Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พันธุ์ไม้ป่า

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
34,273 Views

  Favorite

ในป่ามีต้นไม้มากมายหลายชนิด หลายพันธุ์ ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในป่ามีทั้งเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อน ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นพวกๆ ได้ ๓ พวก

 

พวกไม้ยืนต้น ลำต้นสูงตรงตั้งแต่ ๓ เมตรขึ้นไป ได้แก่ ต้นยาง ตะเคียน จำปา และอโศก พวกไม้พุ่ม ลำต้นตรงแต่ค่อนข้างต่ำ และมีกิ่งก้านแตกแขนงมาก ได้แก่ โมกทุ่ง แก้ว กาหลง ลำเจียก ไผ่ชนิดต่างๆ กาฝาก เป็นพืช ซึ่งอาศัยเกาะกินอาหาร ตามต้นไม้ใหญ่ และเกาะอาศัยอยู่เฉยๆ ได้แก่ พวกไทร เป็นต้น พวกไม้เถา ลำต้นจะเลื้อยพาด หรือเกี่ยวพันไปตามต้นไม้ใหญ่ ได้แก่ หมามุ่ย สายหยุด หิรัญญิการ์ อรพิม รสสุคนธุ์ สะบ้า ฯลฯ

 

 

 

นอกจากต้นไม้ใหญ่ยังมีต้นหญ้า ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก และเป็นพันธุ์ไม้กลุ่มที่มีลำต้นกลวง มีข้อและปล้องสลับกันอยู่เป็นระยะๆ เช่น หญ้าพง หญ้าปล้อง หญ้าคา และหญ้าคาย พืชบางชนิดลำต้นอ่อนอุ้มน้ำมีอายุสั้นเพียงปีเดียว พอออกดอกออกผลแล้ว ก็เฉาแห้งตายไป เช่น ผักกะสัง ผักคราดบอน และเทียนป่า เป็นต้น บางชนิดมีอายุ 2-3 ปี เช่น โสนครามป่า หิ่งหาย และชุมเห็ด บางชนิดที่มีอายุยืนจะมีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน เช่น พลับพลึง สามสิบ มันป่า ผักกูด ที่อาศัยเกาะตามต้นไม้ ได้แก่ พวกกล้วยไม้ ส่วนพวกที่มีลำต้นเกี่ยวพันไปตามต้นไม้อื่น เรียกว่า เครือเถา หรือเถาวัลย์ ได้แก่ ตำลึง จิงจ้อ ผักบุ้ง อ้อยแสนสวน และเถาเอ็นอ่อน  พืชที่ลอยตัวตามผิวน้ำ ได้แก่ จอก แหน ผักกระเฉด ที่จมอยู่ในน้ำแต่ส่งใบขึ้นเหนือน้ำ ได้แก่ สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายพุงชะโด และบัวสายติ่ง บางชนิดมีต้น ราก หรือเหง้าอยู่ใต้น้ำ ส่งใบและดอกขึ้นเหนือน้ำ ได้แก่ บัว เผื่อน เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

ในป่ายังมีพืชที่มีลักษณะแปลกๆ และสวยงามอีกมาก เช่น พวกกล้วยไม้ดิน และเห็ด ซึ่งชอบขึ้นอยู่ตามซากต้นไม้และหญ้า ที่ผุเปื่อย ที่เกาะแย่งอาหารกินตามกิ่งก้านต้นไม้อื่น ก็มีฝอยทอง ตามรากพืชชนิดอื่น เช่น ชมพูนุท ดอกดิน กระโถนฤาษี และขนุนดิน  พืชบางชนิดมีที่ดักจับแมลง มีน้ำยางเหนียวตามใบ และมีน้ำย่อยก้นถุง สำหรับย่อยแมลงที่ตกลงไป เช่น สาหร่ายข้าวเหนียว หญ้าน้ำค้าง หม้อแกงลิง หรือเขนงนายพราน เป็นต้น

 

มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์พันธุ์ไม้ป่ามาเป็นเวลาช้านานแล้ว และการใช้ประโยชน์นี้นับวันจะทวีขึ้นตามส่วน ตามความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ปัจจุบันมนุษย์ได้นำพันธุ์ไม้ป่ามาผลิตเป็นเครื่องใช้ และวัสดุต่างๆ หลายชนิด จึงนับได้ว่าพันธุ์ไม้ป่ามีคุณค่าต่อทางเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างยิ่ง

 

 

 

สามสิบ

 

 

สำหรับประเทศไทยเท่าที่พบหลักฐานนั้น ได้มีมนุษย์อยู่อาศัยมาเป็นเวลาช้านาน ก่อนที่คนไทยจะเข้ามาอยู่อย่างน้อยตั้งแต่ยุคหินใหม่เป็นต้นมา มนุษย์สมัยแรกรู้จักนำพันธุ์ไม้ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ตลอดจนนำมาปลูกไว้ใกล้ๆ ที่อยู่อาศัย เพื่อสะดวกในการเก็บหา และบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์ดังกล่าวนี้ แม้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้กันอยู่ โดยเฉพาะท้องที่ที่ห่างไกลความเจริญ ประโยชน์ของพันธุ์ไม้ป่าในด้านต่างๆ มีดังนี้

 

๑. ใช้เป็นอาหาร

 

  • ส่วนที่เป็นใบและก้านอ่อนได้แก่ ผักหวาน ชะอม ผักกุ่ม ผักไผ่ ผักก้านถึง
  • ส่วนที่เป็นช่อดอกและดอก ได้แก่ ขจร กล้วยป่า งิ้ว กระเจียว
  • ส่วนที่เป็นลำต้น ได้แก่ กล้วยป่า ต๋าว และหวาย
  • ส่วนที่เป็นหัว ราก หรือ เหง้า ได้แก่ เผือก สามสิบ กลอย และมันป่าชนิดต่างๆ
  • ส่วนที่เป็นผล ได้แก่ มะม่วงป่า ลำไยป่า มะไฟป่า และเงาะป่า
  • ส่วนที่เป็นเมล็ด ได้แก่ ก่อ กระบก และกระ

 

 

ลูกก่อแจง

 

 

 

๒. ใช้เป็นยารักษาโรค 

โดยใช้ส่วนต่างๆ โดยตรงตามตำรับแพทย์แผนโบราณ หรือสกัดสารบางอย่างออกมาทำยาแผนปัจจุบัน

 

  • ส่วนที่เป็นราก ได้แก่ ระย่อม ไม้สามตอน
  • ส่วนที่เป็นผล-เมล็ด ได้แก่ กระเบา และแสลงใจ
  • ส่วนที่เป็นเหง้า ได้แก่ ข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้ เฒ่าคอนช้าง และโหรา
  • ส่วนที่เป็นเปลือก ได้แก่ กำลังเสือโคร่ง โมก มะหาด และอบเชย
  • ส่วนที่เป็นเนื้อไม้ ได้แก่ กฤษณา กระลำพัก จันทนา และฮ่อสะพายควาย
  • ส่วนที่เป็นยาง ได้แก่ กำยาน รง และยางสน

 

๓. ใช้ทำที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน 

 

แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่มาก ไม้ทั้งต้นใช้ทำเสาบ้าน เสารั้ว คอกปศุสัตว์ ที่ลำเล็กๆ เช่น ไผ่ ทำเครื่องบน ปูพื้น ที่เลื่อยเป็นแผ่น ใช้ทำพื้น ฝาผนัง
 
 
 
การใช้ส่วนต่างๆ ของพันธุ์ไม้ป่าทำที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้

 

 
 
 
ที่ใช้ใบมุงหลังคา มีแฝก คา ใบหวาย ใบค้อ ใบลาน และใบพลวง 

ส่วนหวายหรือไผ่ จักทำตอกสำหรับผูกมัดให้แข็งแรง หรือนำมาสานเสื่อ ทำชะลอม กระบุง ตะกร้า ตะแกง กระชอน 

นอกจากนั้นยังนำมาใช้ทำเครื่องเรือนต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียง ฯลฯ เครื่องดักสัตว์ เช่น ลอบ แร้ว กระสุน ครืน อีจู้ ฯลฯ เครื่องมือกสิกรรม และด้ามเครื่องมือต่างๆ เช่น จอบ เสียม ขวาน เป็นต้น
 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

1
กำเนิดพันธุ์ไม้ป่า
กำเนิดพันธุ์ไม้ป่า พันธุ์ไม้กำเนิดมาเป็นเวลานานกว่าสองพัน ล้านปีมาแล้ว และยังมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลง ลักษณะให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันกะประมาณกันว่ามีพันธุ์ไม้ ต่างๆ ในโลกนี้อยู่ ๓๗๕,๐๐๐ ชนิด และเป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอก แ
5K Views
2
ชนิดของป่าในประเทศไทย
ชนิดของป่าในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางภาค พื้นเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ภูมิประเทศมี เทือกเขาแดนลาว ทางทิศเหนือ เทือกเขาตะนาวศรี ทางทิศตะวันตก เทือกเขาบรรทัด ทางทิศตะวันออก และ เทือกเขากาลาคีรี ทางทิศใต้ ลำน้ำโขงทางทิศเหนือ และตะวันออกเป็นแ
6K Views
3
พันธุ์ไม้ป่าที่นิยมนำมาปลูก
พันธุ์ไม้ป่าที่นิยมนำมาปลูก พันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกกันในบริเวณอาคารบ้านเรือน และสถานที่ต่างๆ เช่น ตามวัด โรงเรียน และสวนสาธารณะนั้น ส่วนมากเป็นพันธุ์ไม้ ที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ และการที่มีผู้นำเข้ามาปลูกมีสาเหตุหลายประการ ดังนี้ ๑. เป็นพืชที่เกี่ยวเน
6K Views
4
พันธุ์ไม้ป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
พันธุ์ไม้ป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพันธุ์ไม้ป่าต่างๆ นั้นมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก คนเราได้นำเนื้อไม้มาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และเครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนั้นยังมีไม้บางชนิดให้ประโยชน์อย่างอื่นที่สูงกว่าเนื้อไม้ เช่น น้ำมัน ชัน หรือให้ผ
8K Views
6
พันธุ์ไม้ป่าที่มีลักษณะแปลกพิเศษ
พันธุ์ไม้ป่าที่มีลักษณะแปลกพิเศษ นอกจากพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีพันธุ์ไม้ป่าที่มีรูปลักษณะพิเศษ มีลักษณะความเป็นอยู่อย่างพิสดาร แตกต่างไปจากพันธุ์ไม้อื่นๆ คือ ๑. พันธุ์ไม้กินแมลง(insectivorous plants) พันธุ์ไม้กลุ่มนี้ถึงแม้ว่าจะได้อ
7K Views
7
พันธุ์ไม้ป่าของไทยที่มีลักษณะสวยงาม
พันธุ์ไม้ป่าของไทยที่มีลักษณะสวยงาม พันธุ์ไม้ป่าที่มีลักษณะสวยงามนั้นมีมากมายหลายชนิด ส่วนมากไม่ค่อยมีใครเอาใจใส่สนใจนำมาปลูก เพราะส่วนมากขึ้นอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งน้อยคนที่จะมีโอกาสเข้าไปถึง ส่วนที่นำมาปลูก จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปนั้น เป็นต้นว่า
8K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow