สังคมไทยในชนบทเป็นสังคมของเครือญาติ และผู้ที่รักนับถือกัน นอกจากนี้ประเพณียังให้ความเคารพต่อผู้มีอาวุโสสูงทั้งที่เป็นญาติและมิใช่ญาติ
ผู้มีบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันในชนบท ส่วนมากจะเกี่ยวข้องเป็นญาติกัน หรือเป็นผู้ที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน เช่น ทำนา ทำไร่ และทำการประมง
คนในชนบทมีความเอื้อเฟื้อกัน ช่วยเหลือกัน เกรงกลัวต่อการทำบาป เช่น การลักขโมย สังคมของชาวชนบทส่วนมาก จึงมีความร่มเย็นเป็นสุข
การทำบุญร่วมกันตามเทศกาลต่างๆ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ชาวชนบทรักษาประเพณีไว้ได้อย่างเคร่งครัด เช่น
การทำบุญเข้าพรรษา ซึ่งต้องใช้คนจำนวนมากช่วยกันตกแต่งเทียนเข้าพรรษา ซึ่งเป็นการเสียสละแรงงาน และเวลา ด้วยความเต็มใจ
เป็นการฝึกฝนคนทุกเพศทุกวัย ให้รู้จักรักหมู่ และไม่เห็นแก่ตัว
การใส่บาตรเวลาเช้า ซึ่งจะเห็นทั่วไปทั้งในชนบท และเมืองเล็ก เมืองใหญ่ แสดงว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงรักษาประเพณี ซึ่งฝึกให้คนมีความ
เสียสละ ขจัดความโลภ ตั้งแต่เริ่มวันใหม่ของชีวิตประจำวัน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คนไทยมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดครอบครัวขยายออกไปอย่างมั่นคง กล่าวคือ เมื่อมีการแต่งงาน ฝ่ายชายมักจะมาอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ช่วยกันทำมาหากิน
เช่น ทำไร่ ทำนาอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เมื่อคนทั้งสองคนสามารถเป็นหลักของครอบครัวได้ ทั้งคู่ก็จะแยกไปมีบ้านเรือนของตนเอง โดยบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะยกที่ดินให้เป็นที่ประกอบอาชีพ แต่จะไม่ไปอยู่ห่างไกลจากบิดามารดา นอกจากนี้คนไทยยังมีประเพณีในการนับถือญาติของทั้งสองฝ่าย เป็นญาติกันด้วย ดังนั้นในการแต่งงานแต่ละครั้ง
ก็จะเพิ่มญาติมากขึ้น ผลดีก็คือ ทำให้คนไทยมีความสนิทสนม เคารพญาติ ทำให้มีความเป็นอยู่ที่อบอุ่น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากขึ้น
วัฒนธรรมที่สำคัญของคนไทยคือ การยึดเอาพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เช่น การใส่บาตรพระภิกษุ สามเณรในเวลาเช้า การนำอาหารไปถวายพระ ที่วัดทุกวันพระ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเกลาจิตใจ ให้มีความเสียสละ มีความเมตตาเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น
นอกจากนี้ การทำบุญประจำเทศกาล เช่น การทำบุญวันสงกรานต์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับแล้ว การนำของขวัญ และน้ำอบ ไปรดน้ำขอพรจากญาติผู้สูงอายุ เป็นการฝึกฝนคนให้มีความกตัญญู การทำบุญวันเข้าพรรษา การทอดกฐิน ล้วนแต่เป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้มีความเสียสละ เพื่อส่วนรวม มีความสามัคคี และเอื้อเฟื้อ ซึ่งกันและกัน
คนไทยส่วนมาก อ่อนน้อมต่อผู้สูงอายุ เคารพพระสงฆ์ และกลัวการทำบาป เพราะยังเชื่อในบาปกรรมว่า ทำบาปมาแล้วต้องรับกรรม ถ้าทำดีในชาตินี้ ก็จะได้รับความสุขในชาติหน้า
สังคมไทยกับวัฒนธรรมไทยต่างเกื้อหนุนกัน จึงยังดำรงอยู่ได้ ถึงแม้วัฒนธรรมต่างชาติ จะเข้ามามีอิทธิพลอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่สามารถลบล้างประเพณี และความเชื่อ ในหลักพุทธศาสนาไปได้อย่างหมดสิ้น