่งได้ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ทำให้ทราบว่าการสร้างอาคารหรือสถานที่เก็บรักษาหนังสือมีปรากฏมานานแล้ว อย่างน้อยน่าจะไม่ต่ำกว่าพ.ศ. ๑๙๒๗ ดังนั้นเมื่อมีอาคารซึ่งใช้เป็นที่เก็บหนังสือแล้วจึงอาจสันนิษฐานต่อไปได้อีกว่าการจัดเก็บหนังสือภายในอาคารนั้นน่าจะมีสิ่งรองรับหนังสือซึ่งควรต้องมีขนาดและรูปทรงอันเหมาะสมสำหรับการใช้เป็นที่เก็บรักษาหนังสือหรือคัมภีร์ใบลาน ขณะเดียวกันสิ่งที่ใช้เก็บหนังสือนั้นก็ควรต้องให้มีลักษณะสภาพที่มองดูแล้วเกิดความรู้สึกว่าเป็นของสำคัญมีคุณค่าสูงยิ่งและการที่จะพูดถึงหนังสือหรือวัสดุที่ใช้สร้างหนังสือว่าเป็นสิ่งสำคัญนั้นมีข้อความบางประการปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยบางหลัก ดังนี้คือ

๑. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย
      จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๙ ความว่า "โอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร"
๒. ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร จังหวัดสุโขทัย
      จารึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย ภาษาเขมร เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๔ - ๔๗ ความว่า "พระบาทกัมรเดงอัญศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช เสด็จยืนขึ้นยกอัญชลีนมัสการพระพุทธรูปทองและพระไตรปิฎกที่เก็บไว้บนพระราชมนเทียร"

 

คัมภีร์ใบลานที่ใช้สายสนองร้อยรวมกันเป็นผูก
คัมภีร์ใบลานที่ใช้สายสนองร้อยรวมกันเป็นผูก

     

      หนังสือพระไตรปิฎกที่ปรากฏข้อความอยู่ในจารึกดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้นเป็นหนังสือที่จารลงบนใบลานหรือที่เรียกกันว่าหนังสือใบลานหรือคัมภีร์ใบลานนั่นเองมีรูปลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีความยาวมากกว่าความกว้างเรียงซ้อนกันมีสายสนองร้อยรวมเป็นผูก หนังสือใบลานเรื่องหนึ่ง ๆ  หรือคัมภีร์หนึ่ง ๆ นั้น อาจมีจำนวนผูกมากน้อยต่างกันตามความสั้นยาวของเรื่องที่จารลงบนใบลานนั้น แม้จะมีจำนวนผูกเท่าใดก็ตามนับรวมเป็น ๑ คัมภีร์ โดยต้องมีไม้ประกับ ๒ อัน กำกับไว้หน้าหลังมัดรวมกันมีผ้าห่อแล้วมัดด้วยเชือกเสียบฉลากหรือป้ายบอกชื่อคัมภีร์ไว้ที่หน้ามัดด้วยตามลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ทำให้ทราบได้ว่าวัสดุที่ใช้สร้างหนังสือคืออะไร รูปทรงของหนังสือเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงอาจนำรูปลักษณะของหนังสือที่กล่าวถึงนี้ไปเป็นข้อสมมุติฐานถึงสิ่งที่จะใช้เป็นที่รองรับหรือสิ่งที่ใช้เก็บรักษาหนังสือดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีการค้นพบหลักฐานว่าหนังสือเหล่านั้นเก็บในที่ใด มีวิธีการเก็บอย่างไรในสมัยที่ปรากฏเรื่องราวอยู่ในจารึกเหล่านั้น แต่อาจคาดคะเนได้จากข้อมูลทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นว่าหนังสือเหล่านั้นจะต้องมีสิ่งรองรับซึ่งอาจเป็นหีบ ตู้ หิ้ง ชั้น ตั่ง โต๊ะ หรือวัสดุที่มีรูปลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มีการสร้างมาแล้วหรืออาจจะสร้างพร้อม ๆ กับการสร้างหนังสือก็ได้

หีบพระธรรม
หีบพระธรรม

 

หีบพระธรรม
หีบพระธรรมรูปทรงแบบหนึ่ง


      ในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่พบในบริเวณเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๓๔ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๔๑ ความว่า "หีบจีน ๕๒๐ ใบ" บรรทัดที่    ๖๗ - ๗๒ ความว่า "ศรีชยราชธานี ศรีชยันตนครี ชยสิงหวตี ศรีชยวีรวตี ละโว้ทยปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกปัฏฏนะ ชยราชปุรีศรีชยสิงหปุรี ศรีชยวัชรปุรี ศรีชยสตัมภปุรี ศรีชยราชคิริ ศรีชยวีรปุรี ศรีชยวัชรวตี…" ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๓ ความว่า "จากเมืองหลวงไปยังเมืองวิมาย (มี) ที่พักพร้อมด้วยไฟ ๑๗ แห่ง"   เมื่อพิจารณาข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ข้างต้นนี้มีการกล่าวถึงชื่อเมืองบางเมืองซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นเมืองที่อยู่ในเขตของประเทศไทยปัจจุบัน อาทิ เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองสิงห์ และเมืองพิมาย นอกจากชื่อเมืองแล้วยังมีคำว่า หีบจีน  ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญบ่งบอกให้รู้ว่าในช่วงเวลาราว พ.ศ. ๑๗๓๔ นั้น จีนรู้จักใช้หีบใส่วัสดุสิ่งของแล้วและยังได้ให้แบบอย่างการใช้หีบแก่ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย หีบจีนในสมัยนั้นมีรูปลักษณะอย่างไร ไม่อาจทราบได้อย่างถูกต้องแต่อาจสันนิษฐานได้ว่าลักษณะรูปทรงของหีบน่าจะเป็นทรงลูกบาศก์ซึ่งมีขนาดกว้าง แคบ สูง ต่ำ แตกต่างกันไปตามประโยชน์ใช้สอยและก็น่าจะใช้หีบเป็นที่ใส่หนังสือด้วย เพราะในปัจจุบันยังพบว่ามีหีบใส่คัมภีร์ใบลานที่เรียกว่าหีบพระธรรมเป็นหลักฐานให้เห็นอยู่ หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นไปได้หีบใส่หนังสือก็น่าจะใช้กันแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๓๔ และเมื่อมีการสร้างหอพระไตรปิฎกเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์เหล่านั้นก็น่าจะบรรจุอยู่ในหีบเก็บไว้ในหอพระไตรปิฎกนั่นเอง

 

หีบพระธรรม
หีบพระธรรมซึ่งสันนิษฐานว่า แต่เดิมอาจใช้เป็นที่เก็บเสื้อผ้าหรือสิ่งของเครื่องใช้ก็ได้

 

       แม้ว่าการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องตู้จากจารึกต่าง ๆ จะไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนก็ตาม แต่หากพิจารณารูปลักษณะของหีบทรงลูกบาศก์แล้วต่อขาลงมา ๔ ข้าง จะเห็นได้ว่าหีบนั้นมีรูปลักษณะเป็นตู้ไปโดยปริยาย ซึ่งใช้เปิดปิดทางด้านหน้าหากว่าข้อสันนิษฐานนี้เป็นไปได้ก็อาจจะกำหนดไว้เป็นแนวทางในเบื้องต้นว่าการใช้หีบเก็บวัสดุสิ่งของน่าจะมีมาก่อนการใช้ตู้และในสมัยต่อ ๆ มา เมื่อมีตู้ใช้แล้วก็น่าจะได้มีการดัดแปลงรูปลักษณะของตู้ให้สวยงาม มีองค์ประกอบการตกแต่งประดับเพิ่มเติมมากขึ้นมีรูปทรงแปลก ๆ แตกต่างกันออกไปหลายแบบหลายอย่างและมีประโยชน์ในทางใช้สอยได้มากยิ่งขึ้นทำให้ความนิยมในการใช้ตู้มีมากขึ้นเป็นลำดับ  จากหลักฐานที่บ่งบอกว่าหมู่ชนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จักใช้หีบมาแล้วตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และแม้ว่าไม่มีข้อยืนยันว่ามีการใช้ตู้มาแต่เมื่อใดแต่ข้อสันนิษฐานที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะไม่ใช่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘  ดังนั้นในสมัยสุโขทัยซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นอาณาจักรอิสระในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ การใช้หีบหรือตู้ของคนไทยในสมัยนั้นจึงน่าจะได้แบบอย่างสืบต่อมาจากอดีตหรือถ้าได้รับอิทธิพลมาจากจีนลักษณะรูปทรงของหีบหรือตู้ในสมัยนั้นน่าจะเป็นแบบจีนก็ได้

       การใช้หีบและตู้ในหมู่คนไทยคงจะได้รับความนิยมและใช้สืบต่อกันมาจนถึงสมัยอยุธยาซึ่งอยู่ระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ตลอดระยะเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี สันนิษฐานว่าน่าจะได้มีการดัดแปลงรูปลักษณะของตู้ให้มีประโยชน์ใช้สอยได้สะดวกและดูงดงามตามอุปนิสัยของคนไทยจนกลายรูปไปเป็นลักษณะของไทยโดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดจากฐานะของผู้ใช้ หากใช้กันอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไปของชนชั้นกลางหรือชนชั้นสามัญรูปทรงและคุณภาพของตู้ก็คงจะไม่สวยงามหรูหรามากนักอาจทำจากไม้ธรรมดาไม่มีการตกแต่งให้วิจิตรพิสดาร แต่สำหรับชนชั้นสูงและผู้ที่มีฐานะดีซึ่งนิยมใช้สิ่งของที่งดงาม ทรงคุณค่า หรูหรา ราคาแพง ย่อมต้องการให้มีการตกแต่งอย่างละเอียดประณีตงดงาม  

      ตามคติความเชื่อและประเพณีของคนไทยแต่โบราณนิยมสร้างและถวายสิ่งของไว้ให้แก่พระพุทธศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชาบ้าง เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาบ้าง เพื่อให้เกิดอานิสงส์ส่งให้ตนเองได้ไปเกิดบนสวรรค์ในที่บรมสุขได้พบพระศรีอารย์ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตเพื่อให้ได้บรรลุถึงความเป็นผู้เสวยสุขสำเร็จสมปรารถนาถึงพระนิพพานเป็นที่สุดบ้าง หรือเพื่อเป็นการอุทิศผลบุญกุศลผลทานนั้น ๆ  ให้แก่ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ บุพการีผู้ล่วงลับไปแล้วบ้าง สิ่งของที่สร้างให้แก่ผู้อื่นก็ดีถวายแก่พระพุทธศาสนาก็ดีย่อมนิยมทำให้ดีที่สุดมีคุณค่าที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และหากเจาะจงเพื่อพระพุทธศาสนาก็ยิ่งต้องดีจนสุดวิเศษทีเดียว ดังตัวอย่างคำจารึกปรากฏอยู่ที่ตู้พระธรรมหลายตู้ในหอสมุดแห่งชาติ แต่จะยกตัวอย่างเฉพาะตู้หมายเลข กท. ๑๒๗ ขอบล่างด้านหน้า ความว่า "๏ ตู้ใบนี้ นายแกน แม่หนับ แม่ทองอยู่ สร้างเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๒๔๐๘ พระวัสสา ปีฉลู สัปตศก เป็นเงินตรา ๑ ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานเถิด" นอกจากจะสร้างสิ่งของถวายแก่พระพุทธศาสนาแล้วยังนิยมนำสิ่งของชิ้นสำคัญหรือชิ้นที่ดีที่สุดซึ่งผู้เป็นเจ้าของเคยใช้อยู่เมื่อสิ้นชีวิตแล้วทายาทไม่ประสงค์จะเก็บไว้เองจึงได้นำไปถวายวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าของผู้ล่วงลับไปแล้วสิ่งของดังกล่าวนั้นรวมถึงหีบและตู้ด้วย นักปราชญ์บางท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าหีบหรือตู้ที่ถวายไว้แก่พระพุทธศาสนานั้นแต่เดิมผู้เป็นเจ้าของอาจใช้เป็นที่เก็บเสื้อผ้าหรือสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ  ในครัวเรือน เมื่อถวายไว้แก่วัดแล้วพระสงฆ์อาจใช้เป็นที่เก็บพระธรรมคัมภีร์และเมื่อกาลเวลาผ่านไปชื่อที่ใช้เรียกหีบหรือตู้อาจเปลี่ยนไปเรียกตามสิ่งของที่เก็บว่าหีบพระธรรมหรือตู้พระธรรม ในสมัยต่อมาตู้ไทยโบราณอย่างที่เรียกว่า ตู้พระธรรม คนทั่วไปอาจเห็นว่าเป็นของสูงมีคุณค่าจึงนิยมสร้างถวายวัดอย่างเดียวและเลิกสร้างสำหรับใช้ในครัวเรือนไปโดยปริยาย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow