Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไหม (Silkworm: Bombyx mori L.)

Posted By Plookpedia | 08 มี.ค. 60
8,928 Views

  Favorite

ไหม (Silkworm: Bombyx mori L.)

แหล่งเลี้ยงไหม

แหล่งเลี้ยงไหมที่สำคัญของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครพนม มหาสารคาม สกลนคร และกาฬสินธุ์ ส่วนในภาคอื่นๆ ที่มีการเลี้ยงไหมเหมือนกัน เช่น ภาคเหนือที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกที่จังหวัดระยอง ภาคตะวันตกที่จังหวัดกาญจนบุรี และภาคใต้ที่จังหวัดชุมพร แต่เพิ่งจะเริ่มเลี้ยงกันมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้

 

หนอนไหมที่กำลังเจริญเติบโต

 

โดยทั่วไปกสิกรมักจะเลี้ยงไหมเป็นอาชีพรอง เพราะมีการทำนาทำไร่เป็นอาชีพหลัก มักจะแบ่งเนื้อที่บางส่วนไว้ปลูกหม่อน เพื่อใช้เลี้ยงไหมในยามว่างงาน โดยเริ่มเลี้ยงกันมากในต้นฤดูฝน แล้วหยุดพักระยะหนึ่ง เพื่อดำนา หรือปลูกพืชไร่ หลังจากนั้น จะกลับมาเลี้ยงกันใหม่จนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะหยุดเลี้ยงไปเกี่ยวข้าว หลังจากนั้นก็จะหยุดเลี้ยง เพราะเข้าหน้าแล้งไม่มีใบหม่อน การเลี้ยงไหมตามแบบฉบับที่กล่าวนี้ กสิกรไม่ทำกันจริงจังนัก ทำให้ขาดการดูแลเอาใจใส่ไหมที่ดีพอ จึงไม่สามารถทำรายได้พอ ที่จะยึดเป็นอาชีพหลักได้

กสิกรที่เลี้ยงไหมอย่างเดียวนั้นแทบจะหาไม่ได้เลย แต่ในระยะหลังที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงไหมแผนใหม่ มีประชาชนที่มีเงินทุนพอได้หันไปสนใจกับกิจการการเลี้ยงไหม และได้ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สามารถเลี้ยงไหมลูกผสมพันธุ์ต่างประเทศได้ดี นับว่าเป็นก้าวใหม่ของวงการไหมของเมืองไทย ที่จะนำไปสู่การเลี้ยงไหมแบบอุตสาหกรรม ประกอบทั้งระยะ ๒-๓ ปีมานี้ สินค้าที่ทำด้วยไหมมีราคาแพงขึ้นมาก ราคารังไหม และเส้นใยก็แพงขึ้นตามไปด้วย

 

ไหมพันธุ์ต่างๆ

 

พันธุ์ไหม

ไหมที่เลี้ยงกันอยู่นี้มีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน แต่ละพันธุ์มีลักษณะดังนี้ เช่น

พันธุ์จีน 

ไข่ไหมพันธุ์นี้ฟักตัวปีละครั้ง และฟักได้หลายครั้งตลอดปี รังมีลักษณะกลม มีหลายสี เช่น สีเหลือง ขาว เส้นใยเล็กและเรียบ

พันธุ์ยุโรป 

ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไข่ฟักได้ปีละครั้งพันธุ์นี้ทั้งไข่ หนอนและรังไหมมีขนาดใหญ่ วงชีวิตยาว สีรังเป็นสีขาว รังมีลักษณะรีคล้ายรูปไข่ 

พันธุ์ญี่ปุ่น 

ไข่ฟักออกเป็นตัวปีละครั้งหรือสองครั้งรังค่อนข้างใหญ่ ลักษณะคล้ายผักถั่วลิสง รังอาจมีสีขาว เหลือง 

พันธุ์ไทย 

ไข่ฟักตลอดปี รังเล็กบาง มีขี้ไหมมาก ลักษณะรังคล้ายรูปกระสวย สีเหลือง 

เมื่อประมาณ ๖๐ ปีเศษมานี้ ประเทศญี่ปุ่นเริ่มหันมานิยมเลี้ยงไหมลูกผสมชั่วแรกกัน เพราะได้รังโตเนื้อเส้นใยมาก วงชีวิตสั้น เลี้ยงง่ายกว่าพันธุ์แท้ ลูกผสมดังกล่าวอาจผสมกันระหว่างพันธุ์ญี่ปุ่นกับพันธุ์จีน หรือพันธุ์ญี่ปุ่นด้วยกัน ดร. โทยาม่า บุคคลเดียวกับผู้ที่มาเริ่มการส่งเสริมการเลี้ยงไหมในเมืองไทย สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ริเริ่มเรื่องการเลี้ยงไหมพันธุ์ลูกผสมนี้ขึ้นเป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗

พันธุ์ไหมที่เลี้ยงกันในเมืองไทย

กสิกรทั่วๆ ไป เลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมืองไทย ซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น พันธุ์นางขาว พันธุ์นางน้ำ พันธุ์นางลาย ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์แท้ ผลลิตเส้นใยต่ำ แต่ทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี ระยะ ๑๐ ปีเศษมานี้ ได้เริ่มนำพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์จีนและญี่ปุ่นมาเลี้ยงกัน ก็ปรากฏว่า เลี้ยงได้ผลดี สำหรับกสิกรที่มีอุปกรณ์และโรงเลี้ยง ที่ทันสมัย ซึ่งได้รับคำแนะนำจากกองการไหม กรมวิชาการเกษตร แต่กสิกรที่เลี้ยงตามแบบพื้นบ้านยังเลี้ยงไม่ได้ผล เพราะเลี้ยงยากกว่าพันธุ์พื้นเมือง มักจะเป็นโรคตายมากก่อนที่หนอนไหมจะทำรัง ยกเว้นแต่กสิกรที่ได้รับการอบรมวิชาการเลี้ยงไหมแผนใหม่ แล้วนำไปเลี้ยงตามกลุ่มผู้เลี้ยงไหมในนิคมสร้างตนเอง ก็นับว่า เลี้ยงได้ผล แต่ก็ต้องฝึกฝนความชำนาญให้มากขึ้น

 

 

ชั้นสำหรับวางกระด้งเลี้ยงไหม ทำด้วยเหล็กอาบพลาสติก

 

เครื่องมือเครื่องใช้ในการเลี้ยงไหมแผนใหม่ ประกอบด้วย
 
๑. โรงเรือน มีห้องเลี้ยงไหมที่บุด้วยมุ้งลวดตาข่ายอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันแมลงวันลายมาทำลายหนอนไหม
๒. กระด้ง สำหรับเลี้ยงหนอนไหม ทำด้วยเหล็กผืนผ้าก็ได้ แต่ต้องใช้กระดาษปูบนตะแกรงก่อนเลี้ยงไหม
๓. ชั้นวางกระด้ง ทำเป็นชั้นๆ ห่างกันประมาณ ๒๕ เซนติเมตร เพื่อสอดกระด้ง วางให้มีการถ่ายเทอากาศ และวางกระด้งได้สะดวก
๔. เขียงและมีดสำหรับหั่นใบหม่อน ถ้าเลี้ยงมากๆ อาจจะต้องใช้เครื่องหั่นใบหม่อน
๕. ขนไก่ และตะเกียงสำหรับย้ายตัวไหม ไม่ควรใช้มือสัมผัสโดยตรง
๖. กระบะเก็บใบหม่อน และห้องเก็บใบหม่อนควรมีความชุ่มชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ใบหม่อนที่เก็บมาแล้วเหี่ยวเร็วเกินไป
๗. แกลบเผาและแกลบสด ใช้ช่วยในการแยกไหมนอนและไหมตื่น และควบคุมความชื้นไม่ให้สูงเกินไป
๘. ข่ายเชือกช่วยในการถ่ายกากใบหม่อนที่เหลือและไหมออกจากกระด้งเลี้ยง
๙. จ่อ อุปกรณ์ที่ให้ไหมทำรัง อาจทำด้วยฟางข้าง พลาสติก ลวด หรือจะใช้กระดาษทำเป็นช่องๆ ขนาด ๓x๕ เซนติเมตร เป็นแผง ซึ่งเรียกว่า จ่อหมุน ก็ได้
๑๐. น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ได้แก่ ฟอร์มาลิน ๓ เปอร์เซ็นต์ ใช้อบฆ่าเชื้อโรคในห้องเลี้ยง และอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนทำการเลี้ยงไหม
ชีพจักรและวิธีการเลี้ยงไหม

โดยปกติวงชีวิตของหนอนไหม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ไข่จนเป็นผีเสื้อ ใช้เวลาประมาณ ๔๕-๕๒ วัน

หลังจากแม่ผีเสื้อวางไข่แล้ว ไข่จะเจริญเติบโตเรื่อยๆ จนมีอายุได้ ๘ วัน จะเริ่มมีจุดสีดำเกิดขึ้นก่อน ต่อมาจุดดำนี้จะขยายตัว จนทำให้ไข่เปลี่ยนเป็นสีดำอมเทา ประมาณวันที่ ๑๐ หนอนไหมก็จะฟักออกจากไข่

 

ปกติหนอนไหมจะฟักออกตอนเช้า หลังจากฟักแล้วไม่ควรเกิน ๓ ชั่วโมง จะต้องให้อาหาร โดยหั่นใบหม่อนเป็นชิ้นเล็กๆ ให้กิน ไข่ที่ยังไม่ฟักจะเก็บไว้โดยห่อกระดาษสีดำ เพื่อเปิดให้ฟักพร้อมๆ กันในวันรุ่นขึ้น และเมื่อฟักแล้วควรแยกเลี้ยงไว้ต่างหาก ไม่ควรนำไปเลี้ยงปนกับหนอนไหม ที่ฟักก่อนในกระด้งเดียวกัน

 

แม่ผีเสื้อไหมกำลังวางไข่

 

การให้อาหาร

แม้ว่าการให้อาหารบ่อยครั้งจะทำให้ไหมโตเร็วก็ตาม แต่ไม่สะดวกกับผู้เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน จึงควรให้อาหารวันละ ๓ เวลา คือ ๐๖.๓๐น. ๑๑.๓๐น. และ ๑๗.๐๐น. ใบหม่อนซึ่งให้หนอนไหมในวัยอ่อน (วัย ๑-๓) ต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ส่วนใบหม่อนที่ให้หนอนไหมที่เจริญเติบโตเป็นวัยแก่ (วัย ๔-๕) นั้นให้ทั้งใบได้เลย

 

 

 

นอนไหมกำลังออกจากไข่
ตัวหนอนไหมเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าอากาศร้อน (๓๐ องศาเซลเซียส) ก็ยิ่งโตเร็ว ถ้าอากาศหนาวเย็น หรือร้อนเกินไปจะโตช้า และไม่แข็งแรง เมื่อมีอายุ ๓-๔ วัน หนอนไหมจะหยุดกินอาหารอยู่เฉยๆ ประมาณ ๑ วันจึงลอกคราบใหม่ ระยะนี้เรียกว่า "ไหมนอน" เมื่อลอกคราบหมดแล้ว ก็จะเริ่มกินอาหารต่อไป ตัวและหัวใหญ่ขึ้น ระยะนี้เรียกว่า "ไหมตื่น" โดยทั่วๆ ไป หนอนไหมจะนอน (ลอกคราบ) ๔ ครั้ง ก็จะขึ้นวัย ๕ กินอาหารจุจนอายุได้ ๗-๘ วัน ก็จะเริ่มหยุดกินอาหาร ลำตัวมีสีขาวหรือเหลืองใสหดสั้นลง ซึ่งเป็นระยะที่หนอนเติบโตเต็มที่แล้ว เรียกว่า "ไหมสุก" เริ่มพ่นใยออกมาจากปาก เพื่อทำรังถ้าพบอาการเช่นนี้ควรเก็บไหมใส่ในจ่อ เพื่อให้ไหมทำรังต่อไป หนอนไหมจะเสียเวลาในการชักใยทำรังอยู่ ๒ วัน ก็จะเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้ และเมื่ออยู่ในรังได้ครบ ๑๐ วัน ก็จะเจาะรังออกมาเป็นผีเสื้อ ไหมที่จะใช้ทำพันธุ์จะต้องคัดรังที่ดีสมบูรณ์ขนาดใหญ่ไว้ต่างหาก ที่เหลือก็นำไปสาว หรือขายให้โรงงานสาวไหมต่อไป รังที่ผีเสื้อไหมเจาะออกแล้ว เส้นใยจะขาดใช้สาวเป็นเส้นไม่ได้
ผีเสื้อไหมบินไม่ได้ เพราะปีกเล็กไม่สมกับลำตัวที่ใหญ่จะไม่กินอาหารเลย ตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์ ส่วนตัวเมียเมื่อได้ผสมพันธุ์แล้ว ก็จะวางไข่ แล้วก็ตายไป เมื่ออายุได้ประมาณ ๒-๓ วัน
ตัวหนอนไหมเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าอากาศร้อน (๓๐ องศาเซลเซียส) ก็ยิ่งโตเร็ว ถ้าอากาศหนาวเย็น หรือร้อนเกินไปจะโตช้า และไม่แข็งแรง เมื่อมีอายุ ๓-๔ วัน หนอนไหมจะหยุดกินอาหารอยู่เฉยๆ ประมาณ ๑ วันจึงลอกคราบใหม่ ระยะนี้เรียกว่า "ไหมนอน" เมื่อลอกคราบหมดแล้ว ก็จะเริ่มกินอาหารต่อไป ตัวและหัวใหญ่ขึ้น ระยะนี้เรียกว่า "ไหมตื่น" โดยทั่วๆ ไป หนอนไหมจะนอน (ลอกคราบ) ๔ ครั้ง ก็จะขึ้นวัย ๕ กินอาหารจุจนอายุได้ ๗-๘ วัน ก็จะเริ่มหยุดกินอาหาร ลำตัวมีสีขาวหรือเหลืองใสหดสั้นลง ซึ่งเป็นระยะที่หนอนเติบโตเต็มที่แล้ว เรียกว่า "ไหมสุก" เริ่มพ่นใยออกมาจากปาก เพื่อทำรังถ้าพบอาการเช่นนี้ควรเก็บไหมใส่ในจ่อ เพื่อให้ไหมทำรังต่อไป หนอนไหมจะเสียเวลาในการชักใยทำรังอยู่ ๒ วัน ก็จะเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้ และเมื่ออยู่ในรังได้ครบ ๑๐ วัน ก็จะเจาะรังออกมาเป็นผีเสื้อ ไหมที่จะใช้ทำพันธุ์จะต้องคัดรังที่ดีสมบูรณ์ขนาดใหญ่ไว้ต่างหาก ที่เหลือก็นำไปสาว หรือขายให้โรงงานสาวไหมต่อไป รังที่ผีเสื้อไหมเจาะออกแล้ว เส้นใยจะขาดใช้สาวเป็นเส้นไม่ได้
ผีเสื้อไหมบินไม่ได้ เพราะปีกเล็กไม่สมกับลำตัวที่ใหญ่จะไม่กินอาหารเลย ตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์ ส่วนตัวเมียเมื่อได้ผสมพันธุ์แล้ว ก็จะวางไข่ แล้วก็ตายไป เมื่ออายุได้ประมาณ ๒-๓ วัน

 

 

ชีพจักรของไหม

 

หนอนไหม

หนอนไหมแต่ละตัว เมื่อโตเต็มที่แล้ว ก็จะขับของเหลวชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยสารที่โปร่งแสง ไม่มีสี ๒ ชนิดด้วยกัน จากต่อมไหม ออกมาทางต่อมน้ำลาย ๒ ต่อม ที่อยู่คนละด้านขนานกันทางส่วนหัวของหนอนไหม ต่อมน้ำลายแต่ละต่อมมีชื่อเฉพาะคือ "aqueduct" หรือ "collector" ต่อมหนึ่งและ "spining" อีกต่อมหนึ่ง สำหรับต่อม aqueduct นั้นใหญ่กว่าต่อม spinning เมื่อหนอนจะชักใยมันจะขับสาของเหลวจากถุงในต่อม aqueduct ออกทาง spinning head หรือ spinneret ซึ่งเป็นช่องเล็กๆ ผ่านออกสู่ภายนอกที่ช่องใช้ขากรรไกร ของเหลวดังกล่าว เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวทันทีกลายเป็นสายใย ซึ่งเรียกว่า "สายไหม" เป็นที่น่าสังเกตว่า เส้นไหมที่ได้นั้นประกอบด้วยเส้นใยเล็กๆ สองเส้นรวมกันเรียกว่า bave ซึ่งแต่ละเส้นเรียกว่า brin สามารถแยกออกจากกันได้ ในรังไหมแต่ละรังขนาดของสายไหมก็แตกต่างกันไป กล่าวคือ ชั้นนอกสุดของรัง เส้นไหมละเอียดกว่าชั้นกลาง ซึ่งค่อนข้างหยาบ แต่ชั้นในสุดกลับละเอียดยิ่งกว่าชั้นนอกเสียอีก เส้นไหมที่ได้จากไหมที่เลี้ยงในประเทศจีน ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นไหมชั้นนอกวัดได้ประมาณ ๐.๐๐๐๕๒ นิ้ว ส่วนชั้นในสุดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๐๐๐๑๗ นิ้ว แต่กระนั้นก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่นๆ เส้นไหมก็ยังมีขนาดใหญ่กว่า สำหรับน้ำหนักก็เช่นกัน ใยไหมหนักกว่าใยของโลหะ ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากันเสียด้วย หนอนไหมแต่ละตัวชักใยได้ยาวไม่เท่ากัน มันสามารถชักใยที่สาวออกแล้วได้ยาวตั้งแต่ ๓๕๐ เมตร ถึง ๑,๒๐๐ เมตร ซึ่งแล้วแต่พันธุ์ไหม

 

การเตรียมอาหารให้หนอนไหม

 

หลักปฏิบัติที่สำคัญในการเลี้ยงไหม
 

๑. หมั่นรักษาความสะอาดในห้องเลี้ยงไหม และอุปกรณ์ เพราะไหมเป็นสัตว์ที่สะอาดมาก
๒. ห้ามสูบบุหรี่ในห้องเลี้ยงไหมโดยเด็ดขาด
๓. ไม่เผาสิ่งปฏิกูลหรือเศษขยะในบริเวณใกล้เคียงห้องเลี้ยงไหม ขณะที่มีไหมอยู่ในห้อง เพราะไหมไม่ชอบควันไฟหรือกลิ่นเหม็น
๔. ใบหม่อนต้องมีคุณภาพดี สะอาด และมีปริมาณเพียงพอ
๕. ให้อาหารตรงตามวัยของไหม หนอนไหมยิ่งโตก็ให้ใบหม่อนที่แก่ขึ้น
๖. ไม่ควรเลี้ยงไหมแน่นจนเกินไป เนื้อที่ ๘๕ x ๑๐๐ เซนติเมตร ควรเลี้ยงไหมวัยแก่ประมาณ ๕๐๐ ตัว
๗. ถ่ายมูลหรือกากใบหม่อน ที่ตกค้างทับถมในกระด้งเลี้ยง อย่างน้อยวันละ ๑ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่ไหมจะเข้านอนทุกครั้ง
๘. เมื่อไหมนอนควรเปิดหน้าต่างให้ลมโกรก อากาศแห้ง ไหมจะลอกคราบง่าย และไม่ควรให้ตัวไหมได้รับการกระทบกระเทือน
๙. อย่าให้อาหารขณะที่ไหมนอน
๑๐. อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงแล้วและยังไม่ใช้ ควรแยกไว้ต่างหาก ที่ใช้แล้วควรนำออกมาล้างแล้วผึ่งแดดเป็นระยะๆ แล้วจึงค่อยนำเข้าไปใช้ใหม่
๑๑. ควรเลี้ยงไหมเป็นรุ่นๆ เพื่อให้คนเลี้ยงมีเวลาพัก และทำความสะอาดโรงเลี้ยง และอุปกรณ์ ซึ่งได้แก่ กล้องจุลทรรศน์ และน้ำยาเคมีต่างๆ เป็นต้น
๑๒. ไม่ควรผลิตไข่ไหมเอง เพราะเสียค่าใช้จ่ายสูง ในการตรวจโรคแพบริน (pebrin)
๑๓. ห้ามนำสารเคมีฆ่าแมลง และสารมีกลิ่น เข้าห้องเลี้ยงไหมโดยเด็ดขาด

 

การให้อาหารหนอนไหม

 

วิธีการเลี้ยงไหมวัยอ่อน และวัยแก่

วัยอ่อน 

ไหมวัยอ่อน หมายถึง หนอนไหมนับตั้งแต่ออกจากไข่จน ถึงวันที่ ๓ การเลี้ยงหนอนไหมวัยอ่อนนิยมเลี้ยงเป็นชั้น โดยใส่กล่องหรือกระด้ง ที่ทำด้วยตะแกรงเหล็กอาบพลาสติก หรือ อะลูมิเนียม นำใบหม่อนที่หั่นแล้ว มาโรยให้หนอนไหมกินเป็นเวลา เช่นเดียวกับหนอนไหมวัยแก่ แต่ต้องหมั่นเกลี่ยหนอนให้กระจายสม่ำเสมอ ก่อนให้อาหาร มิฉะนั้นจะทำให้หนอนเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ควรรักษาความชื้น และอุณหภูมิให้สูงกว่าไหมวัยแก่ ในประเทศญี่ปุ่น นิยมเลี้ยงหนอนไหมในห้องควบคุมอุณหภูมิ และความชื้น เพราะจะทำให้หนอนไหมแข็งแรง และเติบโต สม่ำเสมอดีมาก ได้ผลคุ้มกับค่าใช้จ่าย ที่ต้องลงทุนเพิ่มเติม
วัยแก่ 

หมายถึง หนอนไหมวัย ๔-๕ (อายุประมาณ ๑๒-๑๓ วัน) ซึ่งเป็นไหมที่โตแล้ว การเลี้ยงดูง่ายขึ้น ไม่บอบช้ำง่ายเหมือนไหมวัยอ่อน เลี้ยงได้ ๓ วิธีด้วยกัน คือ

๑. เลี้ยงเป็นกระด้ง วางบนชั้น ให้อาหารเป็นใบๆ ถ้าเลี้ยงมากๆ เสียเวลาในการให้อาหารมาก

๒. เลี้ยงเป็นโต๊ะ (๑.๒๐ x ๒.๕๐ เมตร) ให้อาหารเป็นกิ่งหม่อนทั้งกิ่งเลี้ยงได้รวดเร็ว แต่ต้องมีสวนหม่อนที่ดีมีปริมาณใบเพียงพอ

๓. เลี้ยงเป็นชั้นเลื่อน ขนาดของชั้นพอๆ กับโต๊ะและสามารถเลื่อนขึ้นลงได้ ซึ่งจะทำให้ใช้เนื้อที่ได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะในเนื้อที่เท่ากันจะเลี้ยงไหมได้มากกว่าแบบโต๊ะ ในการเลี้ยงเป็นจำนวนมากๆ มักนิยมแบบที่ ๒ และแบบที่ ๓

ลักษณะไหมนอน 

"ไหมนอน" หมายถึง หนอนไหมที่จะลอกคราบ เพื่อเปลี่ยนวัยเจริญเติบโตขึ้น ปกติจะใช้เวลาประมาณ ๒๔ ชั่วโมงไหมนอนมีลักษณะดังนี้ 

๑. หนอนไหมจะหยุดกินอาหาร ยกหัวขึ้น
๒. จะมีรอยสามเหลี่ยมเกิดขึ้นด้านบน ระหว่างรอยต่อตัวกับส่วนอก
๓. มักจะหลบหนีแสงอยู่ในที่มืดกว่าหนอนไหมที่ยังไม่นอน
๔. หัวกะโหลกสีคล้ำและยื่นออกไปเล็กน้อย
๕. เมื่อลอกคราบแล้ว (ไหมตื่น) จะมีลักษณะตรงกันข้าม

ลักษณะไหมสุก 

"ไหมสุก" หมายถึง หนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่ และเริ่มจะชักใยทำรัง ไหมสุกมีลักษณะดังนี้ 

๑. เริ่มหยุดกินอาหารและไต่ขึ้นบนหรือออกนอกกลุ่ม
๒. ผนังลำตัวเริ่มบางใส
๓. มูลที่ถ่ายออกมาจะมีสีน้ำตาลมากกว่าสีเขียวคล้ำ
๔. ชูส่วนหัวส่ายไปมา และเคลื่อนไหวมาก

เมื่อพบหนอนดังกล่าวมักจะเป็นวัย ๕ วันที่ ๘ ก็ต้องเก็บหนอนไหมเล่านี้ใส่ "จ่อ" (ที่ที่ให้หนอนไหมทำรัง) ต่อไป จ่อที่ทำด้วยกระดาษแข็งเป็นตาราง ๓ x ๕ เซนติเมตร แผงละ ๑๕๖ ช่อง (กว้าง ๑๒ ช่อง ยาว ๑๓ ช่อง) จะประกอบกันเป็น ๑ ชุด ชุดละ ๑๐ แผง แขวนในโครงไม้ สามารถหมุนได้รอบตัว หรือจะใช้จ่อลวดก็ได้ ไม่ควรใช้จ่อพื้นเมือง เพราะจะทำให้รังเสียมาก

 

หนอนไหมที่โตเต็มที่ (ไหมสุก)

 

โรค แมลง และศัตรูอื่นๆ ของไหม

โรค

โรคที่ทำลายตัวไหมมีหลายชนิด ซึ่งเกิดจากเชื้อรา บัคเตรี ไวรัส และเชื้อโปรโตซัว โรคที่สำคัญๆ ได้แก่

โรคหัวส่อง (Flasherie: Cytoplas mic Polyhedrosis Virus) 

เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อหนอนไหมเป็นโรคจะเบื่ออาหารสำรอกน้ำย่อย และถ่ายมูลติดกันเป็นสารคล้ายลูกประคำออกมา ส่วนอกด้านบนของหนอนจะใส เมื่อส่องกับแสงจะโปร่งใส เมื่อเป็นมากเชื้อไวรัสจะทำลายกระเพาะอาหาร ทำให้เซลล์ที่กระเพาะแตกเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น เมื่อผ่าดูจะเห็นได้ชัด ลักษณะภายนอกหนอนไหมจะมีอาการท้องเดิน มูลมีสีขาวขุ่น สำรอกน้ำย่อยมากขึ้น เมื่อตายผนังลำตัวจะเหนียวไม่แตกง่าย แต่อวัยวะภายในจะเน่าเละเป็นน้ำสีคล้ำๆ มักเป็นมากในวัยแก่

 

หนอนไหมที่ตายด้วยโรคต่างๆ

 

โรคเพบริน (Pebrin: Nosema bombycis Nageli) 

เกิดจากเชื้อโรคโปรโตซัว หนอนไหมที่ติดเชื้อถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เมื่อหนอนเป็นโรคมักไม่ค่อยลอกคราบ ตัวจะเริ่มเล็กลง เบื่ออาหาร ในที่สุดก็จะตาย หนอนไหมวัยแก่ถ้าได้รับเชื้อโดยเข้าทางปากจะไม่ตาย สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ จนเป็นผีเสื้อวางไข่ได้ แต่เป็นไข่มีเชื้อโรคเพบริน แฝงอยู่ เมื่อฟักออกมา หนอนก็ติดเชื้อมาแต่กำเนิดมักจะตายภายใน ๔-๕ วัน

โรคตัวเหลือง (Grassarie: Nuclear Polyhedrosis Virus) 

เกิดจากเชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่ง เมื่อหนอนไหมเป็นโรคแต่ละปล้องจะบวมเป่ง ผนังลำตัวปริแตกง่าย เมื่อผนังแตก น้ำสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมจะทะลักออกมา ไหมจะเบื่ออาหาร แต่ไต่ออกจากกลุ่มเดินไม่ค่อยตรงทาง ลำตัวคดไปมา มักเป็นมากกับหนอนไหมวัยแก่

 

โรคมัมมี่ที่เกิดจากเชื้อรา ซากหนอนไหมจะไม่เน่า

 

โรคมัมมี่ (Muscardines) 

เกิดจากเชื้อรา ทำให้ไหมตาย เชื้อเขาทางผิวหนัง เมื่อไหมตาย เชื้อราจะเจริญบนตัวหนอน ทำให้สภาพซากหนอนไม่เน่า จะแห้งแข็งเป็นมัมมี่

บัญญัติ ๑๐ ประการในการป้องกันโรคไหม 

๑. ก่อนทำการเลี้ยงไหมควรทำความสะอาดโรงเลี้ยงหรือ ห้องเลี้ยงไหม โดยกวาดฝุ่นละอองขนาดใหญ่ออกไปเผาหรือฝังให้ลึก

๒. ฉีดฟอร์มาลิน ๓ เปอร์เซ็นต์ ในห้องเลี้ยงพร้อมอุปกรณ์ให้ทั่วแล้วปิดทิ้งไว้ ๒๔ ชั่วโมง

๓. ล้างห้องเลี้ยงและอุปกรณ์ที่จะใช้ให้สะอาด

๔. นำอุปกรณ์ทุกชิ้นไปผึ่งแดดให้ถูกแสงแดดโดยตรงมากที่สุด

๕. ตรวจไข่ที่จะใช้เลี้ยงว่าปลอดโรคหรือไม่

๖. รักษาอุณหภูมิความชื้นให้เหมาะสมในห้องเลี้ย ไหมวัยอ่อน อุณหภูมิ ๒๖-๒๘ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ไหมวัยแก่อุณหภูมิ ๒๓-๒๔ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์

๗. ให้ใบหม่อนที่ดีอย่างเพียงพอ แต่ไม่มากจนเกินไป

๘. ใช้ยาซีรีแซน ๕ เปอร์เซ็นต์ (ยาซีรีแซน : ปูนขาว อัตรา ๑:๑๙) หรือแพบโซล (ฟอร์มาลินผง ๑ เปอร์เซ็นต์) โรยตัวหนอนไหมก่อนให้อาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรครา

๙. ระมัดระวังรักษาให้หนอนไหมเกิดบาดแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ตัวหนอนไหม ทำอันตรายกับไหมได้

๑๐. เมื่อพบไหมเป็นโรคแม้ว่ายังไม่ตายต้องรีบแยกออกโดยเร็ว แล้วนำไปเผาไฟหรือฝังให้ลึก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่น

แมลง

แมลงที่เป็นศัตรูสำคัญของไหมคือ แมลงวันลาย parasiticfly, tachina sarbillana, Wiedemann.) ตัวโต และปราดเปรียวกว่าแมลงวันบ้าน ตัวผู้ตัวโตกว่าตัวเมีย ชอบวางไข่บนตัวไหมเมื่อไข่ฟักหนอน แมลงวันจะเจาะเข้าไปกินในตัวไหม ทำให้ไหมตาย แมลงวันตัวหนึ่งๆ วางไข่ได้ถึง ๓๐๐ ฟอง วงชีวิตของมันสั้นมาก ระยะไข่ ๔๗ ชั่วโมง ระยะหนอน ๖-๘ วันระยะดักแด้ ๑๐-๑๒ และระยะตัวแก่ ๒-๓ วัน (ถ้าไม่มีอาหาร) ขยายพันธุ์ได้ตลอดปี ในขณะที่ไม่ได้เลี้ยงไหม แมลงวันลายจะทำลายหนอนอื่นได้ เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบละหุ่งมักชอบมาทำลายไหมที่ตัวโต อยู่ในวัย ๔-๕ และจะทำให้ไหมตายก่อนทำรัง หรือทำรังได้ไม่สมบูรณ์

 

แมลงวันลาย (ซ้าย) ตัวเมีย (ขวา) ตัวผู้

 

การป้องกันและกำจัด

ห้องเลี้ยงไหมควรกรุด้วยมุ้งลวดให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงวันหลุดเข้าไปวางไข่บนตัวหนอนไหมได้ ห้องเลี้ยงไหมควรทำเป็นประตูสองชั้น ทางผ่านระหว่างประตูทั้งสองชั้นควรเป็นห้องสลัวๆ พอมองเห็นทาง เพราะแมลงวันจะไม่ว่องไวในที่มืด

ศัตรูอื่นๆ

นอกจากนี้ หนอนไหมยังมีสัตว์ต่างๆ เป็นศัตรูทำอันตรายได้ด้วย เช่น จิ้งจก หนู และมด

จิ้งจก 

เป็นศัตรูสำคัญของไหมวัยอ่อนมาก จิ้งจกจะเล็ดลอดเข้ามาตามรอยต่อของอาคารที่สร้างไม่ค่อยเรียบร้อย หรือมีรอยแตกของไม้ ช่องเหล่านั้นควรอุดให้หมดจริงๆ มิฉะนั้นแล้วไหมวัยอ่อนจะถูกจิ้งจกกินเสียหายมิใช่น้อย รอยกัดกินของจิ้งจกดูได้ง่าย จะเห็นรอยที่ใบหม่อนกระจัดกระจายเพราะจิ้งจกตะกายตัว หมอนจะถูกกัดกินไม่หมดเหลือส่วนหัว หรือส่วนท้ายไว้ให้เห็น ส่วนมากจะแอบมากินในตอนกลางคืน

การป้องกันและกำจัด ก็ทำได้อย่างที่กล่าวแล้วคือ ป้องกันมิให้จิ้งจกเข้าไป โดยหมั่นตรวจตรา รู ช่องต่างๆ ที่จะเป็นทางให้จิ้งจกเข้า และถ้าพบในโรงเลี้ยงก็ทำลายเสีย

หนู 

หนูที่เป็นศัตรูของไหมนี้ หมายถึงหนูบ้านที่คอยขโมยของกินอยู่ในครัว หรือกัดเสื้อผ้าทั่วๆ ไป หนูจะไม่กินเฉพาะหนอนไหมเท่านั้น ยังกัดรังไหม เพื่อกินดักแด้ภายใน ทำให้รังไหมเสียหายมากอีกด้วย

ในด้านการป้องกันและกำจัด ห้องที่บุมุ้งลวดไม่มีความหมายเลย เพราะหนูสามารถกัดลวดและเจาะเข้าไปได้ ฉะนั้นทางที่ดีที่สุด ต้องคอยหมั่นตรวจตราห้องเลี้ยงอยู่เสมอ การวางกับดักอาจได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายถูก

มด 

มดเป็นตัวการสำคัญที่กัดกินหนอนไหม ไข่ไหม และเจาะกินดักแด้แห้งในรังไหม ทำให้รังไหมเป็นรู เส้นใยขาดสาวไม่ได้ มดที่สำคัญคือ มดคันไฟ และมดตามบ้าน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow