Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจำแนกชนิดของกล้วย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
962 Views

  Favorite

การจำแนกชนิดของกล้วย
กล้วยจัดอยู่ในอันดับ (order) Scitamineae หรือ Zingiberales ประกอบด้วย ๘ วงศ์ (family) ด้วยกัน คือ
        ๑. Musaceae ได้แก่ กล้วยทั้งหลาย
        ๒. Strelitziaceae ได้แก่ กล้วยพัด
        ๓. Heliconiaceae ได้แก่ ก้ามกุ้ง ธรรมรักษา
        ๔. Lowiaceae ได้แก่ พืชในสกุล Orchidantha ซึ่งไม่มีในประเทศไทย
        ๕. Costaceae ได้แก่ เอื้องหมายนา
        ๖. Zingiberaceae ได้แก่ ขิงทั้งหลาย
        ๗. Marantaceae ได้แก่ คล้า
        ๘. Cannaceae ได้แก่ พุทธรักษา
ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะกล้วยในสกุล Musaceae ซึ่งมีทั้งกล้วยกินได้ และกล้วยประดับ

Musaceae
แบ่งเป็น ๓ สกุล (genus) ด้วยกัน คือ
๑. สกุล Ensete
เป็นกล้วยที่ไม่มีการแตกหน่อ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในประเทศไทยมี ๒ ชนิด (species) คือ

  • E. superba  กล้วยผา
  • E. glauca  กล้วยนวล กล้วยญวน

กล้วยชนิดนี้ในประเทศไทยไม่มีการนำมาบริโภค แต่ในประเทศแถบทวีปแอฟริกานำแป้งที่ได้จากลำต้นมาใช้บริโภค

 

กล้วยนวล
กล้วยนวล
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30


๒. สกุล Musa 
เป็นกล้วยที่มีการแตกหน่อ และนิยมใช้หน่อในการขยายพันธุ์ มีทั้งกล้วยกินได้ และกล้วยประดับ แบ่งออก เป็น ๔ หมู่ (section) คือ

  • หมู่ Australimusa กล้วยชนิดนี้มีช่อดอกตั้ง มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบทวีปออสเตรเลีย จนถึงประเทศฟิลิปปินส์ เส้นใยของลำต้นเทียมมีความเหนียวมาก เหมาะในการทำเชือก กระดาษ และทอเป็นผ้า
  • หมู่ Callimusa ส่วนใหญ่เป็นกล้วยประดับ ในประเทศไทยมีกล้วยทหารพราน หรือกล้วยเลือด (Musa gracillis) ใบสีเขียว มีปื้นสีม่วง เมื่อโตเต็มที่สีของปื้นอาจจางลง ช่อดอกตั้ง ผลมีขนาดเล็ก ใช้ประดับเพราะมีใบสวยงาม นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเข้ากล้วยกัทลี หรือรัตกัทลี (Musa coccinea) จากประเทศอินโดนีเซีย กล้วยชนิดนี้มีใบ ประดับสีแดงสดใส ช่อดอกตั้ง ใช้เป็นไม้ตัดดอกได้เป็นอย่างดี

 

กล้วยกัทลี
กล้วยกัทลี
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30

 

  • หมู่ Rhodochlamys หรือเรียกกันว่า กล้วยบัว ใช้เป็นไม้ประดับ มีความสวยงามของช่อดอกที่คล้ายดอกบัว ใบประดับมีสีสวยงามและสดใส กล้วยบัวที่มีใบประดับสีชมพูอมม่วง เรียกว่า กล้วยบัวสีชมพู (Musa ornata) หากมีใบประดับสีส้ม เรียกว่า กล้วยบัวสีส้ม (Musa laterita) ทั้ง ๒ พันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทย พบมากในภาคเหนือ นอกจาก ๒ ชนิดนี้แล้ว ได้มีการนำเข้ากล้วยบัวสีม่วงและสีชมพูอ่อนจากต่างประเทศอีกด้วย

 

กล้วยบัวสีส้ม
กล้วยบัวสีส้ม
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30

 

  • หมู่ Eumusa มี ๙ - ๑๐ ชนิด มีทั้งกล้วยป่าและกล้วยกินได้ ซึ่งกล้วยกินได้นั้นถือกำเนิดมาจากกล้วย ๒ ชนิดผสมกัน คือ กล้วยป่า (Musa acuminata) กับกล้วยตานี (Musa balbisiana) ผ่านวิวัฒนาการอันยาวนานนับหลายพันปี กล้วยป่ามีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนกล้วยตานีมีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย หรือเอเชียใต้ ต่อมาได้เกิดการผสมพันธุ์กันขึ้นระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี ทำให้เกิดพันธุ์กล้วยลูกผสมดังกล่าว นอกจากนี้แล้วยังอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดพันธุ์มากมายมากกว่า ๑๐๐ พันธุ์ในโลกนี้ และเกิดการพัฒนาจากกล้วยที่มีเมล็ด เป็นกล้วยที่ไม่มีเมล็ด ทำให้กล้วยที่รับประทานกันอยู่ในปัจจุบันไม่มีเมล็ด

๓. สกุล Musella 
เป็นกล้วยที่จัดอยู่ในสกุลใหม่ ต้นเตี้ย คล้ายกล้วยผา ลำต้นเทียม มีลักษณะพองเช่นกัน แต่มีการแตกกอที่เกิดจากมุมระหว่างใบ มีช่อดอกตั้ง และกลีบใบประดับสีเหลืองสดใส ขนาดของดอกใหญ่ เช่น กล้วยคุนหมิง

 

ดอกกล้วยคุนหมิง
ดอกกล้วยคุนหมิง
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow