นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีขีดความสามารถในการตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศก็ได้มีการตรวจพบแผ่นดินไหวขนาดกลาง (ประมาณ ๕ ริกเตอร์) จำนวน ๘ ครั้ง และในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านธรณีวิทยาของโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้มีการศึกษารอยเลื่อนที่มีพลังในเขตจังหวัดแพร่โดยกรมทรัพยากรธรณีและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบรอยเลื่อนที่มีพลังที่อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง ๗ ตามมาตราริกเตอร์ อันตรายจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
ตารางแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ ๕ ริกเตอร์ขึ้นไปที่เคยตรวจวัดได้ในประเทศไทย
วัน-เดือน-ปี
|
สถานที่เกิด
|
มาตราริกเตอร์
|
๑๓ พ.ค. พ.ศ. ๒๔๗๘
|
จ.น่าน
|
๖.๕
|
๑๗ ก.พ. พ.ศ. ๒๕๑๘
|
อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
|
๕.๖
|
๑๕ - ๒๒ เม.ย. พ.ศ. ๒๕๒๖
|
อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
|
๕.๓, ๕.๙, ๕.๒
|
๑๑ ก.ย. พ.ศ. ๒๕๓๗
|
อ.พาน จ.เชียงราย
|
๕.๑
|
๙ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๓๘
|
อ.ร้องกวาง จ.แพร่
|
๕.๑
|
๒๑ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๓๘
|
อ.พร้าว จ.เชียงราย
|
๕.๒
|
๒๒ ธ.ค. พ.ศ. ๒๕๓๙
|
พรมแดนไทย-ลาว-พม่า
(ใกล้ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย) |
๕.๕
|
ในช่วง ๘๐ ปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจพบแผ่นดินไหวขนาดกลางถึง ๘ ครั้ง แผ่นดินไหวขนาดกลางนี้สามารถทำลายอาคารบ้านเรือนในรัศมี ๑๐ - ๑๕ กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง หากเกิดขึ้นในบริเวณเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น ตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวในประเทศอียิปต์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีขนาด ๕.๒ ริกเตอร์ มีศูนย์กลางห่างจากกรุงไคโร ๒๐ กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๕๙๓ คน บาดเจ็บมากกว่า ๖๐๐ คน อาคารเสียหายมากถึง ๑๔,๐๐๐ หลัง แต่แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในประเทศไทยมักเกิดห่างไกลจากแหล่งชุมชนจึงไม่เกิดภัยพิบัติแต่ประการใด อย่างไรก็ตามการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมืองอาจทำให้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ในบริเวณพื้นที่ที่อาจเป็นศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวจึงเป็นเรื่องที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจกำกับดูแล
แผ่นดินไหวขนาดใหญ่หมายถึง แผ่นดินไหวขนาด ๖.๕ ริกเตอร์ขึ้นไป ตั้งแต่ได้มีการวัดขนาดแผ่นดินไหวในยุคใหม่ในประเทศไทยก็ไม่เคยปรากฏเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าประเทศไทยจะไม่มีอันตรายจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่
ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมทรัพยากรธรณีและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านธรณีวิทยาของโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและส่วนหนึ่งของการศึกษานี้จึงได้มีการสำรวจรอยเลื่อนที่อยู่ในรัศมี ๑๕๐ กิโลเมตร จากตำแหน่งเขื่อนผลการสำรวจแสดงว่ามีรอยเลื่อนที่มีพลังถึง ๗ รอย ที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง ๗ ริกเตอร์ รอยเลื่อนหลายรอยมีตำแหน่งอยู่ใกล้ตัวเมืองของจังหวัดลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา อย่างไรก็ดีคาบของการเกิดซ้ำ (Return Period) ของรอยเลื่อนแต่ละรอยอาจยาวนานนับ ๑,๐๐๐ ปีหรือ ๑๐,๐๐๐ ปี
กรุงเทพมหานครเป็นชุมชนขนาดใหญ่และหนาแน่นมีประชากรอยู่อาศัยกว่า ๘ ล้านคน มีอาคารสูงเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลา ๒ ศตวรรษที่ผ่านมา มีการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สามารถรู้สึกได้มากกว่า ๒๐ ครั้ง ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจทำให้ตระหนกตกใจแต่ก็ยังไม่เคยสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เมื่อพิจารณาด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวต่ำรอยเลื่อนที่มีพลังที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไป ๑๒๐ - ๓๐๐ กิโลเมตร แต่ก็เป็นรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างน้อยส่วนรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนไหวบ้างอยู่ห่างออกไป ๔๐๐ - ๑,๐๐๐ กิโลเมตร และที่ผ่านมาอาคารสูงส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครไม่ได้ถูกออกแบบให้ต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้