Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความเป็นมาของการสำรวจทรัพยากรด้วยดาวเทียม

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
2,490 Views

  Favorite

ความเป็นมาของการสำรวจทรัพยากรด้วยดาวเทียม

 

วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันวิทยาการของการสำรวจทรัพยากรจากระยะไกล (รีโมตเซนซิง) เป็นวิทยาการหนึ่งที่อำนวยประโยชน์มหาศาลแก่มนุษยชาติ ประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศที่เจริญทางวิชาการ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราช อาณาจักร และออสเตรเลีย เป็นต้น ได้นำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวแล้ว และได้ดำเนินการตั้งโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยดาวเทียมขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยเริ่มจากการเข้าร่วมโครงการกับนาซาแห่งสหรัฐอเมริกา ในโครงการดาวเทียมแลนด์แซต (LANDSAT) และได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีการขยายขอบเขตการใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียม ในการจัดการทรัพยากร และติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ และสาขาที่ได้นำเอาข้อมูลไปใช้แล้ว ได้แก่ ป่าไม้ การใช้ที่ดิน การเกษตร ธรณีวิทยา สมุทรศาสตร์ อุทกวิทยาและแหล่งน้ำ ภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น สิ่งที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ข้อมูลทรัพยากรจากดาวเทียม ที่เป็นไปในทางเพิ่มขึ้น ก็เนื่องมาจากการที่ประเทศไทยมีสถานีรับข้อมูลภาคพื้นดิน ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อรับข้อมูลโดยตรงจากดาวเทียมแลนด์แซต (LANDSAT) และโนอา (NOAA) ในตอนเริ่มต้นขอบเขตการรับสัญญาณข้อมูล มีรัศมีกว้างไกลเป็นวงกลม มีรัศมี ๒,๕๐๐ กิโลเมตร ต่อมาในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สถานีรับภาคพื้นดินได้พัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ สามารถรับสัญญาณข้อมูลจากดาวเทียมแลนด์แซตดวงที่ ๕ ซึ่งมีรายละเอียดข้อมูล ๓๐ เมตร X ๓๐ เมตร ข้อ มูลจากดาวเทียม SPOT ของฝรั่งเศส ซึ่งมีรายละเอียดของภาพ ๒๐ เมตร X ๒๐ เมตร ในภาพสี และ ๑๐ เมตร X ๑๐ เมตร ในภาพขาวดำ นอกจากนี้สถานีรับฯ ยังรับสัญญาณจากดาวเทียม MOS-1 ของญี่ปุ่น ซึ่งมีรายละเอียด ข้อมูล ๕๐ เมตร X ๕๐ เมตร และในขณะนี้สถานีรับฯ กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้เพิ่มขีดความสามารถ ในการรับสัญญาณจากดาวเทียม ERS-1 ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (ESA) ได้อีกด้วย ซึ่งดาวเทียมนี้ จะมี เครื่องบันทึกสัญญาณแบบไมโครเวฟ (microwave) ด้วย

จึงเห็นได้ว่าประเทศไทย มีสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินที่ทันสมัย ที่สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมที่สำรวจทรัพยากรทุกดวง ที่โคจรอยู่ในขณะนี้ คือดาวเทียม LANDSAT ดาวเทียม SPOT และดาวเทียม MOS-๑ และในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะสามารถรับสัญญาณจาก ดาวเทียม ERS-1 ได้อีกด้วย ขีดความสามารถเหล่านี้ จะเป็นสิ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ในการสำรวจทรัพยากรเพิ่มขึ้น ในทุกสาขาในอนาคต รวมทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ที่อยู่ในรัศมีการทำงานของสถานีรับฯ ดังกล่าวแล้ว
 

 

จานรับสัญญาณจากดาวเทียม MOS - 1 ของญี่ปุ่น ซึ่งรับอยู่บริเวณสถานีรับฯ ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow