Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตำแหน่งพระครูพราหมณ์

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
8,157 Views

  Favorite

ตำแหน่งพระครูพราหมณ์

ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนครนั้นเป็นที่พำนักของพราหมณ์ราชสำนัก พราหมณ์เหล่านี้ มีฐานะเป็นข้าราชการในพระราชสำนัก ขึ้นตรงต่อกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง สันนิษฐานว่า การแต่งตั้งตำแหน่งพราหมณ์เหล่านี้ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อมา ในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า สมัยนั้นมีตำแหน่งพระครูพราหมณ์อยู่หลายตำแหน่ง ที่กล่าวตรงกันในพระราชพงศาวดาร และคำให้การต่างๆ ได้แก่ ตำแหน่งพระครูพิธี พระครูปุโรหิต พระครูพิเชษฐ์ และพระครูมหิธร

อนึ่ง เรื่องบทบาทหน้าที่ของพราหมณ์แต่ละตำแหน่งในสมัยอยุธยานั้นยังไม่เป็นที่ยุติ เนื่องจากเอกสารหลักฐานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะตำแหน่ง พระครูพิเชษฐ์ และพระครูมหิธร ที่มีอ้างถึงในกฎมนเทียรบาล ซึ่งระบุหน้าที่เพียงแค่ถวายน้ำกลศ ในพระราชพิธีตรียัมพวายของหลวงเท่านั้น ส่วนตำแหน่ง พระครูพิธีนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ "สาส์นสมเด็จ" เล่ม ๑๔ ว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญศิลปศาสตร์สำหรับฝึกสอนวิชาต่างๆ เช่น คชกรรม พวกหนึ่ง พระครูพิธีนี้ถือลัทธิไศวนิกาย ซึ่งคือพราหมณ์ราชสำนักในปัจจุบันนั่นเอง ส่วนตำแหน่งพระครูปุโรหิต เป็นพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญพระธรรมศาสตร์สำหรับพิจารณาพิพากษาคดี และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๙๘ รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการตรากฎหมายศักดินา และกล่าวถึงตำแหน่งของพราหมณ์ พร้อมศักดินาแยกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งใช้กันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีรายละเอียดในกฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑  ดังนี้

พระมหาราชครู พระครูมหิธรธรรมาธิราชสุภาวดีศรีวิสุทธิคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรม
จาริยาธิบดีศรีพุทธาจารย นา ๑๐๐๐๐
พระราชครู พระครูพิเชดษรราชพิบดีศรีษรคม นา ๕๐๐๐
พระธรรมสาสตรราชโหระดาจารย์ ปลัดมหิธร นา ๓๐๐๐
พระอัฐยาปรีชาธิบดีโหระดาจารย์ ปลัดพระครูพิเชด นา ๓๐๐๐
พระญาณประกาษอธิบดีโหระดาจารย์ นา ๓๐๐๐
พระศรีสังกอรอธิบดีโหระดาจารย์ นา ๓๐๐๐
ขุนไชยอาญามหาวิสุทธิวงษาจารย์ นาคล ๑๕๐๐
พระมหาราชครู พระราชประโรหิตาจารย์ ราชสุภาวดีศรีบรมหงษองคปุริโสดมพรหมญาณ
วิบูลสิล สุจริตวิวิทธเวทยพรหมพุทธาจารย์ นา ๑๐๐๐๐
พระราชครู พระครูพิรามราชสุภาวดีตรีเวทจุฑามะณีศรีบรมหงส์ นา ๕๐๐๐
พระเทพราชธาดาบดีศรีวาสุเทพ ปลัดพระราชครูประโรหิต นา ๓๐๐๐
พระจักปานีศรีสิลวิสุทธิ ปลัดพระครูพิราม นา ๓๐๐๐
พระเกษมราชสุภาวดีศรีมณธาดูลราช เจ้ากรมแพ่งกระเษม นา ๓๐๐๐
ขุนสุภาเทพ ๑ ขุนสภาพาน ๑ ปลัดนั่งศาล นาคล ๔๐๐
ขุนหลวงพระไกรศรีราชสุดาอดิศรีมณฑาดลราช เจ้ากรมแพ่ง นา ๓๐๐๐
ขุนสุภาเทพ ๑ ขุนราชสุภาไชย ๑ ปลัดนั่งศาล นาคล ๔๐๐
พระครูราชพิทธี จางวาง นา ๑๐๐๐
พระครูอัศฎาจารย์ เจ้ากรม นา ๘๐๐
หลวงราชมณี ปลัดกรม นา ๖๐๐
ขุนพรมไสย ครูโล้ชิงช้า นา ๔๐๐
ขุนธรรมณธราย สมุบาญชีย นา ๓๐๐
ขุนในกรม นา ๓๐๐ หมื่นในหรม นา ๒๐๐ พราหมเลวรักษาเทวสถาน นาคล ๕๐
พระอิศวรธิบดีศรีสิทธิพฤทธิบาท จางวาง นา ๘๐๐
หลวงสิทธิไชยบดี เจ้ากรม นา ๘๐๐
หลวงเทพาจาริยรองพระตำรับขวา นาคล ๖๐๐
หลวงอินทรฤๅไชยไชยาธิบดีศรียศบาทรองพระตำรับซ้าย นาคล ๖๐๐
ขุนในกรมพฤทธิบาท นา ๓๐๐ หมื่นในกรมพฤทธิบาท นา ๒๐๐
ประแดงราชมณี นา ๒๐๐

จากกฎหมายศักดินาในสมัยอยุธยาข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีการแบ่งตำแหน่งออกเป็นชั้นพระมหาราชครู พระราชครู พระครู รวมถึงขุนนางที่เกี่ยวเนื่องกับคณะพราหมณ์ บางตำแหน่งได้สืบทอดมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

ในเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองหรือผู้ปกครองเมืองได้แต่งตั้งพราหมณ์บางคนให้เป็นหัวหน้าและผู้ช่วยรองๆ ลงไป เช่นเดียวกับในราชสำนักอยุธยา เช่น หัวหน้าพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช มีตำแหน่ง แผดงธรรมนารายณ์ มีหน้าที่ปกครองคณะพราหมณ์และดูแลรักษาเทวรูปและเทวสถานต่างๆ รองหัวหน้ามีตำแหน่ง แผดงศรีกาเกีย สองตำแหน่งนี้ ได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ต่อมา หัวหน้าคณะพราหมณ์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นออกพระธรรมนารายณ์ฯ ผู้ช่วยได้เลื่อนเป็นที่ออกพระศรีราชโภเบนทรฯ หัวหน้าพราหมณ์ชั้นหลังๆ ต่อมาได้รับอิสริยยศเป็นที่ พระรามเทพมุนีศรีกษัตริย์สมุทร 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการบันทึกรายนามผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูประจำแต่ละรัชกาล นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๑  ซึ่งในเอกสารลายมือของพระมหาราชครูพิธี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล)  บันทึกไว้ว่า

ได้พบประวัติพราหมณ์นี้ในสมุดข่อยในพระบรมมหาราชวัง จึงได้คัดลอกไว้ มีดังนี้

รัชกาลที่ ๑    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ  สมบุญ
รัชกาลที่ ๒    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ  บุญคง
รัชกาลที่ ๓    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ  ทองคำ
รัชกาลที่ ๔    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ  พุ่ม
รัชกาลที่ ๕    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ อ่าว
รัชกาลที่ ๖    มีพระมหาราชครูพิธี ชื่อ อุ่ม  คุรุกุล
รัชกาลที่ ๗    มีพระราชครูวามเทพมุนี (หว่าง   รังสิพราหมณกุล) 
รัชกาลที่ ๘    มีพระมหาราชครูพิธี (สวาสดิ์   รังสิพราหมณกุล) 
รัชกาลที่ ๙    มีพระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์   รังสิพราหมณกุล) 
        พระครูอัษฎาจารย์ (ละเอียด  รัตนพราหมณ์)
ปัจจุบัน ได้แก่ พระราชครูวามเทพมุนี  (ชวิน  รังสิพราหมณกุล)

 

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม34

 

ปัจจุบันการแต่งตั้งพราหมณ์ราชสำนัก มีระเบียบปฏิบัติคือ ต้องมีเชื้อสายของพราหมณ์ และต้องเป็นบุตรของพราหมณ์ราชสำนัก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ ๗ สายตระกูล ได้แก่ รังสิพราหมณกุล รัตนพราหมณ์ ภวังคนันท์ สยมภพ วุฒิพราหมณ์ นาคะเวทิน โกมลเวทิน นอกจากนี้ ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าคณะพราหมณ์ราชสำนัก แล้วจึงได้บวชเรียกว่า"บวชสามสาย" ต่อมา เมื่อพระครูพราหมณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็นพราหมณ์ราชสำนัก ก็จะเสนอชื่อไปยังกองพระราชพิธี แล้วจึงบรรจุเป็นพราหมณ์ประจำราชสำนัก แต่ยังไม่สามารถประกอบพระราชพิธีได้จนกว่าพระครูพราหมณ์จะเห็นชอบ จึงได้บวชเรียกว่า "บวชหกสาย" จากนั้นเสนอต่อกองพระราชพิธี และเสนอต่อไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไป 

สำหรับตำแหน่งพระราชครูพราหมณ์ในปัจจุบันคือ ตำแหน่ง "พระมหาราชครู" หรือที่เรียกกันว่า คุณพระใหญ่ หมายถึง พระราชครูที่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแด่พระมหากษัตริย์ แล้วจึงได้เลื่อนตำแหน่ง ดังนั้น ในแต่ละรัชกาล จึงมีพระมหาราชครูเพียง ๑ ท่าน ตำแหน่งรองลงมาคือ พระราชครู ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพราหมณ์ ที่ไม่ได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตำแหน่งต่อมาคือ พระครู และพราหมณ์ ตามลำดับ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow