Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำความเข้าใจเด็กที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว (Cerebral Palsy)

Posted By Plook Parenting | 26 เม.ย. 60
4,777 Views

  Favorite

เด็กที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว หรือโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy : CP) เกิดจากสมองส่วนที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องหรือสูญเสีย ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็งผิดรูป เคลื่อนไหวช้า และการทรงตัวผิดปกติ

 

ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการที่แตกต่างกัน โดยความผิดปกตินี้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 7 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่สมองเจริญเติบโตเต็มที่ และจะไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้ แต่หากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ยึดหรือเกร็งมากขึ้น

 

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค

สาเหตุของโรคเกิดได้ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด หรือหลังคลอด ดังนี้

     • ระหว่างตั้งครรภ์ ในกรณีนี้อาจเกิดจากาการติดเชื้อจากแม่ เช่น แม่เป็นโรคหัดเยอรมันหรือโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคลมชักชนิดรุนแรง โรคขาดอาหารรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนกับมารดาในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน เช่น แม่เป็นความดันโลหิตสูง เกิดมีปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือระบบหายใจ รวมถึงการได้รับบาดเจ็บ อุบัติเหตุ ดื่มเหล้าจัด สูบบุหรี่จัด ได้รับสารพิษ หรือสารกัมมันตรังสี

     • ระหว่างคลอด เด็กอาจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ คลอดยาก มีความผิดปกติของการคลอด เช่น รกเกาะต่ำ สมองได้รับการกระทบกระเทือน อาจมีเลือดออกในสมองขณะคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด

     • หลังคลอด มีภาวะตัวเขียวหลังคลอด ต้องอยู่ในตู้อบเกิน 4 สัปดาห์ มีภาวะดีซ่านชนิดรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังคลอดในช่วงสัปดาห์แรก เด็กมีการติดเชื้อในช่วงสัปดาห์แรก โดยเฉพาะโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคสมองอักเสบจากไวรัส สมองขาดออกซิเจน เกิดอุบัติเหตุหรือกระทบกระเทือนกับสมองโดยตรง เช่น รถชน รถคว่ำ พลัดตกจากที่สูง ถูกจับเขย่าตัวแรง ๆ เป็นต้น

 

ภาพ : Shutterstock

 

สังเกตอาการว่าลูกเป็นโรคสมองพิการหรือไม่

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกได้ว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองพิการหรือไม่ โดยเริ่มจากการศึกษาอ่านหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก เพื่อดูว่าในแต่ละเดือน แต่ละช่วงอายุ เด็กต้องมีพัฒนาการความสามารถด้านใดเพิ่มเติมขึ้นบ้าง จากนั้นก็เริ่มสังเกตว่าลูกของตนมีพัฒนาการเป็นอย่างไร

ซึ่งปกติแล้วจะในช่วงเด็กแรกเกิดสังเกตได้ยาก แต่เมื่อผ่านไปสักพักอาจสังเกตได้ชัดขึ้น เช่น เมื่ออายุได้ 3-4 เดือน เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการคอพับคออ่อน คอไม่แข็งเหมือนเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน หรือเมื่อเริ่มหัดเดิน จะมีอาการเดินเขย่งเท้าหรือเดินได้ช้า

และอีกหนึ่งจุดที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน คือ ส่วนขา เด็กที่เป็นโรคสมองพิการยิ่งโต ขายิ่งเกร็งมากขึ้น เท้าบิด หัวเข่าหมุนบิดเข้าด้านใน สะโพกหนีบเกร็ง ก้นยื่น หลังแอ่น ตัวเอียงไปด้านหน้า เวลาเดินจะก้าวสั้น ๆ ล้มง่าย เด็กบางคนมือจะกาง ข้อศอกงอ ข้อมืองอ นิ้วมืองอ อาการเกร็งผิดรูปนี้จะแสดงให้เห็นได้ชัดยิ่งขึ้น เมื่อเด็กตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ โกรธ หากสังเกตแล้วไม่แน่ใจควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

แนวทางการรักษา

1. พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากสงสัยว่าลูกของตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองพิการ ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อปรึกษาหาวิธีการรักษาต่อไป

2. ทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันการผิดรูปของข้อต่าง ๆ อาจใช้เครื่องช่วยเดิน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อป้องกันการเกร็งของกล้ามเนื้อ และปรับสมดุลของร่างกายให้ดีขึ้น รวมถึงฝึกพูด แก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน

3. ดูแลอย่างใกล้ชิด พ่อแม่ต้องควรดูแลและะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง พยายามให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด กระตุ้นเด็กให้เกิดการเรียนรู้ จากการเล่น การเคลื่อนไหว การออกเสียง

4. ใช้ยา โดยยาที่ใช้เพื่อควบคุมอาการเกร็ง อาการสั่น อาการชัก ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายชนิด

5. การผ่าตัด บางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัด เพื่อแก้ไขความพิการที่เกิดขึ้น ซึ่งการผ่าตัดสามารถแบ่งได้เป็น การผ่าตัด ลดความตึงของกล้ามเนื้อ การผ่าตัดย้ายเอ็น และการผ่าตัดกระดูก

 

เด็กที่เป็นโรคนี้มีโอกาสหายได้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น ยิ่งถ้าได้รักษาเมื่ออายุยังน้อยจะได้ผลมากที่สุด และที่สำคัญพ่อแม่และคนรอบข้างต้องเข้าใจและดูแลใส่ใจอย่างเป็นพิเศษ 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow