Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
23,938 Views

  Favorite

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้านแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับวิธีการจัดแบ่งดังนี้

แบ่งตามเขตพื้นที่  

เป็นการแบ่งตามสถานที่ที่ปรากฏเพลง อาจแบ่งกว้างที่สุดเป็นภาค เช่น เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน เพลงพื้นบ้านภาคใต้ หรืออาจแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นเขตจังหวัด อำเภอ ตำบล เช่น เพลงพื้นบ้านตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพลงพื้นบ้านของอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี  

แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมของผู้เป็นเจ้าของเพลง  

เป็นการแบ่งตามกลุ่มชนท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรม หรือเชื้อชาติต่างกัน เช่น เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว เพลงพื้นบ้านกลุ่มไทยมุสลิม 

แบ่งตามโอกาสที่ร้อง  

กลุ่มหนึ่งเป็นเพลงที่ร้องตามฤดูกาลหรือเทศกาล เช่น เพลงที่ร้องในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงนา และเพลงที่ร้องในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ เพลงบอก เพลงร่อยพรรษา เพลงตร๊จ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นเพลงที่ร้องได้ทั่วไปไม่จำกัดโอกาส เช่น ซอ หมอลำ เพลงโคราช เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว

แบ่งตามจุดประสงค์ในการร้อง  

เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก เพลงปฏิพากย์ เพลงร้องรำพัน เพลงประกอบการละเล่นของผู้ใหญ่ และเพลงประกอบพิธีกรรม

แบ่งตามจำนวนผู้ร้อง  

เป็นเพลงร้องเดี่ยวและเพลงร้องหมู่ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงพาดควาย จ๊อย เป็นเพลงร้องเดี่ยว ส่วนเพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เป็นเพลงร้องหมู่ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านแบบอื่นๆ เช่น ตามความสั้นยาวของเพลง แบ่งตามเพศของผู้ร้อง แบ่งตามวัยของผู้ร้อง ในที่นี้ขอกล่าวถึงเพลงพื้นบ้าน โดยแบ่งตามเขตพื้นที่เป็นภาค ๔ ภาค คือ

๑.     เพลงพื้นบ้านภาคกลาง
๒.    เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ
๓.    เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน
๔.    เพลงพื้นบ้านภาคใต้

เพลงพื้นบ้านภาคกลาง

เพลงพื้นบ้านภาคกลางส่วนใหญ่เป็นเพลงโต้ตอบหรือเพลงปฏิพากย์ เป็นเพลงที่หนุ่มสาวใช้ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน มักร้องกันเป็นกลุ่มหรือเป็นวง ประกอบด้วย ผู้ร้องนำเพลงฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่เรียกว่า พ่อเพลง แม่เพลง ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับ ให้จังหวะด้วยการปรบมือ หรือใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เช่น กรับ  ฉิ่ง เพลงโต้ตอบนี้ ชาวบ้านภาคกลางนำมาร้องเล่นในโอกาสต่างๆ ตามเทศกาล หรือในเวลาที่มารวมกลุ่มกัน เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางเพลงก็ใช้ร้องเล่นไม่จำกัดเทศกาล แบ่งได้ ๕ กลุ่ม คือ

๑. เพลงที่นิยมร้องเล่นในฤดูน้ำหลาก เทศกาลกฐินและผ้าป่า ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ได้แก่

  • เพลงเรือ (ร้องกันทั่วไปในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี)
  • เพลงครึ่งท่อน เพลงไก่ป่า (ปรากฏชื่อในหนังสือเก่าก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าร้องอยู่แถบพระนครศรีอยุธยา)
  • เพลงหน้าใย เพลงยิ้มใย เพลงโซ้ (นครนายก)
  • เพลงรำพาข้าวสาร (ปทุมธานี)
  • เพลงร่อยภาษา (กาญจนบุรี)

๒. เพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลเก็บเกี่ยว เป็นเพลงที่ร้องเล่นในเวลาลงแขกเกี่ยวข้าว และนวดข้าว ได้แก่

  • เพลงเกี่ยวข้าว เพลงก้ม (อ่างทอง สุพรรณบุรี)
  • เพลงเต้นกำ (อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา)
  • เพลงเต้นกำรำเคียว (นครสวรรค์)
  • เพลงจาก (อ. พนมทวน กาญจนบุรี)
  • เพลงสงฟาง (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี)
  • เพลงพานฟาง (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี)
  • เพลงสงคอลำพวน (กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี)
  • เพลงชักกระดาน (กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สิงห์บุรี อ่างทอง)
  • เพลงโอก (ราชบุรี ใช้ร้องเล่นเวลาหยุดพักระหว่างนวดข้าว)

๓. เพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ เป็นเพลงที่ร้องเพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง และบางเพลงเป็นเพลงที่ใช้ประกอบการละเล่นของหนุ่มสาว ได้แก่ 

  • เพลงพิษฐาน (พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก)
  • เพลงพวงมาลัย (นครปฐม เพชรบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง นครสวรรค์)
  • เพลงระบำ เพลงระบำบ้านไร่ (พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี)
  • เพลงฮินเลเล (พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก)
  • เพลงคล้องช้าง (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม)
  • เพลงช้าเจ้าหงส์ (พระนครศรีอยุธยา)
  • เพลงช้าเจ้าโลม (นครสวรรค์ อุทัยธานี)
  • เพลงเหย่อย (กาญจนบุรี)
  • เพลงกรุ่น (อุทัยธานี  พิษณุโลก)
  • เพลงชักเย่อ (อุทัยธานี)
  • เพลงเข้าผี (เกือบทุกจังหวัดของภาคกลาง)
  • เพลงสังกรานต์ (เป็นเพลงใช้ร้องยั่วประกอบท่ารำ ไม่มีชื่อเรียกโดยตรง ในที่นี้ เรียกตามคำของยายทองหล่อ ทำเลทอง แม่เพลงอาวุโสชาวอยุธยา)

๔. เพลงที่ใช้ร้องเวลามารวมกันทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง ได้แก่

  • เพลงโขลกแป้ง (ร้องโต้ตอบกันเวลาลงแขกโขลกแป้งทำขนมจีน ในงานทำบุญ ของชาวอ่างทอง ชาวนครสวรรค์)
  • เพลงแห่นาคหรือสั่งนาค (ร้องกันทั่วไปในภาคกลาง ในงานบวชนาคขณะแห่นาคไปวัดหรือรับไปทำขวัญนาค)

๕. เพลงที่ร้องเล่นไม่จำกัดเทศกาล เป็นเพลงที่ร้องเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงในงานบุญประเพณีต่างๆ ร้องรำพันแสดงอารมณ์ความรู้สึก ร้องประกอบการละเล่น หรือร้องโดยที่มีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

  • เพลงเทพทอง (เป็นเพลงพื้นบ้านที่เก่าที่สุด ตามหลักฐานในวรรณคดีและหนังสือเก่าบันทึกไว้ว่า นิยมเล่นตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึง รัชกาลที่ ๖)
  • เพลงลำตัด
  • เพลงโนเนโนนาด
  • เพลงแอ่วเคล้าซอ
  • เพลงแห่เจ้าบ่าว
  • เพลงพาดควาย
  • เพลงปรบไก่
  • เพลงขอทาน
  • เพลงฉ่อย (มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เพลงวง เพลงเป๋ เพลงฉ่า เพลงตะขาบ)
  • เพลงทรงเครื่อง
  • เพลงระบำบ้านนา
  • เพลงอีแซว
  • เพลงรำโทน
  • เพลงสำหรับเด็ก (เพลงกล่อมเด็ก  เพลงปลอบเด็ก  เพลงประกอบการละเล่นเด็ก)

เพลงพื้นบ้านภาคกลางแม้จะมีหลากหลายประเภทมากกว่าทุกภาค แต่มีเพลงจำนวนน้อยที่ยังคงร้องเล่นกันบ้างในชนบท และส่วนหนึ่งก็เป็นเพลงที่เล่นกันเฉพาะถิ่นเท่านั้น 

 

ศิลปินพื้นบ้านสาธิตการร้องเล่นเพลงสงฟาง ที่นำมาร้องในเวลาลงแขกเกี่ยวข้าว และนวดข้าว
ศิลปินพื้นบ้านสาธิตการร้องเล่นเพลงสงฟาง ที่นำมาร้องในเวลาลงแขกเกี่ยวข้าว และนวดข้าว

 

เพลงพื้นบ้านภาคกลางที่แพร่หลายได้ยินทั่วๆ ไป และมีพ่อเพลงแม่เพลงที่ยังจดจำร้องกันได้ ๘ เพลง คือ

๑.    เพลงเรือ
๒.    เพลงเต้นกำ
๓.    เพลงพิษฐาน
๔.    เพลงระบำบ้านไร่
๕.    เพลงอีแซว
๖.    เพลงพวงมาลัย
๗.    เพลงเหย่อย
๘.    เพลงฉ่อย

เพลงเรือ

เพลงเรือเป็นเพลงที่ร้องเล่นในฤดูน้ำหลาก นิยมเล่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และลพบุรี ช่วงเทศกาลกฐิน ผ้าป่า หรืองานนมัสการ งานบุญประจำปีของวัด ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก ชาวนาว่างเว้นจากการทำนา รอน้ำลด และรวงข้าวสุก ก็จะพากันพายเรือมาทำบุญไหว้พระและเล่นเพลง เรือที่ใช้มีเรือมาดสี่แจว เรือพายม้าทุกลำจุดตะเกียงเจ้าพายุ หรือตะเกียงลานไว้กลางลำเรือ ธรรมเนียมในการเล่นมีเรือฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จำนวนผู้เล่นขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมาณ ๙ - ๑๐ คน มีพ่อเพลง แม่เพลง ส่วนที่เหลือเป็นลูกคู่ ใช้กลอนลงสระเสียงเดียวกันไปเรื่อยๆ ที่เรียกว่า "กลอนหัวเดียว" นิยมร้องกลอนลา และกลอนไล เพราะคิดหาคำได้ง่ายกว่าสระเสียงอื่น มีเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง และกรับ พ่อเพลงที่นั่งกลางลำเรือ จะเป็นคนตีฉิ่งดังฉับๆ ไปเรื่อยๆ ที่เหลือก็เป็นลูกคู่คอยร้องรับหรือร้องยั่วด้วยคำว่า "ฮ้า ไฮ้" และคอยกระทุ้งว่า "ชะ ชะ" ตามความคะนองปากเป็นจังหวะๆ

เมื่อชาวเพลงพายเรือมาถึงที่หมาย โดยทั่วไปก็จะมองหาเรือจับคู่ว่าเพลงกันแล้ว ฝ่ายชายจะพายเรือไปเทียบจนชิดเรือฝ่ายหญิงและเก็บพายขึ้น ในเรือแต่ละลำจะนั่งเป็นคู่ๆ นอกจากช่วงหัวเรือท้ายเรือจะนั่งคนเดียวเพราะที่แคบ เรือฝ่ายชายจะเริ่มว่าเพลงก่อน เรียกว่า "เพลงปลอบ" เพื่อขอเล่นเพลงกับฝ่ายหญิงตามมารยาท เมื่อว่าไปสัก ๒ - ๓ บท หากฝ่ายหญิงนิ่งไม่ตอบ ก็แสดงว่า ไม่สมัครใจเล่นเพลงด้วย หรือมีคู่นัดหมายอยู่แล้ว เรือฝ่ายชายต้องไปหาคู่ใหม่ แต่ถ้าฝ่ายหญิงเอื้อนเสียงตอบ แสดงว่า ตกลงปลงใจเล่นเพลงด้วย ก็เริ่มว่า "เพลงประ" โต้ตอบกันในเชิงเกี้ยวพาราสีอย่างสนุกสนาน เมื่อว่าเพลงกันสมควรแก่เวลาแล้ว เรือฝ่ายชายจะพายไปส่งเรือฝ่ายหญิง ในระหว่างนั้นก็ว่า "เพลงจาก"เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยอาวรณ์

ตัวอย่าง  เพลงเรือ

ชายเกริ่น :    เอย  เลียบเรือเรียง  เข้าเคียงใกล้     หวังจะฝากน้ำใจ (ฮ้า  ไฮ้)  ของข้า (ชะ ชะ)
    น้องจะรีบไปไหน  ขอให้พายเบาเบา        พี่จะได้มาพบเจ้า (ฮ้า  ไฮ้) งามตา
    พี่พายมานาน  ให้แสนเหนื่อยหนัก        พอได้พบนงลักษณ์ (ฮ้า  ไฮ้) โสภา
    ที่เหนื่อยก็หาย  ที่หน่ายก็แข็ง               กลับมีเรี่ยวมีแรง (ฮ้า  ไฮ้) หนักหนา
    ขอเชิญนวลน้อง  มาร้องเล่นดังว่า         ขอจงเผยวาจาสักคำ...เอย 
ลูกคู่รับ :      ขอจงเผยวาจาสักคำ เอย    
    ขอเชิญนวลน้องมาเล่นร้องดังว่า (ซ้ำ)     ขอจงเผยวาจาสักคำเอย      
                                                  ฯลฯ        
หญิงตอบ :    เอย  ได้ยินน้ำคำ เสียงมาร่ำสนอง      เสียงใครมาเรียกหาน้อง (ฮ้าไฮ้) ที่ไหนล่ะ
    แต่พอเรียกหาฉัน แม่หนูไม่นานไม่เนิ่น    เสียงผู้ชายร้องเชิญ (ฮ้าไฮ้) ฉันจะว่า
    การจะเล่นจะหัว หนูน้องไม่ดีดไม่ดิ้น    หรอกแม้ว่าไม่ใช่ยามกฐิน (ฮ้าไฮ้) ผ้าป่า
    พอเรียกก็ขาน แต่พอวานก็เอ่ย    หนูน้องไม่นิ่งกันทำเฉย (ฮ้าไฮ้) ให้มันช้า
    แต่พอเรียกหาน้อง ฉันก็ร้องขึ้นร่ำ    ฉันนบนอบตอบคำ (ฮ้าไฮ้) จริงเจ้าขา
    แม่หนูนบนอบตอบคำ    ตอบกันไปเสียด้วยน้ำ (ฮ้าไฮ้) วาจา
    แต่พอเรียกหาน้อง ฉันก็ร้องว่าจ๋า    กันแต่เมื่อเวลา เอ๋ยจวนเอย
ลูกคู่รับ :     กันแต่เมื่อเวลา จวนเอย
    แต่พอเรียกหาน้อง ฉันก็ร้องว่าจ๋า (ซ้ำ)     กันแต่เมื่อเวลา จวนเอย

เพลงเต้นกำ

เพลงเต้นกำมีอยู่ทั่วไปแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นิยมเล่นในจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครนายก ส่วนมากจะร้องเล่นระหว่างช่วงหยุดพักเมื่อเกี่ยวข้าวไปถึงอีกคันนาหนึ่ง หรือมักเล่นตอนเย็นหลังเลิกเกี่ยวข้าวแล้ว ผู้เล่นจะยืนล้อมเป็นวงกลม หรืออาจยืนเป็นแถวหน้ากระดาน หันหน้าเข้าหากัน มือซ้ายถือรวงข้าว มือขวาถือเคียว พ่อเพลงแม่เพลงอาจมีหลายคนช่วยกันร้องแก้ หรือร้องโต้ตอบฝ่ายตรงข้าม ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่รับว่า "เฮ้  เอ้า เฮ้  เฮ้"
 

การร้องเพลงเต้นกำของภาคกลาง
การร้องเพลงเต้นกำของภาคกลาง

 

ตัวอย่าง บทเกริ่น

    ไหว้ครูสำเร็จเสร็จสก    ขยายยกเป็นเพลงปลอบ  (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)
    หาไหนไม่เทียมเรียมเร้อ    ไม่มีคนเสมอเหมือนอย่างฟ้าครอบ (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)      
    ขอเชิญมาเล่นเต้นกันสักรอบ    ลุกขึ้นมาตอบเพลงเอย 
ลูกคู่รับ :    ขอเชิญมาเล่น  เต้นกันสักรอบ      ขอเชิญมาเล่น  เต้นกันสักรอบ ลุกขึ้นมาตอบเพลงเอย
    เอิง เอ๊ย ชายเอย  เอ้ากันสักรอบ    ลุกขึ้นมาตอบเพลงเอย
    ขอเชิญมาเล่น  เต้นกันสักรอบ       ลุกขึ้นมาตอบเพลงเอย  (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)    
    จิตใจเจ้าไม่สมเพช    พี่จะเป่าด้วยเวทย์มหาละลวย (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)
    เดชะ  คุณพระขลัง    ปถะมัง  ขมักขมวย (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)
ลูกคู่รับ :    เดชะ   คุณพระช่วย    ให้เล่นกันด้วยนางเอย
ตัวอย่าง บทประ
หญิง :     ได้ยินสำเหนียกเรียกหญิง    น้องเองไม่นิ่งอยู่ชักช้า (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)
    แม่เหยียบหัวซังกะทั่งหัวหญ้า    เดินเข้ามาหาชายเอย  (รับ)
ชาย :     เหยียบหัวซังกะทั่งหัวหญ้า    ไอ้ซังมันแห้งจะแยงเอาขา (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)
    ไอ้ตอโสนมันโด่หน้า      จะตำเอาขานางเอย (รับ)

เพลงพิษฐาน

เพลงพิษฐานนิยมเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเล่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และสุโขทัย เมื่อหนุ่มสาวทำบุญตักบาตรที่วัดแล้ว ก็จะพากันเก็บดอกไม้เข้าไปไหว้พระในโบสถ์ หญิงและชายนั่งคนละข้าง มือถือพานดอกไม้ เพลงขึ้นต้นด้วยคำว่า "พิษฐาน" มาจากคำว่า อธิษฐาน เพื่อขอพรพระ ฝ่ายชายเริ่มว่าเพลงก่อน ฝ่ายหญิงร้องแก้ เมื่อฝ่ายใดร้อง ลูกคู่ฝ่ายนั้นร้องรับ ไม่ต้องปรบมือ เกี้ยวพาราสีกันไปในเนื้อเพลงซึ่งเป็นกลอนสั้นๆ เพียง ๔ วรรค และมักยกเอาชื่อหมู่บ้านมาสัมผัสกับชื่อดอกไม้

ตัวอย่าง เพลงพิษฐาน จากชาวบ้านตำบลสระทะเล อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

ชาย    :    พิษฐานเอย  มือหนึ่งถือพาน    พานเอาดอกพิกุล
ลูกคู่    :    มือหนึ่งถือพาน    พานเอาดอกพิกุล
ชาย     :    เกิดชาติใดแสนใดเอย      ขอให้ลูกได้ส่วนบุญ
ลูกคู่     :    พิษฐานวานไหว้  ขอให้ได้ดังพิษฐานเอย     เอ๋ยเนรมิต  ยอดพระพิษฐานเอย
หญิง     : พิษฐานเอย  มือหนึ่งถือพาน    พานเอาดอกจำปี
ลูกคู่     :    มือหนึ่งถือพาน      พานเอาดอกจำปี
หญิง     :    ลูกเกิดมาชาติใดแสนใด    ขอให้ลูกได้ไอ้ที่ดีๆ
ลูกคู่     :    พิษฐานวานไหว้  ขอให้ได้ดังพิษฐานเอย     เอ๋ยเนรมิต ยอดพระพิษฐานเอย

ตัวอย่าง เพลงพิษฐาน ของ ชาวบ้านอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ชาย    :    พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน    ถือพานดอกจอก
        เกิดชาติใดแสนใด      ขอให้ได้พวกบ้านกระบอก
หญิง    :    พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน    ถือพานปากกระจับ
        เกิดชาติใดแสนใด    ขออย่าให้ได้พวกบางพลับ

เพลงพิษฐานนี้ จุดประสงค์นอกจากเพื่อการขอพรแล้ว แก่นของเพลง คือ การทำให้ผู้อธิษฐาน ซึ่งเป็นหนุ่มสาว จะได้มีความสุขสนุกสนาน ได้แสดงออกเกี้ยวพาราสี กระเซ้าเย้าแหย่ ส่วนมากจะไม่ถือโกรธกัน ถ้าร้องเกินเลยไป เช่น

ชาย   :    พิษฐานเอย    มือหนึ่งถือพาน   พานแต่ดอกบัว
    เกิดชาติใดแสนใด      ขอให้ได้เป็นผัวคนชื่อ......... (ออกชื่อฝ่ายหญิง)
หญิง :    พิษฐานเอย      มือหนึ่งถือพาน  พานแต่ดอกแค      
    เกิดชาติใดแสนใด      ขอให้ได้เป็นแม่คนชื่อ......... (ออกชื่อฝ่ายชาย)

เพลงระบำบ้านไร่

เพลงระบำมีอยู่ ๓ แบบ คือ เพลง ระบำบ้านไร่ เพลงระบำบ้านนา และเพลงระบำ

ภาพจากปกหนังสือแสดงการร้องเล่นเพลงระบำชาวบ้านไร่ ซึ่งเป็นเพลงที่ร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิง
ภาพจากปกหนังสือแสดงการร้องเล่นเพลงระบำชาวบ้านไร่ ซึ่งเป็นเพลงที่ร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิง


เพลงระบำบ้านไร่ เล่นในงานเทศกาลสงกรานต์ และงานนักขัตฤกษ์ต่างๆ เป็นเพลงร้องโต้ตอบระหว่างชายหญิง เนื้อเพลงเกี่ยวเนื่องกับการเกี้ยวพาราสี นิยมเล่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยชายและหญิงจะยืนล้อมวง ปรบมือเป็นจังหวะ และผลัดกันเป็นต้นเพลง ส่วนที่เหลือจะเป็นลูกคู่ร้องรับว่า

"ดงไหนเอย ลำไย    หอมหวนอยู่ในดงเอย
    เข้าดงเข้าดงลำไย    หอมหวนอยู่ในดงเอย"

ตัวอย่าง เพลงประ ของนายกร่าง แม่อิน จากแผ่นเสียงตราช้างสามเศียร            

กร่าง     :    ระบำไหนเอย    แม่ชื่นใจเอ๋ยชาวบ้านไร่        
ลูกคู่     :    ช้า...  ระบำที่ไหนเล่าเอย    แม่ชื่นใจเอ๋ยชาวบ้านไร่
กร่าง     :    วันนี้ประสบมาพบพักตร์    มาเจอน้องรักแม่ชื่นใจ
ลูกคู่     :    ดงไหนเอยลำไย
กร่าง    :    จะพูดก็ขามจะถามก็เกรง    พี่จะผูกเป็นเพลงว่าไป    (รับ)
        โอ้แม่บ้านเหนือเชื้อละคร    ให้รำมาก่อนจะเป็นไร    (รับ)
        ให้หล่อนเหยียดแขนออกมาฟ้อน    แขนใครจะอ่อนกว่าแขนใคร
        ดงไหนเอย  เอ่อเอยลำไย
ลูกคู่    :     หอมหวนอยู่ในดงเอย  เข้าดง  เข้าดงลำไย  หอมหวนอยู่ในดงเอย
อิน    :      ช้าระบำที่ไหนเล่าเอย    ชื่นใจเอ๋ยชาวบ้านไร่
ลูกคู่    :     ดงไหนเอยลำไย
อิน      :     ได้ยินสุนทรพี่มาวอนว่า    ได้ยินวาจาพี่ชาย   (รับ)
        ว่าแม่ชาวบ้านเหนือเชื้อละคร    จะรำจะฟ้อนออกไป  (รับ)
        ว่าแม่หนูเต้นโค้งรำโค้ง    เดินเล่นในวงแขนชาย
        ดงไหนเอย   เอ่อเอยลำไย    
ลูกคู่     :    หอมหวนอยู่ในดงเอย  เข้าดง  เข้าดงลำไย  หอมหวนอยู่ในดงเอย

ส่วน เพลงระบำบ้านนา และเพลงระบำ จะแตกต่างกันที่การร้องรับของลูกคู่คือ เพลงระบำบ้านนา ลูกคู่ร้องรับว่า "แถวรำเจ้าเอย รำแน่ะๆ ไม้ลาย เขารำงามเอย" สำหรับเพลงระบำ มักขึ้นต้นวรรคว่า "ระบำทางไหนเล่าเอย" แล้วตามด้วยชื่อสถานที่ เช่น

ระบำทางไหนเล่าเอย      ระบำวัดแจ้ง
พี่รักน้องเหลือ       แม่เสื้อสีแดง
ระบำวัดแจ้ง       เขาก็รำงามเอย

เพลงอีแซว

เพลงอีแซวเป็นเพลงพื้นบ้านจังหวัดสุพรรณบุรี เล่นในงานเทศกาลสงกรานต์ หรืองานบุญกุศล เดิมเป็นเพลงร้องโต้ตอบกันสั้นๆ แบบกลอนหัวเดียว ต่อมา ได้ยืมกลอนเพลงฉ่อยไปร้องให้ยาวมากขึ้น ร้องด้วยจังหวะเร็วๆ เดินจังหวะด้วยฉิ่ง กรับ พ่อเพลงแม่เพลงแต่ละฝ่ายมีลูกคู่ ๔ - ๕ คน ร้องโต้ตอบเชิงเกี้ยวพาราสีแฝงคำสองแง่สองง่าม เพื่อสร้างความครึกครื้นให้แก่ผู้ฟัง ส่วนผู้ร้องต้องมีความสามารถในการเลือกถ้อยคำมาร้อยเรียง ที่เรียกกันว่า "ด้นเพลง" ให้ทันจังหวะที่เร็วกว่าเพลงประเภทอื่นๆ ต่อมา เพลงอีแซวได้พัฒนาเป็นวงอาชีพรับจ้างแสดงตามงานต่างๆ และเป็นที่นิยมร้องกันแพร่หลายในจังหวัดใกล้เคียงด้วย  

ตัวอย่าง เพลงอีแซว ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ

โอ้มาเถิดหนากระไรแม่มา    สาวน้อยเจ้าอย่าช้าๆ ร่ำไร   (ดนตรี)
หากได้ยินเสียงนี้  เสียงของพี่ไวพจน์    คนสุพรรณเขารู้หมด  ว่าพี่เป็นใคร
พี่นี้เป็นพ่อเพลง ใครๆ ก็เกรงกระทู้    ถ้าหากว่าน้องยังอยู่  พี่จะบอกให้
พี่สืบสายเพลงอีแซว ไปเล่นมาแล้วทุกที่    ศรีประจันต์ดอนเจดีย์  พี่นี้ก็เคยไป
เดิมบางนางบวช  ก็เคยไปอวดอารมณ์    สามชุกก็เคยชม   ว่าคารมพี่คมคาย
บางปลาม้าอู่ทอง  สองพี่น้องอำเภอเมือง    อย่าว่าคุยเขื่อง   พี่เฟื่องนะสายใจ
ชื่อเสียงโด่งดัง   แต่ยังขาดแม่เพลง    แม้ฝีปากเจ้ายังไม่เก่ง จะเกรงไปไย
พี่ขอเชิญให้มาสมัคร ถ้ามีใจรักทางร้อง    อีกหน่อยก็คงจะคล่อง ต้องค่อยหัดค่อยไป
ขอเพียงให้เชื่อฟัง  แม่ร้อยชั่งอย่าเกรง    จะหัดให้เป็นแม่เพลง ให้ร้องเก่งจนได้
คอหนึ่งนั้นเสียงพี่  เสียงโฉมศรีเป็นคอสอง    บกพร่องจะแก้ให้     
ถ้าหากน้องเก่งแล้ว  มาร่วมอีแซววงพี่    คงมีแม่เพลงชั้นดี  มาเป็นเพื่อนใจ
จะได้ร่วมกันหากิน ในถิ่นเมืองสุพรรณ        ให้ขึ้นชื่อลือลั่น  ไม่หวั่นใครๆ
ขออย่าได้อิดเอื้อน  ให้พี่เตือนซ้ำสอง    เชิญแม่เกริ่นทำนอง  ร้องเป็นเพลงอีแซวเอย
โอ้มาเถิดมากระไรแม่มาๆ    สาวน้อยเจ้าอย่าช้าๆ ร่ำไร
มาร่วมวงกับพี่ชาย    น้องอย่าอายใครเลย

เพลงพวงมาลัย

เพลงพวงมาลัยเป็นเพลงร้องโต้ตอบระหว่างชายและหญิง นิยมเล่นกันแถบภาคกลางทั่วไปแทบทุกจังหวัด ในงานเทศกาลต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ งานโกนจุก งานบวชนาค งานมงคลต่างๆ โดยเลือกสถานที่เล่นเพลง เป็นลานกว้างๆ ยืนล้อมเป็นวงกลม แบ่งเป็นฝ่ายชายครึ่งวงฝ่ายหญิงครึ่งวง มีพ่อเพลง แม่เพลงผลัดกันร้อง ส่วนที่เหลือจะเป็นลูกคู่ปรบมือเป็นจังหวะ และร้องรับฝ่ายของตน

การร้องเล่นเพลงพวงมาลัย ถ้านำมาเล่นในวันสงกรานต์ จะร้องประกอบการเล่นลูกช่วง
การร้องเล่นเพลงพวงมาลัย ถ้านำมาเล่นในวันสงกรานต์ จะร้องประกอบการเล่นลูกช่วง

 

ตัวอย่าง เพลงพวงมาลัย ชาวบ้านอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

แม่เพลง    :     เออระเหยลอยมา    ลอยมาก็ลอยไป
ลูกคู่         :     เออระเหยลอยมา    ลอยมาก็ลอยไป
แม่เพลง    :     ได้ยินผู้ชายมาร้องเชิญ    ไม่นิ่งเนิ่น อยู่ทำไม
        นางหยิบเข็มขัดเข้ามารัดพุง    สองมือแม่ก็นุ่งผ้าลาย
        นางหยิบหวีน้อยเข้ามาสอยเสย    ผมเผ้าแม่เลย กระจาย
        นางมายกเท้าก้าวกระดาก    สวยน้องลงจากกะได
        พวงเจ้าเอ๋ยมาลัย      ไม่ช้าไถลเลยเอย
ลูกคู่     :    พวงเจ้าเอ๋ยมาลัย    ไม่ช้าไถลเลยเอย
แม่เพลง     :     เออระเหยลอยมา    ลอยมาก็ลอยไป
ลูกคู่        :    เออระเหยลอยมา    ลอยมาก็ลอยไป

เพลงนี้ถ้านำมาเล่นในวันสงกรานต์ จะร้องประกอบการเล่นลูกช่วง ฝ่ายใดแพ้ก็ต้องมารำ เพลงพวงมาลัยนั้น เป็นเพลงที่ร้องง่ายและฟังสนุก จึงเหมาะกับการร้องรำมาก

เพลงเหย่อย

เพลงเหย่อยเป็นเพลงพื้นบ้านจังหวัดกาญจนบุรี นิยมเล่นในงานเทศกาล และงานมงคลต่างๆ มักมีกลองยาวมาตีเรียกชาวบ้านก่อน กลองยาวกับเพลงเหย่อยจึงเป็นของคู่กัน แบ่งเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จำนวนฝ่ายละ ๘ - ๑๐ คน มีผ้าคล้องคอคนละผืน ฝ่ายชายเริ่มรำออกไปก่อน สองมือถือผ้าออกไปด้วย จะค่อยๆ รำเข้าไปหาฝ่ายหญิง ซึ่งอยู่ในแถวตรงข้าม แล้วส่งผ้าหรือคล้องผ้าให้ ฝ่ายหญิงที่ได้รับผ้าก็ต้องออกมารำคู่ พลางร้องโต้ตอบเนื้อหาในเชิงเกี้ยวพาราสี เมื่อรำคู่พอสมควรแล้วก็ต้องให้คนอื่นรำบ้าง โดยฝ่ายหญิงเอาผ้าไปคล้องให้ฝ่ายชายคนอื่นๆ ส่วนฝ่ายชายคนเดิมก็ต้องค่อยๆ รำแยกออกมากลับไปยังที่เดิม รำสลับอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนจบเพลง อาจฟ้อนรำกันไปจนดึกด้วยความเพลิดเพลินตลอดทั้งคืน

ตัวอย่าง เพลงเหย่อย

(ลูกคู่จะปรบมือ  และร้องรับเมื่อต้น
เสียงร้องคำว่า "เอย" คือ ร้องซ้ำที่ผู้ร้องร้องทุกครั้ง)

ชาย    :     มาเถิดหนาแม่มา    มาเล่นพาดผ้ากันเอย
        พี่ตั้งวงไว้ท่า    อย่านิ่งอยู่ช้าเลยเอย
        พี่ตั้งวงไว้คอย    อย่าให้วงกร่อยเลยเอย
หญิง    :    ให้พี่ยื่นแขนขวา    เข้ามาพาดผ้าเถิดเอย
ชาย     :    พาดเอยพาดลง    พาดที่องค์น้องเอย
หญิง     :     มาเถิดพวกเรา    ไปรำกับเขาหน่อยเอย
ชาย     :    สวยแม่คุณอย่าช้า    ก็รำออกมาเถิดเอย
หญิง    :    รำร่ายกรายวง    สวยดังหงส์ทองเอย
ชาย     :    รำเอยรำร่อน    สวยดังกินนรนางเอย
หญิง    :    รำเอ๋ยรำคู่    น่าเอ็นดูจริงเอย
ชาย     :    เจ้าเขียวใบข้าว    พี่รักเจ้าสาวจริงเอย
หญิง     :    เจ้าเขียวใบพวง    อย่ามาเป็นห่วงเลยเอย
ชาย     :    รักน้องจริงๆ    รักแล้วไม่ทิ้งไปเอย
หญิง    :    รักน้องไม่จริง    รักแล้วก็ทิ้งไปเอย
ชาย     :    พี่แบกรักมาเต็มอก    รักจะตกเสียแล้วเอย
หญิง    :    ผู้ชายหลายใจ    เชื่อไม่ได้เลยเอย

เพลงฉ่อย เพลงวง เพลงฉ่า หรือเพลงเป๋  

เพลงฉ่อยเป็นเพลงที่เล่นกันทั่วไปทุกจังหวัดในภาคกลาง โดยนิยมเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และวันนักขัตฤกษ์อื่นๆ ภายหลังมีการตั้งวงเป็นอาชีพรับจ้างแสดงทั่วไป คณะลำตัดหวังเต๊ะนิยมนำเพลงฉ่อยมาร้องแทรกกับการเล่นเพลงลำตัดเสมอๆ เพลงฉ่อยเป็นเพลงโต้ตอบระหว่างชายหญิง มีเอกลักษณ์ตรงที่ลูกคู่จะร้องรับว่า "เอ่ชา เอ๊ชา ชา ฉาด ชา" บางคณะต่อด้วย "หน่อยแม่" ไม่ต้องมีดนตรีประกอบ ลูกคู่จะปรบมือเท่านั้น

 

การร้องเล่นเพลงฉ่อย ไม่ต้องมีดนตรีประกอบ ใช้การปรบมือของลูกคู่
การร้องเล่นเพลงฉ่อย ไม่ต้องมีดนตรีประกอบ ใช้การปรบมือของลูกคู่

 

ตัวอย่าง เพลงฉ่อย คณะแม่ต่วน 

    ฉ่า ฉ่า ชะชา            เอิงเออเออเอิงเงย
มือของลูกสิบนิ้ว              ยกขึ้นหว่างคิ้วถวาย
ต่างธูปเทียนทอง                   ทั้งเส้นผมบนหัว
ขอให้เป็นดอกบัว                ก่ายกอง...เอย...ไหว้...
(อีกทั้งเส้นผมบนหัว (ซ้ำ)  ขอให้เป็นดอกบัวก่ายกอง (ซ้ำ)  เอยไหว้...เอชา...)
ลูกจะไหว้ทั้งพระพุทธที่ล้ำ           ทั้งพระธรรมที่เลิศ
ทั้งพระสงฆ์องค์ประเสริฐ            ขออย่าไปติดที่รู้
ถ้าแม้นลูกติดกลอนต้น           ขอให้ครูช่วยด้น...กระทู้...เอย...ไป.
(ถ้าแม้นลูกติดกลอนต้น (ซ้ำ)          ขอให้ครูช่วยด้นกระทู้ (ซ้ำ)...ไป...เอชา...)
ลูกไหว้ครูเสร็จสรรพ               หันมาคำนับกลอนว่า
ไหว้คุณบิดรมารดาท่านได้อุตสาห์ถนอมกล่อมเกลี้ยง     ประโลมเลี้ยงลูกมา
ทั้งน้ำขุ่นท่านก็มิให้อาบ               ขมิ้นหยาบมิให้ทา
ยกลูกบรรจงลงเปล               ร้องโอละเห่...ละชา...ไกว 
(ยกลูกบรรจงลงเปล (ซ้ำ)        ร้องโอละเห่...ละชา (ซ้ำ)...ไกว...เอชา...)
แม่อุตส่าห์นอนไกว               จนหลังไหล่ถลอก
หน้าแม่ดำช้ำชอก               มิได้ว่า ลูกชั่ว
จะยกคุณแม่เจ้า               วางไว้บนเกล้า ของตัว...ไหว้...
(จะยกคุณแม่เจ้า (ซ้ำ)              วางไว้บนเกล้า ของตัว (ซ้ำ)...ไหว้...เอชา...)  

เพลงฉ่อยมีชื่อเรียกหลายชื่อ บางครั้งเรียกว่า เพลงวง มาจากลักษณะที่ยืนร้องเป็นวงกลม หรือเรียกว่า เพลงฉ่า มาจากบทรับของลูกคู่ ซึ่งบางแห่งรับว่า ฉ่า ชา...และที่เรียกว่า เพลงเป๋ เพราะมีพ่อเพลงฉ่อยที่มีชื่อเสียงมากชื่อ เป๋ จึงเรียกตามชื่อพ่อเพลงผู้นั้น

เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ

ชีวิตของผู้คนในภาคเหนือ หรือชาวล้านนา ผูกพันอยู่กับเสียงเพลงตลอดเวลาตั้งแต่ในวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จนถึงวัยชรา เพลงพื้นบ้านภาคเหนือเป็นบทร้องมุขปาฐะ คิดคำร้องขึ้นด้วยปฏิภาณไหวพริบ ขับร้อง ได้ฟัง และจดจำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุ เพลงพื้นบ้านภาคเหนือที่ยังเป็นที่รู้จัก และมีการร้องเล่นกันอยู่บางแห่งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะกล่าวถึงในที่นี้มี ๓ ประเภท คือ

เพลงสำหรับเด็ก  

ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก และเพลงร้องเล่น พบว่า มีการร้องกันในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน
 

  • เพลงกล่อมเด็ก ผู้ใหญ่ใช้ร้องขับกล่อมให้เด็กหลับ มักเรียกว่า เพลงอื่อ ชา ชา (ออกเสียงว่า อื่อ จา จา) ตามเสียงที่เอื้อนออกมาตอนขึ้นต้นเพลง เพื่อให้เกิดความนุ่มนวล ชวนให้เด็กหลับไปได้ง่าย เนื้อเพลงมีลักษณะคำประพันธ์ที่ไม่ตายตัว จำนวนคำและสัมผัสไม่เคร่งครัดเช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านอื่นๆ ส่วนทำนองเป็นทำนองร่ำ (ฮ่ำ) โดยเอื้อนเสียงทอดยาวที่พยางค์สุดท้ายของวรรค และเปล่งเสียงขึ้นลง ตามระดับสูงต่ำ ของเสียงวรรณยุกต์

ตัวอย่าง เพลงกล่อมเด็ก

    อื่อ  ชา  ชา      หลับสองตาอย่าไห้
แก้วแก่นไท้    แม่จักอื่อชาชา
นายไห้อยากกินชื้น    บ่มีไผไพหา
นายไห้อยากกินปลา       บ่มีไผไพส้อน
มีเข้าเย็นสองสามก้อน    ป้อนแล้วลวดหลับไพ
 

  • เพลงร้องเล่น ได้แก่ เพลงสิกก้องกอ เป็นเพลงที่ใช้ร้องเล่นกับเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เมื่อวางไว้บนหลังเท้าพ่อ และยกขาขึ้นลงตามจังหวะเพลง เพลงสิกจุ่งจา เป็นเพลงที่ร้องเมื่อไกวชิงช้าให้เด็กเล่น นอกจากนี้ มีเพลงที่เด็กร้องเล่นอื่นๆ เช่น เพลงฝนตกสุยสุย เพลงเกี่ยวหญ้าไซหญ้าปล้อง เพลงหมาหางกิด และเพลงสำหรับเล่นจ้ำจี้ 

ตัวอย่าง เพลงร้องเล่น

    สิกก้องกอ    บ่าลออ้องแอ้ง
บ่าแคว้งสุก    ปลาดุกเน่า
หัวเข่าปม        หัวนมปิ้ว
ปิดจะหลิ้ว    ตกน้ำแม่ของ
ควายลงหนอง    ตะล่มพ่มพ่ำ

จ๊อย  

จ๊อยเป็นเพลงพื้นบ้านที่เกิดจากประเพณีการพบปะพูดคุยเกี้ยวพาราสีในตอนกลางคืน เรียกว่า "แอ่วสาว" ระหว่างที่หนุ่มๆ เดินไปเยี่ยมบ้านสาวที่ตนหมายปองเอาไว้ ก็เอื้อนเสียงร้องจ๊อยเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้สาวจำเสียงได้ด้วย การร้องเป็นการจำบทร้อง และทำนองสืบต่อกันมาโดยไม่ต้องฝึกหัด อาจมีดนตรีประกอบหรือไม่มีก็ได้

ตัวอย่าง เพลงจ๊อย

สาวเหยสาว    อ้ายมาฟู่น้อง        หวังเป็นคู่ป้องรอมแพง
ยามเดือนส่องฟ้า    ดาวก็ดับแสง        พี่เหลียวผ่องแยง  เคหาแห่งเจ้า
พี่บ่รักไผ    เท่านายน้องเหน้า        ในโขงชมพูโลกนี้

ซอ  

เป็นเพลงพื้นบ้านภาคเหนือที่ชายหญิงขับร้องโต้ตอบกัน ผู้ร้องเพลงซอ หรือขับซอ เรียกว่า ช่างซอ เริ่มจากร้องโต้ตอบกันเพียงสองคน ต่อมา พัฒนาเป็นวงหรือคณะ และรับจ้างเล่นในงานบุญ มีดนตรีประกอบ ได้แก่ ปี่ ซึง และสะล้อ มีเนื้อร้องเข้ากับลักษณะของงานบุญนั้นๆ เช่น ซอเรียกขวัญ เป็นการทำขวัญนาค ซอถ้อง เป็นซอโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน ซอเก็บนก เป็นบทชมธรรมชาติ ชมนกชมไม้ ซอว้อง เป็นซอบทสั้นๆ ใช้ร้องเล่น ซอเบ็ดเตล็ดเรื่องต่างๆ เช่น ซอแอ่วสาวปั่นฝ้าย ซอเงี้ยวเกี้ยวสาว และซอที่เล่นเป็นเรื่องนิทาน เช่น น้อยไจยา เจ้าสุวัตร-นางบัวคำ และดาววีไก่หน้อย ส่วนทำนองที่ใช้ขับซอมีหลายทำนองตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น เช่น ทำนองขึ้นเชียงใหม่ จะปุ ซอเมืองน่าน ละม้ายเชียงแสน ซอพม่า และทำนองเงี้ยว

ตัวอย่าง ซอว้อง ใช้ร้องเล่นกลับไปกลับมา

ฮอดตาวันแลง    
จะสิมดแดง มดส้ม
ฮอดตาวันล้ม    
จะสิมดส้ม มดแดง

ตัวอย่าง ซอนิทาน เรื่องน้อยไจยา

น้อยไจยา :    ดวงดอกไม้      แบ่งบานสลอน    ฝูงภมร       แม่เผิ้งสอดไซ้
    ดอกพิกุล       ของพี่ต้นใต้    ลมพัดไม้       มารอดบ้านตู
    รู้แน่ชัด    เข้าสู่สองหู    ว่าสีชมพู    ถูกป้ำเค้าเนิ้ง
    เค้ามันตาย    ปลายมันเสิ้ง    ลำกิ่งเนิ้ง    ตายโค่นทวยแนว
    ดอกพิกุล    ก็คือดอกแก้ว    ไปเป็นของเปิ้น    แล้วเน้อ
แว่นแก้ว :    เต็มเค้าเนิ้ง    กิ่งใบแท้เล่า    ตามคำลม        ที่พัดออกเข้า
    มีแต่เค้า    ไหวหวั่น    คลอนเฟือน
    กิ่งมันแท้    บ่แส่เสลือน    บ่เหมือนลมโชย    รำเพยเชื่อนั้น
    ใจของหญิง       น้องหนิมเที่ยงมั่น    บ่เป็นของเปิ้น    คนใด
    ยังเป็นกระจก    แว่นแก้วเงาใส       บ่มีใจเหงี่ยง    ชายเน้อ    

เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน

ภาคอีสานเป็นแหล่งรวมกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง ๓ กลุ่ม จึงมีเพลงพื้นบ้านแบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้

๑.    เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว
๒.    เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย)
๓.    เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช

เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว

กลุ่มชนกลุ่มนี้ ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และบางส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มชนนี้ใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาอีสาน เพลงพื้นบ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไทย- ลาว มี ๒ ประเภท คือ หมอลำ และเซิ้ง

ก. หมอลำ

หมอลำเป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมมากในภาคอีสาน ได้พัฒนาการแสดงเป็นคณะ มีการฝึกหัดเป็นอาชีพ รับจ้างไปแสดงในงานต่างๆ มีทำนองลำ เรียกตามภาษาถิ่นว่า "ลาย" ที่นิยมมีด้วยกัน ๔ ลาย คือ

๑. ลายทางเส้น    
๒. ลายทางยาว    
๓. ลายลำเพลิน
๔. ลายลำเต้ย

ตัวอย่าง ลายลำเต้ย  ชื่อ  เต้ยโขง

    ลา ลา ก่อนเด้อ    ขอให้เธอจงมีรักใหม่
ชาตินี้ขอเป็นขวัญตา    ชาติหน้าขอเป็นขวัญใจ
ชาตินี้แลชาติใด    ขอให้ได้เคียงคู่กับเธอ

คณะหมอลำ ที่ร้องเล่นหมอลำ โดยใช้ภาษาถิ่นอีสาน
คณะหมอลำ ที่ร้องเล่นหมอลำ โดยใช้ภาษาถิ่นอีสาน

 

 

ข. เซิ้ง หรือลำเซิ้ง   

คำว่า "เซิ้ง" หมายถึง การฟ้อนรำ เช่น เซิ้งกระติบ หรือทำนองเพลงชนิดหนึ่ง เรียก ลำเซิ้ง เซิ้งทั่วไปมี ๓ แบบ คือ เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งเต้านางแมว และเซิ้งเต้านางด้ง การเซิ้งนี้มักจะเป็นกลุ่มย่อยๆ ตั้งกระบวนแห่ไปขอปัจจัย เพื่อร่วมทำบุญงานวัด

ตัวอย่าง เซิ้งหลักธรรม (ตัดความมาบางตอน)

    องค์พุทโธเพิ้นว่าจังซี้    ไผขี้ถี่เกิดเป็นปลาหลด
เกิดมาอด  กินหยังบ่ได้    ของใหญ่ๆ แม่นบ่ได้กิน
พระมุนินทร์เพิ้นว่าชั้นดอก    ข้อยสิบอกให้เจ้ารู้คลอง
รู้ทำนองทรัพย์สินภายนอก    เพิ่นนั้นบอกให้กินให้ทาน
สร้างสะพานผลาไปหน้า    ขึ้นชั้นฟ้าสวรรค์นิพพาน

การฟ้อนรำเซิ้งกระติบ
การฟ้อนรำเซิ้งกระติบ

เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย)

เป็นกลุ่มประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ มีภาษาของตนเอง คือ ภาษาเขมร และภาษาส่วย(กูย) ซึ่งต่างไปจากภาษาถิ่นอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า"เจรียง" ซึ่งแปลว่า ร้อง หรือขับลำ
 

การร้องเล่นเจรียงซันตูจ ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย)
การร้องเล่นเจรียงซันตูจ ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย)

 

การเล่นเจรียงนั้น มีทั้งที่จัดเป็นคณะ และเล่นกันเองตามเทศกาล เป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่

๑. เจรียงในวงกันตรึมวง ซึ่งเป็นวงดนตรีประกอบด้วย ปี่ออ ปี่ชลัย กลอง กันตรึม ฉิ่ง ฉาบ กรับ ปัจจุบันมีซออู้ และซอด้วงด้วย เมื่อเจ้าภาพจัดหาวงกันตรึมมาเล่น ก็จะมีการร้องเพลง คือ เจรียงประกอบวงกันตรึม เนื้อร้องจะเลือกให้เข้ากับงานบุญกุศลนั้นๆ หรือตามที่ผู้ฟังขอมา

๒. เจรียงเป็นตัวหลัก ในวันเทศกาล ชาวบ้านที่มีอารมณ์ศิลปินจะจับกลุ่มร้องเจรียงที่จำสืบทอดกันมา ผลัดกันร้อง และรำฟ้อนด้วย เช่น เจรียงตรุษ เจรียงนอรแกว (เพลงร้องโต้ตอบระหว่างชาย-หญิง)

ตัวอย่าง เจรียงซันตูจ (เพลงตกเบ็ด)

    ปกัวร์เลือนกันโดะ        (ฟ้าลั่นสั่นสะเทือน)
บองจัญเรียบ มจ๊ะเสราะ        (พี่ขอแจ้งเจ้าของบ้าน)
บองโซมลีงซันตูจโกน  กระโมม    (พี่ขอเล่นตกเบ็ดกับลูกสาว)
ลิ่งเตียง  เนียงตูจ            (เล่นทั้งน้องนางคนเล็ก)
รโฮด  ดอลเนียงธม        (ตลอดถึงน้องนางคนโต)
โซมลีง  ซันตูจโกน  กระโมม    (ขอเล่นตกเบ็ดกับลูกสาว)
ตามจ๊ะโบราณ            (ตามคนแก่โบราณ)

เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช

กลุ่มชนวัฒนธรรมไทยโคราช ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา และบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ เพลงพื้นบ้านของชนกลุ่มนี้ คือ เพลงโคราช ปัจจุบันพัฒนาจากเพลงพื้นบ้านมาเป็นคณะหรือเป็นวง มีการฝึกหัดเป็นอาชีพ รับจ้างแสดงในงานบุญ งานมงคล งานแก้บนท้าวสุรนารี เนื้อร้องโต้ตอบระหว่างชาย-หญิง กลอนเพลงมีหลายแบบ เช่น เพลงคู่สอง เพลงคู่สี่ ใช้ปรบมือตอนจะลงเพลงแล้วร้อง "ไช ยะ"

การร้องเล่นเพลงโคราชที่มีเนื้อร้องโต้ตอบกันระหว่างชายและหญิง
การร้องเล่นเพลงโคราชที่มีเนื้อร้องโต้ตอบกันระหว่างชายและหญิง

 

 

ตัวอย่าง เพลงโคราช

เห็นต้นระกำ    คราวนี้จะช้ำเอยต้นกู    ไม่เห็นแม่ดวง    พี่ก็จะดูแต่ต้นระกำ
เอยกะต้นเกด    เกดเอยเคยสังเกต    นั่งเช็ดน้ำตา    มองเห็นกกไม้พี่ก็มอง
ดูแต่กายเอยแค่เกล็ด    กกไม้ทำไมยังมี    ตาเกดตากัน    เกดเอ๋ยแม่เกด
จะแล้งแล้วแม่โฉมตรู  นึกเห็นแต่ก่อนเรา    เคยกอดเชิดชู...กัน

เพลงพื้นบ้านภาคใต้

เพลงพื้นบ้านภาคใต้มีค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ แต่ยังรักษารูปแบบพื้นเมืองได้มาก นิยมเล่นกันเองตามเทศกาลต่างๆ  โดยไม่มีการรับจ้างแสดง และไม่ถือเป็นอาชีพ เพลงพื้นบ้านภาคใต้ที่สำคัญๆ ได้แก่ เพลงเรือ เพลงบอก เพลงนา เพลงกล่อมนาคหรือแห่นาค และเพลงร้องเรือหรือเพลงชาน้องซึ่งเป็นเพลงกล่อมเด็ก

เพลงเรือ  

เป็นเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่ง ใช้เล่นในเรือ นิยมเล่นในเดือนสิบเอ็ด หรือเดือนสิบสองหลังออกพรรษาแล้ว ภาคใต้จะมีงานประเพณีชักพระหรือแห่พระ ผู้เล่นเพลงเรือเป็นชาวบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเลสาบ เช่น อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอหาดใหญ่ อำเภอเมืองฯ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และจังหวัดชุมพร การเล่นเพลงเรือ มีเรือเพลงฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยเริ่มต้นร้องกลอนไหว้ครูก่อน จากนั้นก็ว่ากลอน ชักชวนเรือเพลงอีกฝ่ายให้มาร้องเล่นกัน แล้วร้องโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณไหวพริบ ทั้งในเชิงเกี้ยวพาราสี โต้คารมอย่างเผ็ดร้อน และกระเซ้าเย้าแหย่กัน มักนำเอาเหตุการณ์บ้านเมือง หรือสภาพแวดล้อมมาสอดแทรกในเนื้อร้อง เพื่อให้เกิดอารมณ์ขัน หรือเสียดสีประชดประชันกัน ในระหว่างที่ร้องเพลงเรือนั้น ผู้พายต้องพายให้เข้ากับจังหวะของเพลงด้วย 

การร้องเล่นเพลงเรือ
การร้องเล่นเพลงเรือ

 

ตัวอย่าง เพลงเรือ

  • เพลงเรือสงขลา

    ขึ้นข้อต่อกล่าว       ถึงสาวทุกวัน
แต่งตัวกวดขัน    ในวันประชุม
ตุ้มหูพู่ห้อย    สาวน้อยหนุ่มหนุ่ม
สองเต้าเต่งตุม    เหมือนพุ่มมาลา
ถ้าได้พี่ชาย    จะจูบซ้ายจูบขวา
สาวน้อยงามสรรพ     ดับกายไว้ท่า
ถึงวันออกษา    พี่จะพาเจ้าไป

วิธีร้อง     ต้นเสียงจะร้องนำ และลูกคู่รับ  ซึ่งจะร้องซ้ำกับต้นเสียง ดังนี้

    ขึ้นข้อต่อกล่าว    ถึงสาวทุกวัน    ลูกคู่รับ    น้องนั่นแหล้    สาวนั้นแหล้
เพื่อเหอต่อกล่าว           ,,      ถึงสาวทุกวัน
สาวเหอต่อกล่าว               ,,     ถึงสาวทุกวัน
แต่งตัวกวดขัน    ในวันประชุม        ,,     น้องนั่นแหล้    สาวนั้นแหล้
เพื่อเหอกวดขัน        ,,     ในวันประชุม
สาวเหอกวดขัน        ,,     ในวันประชุม

  • เพลงเรือโต้ตอบ

ชาย :    เออเหอย ขอถาม    เรืองามทรามวัย
    หน้าตาขาวขาว    เป็นชาวบ้านไหน
    มีคู่หรือยัง    บอกมั่งเป็นไร
    ขอแม่ทรามวัย    เอ่ยเอื้อนวาจา
หญิง :    เออเหอย เรือชาย    ปากร้ายนักหนา
    เที่ยวพายใต้เหนือ    ตามเรือฉานมา
    คนไม่รู้จักเที่ยวทักถามหา    พูดพร่ำเจรจาน่าขันเหลือใจ

เพลงบอก 

เป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมเล่นในวันสงกรานต์ (ก่อนหรือหลังก็ได้) เพื่อบอกความหรือประกาศวันสงกรานต์ว่า ปีนี้นาคให้น้ำกี่ตัว วันใดเป็นวันธงชัย วันอธิบดี ฯลฯ เพลงบอกอาจเล่นในงานบุญต่างๆ หรืองานประจำปีก็ได้

 

การรวมกลุ่มกันร้องเล่นเพลงบอกของชาวบ้านภาคใต้ ในงานบุญหรืองานประจำปี
การรวมกลุ่มกันร้องเล่นเพลงบอกของชาวบ้านภาคใต้ ในงานบุญหรืองานประจำปี

วิธีเล่น  

ชาวบ้านจะรวมกลุ่ม ๕ - ๑๐ คน เครื่องดนตรีมีทั้งขลุ่ย ทับ ปี่ ฉิ่ง กรับ หรือแล้วแต่จะหาได้ เดินร้องเพลงไปตามหมู่บ้าน เมื่อเจ้าของบ้านได้ยินเสียงเพลงก็จะเชื้อเชิญขึ้นบ้าน เลี้ยงอาหาร หมากพลู แม้จะเป็นเวลามืดค่ำ เจ้าของบ้านก็ยังยินดีต้อนรับคณะเพลงบอก เพราะเนื้อเพลงของเพลงบอกนั้นร้องอวยพรปีใหม่ และสรรเสริญเยินยอเจ้าของบ้านอีกด้วย

ตัวอย่าง เพลงบอก เรื่องศาลาโดหก เพลงบอกของเจ้าคุณวัดท่าโพธิ์ พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช (ม่วง รตฺนธชฺเถร)

    บ้านเมืองเอก ณ ปักษ์ใต้    พลไพร่ก็พร้อมเพรียง
รุกขะเรียงแกววิถี    เมทนีดล
    มีศาลาหน้านครินทร์    พื้นเป็นดินก่อด้วยอิฐ
หลังคาปิดบังร้อน    ทั้งได้ซ่อนฝน
    ศาลานี้มีเป็นหลัก    ที่สำนักประชาชน
ผู้เดินหนได้หยุดอยู่    ทุกฤดูกาล
    มีประดู่อยู่หกต้น    ที่สูงพ้นแต่หลังคา
รอบศาลากิ่งโตใหญ่    แผ่อยู่ไพศาล
    อยู่ในถิ่นประจิมถนน    เป็นที่ชมสำราญ
แต่ก่อนกาลดึกดำบรรพ์    เป็นที่สำคัญกล่าว
    ชาวบ้านนอกออกสำเหนียก    นิยมเรียกคำสั้นสั้น
ชอบแกล้งกลั่นพูดห้วนห้วน    ตัดสำนวนยาว
    เรียกว่าศาลาโดหก    โดยหยิบยกวัตถุกล่าว
เรียกกันฉาวทั้งบ้าน    มีพยานโข...

เพลงนา  

เพลงพื้นบ้านของชาวชุมพร ใช้ร้องเล่นเมื่อจับกลุ่มเดินไปนา และร้องระหว่างเกี่ยวข้าว ลักษณะคำประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ แต่วรรคหนึ่งอาจมี ๙ - ๑๑ คำแล้วแต่เนื้อความที่ร้อง และใช้สัมผัสท้ายวรรคเป็นเสียงเดียวกันที่เรียกว่า กลอนอา กลอนอี การร้องเพลงนาต้องมีคู่ขับร้องด้วยคนหนึ่ง ผู้ร้องนำต้นบทเรียกว่า แม่เพลง คู่ขับร้องเรียกว่า ท้ายไฟ และเมื่อร้องจบบทหนึ่งอาจเปลี่ยนกันเป็นแม่เพลง หรือท้ายไฟก็ได้

ตัวอย่าง การร้องเพลงนา บทไหว้ครู

แม่เพลง   :    ออ...น้อง...หนา...ขอน้อมหัตถ์นมัสการท่านอาจารย์ผู้ประสาท
ท้ายไฟ     :    ขอน้อมหัตถ์นมัสการท่านอาจารย์ผู้ประสาท...แลท่านเหอย
แม่เพลง   :    วิชาการสามารถท่านส่งเสริมสั่งสอน
    (ซ้ำ... ท่านส่งเสริมสั่งสอน) ท่านชี้แนวชักนำให้ว่าคำว่ากลอน

ตัวอย่าง การร้องเพลงนา บทอาลัยลา

        คนรักกันแม้อยู่ไกลเหมือนอยู่ใกล้
        เบียดสนิทชิดกายเหมือนตักบาตรร่วมขัน
        อยู่ขอบฟ้าเขาเขียวเหมือนอยู่ห้องเดียวกัน
บทลง :    อยู่ขอบฟ้าเขาเขียวเหมือนอยู่ห้องเดียวกัน
        ผูกรักสัมพันธ์ผูกใจมั่นจริง เหอย...
        เป็นคู่ทุกข์คู่ยากคู่สร้างคู่สม
        คู่เคียงเรียงภิรมย์ตลอดกาลไป เหอย...

เพลงกล่อมนาค หรือเพลงแห่นาค 

เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยพุทธแถบแหลมสทิงพระ จังหวัดสงขลา ใช้ร้องกล่อมนาคตอนแห่นาคออกจากบ้านไปวัด และตอนแห่เวียนรอบพระอุโบสถ นอกจากร้องเพื่อความสนุกสนานครื้นเครง เนื้อหาของบทเพลงยังเป็นการอบรมสั่งสอนนาคก่อนเข้าบรรพชาอุปสมบท ขอความเป็นสิริมงคลจากเทวดา และบางตอนก็ร้องล้อเลียนนาคเกี่ยวกับหญิงคนรักด้วย คณะเล่นเพลงกล่อมนาคมีแม่เพลง ๑ - ๒ คน และลูกคู่ ๕ - ๑๐ คน เดินล้อมตัวนาค และร้องเพลงกล่อมไปตลอดทางจนถึงพระอุโบสถ มีแบบแผนการร้องนำและร้องรับ ดังตัวอย่าง

แม่เพลง      :    มือเอยมือของข้า    สิบนิ้ววันทายอไหว้
ลูกคู่         :    เอ เห่ เห้ ไป มือเอยมือของข้า    สิบนิ้ววันทายอไหว้...ไป    
แม่เพลง     :    ทุกทิศาพารา พี่น้องเห้อ    ทุกทิศาพาราข้าปูผ้าใหญ่
        แล้วแว่นแคว้นแดนไกลทุกทิศา
ลูกคู่    :    เอ เห่ เห้ ศา     ทุกทิศาพาราข้าปูผ้าใหญ่
        แล้วแว่นแคว้นแดนไกลทุกทิศา

 

การร้องเพลงกล่อมนาค มีเนื้อหาเป็นการอบรมสั่งสอนนาคก่อนบรรพชาอุปสมบท
การร้องเพลงกล่อมนาค มีเนื้อหาเป็นการอบรมสั่งสอนนาคก่อนบรรพชาอุปสมบท

 

ตัวอย่าง บทร้องกล่อมนาค บางตอน

    ไหว้เทพไทในแดนแผ่นพสุธา        ช่วยยะโสโมทนาอย่าขัดสน
ให้เจ้านาคลุไปดังใจดล        จุหลาจลอย่าได้มีมา
ขอให้คนที่หามมีความสุข        สำเร็จเสร็จทุกข์ไปเถิดหนา
อันหนุ่มสาวเฒ่าแก่แห่นาคมา        ไปชาติหน้าคงจะได้วิมานทอง
 

เพลงแห่นาค ใช้ร้องตอนแห่นาคออกจากบ้านไปวัด
เพลงแห่นาค ใช้ร้องตอนแห่นาคออกจากบ้านไปวัด

 

เพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง  

เป็นเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้ ใช้ร้องกล่อมเด็กให้นอนหลับ ลักษณะคำประพันธ์เป็นกลอนชาวบ้าน โดยทั่วไป ๑ บท มี ๘ วรรค ในแต่ละวรรค มี ๔- ๑๐ คำ แล้วแต่เนื้อความ และบางเพลงอาจมีความยาวถึง ๓๐ วรรค เพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง ส่วนมากร้องเกริ่นนำด้วยคำว่า "ฮาเอ้อ" และจบท้ายวรรคแรกด้วยคำว่า "เหอ" เนื้อหาสาระเป็นการขับกล่อมให้เด็กนอนหลับเร็ว และหลับสนิท ด้วยความอบอุ่น ทั้งกายและใจ หลายบทได้สอดแทรกคำสอนในการประพฤติปฏิบัติตน ปลูกฝังคุณธรรม และสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย

ตัวอย่าง  เพลงร้องเรือ หรือ เพลงชาน้อง

๑) ขวัญอ่อนเหอ            นอนให้เป็นสุข
แม่ไม่มาปลุก            อย่าลุกรบกวน
ฟูกหมอนแม่ตั้ง            รองหลังนิ่มนวล
อย่าลุกรบกวน              ขวัญอ่อนเจ้านอนเปล

๒) ยาฝิ่นเหอ            อย่ากินมากนักเลยพ่อเนื้อทอง
ต้องจำต้องจอง            ต้องเขอต้องคาเพราะยาฝิ่น
อยากกล้วยอยากอ้อย        น้องสาวน้อยจะเซ้อให้กิน
ต้องเขอต้องคาเพราะยาฝิ่น        นั่งไหนโหนอนนั่น

๓) โลกสาวเหอ            โลกสาวชาวเรินตีน
เดินไม่แลตีน            เหยียบเอาโลกไกตาย
หนวยตาตั้งสองหนวย         หวงอี้เหลียวแลชาย
เหยียบเอาโลกไกตาย         แลชายไม่วางตา

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow