Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

"วัคซีนเด็ก" และ "ตารางวัคซีน" สำหรับเด็กไทยตั้งแต่แรกเกิด – 12 ปี

Posted By Plook Parenting | 19 พ.ค. 60
49,985 Views

  Favorite

การฉีดวัคซีนให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด นับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ แก่เด็กได้ เพราะวัคซีนเข้าไปทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทาน ... แล้ววัคซีนเด็กที่สำคัญมีอะไรบ้าง ติดตามอ่านข้อมูลและดูตารางวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด - 12 ปี ประจำปี 2560 ได้ที่นี่ !

 

เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น วัคซีนสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปีจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ และวัคซีนเสริมเพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่แข็งแรงยิ่ง ๆ ขึ้น โดยวัคซีนแต่ละประเภทแตกต่างกันดังนี้

 

วัคซีนขั้นพื้นฐาน

หรือวัคซีนจำเป็น คือวัคซีนที่เด็กทุกคนจะได้รับตามนโยบายที่กำหนดไว้ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้ฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐบาล ได้แก่

     • วัคซีนตับอักเสบบี : ควรฉีดตั้งแต่เด็กแรกเกิด และตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 1, 2, 4 และ 6 เดือน ตามลำดับ แต่ถ้าเด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรฉีดอีกครั้งเมื่ออายุ 7 ปี รวมทั้งหมด 5 เข็ม

     • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน : ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 2, 4 และ 6 เดือน และฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน, 4-6 ปี และ 11-12 ปี ตามลำดับ แต่ถ้าเด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรฉีดอีกครั้งเมื่ออายุ 7 ปี รวมทั้งหมด 6 เข็ม

     • วัคซีนโปลิโอ : ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4-6 ปี ตามลำดับ แต่ถ้าเด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรฉีดอีกครั้งเมื่ออายุ 7 ปี รวมทั้งหมด 5 เข็ม

     • วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม : ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ คือ 9 เดือน และ 2 ปี 6 เดือน แต่ถ้าเด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรฉีดอีกครั้งเมื่ออายุ 7 ปี รวมทั้งหมด 2 เข็ม

     • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก : เป็นวัคซีนคนละชนิดกับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ควรฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีตามแผนปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข

 

วัคซีนเสริม

หรือวัคซีนทางเลือก เป็นวัคซีนสำหรับเสริมภูมิต้านทานโรคอื่น ๆ แก่เด็ก เพื่อให้ด็กมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยวัคซีนประเภทนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ได้แก่

     • วัคซีนโรต้า : ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ คือ 2 และ 4 เดือน รวมทั้งหมด 2 เข็ม

     • วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ หรือวัคซีนพีซีวี : ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ ตั้งแต่อายุ 2, 4, 6 เดือน และระหว่าง 12-18 เดือน ตามลำดับ รวมทั้งหมด 4 เข็ม

     • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ : ควรฉีดในเด็กปีละครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 18 ปี สำหรับเด็กแรกเกิดควรฉีด 2 เข็ม และห่างกันราว 4 สัปดาห์

     • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส : ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 12, 18 เดือน, 2 ปี 6 เดือน และ 4 ปี ตามลำดับ รวมทั้งหมด 2 เข็ม

วัคซีนแต่ละประเภท แต่ละกลุ่มโรค ต้องแบ่งฉีดตามช่วงอายุเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดตารางการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กไทยที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด – 12 ปี ประจำปี 2560 ไว้ดังนี้

 

ขอบคุณภาพจาก amarinbabyandkids.com

 

ขอบคุณภาพจาก กระทรวงสาธารณสุข

 

 

ในกรณีที่เด็กไม่ได้รับวัคซีนตามที่กำหนด คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษากุมารแพทย์เพื่อขอรับวัคซีนได้ และขอคำแนะนำเพิ่มเติมหากวัคซีนนั้น ๆ จำเป็นต้องฉีดอย่างต่อเนื่อง หากเด็กได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน คุณพ่อคุณแม่สามารถพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

 

ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก

สำหรับวัคซีนพื้นฐาน ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ คุณพ่อคุณแม่สามารถติดต่อยังโรงพยาบาลของรัฐเพื่อขอรับวัคซีนสำหรับเด็กได้เลย แต่วัคซีนเสริม ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกและมีราคาสูง จะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันออกไปตามแต่ละโรงพยาบาล ได้แก่

 

 

โรงพยาบาลเกษมราษฎร์

ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 5,500 บาท

ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลเกษมราษฎร์

 

 

โรงพยาบาลลาดพร้าว

ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 8,000 บาท

ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลลาดพร้าว

 

 

โรงพยาบาลบางปะกอก 3

ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 2,200 บาท

ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลบางปะกอก 3

 

 

โรงพยาบาลวิชัยเวช

ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 4,300 บาท

ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลวิชัยเวช

 

 

นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ออกกำลังกาย ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะสุขภาพที่ดีย่อมเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุดในการต่อต้านโรคภัยต่าง ๆ ไม่ให้เข้าใกล้ลูกน้อยได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow