Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะสถาปัตยกรรม และประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
8,550 Views

  Favorite

ลักษณะสถาปัตยกรรม และประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

สถาปัตยกรรมและประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นศิลปะอันเนื่องมาจากคติในศาสนาพราหมณ์ การสร้างเทวสถานในสมัยโบราณ มักสร้างให้เทวสถานของพระเป็นเจ้าเป็นประธานคือ เป็นศูนย์กลางของสถานที่ และมีวิหารล้อมรอบ ๔ ด้าน เสมือนเทวสถานเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ที่ล้อมรอบด้วยทวีปทั้ง ๔ เทวสถาน ในสมัยโบราณนั้น ส่วนใหญ่ทำด้วยศิลา และมักมีส่วนประกอบสำคัญคือ โคปุระ เป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่อยู่บริเวณชั้นล่างสุด สำหรับใช้เป็นที่ทำสมาธิบูชาพระเป็นเจ้า ก่อนเข้าสู่ภายในเทวสถาน พระมหามณเฑียร อยู่ชั้นถัดมา สำหรับใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อเสด็จฯ มา รวมทั้งเป็นที่พักสำหรับผู้มาจาริกแสวงบุญ  ชั้นบนสุดคือส่วนที่เรียกว่า มหาปราสาท หรือเทวสถานที่เป็นที่ประทับของพระเป็นเจ้า โดยมากมักประดิษฐานศิวลึงค์

หน้าบันของสถานพระอิศวร
หน้าบันของสถานพระอิศวร

 

ภายในเทวสถานมักจำหลักรูปเคารพ และเรื่องราวของพระเป็นเจ้า เทวดา รวมถึงสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในคติพราหมณ์ เช่น  นาคราช สิงห์ ส่วนเสามักเป็นหินสี่เหลี่ยมวางซ้อนกัน จำหลักลายต่างๆ เช่น ลายกระจัง ลายดอกมณฑากลีบบัวซ้อน  และลายประจำยามก้ามปู สำหรับหลังคามักมุงด้วยกระเบื้องดินเผาโค้งเป็นลูกฟูกแบบที่เรียกว่า กาบู และประดิษฐานเทวรูปต่างๆ ซึ่งเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย

สถานพระอิศวร
หน้าบันของสถานพระอิศวร

 

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในประเทศไทย อาจแบ่งเป็น เทวสถานในกรุงเทพฯ และเทวสถานในต่างจังหวัด

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ

ในกรุงเทพฯ มีเทวสถานที่สำคัญ คือ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร เดิมเรียกว่า เทวสถานสำหรับพระนคร ตั้งอยู่เลขที่ ๒๖๘ ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ อยู่ใกล้กับวัดสุทัศนเทพวราราม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร มีโบสถ์อยู่ ๓ หลัง ประกอบด้วย สถานพระอิศวร สถานพระพิฆเนศ และสถานพระนารายณ์ 

เทวรูปพระพิฆเนศ ประดิษฐานภายในสถานพระพิฆเนศ มี ๕ องค์ ประทับนั่งทุกองค์
เทวรูปพระพิฆเนศ ประดิษฐานภายในสถานพระพิฆเนศ มี ๕ องค์ ประทับนั่งทุกองค์

 

โบสถ์ทั้ง ๓ หลัง เป็นสถานสักการะสำคัญ ที่ได้ประกอบพระราชพิธีถวายมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ไม่มีลวดลาย เฉพาะสถานพระอิศวรหน้าบันมีลายปูนปั้น เป็นรูปวิมาน เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระอุมา และเครื่องมือพิธี กลศ สังข์ กุมภ์ ลอยอยู่บนเมฆ ภายในเมฆมีโคนนทิ ซึ่งปรากฏเป็นรูปโค มีเฉพาะแต่หน้า ไม่มีตัวโค ภายในโบสถ์ไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สถานพระอิศวรมีขนาดใหญ่กว่าสถานพระพิฆเนศและสถานพระนารายณ์ ส่วนสถานพระพิฆเนศและสถานพระนารายณ์ มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง  ซึ่งได้รับอิทธิพลการสร้างโบสถ์ในสมัยอยุธยา

เทวรูปพระอิศวร ในปัจจุบันนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔
เทวรูปพระอิศวร ในปัจจุบัน นำไปเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔

 

เทวรูปที่ประดิษฐานภายในโบสถ์

๑.  สถานพระอิศวร หรือโดยทั่วไปเรียกว่า โบสถ์ใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าสถานพระพิฆเนศและสถานพระนารายณ์ ภายในประดิษฐานเทวรูปสำคัญ คือ เทวรูปพระอิศวร ปางประทานพร ประทับในท่ายืน และมีเทวรูปขนาดเล็กหลายองค์อยู่บนชั้นลดทั้งซ้ายและขวา เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิฆเนศ พระพรหม และพระฤาษี ซึ่งมีขนาดประมาณ ๑ ศอก ด้านบนชั้นลดทั้งซ้ายและขวา มีเทวรูปพระศิวนาฏราช และพระอุมา เทวรูปที่อยู่ภายในโบสถ์ส่วนใหญ่เป็นเทวรูปที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชะลออัญเชิญมาจากกรุงสุโขทัย มีอยู่หลายองค์ที่เป็นศิลปะขอม ยุคอินเดียใต้ เช่น พระศิวนาฏราช ศิลปะขอม

เทวรูปพระอิศวร ในปัจจุบันนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔
เทวรูปพระอิศวร ในปัจจุบัน นำไปเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔

 

ภายในสถานพระอิศวรมีเสาหงส์ซึ่งใช้สำหรับประกอบพิธีในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ส่งพระอิศวร ที่จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๒ และมีที่สำหรับประดิษฐานรูปสลักไม้พระแม่ธรณี พระแม่คงคา และพระอาทิตย์กับพระจันทร์ซึ่งอยู่ในแผ่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้เรียกว่า นางกระดาน มี ๓ แผ่น สูงประมาณเท่าคน ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑

๒.  สถานพระพิฆเนศ ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศ เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยเช่นเดียวกับพระอิศวร สันนิษฐานว่า ชะลอมาพร้อมกัน โดยองค์พระพิฆเนศประดิษฐานอยู่บนเบญจา เป็นพระพิฆเนศสลักหิน ศิลปะขอม สมัยโจฬะของอินเดียใต้ องค์ใหญ่ขนาดเท่าคนนั่ง

๓.  สถานพระนารายณ์ มีเทวรูปพระนารายณ์ สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่า ชะลอมาในสมัยเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเทวรูปพระลักษมี พระมเหศวรี (ภูมิเทวี) ประดิษฐานอยู่บนบุษบก มีลักษณะและขนาดเท่าคน และมีเสาหงส์ใช้ประกอบพิธีส่งพระนารายณ์ ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๒

โบสถ์ทั้ง ๓ หลัง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ซึ่งประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ หน้า ๕๒๘๑ ลำดับที่ ๑๑ ระบุว่า เทวสถานเป็น "โบราณวัตถุสถาน"  สำคัญของชาติประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒

หอเวทวิทยาคม ตั้งอยู่ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณฑ์
หอเวทวิทยาคม ตั้งอยู่ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณฑ์

สำหรับเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศ ที่ประดิษฐานภายในโบสถ์ทั้ง ๓ หลัง สันนิษฐานว่า สร้างในสมัย พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย ราว พ.ศ. ๑๙๐๐ แล้วโปรดให้ประดิษฐานไว้ในเทวาลัยมหาเกษตร ใกล้กับวัดป่ามะม่วง ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ชะลอจากเมืองสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนคร เมื่อตอนแรกสร้าง ปัจจุบันเทวรูปพระอิศวรและเทวรูปพระนารายณ์ บางส่วนได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่เมื่อคราวเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๘๔ คงเหลือแต่เทวรูปพระพิฆเนศที่ยังคงประดิษฐานอยู่ ณ สถานพระพิฆเนศ ตราบจนปัจจุบัน

ส่วนยอดของเสาชิงช้า สลักลายดอกพุดตาน
ส่วนยอดของเสาชิงช้า สลักลายดอกพุดตาน

นอกจากโบสถ์สำคัญทั้ง ๓ หลังแล้ว ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ยังมีอาคารสำคัญอีกหลังหนึ่ง คือ หอเวทวิทยาคม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐  ใช้เป็นหอเก็บหนังสือให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา หอเวทวิทยาคม เดิมเป็นหอสำหรับพราหมณ์ประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ ซึ่งได้มีหลักฐานกล่าวใน "พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑" ว่า เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๗ (พ.ศ. ๒๓๒๘) เป็นปีที่สร้างพระนครและพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่  สมควรจะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มรูปแบบของโบราณราชประเพณี จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้น ณ พระที่นั่งอมรินทราภิเษก (ปัจจุบันคือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท) และให้ตั้งโรงพิธีพราหมณ์หน้าพระที่นั่ง ใช้เป็นที่ประกอบพิธี ตามลัทธิ เรียกกันว่า "หอพราหมณ์" มีชื่อเป็นทางการว่า "หอเวทวิทยาคม" ในสมัยต่อมา ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๓ ได้มีการรื้ออาคารในบริเวณนั้นเพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการของสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขาธิการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อหอเวทวิทยาคม  เพื่อใช้เป็นลานทางเข้าออกตรงมุมของอาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น เมื่อรื้อหอเวทวิทยาคมแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระราชครูวามเทพมุนี (สมจิตต์ รังสิพราหมณกุล) หัวหน้าพราหมณ์ นำไปใช้เป็นนามของหอเวทวิทยาคมที่จะสร้างในบริเวณเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ปัจจุบัน หอเวทวิทยาคม ถือเป็นห้องสมุดเฉพาะกิจ  เก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่างๆ โดยเน้นด้านวรรณคดี พิธีกรรม ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณี มีทั้งหนังสือทั่วไป  หนังสือที่ถ่ายเป็นไมโครฟิล์มและสไลด์ นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บำเพ็ญกุศล แสดงพระธรรมเทศนา ปาฐกถา อภิปราย  สนทนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันตามโอกาสอันควร เพื่อให้หอเวทวิทยาคมเป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมสรรพวิทยาการด้านประเพณีและพิธีกรรมแห่งหนึ่งในประเทศไทย บริเวณโดยรอบยังมีพาไลใช้เป็นที่จัดนิทรรศการ และสำนักงาน

ขบวนแห่และพิธีโล้ชิงช้าในสมัยโบราณ
ขบวนแห่และพิธีโล้ชิงช้าในสมัยโบราณ

บริเวณด้านหน้าเทวสถานมีเทวาลัยประดิษฐานพระพรหมตั้งอยู่กลางบ่อน้ำ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๔ ถัดเข้ามาบนสนาม ระหว่างสถานพระอิศวรและสถานพระพิฆเนศ มีแท่นประดิษฐานศิวลึงค์ ที่ได้รับมอบมาจากวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๕ - ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒  เป็นรูปแบบของศิลปะโบราณสมัยศรีเทพ หรือสมัยขอม เทวสถานโบสถ์พราหมณ์จึงเป็นสถานสักการะ และเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำหรับพระนคร ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ขบวนแห่และพิธีโล้ชิงช้าในสมัยโบราณ
ขบวนแห่และพิธีโล้ชิงช้าในสมัยโบราณ

 

ถัดจากด้านหน้าเทวสถานออกมาเป็นลานกว้าง มีเสาชิงช้าตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบสถ์พราหมณ์ หรือหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม เสาชิงช้านี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตรงด้านหน้าของเทวสถาน เมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗  สำหรับใช้โล้ชิงช้าในพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ต่อมา ได้สร้างโรงก๊าด (โรงเก็บน้ำมันก๊าด) ขึ้นในที่นั้น จึงย้ายเสาชิงช้ามาตั้ง ณ สถานที่ปัจจุบัน การสร้างเสาชิงช้าขึ้น ก็เพื่อที่จะรักษาธรรมเนียมการสร้างพระนคร ตามแบบอย่างโบราณไว้ โดยถือคติว่า จะทำให้พระนครมีความมั่นคง ต่อมา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเสาชิงช้า เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ ลำดับที่ ๑๐ ระบุว่า เสาชิงช้าเป็น "โบราณวัตถุสถาน" สำคัญของชาติ ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๒ มีการปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าในครั้งแรก เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๓ สำหรับเสาชิงช้าในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเสายืน ๒ ต้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐

นอกจากเทวสถานเก่าแก่ของชุมชนพราหมณ์เชื้อสายไทยที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวอินเดียแล้ว ยังมีเทวสถานชาวอินเดียที่สถาปนาขึ้นใหม่ในกรุงเทพฯ ด้วย เทวสถานที่สำคัญๆ ได้แก่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขกสีลม ศิลปะการก่อสร้างเทวสถานของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นแบบสกุลศิลปะเผ่าทราวิฑ  อันสืบเนื่องกันมานับแต่สมัยปัลลวะ และสมัยโจฬะของอินเดีย วัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นวัดในนิกายที่บูชาเทพสตรีเป็นหลัก โดยเฉพาะพระแม่อุมาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระอิศวร และเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตากรุณาที่ดูงามสง่า ดังนั้นจึงมีผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมาก นิยมไปกราบไหว้บูชา และขอพร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรัก และการขอบุตร ที่วัดนี้ นอกจากมีเทวรูปประธานเป็นพระแม่อุมาเทวีแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระคเณศ  ซึ่งเป็นโอรสของพระแม่อุมาเทวีด้วย ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๑๑  จึงได้มีการอัญเชิญเทวรูปพระอิศวรมาประดิษฐาน ณ บริเวณลานหน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี

เทวรูปที่ประดิษฐานในวัดวิษณุ - ศรีหนุมาน
เทวรูปที่ประดิษฐานในวัดวิษณุ - ศรีหนุมาน

 

เทวสถานอีกแห่งหนึ่ง คือ เทวสถานที่ วัดวิษณุ ในเขตยานนาวา กรุงเทพฯ ควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรชาวอังกฤษ มีการนำเทวรูปจากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานในวัด ภายในโบสถ์ใหญ่มีเทวรูปต่างๆ เพื่อสักการบูชา อาทิ พระราม นางสีดา พระพรต พระลักษมัน พระศัตรุฆน์ ศรีหนุมาน ศิวลึงค์จากแม่น้ำนรมทา พระศาลิครามจากแม่น้ำนารายณ์ พระรามทุรดา พระนารายณ์ พระแม่ลักษมี พระศิวะ พระแม่ปารพดี พระพิฆเนศ  พระกฤษณะ และพระนางราธา

นอกจากนี้ยังมี เทวสถานโบสถ์เทพมณเฑียร ของสมาคมฮินดูสมาช ศิลปะในเทวสถานส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากเมืองชัยปุระ ในประเทศอินเดีย ภายในเทวสถานประดิษฐานเทวรูปอยู่หลายองค์ด้วยกัน เช่น พระนารายณ์และพระแม่ลักษมี พระรามและภควดีสีดา พระกฤษณะและพระนางราธา  พระพุทธเจ้า พระศิวะหรือพระอิศวร และพระแม่ทุรคา

เทวรูปที่ประดิษฐานในโบสถ์เทพมณเฑียร - พระพุทธเจ้า
เทวรูปที่ประดิษฐานในโบสถ์เทพมณเฑียร - พระพุทธเจ้า

 

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในต่างจังหวัด

นอกจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ แล้วยังมีเทวสถานในต่างจังหวัด ที่สำคัญคือ เทวสถานที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งปรีชา นุ่นสุข สันนิษฐานว่า สถาปนาขึ้นในสมัยอยุธยา เทวสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ แต่เทวสถานเดิมนั้นพังทลายหมดแล้ว ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า เทวสถานเดิมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดใหญ่กว่าหอพระอิศวรและหอพระนารายณ์ที่อยู่ติดๆ กันไม่มากนัก  เป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ยกเว้นฐานชั้นล่าง มีเสา ๑๐ ต้น ยกพื้นสูงเล็กน้อย มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกเพียงทางเดียว และมีลูกกรงไม้ล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ระหว่างลูกกรงไม้กับผนังกั้นห้อง สามารถเดินได้โดยรอบ สันนิษฐานว่า เมื่อผนังห้องชำรุดหักพังจึงรื้อออก เปิดโล่งๆ ไว้ ทำให้มีลักษณะคล้ายศาลา หลังคาเดิมมุงด้วยกระเบื้อง หลังคาด้านหน้าทำเป็นมุขเล็กซ้อนยื่นออกมาข้างหน้า ภายในประดิษฐานศิวลึงค์ศิลา ๔ องค์ มีฐานสำหรับรองศิวลึงค์ฐานหนึ่ง ฐานรองเทวรูปอีกฐานหนึ่ง และเทวรูปพระคเณศองค์หนึ่ง เดิมในเทวสถานนี้ มีกระดานจำหลัก สำหรับใช้ฝังในหลุมตามพิธีตรียัม-พวายของพราหมณ์ แต่เมื่อเลิกพิธีตรียัม-พวายสำหรับเมืองนี้แล้ว จึงได้นำกระดานจำหลักนี้ ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช
ส่วนที่เมืองเพชรบุรี เทวสถานสำหรับเมืองที่เป็นของเก่าได้พังทลายไปแล้วเช่นกัน เดิมตั้งอยู่ในบริเวณวัดเพชรพลี หรือวัดพริบพรี ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี วัดนี้เป็นวัดที่สร้างต่อเติมขึ้นจากวัดค้างคาวที่ร้างไปในสมัยอยุธยา โดยวัดค้างคาวก็อาศัยการบูรณะโบสถ์พราหมณ์เก่า ที่สร้างไว้ในสมัยอาณาจักรขอมแล้วร้างลงเช่นกัน ที่ดินในบริเวณนั้น ยังปรากฏฐานก่ออิฐของโบสถ์พราหมณ์และยังมีเสาชิงช้าอยู่ ภายหลังชำรุดมากจึงได้สร้างเสาชิงช้าขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยประดิษฐานในตำแหน่งเดิม เสาชิงช้าดังกล่าวทำด้วยไม้สักทอง ประกอบด้วยเสาประธาน ๒ ต้น สูง ๑๒ เมตร พร้อมเสาตะเกียบและหัวหมุด รวมทั้งหมด ๖ ต้น กระจังที่ประดับหัวเสาชิงช้าแกะสลักเป็นลายกระหนกน่องสิงห์ พร้อมหูช้างหรือกระจังหูช้างยาว ๗ เมตร หนา  ๔ นิ้ว
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow