Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บูรพาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
3,263 Views

  Favorite

บูรพาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทย

      ศิลปวิทยาไม่ว่าแขนงใดก็ตามต้องมีครูฉันใด ผู้ประกอบโรคศิลปะก็ย่อมต้องมีครูฉันนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยไม่ว่าจะเป็นสาขาเวชกรรม (การตรวจ การวินิจฉัยโรค การบำบัดหรือการป้องกันโรคด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย) ก็ดีหรือสาขาเภสัชกรรม (เตรียมยา การผลิตยา การควบคุมและการประกันคุณภาพยาตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย) ก็ดีต่างมีครูร่วมกันโดยเฉพาะฤๅษี ครูแพทย์ และหมอชีวกโกมารภัจจ์ซึ่งบูรพาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทยนับถือกันว่าเป็น "ปฐมครู"

 

การแพทย์แผนไทย
สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข

 

      การศึกษาเพื่อให้เข้าใจ "การแพทย์แผนไทย" นั้นจำเป็นต้องเข้าใจระบบและวิธีคิดของ "แพทย์แผนไทย" ซึ่งมีศูนย์รวมของจิตใจอยู่ที่ "ครู" ก่อนในบทไหว้ครูอันเป็นบทเริ่มต้นของคัมภีร์ฉันทศาสตร์ซึ่งเป็นคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่สำคัญเล่มหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นร่องรอยอิทธิพลของความเชื่อและหลักปฏิบัติต่าง ๆ ที่เป็นคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในตำราแพทย์โบราณของไทย ดังนี้


    ข้าขอประณมหัตถ์    พระไตรรัตนนาถา 
ตรีโลกอมรมา        อภิวาทนาการ 
อนึ่งข้าอัญชลี         พระฤๅษีผู้ทรงญาณ 
แปดองค์เธอมีฌาน    โดยรอบรู้ในโรคา
ไหว้คุณอิศวเรศ        ทั้งพรมเมศวร์ทุกชั้นฟ้า 
ศาปสรรค์ซึ่งหว้านยา    ประทานทั่วโลกธาตรี 
ไหว้ครูกุมารภัจ        ผู้เจนจัดในคัมภีร์ 
เวชศาสตร์บรรดามี    ให้ทานทั่วแก่นรชน 
ไหว้ครูผู้สั่งสอน        แต่ปางก่อนเจริญผล 
ล่วงลุนิพพานดล        สำเร็จกิจประสิทธิ์พร

คัดตามต้นฉบับจากแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๔๖๖ หน้า ๑


      ในบทไหว้ครูตอนต้นที่ว่า "พระไตรรัตนนาถา ตรีโลกอมรมา" และ "ไหว้ครูกุมารภัจ ผู้เจนจัดในคัมภีร์" นั้นผู้นิพนธ์ได้สะท้อนคติความเชื่อของสังคมทางพระพุทธศาสนาไว้อย่างชัดเจนทั้งในเรื่องพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์) และเรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์แพทย์ประจำพระองค์พระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา ส่วนในตอน "ไหว้คุณอิศวเรศทั้งพรมเมศวร์ทุกชั้นฟ้า" และ "...พระฤๅษีผู้ทรงญาณ แปดองค์เธอมีฌาน..." ซึ่งเป็นการสรรเสริญพระอิศวร พระพรหมว่าเป็นผู้ประทานสมุนไพรใบยาให้แก่มวลมนุษยชาติและสรรเสริญฤๅษี ๘ ตน (ฤๅษีอาเตรยะ ฤๅษีหาริด ฤๅษีอัคนิเวศ ฤๅษีกาศยป ฤๅษีเภท ฤๅษีจรกะ ฤๅษีสุศรุต และฤๅษีวาคภัฏ) ซึ่งถือว่าเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับโรคภัยต่าง ๆ อันเกิดแก่มนุษย์ เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นอิทธิพลของคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์อันมีรากเหง้ามาจากคัมภีร์พระเวทโดยเฉพาะคัมภีร์อาถรรพเวทซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดตำราการแพทย์ของอินเดียโบราณ

ฤๅษีครูแพทย์

      พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.๒๕๔๒  ให้ความหมายของคำ ฤๅษี ว่า "นักบวชพวกหนึ่งมีมาก่อนพุทธกาลสละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ" คำนี้มาจากคำฤษิซึ่งแปลว่า ผู้เห็นโดยนัยหมายถึงผู้ที่แลเห็นด้วยความรู้พิเศษอันเกิดจากฌานสามารถแลเห็นได้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แพทย์แผนโบราณบูชาฤๅษี ๘ ตน เป็นปฐมครูผู้ประสาทวิชาการแพทย์ และเภสัชกรรมแผนโบราณสืบทอดมาจวบจนปัจจุบันเห็นได้จากบทไหว้ครูในคัมภีร์ฉันทศาสตร์ที่คัดมาข้างต้น

 

การแพทย์แผนไทย
รูปปั้นฤๅษีครูแพทย์กับหินบดยา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ


ชีวกโกมารภัจจ์

      แพทย์แผนไทยนับถือและยกย่องหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่าเป็นปฐมครูผู้รอบรู้ในศาสตร์ด้านการแพทย์แผนโบราณทุกแขนง หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสารพระราชาแห่งแคว้นมคธและเป็นหมอประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผู้เป็นพุทธสาวกทั้งหลาย ประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นเรื่องราวประวัติการแพทย์สมัยพุทธกาลที่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในพระไตรปิฎกดังความใน "วินัย มหาวัคค์ จีวรขันธกะ" สรุปความได้ดังนี้

 

การแพทย์แผนไทย
หมอชีวกโกมารภัจจ์ซึ่งแพทย์แผนไทยเคารพนับถือว่าเป็นปฐมครูด้านการแพทย์แผนโบราณทุกแขนง
 
 


      หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรชายของนางสาลวดีผู้เป็นนางบำเรอชั้นสูงแห่งกรุงราชคฤห์นครหลวงแคว้นมคธ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหารประเทศอินเดีย) เมื่อนางสาลวดีตั้งครรภ์เกรงว่าจะเกิดผล กระทบกับหน้าที่การงานจึงอ้างว่าป่วยและพักงานจนให้กำเนิดบุตรชายแล้วสั่งให้สาวใช้เอาทารกนั้นไปทิ้งที่กองขยะในตอนกลางคืน ในตอนเช้าเจ้าชายอภัยพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธเสด็จไปเฝ้าพระราชบิดาขณะเสด็จผ่านบริเวณนั้นทอดพระเนตรเห็นฝูงกาล้อมเป็นกลุ่มอยู่จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่โดยเสด็จด้วยเข้าไปดู เมื่อทรงทราบว่ามีคนนำเด็กทารกมาทิ้งจึงรับสั่งถามมหาดเล็กนั้นว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ มหาดเล็กทูลตอบว่ายังมีชีวิตอยู่จึงทรงรับสั่งให้นำทารกนั้นกลับเข้าไปในพระราชวังด้วยเหตุที่มหาดเล็กทูลตอบว่ายังมีชีวิตอยู่นั่นเองผู้คนจึงเรียกเด็กคนนี้ว่าชีวก (แปลว่ายังมีชีวิต) และเพราะเจ้าชายอภัยทรงเลี้ยงดูเป็นโอรสบุญธรรมคนทั้งหลายจึงเรียกเด็กคนนี้ว่าโกมารภัจจ์ (แปลว่าที่พระกุมารทรงเลี้ยงไว้) และเรียกรวมกันเป็น ชีวกโกมารภัจจ์
      เมื่อเติบโตขึ้นชีวกตัดสินใจศึกษาวิชาแพทย์จึงหนีเจ้าชายอภัยออกเดินทางไปยังเมืองตักกสิลาและเลือกศึกษากับทิศาปาโมกข์ทางด้านการแพทย์ชีวกตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและปรนนิบัติครูบาอาจารย์ประกอบกับเป็นผู้ที่มีไหวพริบและสติปัญญาดีจึงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ทั้งยังมีประสบการณ์ฝึกหัดตามที่อาจารย์สอน หลังจากศึกษากับอาจารย์ครบ ๗ ปี ก็ได้เรียนรู้จนหมดสิ้นหากเทียบกับนักศึกษาผู้อื่นต้องใช้เวลาในการศึกษาถึง ๑๖ ปี  เมื่อได้ศึกษาความรู้จากอาจารย์จนหมดสิ้นแล้วจึงเข้าไปหาอาจารย์และถามถึงที่สุดแห่งความรู้ อาจารย์รู้อยู่แก่ใจว่าชีวกเรียนดี และมีความรู้ดีแต่ต้องการทดสอบให้แน่ใจจึงให้ชีวกถือเสียมไปสำรวจหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ใช้เป็นยาไม่ได้โดยให้เดินทางหาอยู่ ๔ วัน วันละทิศ ทิศละ ๑ โยชน์ รอบเมืองตักกสิลา ชีวกรับคำสั่งอาจารย์ ออกสำรวจจนทั่วเมืองตามที่อาจารย์กำหนดให้แต่ไม่พบสิ่งใดที่ใช้เป็นยาไม่ได้จึงกลับมารายงานให้อาจารย์ทราบ อาจารย์จึงบอกว่าเรียนสำเร็จแล้วถึงที่สุดแห่งวิชาแล้วความรู้เพียงเท่านี้ก็เพียงพอให้ใช้เป็นวิชาชีพได้แล้ว
      เมื่อกลับถึงกรุงราชคฤห์แล้วเจ้าชายอภัยจึงนำหมอชีวกเข้าถวายตัวต่อพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารโปรดให้หมอชีวกรักษาโรคริดสีดวงทวารที่ทรงป่วยมาเป็นแรมปีแล้ว หมอชีวกได้ตรวจพระอาการแล้วถวายการรักษาด้วยการพอกยาเพียงครั้งเดียวเท่านั้นพระโรคก็หายสนิทจึงได้รับพระราชทานรางวัลและโปรดตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งปวงด้วย หมอชีวกรับพระราชทานสนองพระคุณและปฏิบัติตนเป็นอุบาสกถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ในพระไตรปิฎกได้มีบันทึกผลงานการรักษาโรคของหมอชีวกโกมารภัจจ์ครั้งสำคัญ ๆ หลายครั้ง ได้แก่ การรักษาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังด้วยการผ่าตัดที่ศีรษะ การผ่าตัดรักษาโรคลำไส้ขอดของลูกเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี การรักษาพระโรคผอมเหลือง ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต (ผู้ครองกรุงอุชเชนี) การผ่าตัดบาดแผลที่พระบาทของพระพุทธเจ้าซึ่งเกิดจากพระเทวทัตกลิ้งหินให้ทับพระองค์และสะเก็ดหินแตกมาถูกทำให้ห้อพระโลหิต  หมอชีวกโกมารภัจจ์มีคุณูปการทั้งในด้านอาณาจักรและพุทธจักร พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานเอตทัคคะให้แก่หมอชีวกเมื่อคราวประทับอยู่ที่วัดเชตวัน กรุงสาวัตถี โดยได้รับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสกผู้เป็นสาวกของตถาคตซึ่งเป็นผู้มีความเลื่อมใสในบุคคลชีวกโกมารภัจจ์เป็นเลิศ"

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow