Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การผดุงครรภ์ไทย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
3,519 Views

  Favorite

การผดุงครรภ์ไทย

      การผดุงครรภ์ไทยหรือการผดุงครรภ์แผนโบราณเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในหลักวิชาการแพทย์แผนไทยเกี่ยวกับการดูแลมารดาและทารกตั้งแต่ระยะเริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด ดังนั้นแพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณหรือที่เรียกกันว่าหมอตำแยจึงมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแล แก้ไข ป้องกันอาการต่าง ๆ ของผู้หญิงตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนครบกำหนดคลอด ทำหน้าที่ทำคลอดตลอดจนดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดทารกแรกเกิดด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
 

การแพทย์แผนไทย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สถาบันการแพทย์แผนไทย จ.นนทบุรี
แสดงให้เห็นหญิงกำลังคลอดโดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด

 

      แพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณต้องมีความรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสตรีเมื่อเริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด การทำคลอดและการดูแลมารดาและทารกหลังคลอดหลักวิชาการแพทย์แผนไทยมีรายละเอียดทั้งหมดในคัมภีร์ปฐมจินดาและบางตอนของคัมภีร์มหาโชติรัตโดยเฉพาะในคัมภีร์ปฐมจินดามีรายละเอียดของการตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดและโรคต่าง ๆ อันอาจเกิดกับทารกที่คลอดออกมาจะขอกล่าวพอสังเขปเพียง ๒ เรื่อง ดังนี้ 

๑. การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ และการคลอด   

      หลักวิชาการแพทย์แผนไทยอธิบายว่าสตรีนั้นตั้งแต่กำเนิดมาจากครรภ์มารดามีความแตกต่างจากเพศชายในเชิงสรีระอยู่ ๔ ประการ คือ มีถันประโยธร (เต้านม) จริตกิริยา (การแสดงออกของร่างกาย) ที่ประเวณี (ช่องคลอด) และต่อมโลหิตระดู (มดลูก)  ผู้เป็นแพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องกายวิภาคและสรีระของสตรีเป็นอย่างดีจึงจะรู้และเข้าใจในหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทยโดยอาจแบ่งออกเป็นความรู้ในสิ่งต่าง ๆ คือ
ก. ครรภ์วาระกำเนิด
      หมายถึง การตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิไปจนถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เมื่อสตรีเริ่มตั้งครรภ์จะมีความเปลี่ยนแปลงทางกายที่แสดงว่าตั้งครรภ์อันได้แก่ เส้นเอ็นที่ผ่านหน้าอกนั้นมีสีเขียวเห็นได้ชัดเจนขึ้น หัวนมสีดำคล้ำขึ้นและมีเม็ดขึ้นรอบ ๆ หัวนม สำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฐมจินดาตอนหนึ่งว่า 


"...ครรภ์ตั้งขึ้นแล้วมิได้วิปริตครบ ๗ วัน ก็ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ เมื่อไปอีก ๗ วันเป็นชิ้นเนื้อ ไปอีก ๗ วันเป็นสัณฐานดังไข่งู ไปอีก ๗ วัน ก็แตกออกเป็นปัญจสาขา ๕ แห่ง คือ ศีร์ษะ มือ และเท้า ไปอีก ๗ วันก็เกิดเกษา โลมา นขา ทันตา ลำดับกันไปดังนี้ ในขณะเมื่อครรภ์ตั้งขึ้นได้ ๑ เดือน กับ ๑๒ วันนั้น โลหิตจึงบังเกิดเวียนเข้าเป็นตานกยูงที่หัวใจเป็นเครื่องรับดวงจิตรวิญญาณ ถ้าหญิงเวียนซ้าย ถ้าชายเวียนขวาแต่มิได้ปรากฏออกมาครั้นเมื่อครรภ์ถ้วนไตรมาสแล้วโลหิตนั้นก็แตกออกไปตามปัญจสาขาเมื่อได้ ๔ เดือน จึ่งตั้งอาการครบ ๓๒ นั้น จึ่งบังเกิดตาแลหน้าผากก่อนสิ่งทั้งปวงจึ่งบังเกิดเป็นลำดับกันไปเมื่อครรภ์ได้ ๕ เดือนจึ่งมีจิตรแลเบ็ญจขันธ์..."


ข. ครรภ์รักษา
      หมายถึง ความเจ็บป่วยไม่สบายซึ่งอาจเกิดขึ้นกับสตรีในระหว่างการตั้งครรภ์ตั้งแต่เดือนแรกถึงเดือนที่สิบซึ่งอาจเป็นเหตุให้การตั้งครรภ์นั้นตกไปได้ คัมภีร์ปฐมจินดาให้รายละเอียดเกี่ยวกับไข้หรืออาการต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์เดือนแรกจนถึงเดือนสุดท้ายไว้ดังความตอนที่ว่าด้วยความเจ็บป่วยอันอาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์เดือนแรกคือ


"...ถ้าสัตรีมีครรภ์ได้เดือน ๑ ก็ดี ถ้าไข้รำเพรำพัดคือให้รากให้จุกในอุทรแลให้แดกขึ้นแลแดกลงเปนกำลังแลให้ละเมอเพ้อพกดังผีเข้า..." 


ในคัมภีร์เล่มเดียวกันนั้นได้ให้ยาสำหรับแก้ความเจ็บป่วยไม่สบายที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเพื่อรักษาครรภ์มิให้ตกไป 
ค. ครรภ์วิปลาส
หมายถึง การตั้งครรภ์ที่ตกไปหรือบางตำราว่า หมายถึง การแท้งลูกซึ่งตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยว่าอาจเกิดจากสาเหตุ ๔ ประการ คือ  
      (๑) สตรีมีความต้องการทางเพศสูง 
      (๒) กินของแสลง 
      (๓) โกรธจัด โมโหร้าย ปากจัด 
      (๔) ถูกกระทำโดยภูตผีหรือต้องคุณไสย  
ง. ครรภ์ปริมณฑล
      หมายถึง การดูแลพยาบาลสตรีที่ตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ ๓ เดือนเป็นต้นไปจนกระทั่งคลอด คัมภีร์ปฐมจินดาได้ให้ยาแก้ความไม่สบายหรือไข้อันอาจเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวจนถึงหลังคลอดแล้วหลายขนาน เช่น ยาแก้โรคบิดในระหว่างตั้งครรภ์ ยาแก้พรรดึก (ท้องผูกก้อนอุจจาระแข็งเหมือนขี้แพะ) ยาแก้ทารกในท้องดิ้น ยาแก้คลอดลูกยาก ยาแก้หญิงคลอดลูกแล้วมดลูกไม่เข้าอู่ ยาแก้หญิงคลอดลูกแล้วรกขาดในครรภ์  
จ. ครรภ์ประสูติ
      หมายถึง การคลอดลูก การดูแลช่วยเหลือมารดาขณะคลอดรวมถึงการดูแลทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๑๒ เดือน คัมภีร์ปฐมจินดาได้อธิบายการคลอดลูกไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังนี้


"...ตั้งแต่อยู่ในครรภ์นั้นตราบเท่าถ้วนทศมาศคือ ๑๐ เดือนเป็นกำหนดตามธรรมดาประเพณียังมีลมจำพวกหนึ่งชื่อว่า กัมมัชชวาต ก็บังเกิดพัดกำเริบแห่งเส้นแลเอ็นที่รัดรึงตัวกุมารนั้นไว้ก็ให้กลับเอาศีร์ษะลงเบื้องต่ำ ฤกษยามดีแล้วกุมารแลกุมารีทั้งหลายนั้นก็คลอดออกจากครรภ์แห่งมารดานั้น..."


ช่วงเวลาที่ทารกคลอดออกจากครรภ์มารดาซึ่งถือเป็นฤกษ์ยามดีนั้นโบราณเรียกว่า "(เวลา) ตกฟาก" เมื่อคลอดแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือและห่อสายสะดือไว้ส่วนรกจะใส่ภาชนะแล้วนำไปฝัง

๒. การบริบาลสตรีหลังคลอด 

      ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งในหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทย คือ การดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดด้วยการ "อยู่ไฟ" โบราณเชื่อว่าในระยะหลังคลอดใหม่ ๆ ทั้งทารกและมารดาอาจเกิดอันตรายได้ง่ายจึงให้มารดาหลังคลอดอยู่ไฟเชื่อว่าความร้อนเป็นสิ่งบริสุทธิ์สามารถเผาผลาญสิ่งที่เป็นโทษได้ การอยู่ไฟจะช่วยให้เลือดลมของมารดาหลังคลอดไหลเวียนดีขึ้นลดการเกร็งและปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อช่วยให้แผลฝีเย็บหายเร็วขึ้น ช่วยลดอาการปวดอันเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกและอาการเจ็บปวดจากการคัดเต้านมอีกทั้งยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี โบราณเรียกช่วงเวลาในการอยู่ไฟว่า "เขตเรือนไฟ" ผู้หญิงไทยสมัยโบราณนิยมอยู่ไฟ ๗ วันหลังคลอดท้องแรกแต่หลังคลอดท้องที่ ๒, ๓ และ ๔ อาจอยู่ไฟนานขึ้น ๘ - ๒๐ วัน ทั้งนี้ระยะเวลาของการอยู่ไฟจำนวนวัน นิยมเป็นเลขคี่เพราะถือเป็นเลขสิริมงคลกับมารดาหลังคลอด 

การแพทย์แผนไทย
ภาพจำลองแสดงการอยู่ไฟ

 

      หลังคลอด ๒ - ๓ วัน จะมีน้ำเหลืองออกจากแผลรกซึ่งโบราณเรียกว่า "น้ำคาวปลา" เพราะมีกลิ่นคาวจัด น้ำคาวปลาจะออกมากราว ๑๐ วัน หลังจากนั้นก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนเมื่อแผลรกหายก็หยุดไป บางคนอาจมีน้ำคาวปลาอยู่นานถึง ๑ เดือน ดังนั้นหลังคลอดแพทย์แผนไทยมักให้มารดากินยาขับน้ำคาวปลาและยาระบายเพื่อขับล้างเอาของเสียและสิ่งเน่าเสียอันเกิดจากการคลอดบุตร ออกไปจากร่างกายของมารดาหลังคลอด นอกจากนั้นในช่วงดังกล่าวจะต้องดูแลสุขอนามัยช่องคลอดให้สะอาดไม่ให้น้ำคาวปลาหมักหมมจนทำให้เกิดการติดเชื้อที่เรียกว่า "สันนิบาตหน้าเพลิง" ซึ่งหมายถึงไข้ที่เกิดในเขตเรือนไฟ
      หลักวิชาการผดุงครรภ์แผนไทยแนะนำว่ามารดาหลังคลอดควรอาบน้ำสมุนไพรหรืออบสมุนไพรเพื่อชำระร่างกายให้สะอาด สดชื่น ดับกลิ่นคาวเลือด ช่วยให้มดลูกกลับเข้าสู่สภาพเดิมเร็วขึ้นและขับน้ำคาวปลา เริ่มต้นด้วยการอาบน้ำร้อนที่ต้มกับใบมะขาม ฝักส้มป่อย และหัวหอม หลังเช็ดตัวให้สะอาดแล้วจึงใช้ลูกประคบที่ใช้ไพลผสมกับการบูรกดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อแก้อาการปวดเมื่อยอันเกิดจากการคลอดลูกช่วยขับเหงื่อและการประคบบริเวณหัวนมเพื่อช่วยเพิ่มน้ำนมและทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น

 

การแพทย์แผนไทย
การนั่งถ่าน

 

 

      การอยู่ไฟหลังคลอดจะช่วยให้ท้องอุ่นอยู่เสมอบรรเทาอาการปวดมดลูกและช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วคนโบราณนิยมใช้ความร้อนจากฟืนไม้สะแกนาเพราะเป็นไม้พื้นบ้านหาง่ายติดไฟแล้วคุดีมอดช้า ไม่เปลือง ความร้อนที่ใช้ในการอยู่ไฟอาจได้จากการทับหม้อเกลือ (หรือการนาบหม้อเกลือ) ซึ่งเป็นการให้ความร้อนแก่เกลือที่บรรจุอยู่ในหม้อดินห่อด้วยใบพลับพลึงและผ้าขาวแล้วใช้กดหรือนาบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยเฉพาะบริเวณท้องและต้นขา การใช้ความร้อนจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นช่วยขับน้ำคาวปลาและช่วยลดอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อจากการคลอดบุตรหรืออาจใช้วิธีการนั่งถ่านโดยอาจใช้ตัวยาสมุนไพรเผาเอาควันรมร่วมด้วย สมุนไพรที่ใช้ ได้แก่ ผิวมะกรูดแห้ง ว่านน้ำ ว่านนางคำ ขมิ้นอ้อย ชานหมาก ไพล เปลือกต้นชะลูด ผงขมิ้นชัน และใบหมาก วิธีหลังนี้เป็นการใช้ความร้อนเพื่อช่วยให้แผลแห้งเร็วและยังช่วยสมานแผลจากการคลอดนอกจากนั้นยังอาจใช้ยาช่วย เช่น  ยาช่วยให้มดลูกเข้าอู่ (กลับเข้าที่เดิมหรือกลับสู่สภาพเดิม) ยาบำรุงน้ำนม โดยในเขตเรือนไฟนั้นคนโบราณห้ามกินของแสลงเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow