Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเสียหายที่ประเทศไทยได้รับจากพิบัติภัยคลื่นสึนามิ

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
1,983 Views

  Favorite

ความเสียหายที่ประเทศไทยได้รับจากพิบัติภัยคลื่นสึนามิ

สาเหตุที่พิบัติภัยมีความรุนแรงมาก

      พิบัติภัยจากคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถือเป็นภัยธรรมชาติร้ายแรงมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยได้รับ ถึงแม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะมากเป็นอันดับ ๔ รองจากประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา และอินเดีย ก็ตามการที่พิบัติภัยจากคลื่นสึนามิมีความรุนแรงมากเป็นเพราะสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
      ๑. ประเทศไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิและขาดเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องคลื่นสึนามิโดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากในบริเวณทะเลอันดามันไม่เคยเกิดพิบัติภัยจากคลื่นสึนามิมาก่อนประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอันดามันจึงขาดการระมัดระวังป้องกันภัยไม่เหมือนกับประเทศที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีการสร้างระบบเตือนภัยจากคลื่นสึนามิไว้เรียบร้อยแล้ว ในตอนเช้าของวันที่ ๒๖ ธันวาคม นั้นกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งมีเครื่องตรวจจับความสั่นสะเทือนของแผ่นเปลือกโลกจากแผ่นดินไหวอยู่ที่สำนักงานได้ทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่บริเวณนอกฝั่งตะวันตกของหัวเกาะสุมาตราจึงได้ออกประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบ แต่มิได้มีการเตือนภัยว่าจะมีคลื่นสึนามิเกิดขึ้นเพราะไม่มีเครื่องมือตรวจวัดความสูงของคลื่นในทะเลและเจ้าหน้าที่ก็มิได้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องคลื่นสึนามิด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดคลื่นสึนามิขึ้นที่เกาะสุมาตราและกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาที่พื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ของไทยจึงไม่มีการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ทราบล่วงหน้าทำให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก

 

แผนภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสึนามิ
แผนภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสึนามิ ขณะเคลื่อนที่จากท้องทะเลเข้าสู่ฝั่ง

 

      ๒. บริเวณที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลที่สำคัญของไทยและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมเดินทางมาพักผ่อนกันมากประกอบกับอยู่ในช่วงเวลาเทศกาลคริสต์มาสและใกล้วันปีใหม่จำนวนนักท่องเที่ยวจึงมีมากเป็นพิเศษ เมื่อเกิดพิบัติภัยขึ้นจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจึงมีทั้งนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมาจากประเทศในยุโรปเหนือ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก มีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ
      ๓. นักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์คลื่นสึนามิมาก่อนจึงขาดการเฝ้าระวังภัยและการหนีภัย ดังจะเห็นได้จากกรณีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งเดินลงไปดูที่บริเวณชายหาด เมื่อเกิดน้ำลงผิดปกติก่อนที่คลื่นใหญ่จะเคลื่อนตัวเข้ามาและเมื่อคลื่นถาโถมเข้ามาก็ไม่สามารถหนีภัยได้ทันต้องเสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้ผู้ที่พักอยู่ในบังกะโลหรือนั่งพักผ่อนอยู่ที่ร้านค้าและร้านอาหารบริเวณชายหาดส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถหนีภัยได้ทันเช่นกัน
      ๔. เนื่องจากเป็นพิบัติภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกทั้งมิได้มีการเตรียมแผนแก้ไขสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า การช่วยเหลือผู้ที่รอดชีวิตและบาดเจ็บจึงเป็นไปอย่างขลุกขลักและล่าช้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะห่างจากฝั่งความช่วยเหลือไปถึงล่าช้ากว่าบนพื้นแผ่นดินใหญ่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการบาดเจ็บจึงมีเพิ่มมากขึ้น

 

ภาพจำลอง ๓ มิติ
ภาพจำลอง ๓ มิติ ถ่ายจากดาวเทียม IKONOS แสดงบริเวณชายฝั่งทะเล จังหวัดพังงา 
บันทึกภาพเมื่อ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ

ก. ความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สิน

จากรายงานเบื้องต้น เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หลังการเกิดพิบัติภัยคลื่นสึนามิได้ ๑๕ วัน ได้ระบุจำนวนของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย ไว้ในตารางข้างล่างนี้

 

ความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สิน

 

      จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นคนต่างชาติมีถึง ๑,๒๔๐ คน จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๕,๓๐๙ คน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตที่ไม่ทราบว่าเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติอีก ๒,๓๔๑ คน ส่วนผู้สูญหายจำนวนทั้งหมด ๓,๓๗๐ คน นั้นได้มาจากการรับแจ้งต่อทางราชการจากญาติพี่น้องของผู้ประสบภัยภายหลังการเกิดเหตุ ต่อมาจำนวนดังกล่าวนี้ลดลงเพราะได้พบผู้ที่รับแจ้งว่าสูญหายบางคนแล้ว นอกจากนี้ยังมีการค้นพบศพผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการตรวจสอบเอกลักษณ์ของศพที่เก็บรักษาไว้เพื่อให้ทราบว่าเป็นผู้ใด ในรายงานของกระทรวงมหาดไทยที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิได้ ๓ เดือนเศษ ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขผู้เสียชีวิตผู้บาดเจ็บและผู้สูญหาย แยกเป็นคนไทยและคนต่างชาติดังนี้

 

ความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สิน

 

      นอกจากจะมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินเป็นจำนวนมากเช่นกัน ได้แก่ อาคารของโรงแรมขนาดใหญ่ ที่พักของนักท่องเที่ยวประเภทบังกะโลและเกสต์เฮาส์ ร้านค้าและร้านอาหารบริเวณชายหาด บ้านเรือนของราษฎรที่มีอาชีพทางการประมง ทรัพย์สินส่วนตัวของนักท่องเที่ยวที่ประสบภัย ยานพาหนะ เรือประมง และเรือของหน่วยงานราชการ ตลอดจนสาธารณูปโภคของท้องถิ่น เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนนหนทาง ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินเหล่านี้ถ้าคิดเป็นมูลค่าแล้วมีจำนวนหลายพันล้านบาท

 

ภาพถ่ายจากดาวเทียม
ภาพถ่ายจากดาวเทียม IKONOS บริเวณ บลูวิลเลจปะการังรีสอร์ท ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา บันทึกภาพ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ 
แสดงพื้นที่ก่อนประสบภัยคลื่นสึนามิ

 

ภาพถ่ายจากดาวเทียม
ภาพถ่ายจากดาวเทียม IKONOS บันทึกภาพ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ แสดงพื้นที่เดียวกันหลังประสบภัยคลื่นสึนามิ

 

ข. ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ
      ความเสียหายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากบริเวณที่ได้รับพิบัติภัยหลายแห่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากมีการลงทุนสร้างโรงแรมที่พักในระดับต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว นอกจากจะเสียหายในด้านทรัพย์สินแล้วการหยุดกิจการของธุรกิจต่าง ๆ ที่ประสบพิบัติภัยยังทำให้บุคลากรเป็นจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการเองหรือพนักงานลูกจ้างของกิจการนั้น ๆ ถึงแม้ว่ากิจการอื่น ๆ ที่ไม่ประสบพิบัติภัยโดยตรงยังสามารถดำเนินงานอยู่ได้ก็อาจมีปัญหาการขาดแคลนลูกค้า เนื่องจากนักท่องเที่ยวเกิดความเกรงกลัวไม่กล้าเดินทางมาเสี่ยงภัยอีก ปรากฏว่าภายหลังการเกิดภัยคลื่นสึนามิจำนวนนักท่องเที่ยวใน ๖ จังหวัดภาคใต้ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด โดยรวมแล้วแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความเสียหายมาก มี ๘ แห่งดังนี้ คือ

  • ชายทะเลเขาหลักในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก - ลำรู่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ         มีโรงแรมและที่พักนักท่องเที่ยวตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก
  • เกาะสิมิลัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
  • หาดราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต
  • หาดกะรน ตำบลกะรน อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต
  • หาดกะทู้ ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
  • หาดกมลา ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
  • หาดป่าตอง ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
  • เกาะพีพี อำเภออ่าวนาง จังหวัดกระบี่

      นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวความเสียหายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การประมง เนื่องจากมีหมู่บ้านประมงหลายแห่งได้รับความเสียหายจากภัยคลื่นสึนามิทั้งในด้านอาคารบ้านเรือนและเรือประมงที่ใช้ในการประกอบอาชีพ หมู่บ้านประมงที่ได้รับความเสียหายมาก คือ บ้านน้ำเค็ม ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองปากเกาะ ในอ่าวแหลมป้อม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และที่บ้านสุขสำราญ ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
ค. ความเสียหายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       คลื่นสึนามิที่ซัดเข้าสู่ฝั่งด้วยพลังแรงและมีระดับยอดคลื่นสูงหลายเมตรย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนชายฝั่งได้มาก ซึ่งไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ ตัวอย่างของความเสียหายที่สำคัญ ๆ ได้แก่

  • ความเสียหายของปะการังใต้น้ำ ซึ่งถูกคลื่นกระแทกแตกหักเสียหายหรือถูกตะกอนและวัสดุต่าง ๆ ที่น้ำพัดพามาจากท้องทะเลและบนพื้นดินทับถมกันบนส่วนยอดของปะการัง
  • ความเสียหายของป่าชายเลนที่ถูกคลื่นซัดจนหักโค่นหรือหลุดลอยไปกับมวลน้ำ
  • การเปลี่ยนแปลงของแนวชายหาด โดยบางส่วนถดถอยเข้ามาในบริเวณชายฝั่ง เนื่องจากการกัดเซาะของพลังคลื่นและบางส่วนอาจรุกล้ำออกไปในทะเลจากการทับถมของตะกอนที่น้ำพัดพามา
  • การเปลี่ยนแปลงของบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งอาจขยายกว้างออกหรือเคลื่อนที่ไปจากเดิม เนื่องจากพลังการกัดเซาะของคลื่นและการเปลี่ยนเส้นทางน้ำไหลจากปากน้ำออกสู่ทะเล
  • การมีซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างตามบริเวณชายหาด ซึ่งทำให้เกิดความสกปรกรกรุงรังรวมทั้งมีเศษขยะต่าง ๆ ที่คลื่นซัดมากองไว้เป็นจำนวนมาก
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow