Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเลี้ยงลูกไก่

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
27,998 Views

  Favorite

การเลี้ยงลูกไก่

ถ้าแม่ไก่เลี้ยงลูกของมันเอง วันแรกๆ แม่ไก่จะพาลูกเดินบ้างตามสมควร แต่จะใช้เวลาหมอบ เพื่อกกลูกเป็นระยะ อากาศภายนอกอาจเย็นเกินไป สำหรับลูกไก่เจี๊ยบ เมื่อวิ่งได้พักหนึ่งก็ต้องกลับมาซุกใต้อกแม่ให้ตัวอบอุ่นพอดี แล้วออกไปวิ่งใหม่ เหตุที่ลูกไก่คอยเพิ่มความอบอุ่นก็เพราะในระยะ ๗-๑๐ วันแรกนี้ ลูกไก่ยังไม่สามารถรักษาระดับความอบอุ่นภายในตัวให้คงที่ เมื่ออากาศภายนอกเย็น ตัวมันก็เย็น อากาศภายนอกร้อน ตัวมันก็ร้อน อันเป็นลักษณะของสัตว์เลือดเย็น เช่น งู และเต่า เป็นต้น แต่ถ้าตัวลูกไก่เย็นไปมันจะเดินไม่ได้ กินอาหารไม่ได้ เป็นอันตรายถึงตาย จึงเป็นหน้าที่ของแม่ไก่ต้องคอยระวังเรื่องนี้ บางครั้งเมื่อแม่ไก่เห็นว่า จะมีอันตรายมา เช่น มีนกเหยี่ยว อีกา สุนัข แมว พังพอน หรือแม้แต่เด็กๆ เข้าใกล้ แม่ไก่จะส่งเสียงสัญญาณยาวๆ เรียกลูกไก่ให้รีบเข้ามาอาศัยใต้อกแม่เป็นที่หลบภัย นับว่า อกแม่เป็นที่หลบภัยเคลื่อนที่ได้ดี

 

 

แม่ไก่พาลูกไก่คุ้ยเขี่ยหาอาหาร

 

 

 

ต่อไปแม่ไก่ก็ต้องสอนลูกให้กินน้ำกินอาหาร เป็นธรรมดาลูกไก่ชอบจิกอยู่แล้ว มีจุดอะไรที่เห็นเด่นก็ลองจิกไปเรื่อยๆ จนแม้บางครั้งจุดเด่นนั้น บังเอิญเป็นหางของพวกเดียวกันเอง ลูกไก่ก็พากันจิกจนเลือดไหล เกิดอันตรายถึงตายก็มี ด้วยนิสัยนี้ การสอนกินจึงดูง่าย แต่ถ้าเราจะลองคิดดูว่าแม่ไก่ ไม่มีน้ำนม สำหรับเลี้ยงลูก ดังเช่นแม่ของเรา แม่ไก่ต้องให้อาหารแก่ลูกไว้ในไข่ขาว และไข่แดง ซึ่งมีเหลือติดตัวมาอีกเล็กน้อย ต่อจากนั้นลูกไก่ก็ต้องกินอาหาร ลูกนกหลายๆ ชนิดคอยให้แม่นกป้อนอาหารก็มี เช่น แม่นกกางเขนเวลาเลี้ยงลูกเล็กต้องบินหาอาหารมาป้อนลูกวันละหลายๆ เที่ยว แม่นกพิราบไม่ชอบบินไปมาหลายเที่ยวนัก จึงหาอาหารมาเผื่อลูก เมื่อมาถึงรัง ก็สำรอกอาหารให้ลูกกินครั้งเดียวก็อิ่มทุกตัว แม่นกที่ต้องออกไปหากินไกลๆ มักจะนิยมรวบรวมอาหารมาสำรอกป้อนลูกๆ ส่วนแม่ไก่นั้น ต้องพาไปถึงที่ ซึ่งมีอาหาร แล้วสอนลูกให้รู้จักกิน เมื่อคุ้ยเขี่ยพบอาหารที่ลูกไก่จะกินได้ ก็เรียกลูก ด้วยเสียงกุ๊กๆๆ ถี่ๆ พร้อมทำทีว่า จิกกิน ลูกก็แย่งกันทำตาม ไม่ช้าลูกไก่ก็รู้ว่า จะกินอะไร และเริ่มคุ้ยเขี่ยช่วยตัวเองได้ นับว่า แม่ไก่ต้องพากเพียรมาก เพื่อเลี้ยงลูกแต่ละชุดให้เติบโตปลอดภัย

 

ถ้าเราเลี้ยงลูกไก่จำนวนมากๆ ดังที่เลี้ยงไก่กระทง เพื่อเป็นไก่เนื้อหรือเลี้ยงเพื่อเป็นไก่ไข่ แต่ ละชุดมีหลายร้อยตัว หรือหลายพันตัว ก็ต้องใช้เครื่องอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาทำหน้าที่หลัก ได้แก่ เครื่องกกให้ความอบอุ่น เล้าหรือคอกให้ความปลอดภัย ภาชนะให้อาหารและน้ำแทนแม่ไก่ เนื่องจาก แม่แท้ๆ ของลูกไก่เหล่านี้ต้องออกไข่จำนวนมาก ปี หนึ่งตั้งแต่ ๑๕๐ ถึงกว่า ๓๐๐ ฟอง จนไม่มีเวลา สำหรับจะฟักไข่และเลี้ยงลูกได้ จึงทิ้งนิสัยฟักไข่ ยกหน้าที่ให้คนเลี้ยงไก่รับไปทำการแทน

 

อุปกรณ์ที่เรียกว่า กรงเลี้ยงลูกไก่ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเครื่องกกลูกไก่และส่วนเลี้ยงน้ำเลี้ยงอาหาร ปูพื้นด้วยลวดพื้นตาสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดแคบกว่าช่วงเท้า หรือถ้าไม่ใช้กรง จะเลี้ยงบนพื้นคอกที่มีวัสดุปูรองพื้น เช่น ทราย แกลบ ขี้เลื่อย หรือฟางข้าวสับเป็นท่อนสั้นๆ ตั้ง เครื่องกกไว้กลางคอก และรางน้ำรางอาหารโดยรอบก็ได้ เครื่องกกมีหน้าที่ให้ความอบอุ่นทั้งเวลากลาง วันและกลางคืน จนกว่าลูกไก่จะเริ่มควบคุมอุณหภูมิภายในตัวได้คงที่ จึงหยุดให้ความอบอุ่นเรียกว่า หย่าไฟก็ได้ ความอบอุ่นที่จัดหาให้นี้ก็ใช้หลักเดียว กับเครื่องฟักไข่ อาจใช้ความร้อนจากตะเกียงน้ำมัน ก๊าด ตะเกียงก๊าซ ลวดร้อนไฟฟ้า ตามความสะดวก หลักสำคัญเรื่องกกลูกไก่มีอยู่ ๒ ข้อ ข้อแรก คือ ให้ลูกไก่สามารถเดินเข้าออกเพื่อเข้าหาบริเวณอบอุ่น ได้สะดวก โดยอาจใช้แสงสว่าง เช่น แสงสีแดงล่อให้ เห็นง่าย ข้อสอง คือ ปรับระดับความอบอุ่นให้พอดี สำหรับเสริมความร้อนในตัวลูกไก่ ซึ่งเราจะสังเกต ได้ว่าเมื่อลูกไก่อุ่นสบาย ก็จะนอนกระจายกันพอ หลวมๆ ไม่เบียดหรือสุมกัน อาการที่นอนสุมกัน แสดงว่าหนาวไป ถ้าหากแยกกันนอนห่างมาก แสดง ว่าร้อนไป การเติบโตและความสมบูรณ์ของลูกไก่จะ ด้อยลง ไม่ว่าจะร้อนไปหรือหนาวไปก็ตาม ลูกไก่ ต้องการระยะกก ๒-๔ สัปดาห์ ลูกเป็ดต้องการระยะ กกเพียง ๑-๒ อาทิตย์แรก

 

 

 

เครื่องกกลูกไก่

 

 

 

ในส่วนที่เลี้ยงน้ำและอาหารนั้น ก็เป็นทั้ง ลานวิ่งและที่หากิน แต่ด้วยเหตุที่เราต้องเลี้ยงลูกไก่จำนวนมาก จึงจะจัดที่กว้างขวางเหลือเฟือไม่ได้ ต้องจัดพอให้ไม่แออัด วิ่งได้บ้างพอออกกำลังกาย ให้แข็งแรง มีสุขอนามัยดี ที่ให้น้ำให้อาหารก็จัด ไว้บริบูรณ์ คือ ลูกไก่สามารถเข้าแถวกินอาหารได้ พร้อมๆ กัน จำนวนครึ่งหนึ่งของแต่ละกรง อาหาร จัดใส่ภาชนะที่เติมได้ง่าย ลูกไก่กินแล้วหกหล่นน้อย ที่สุด เพราะไม่ว่าจะอยู่อย่างไร ลูกไก่ไม่ยอมทิ้ง นิสัยคุ้ยเขี่ย ถ้าใช้เท้าคุ้ยไม่ได้ใช้ปากเขี่ยก็ยังทำได้ จึงทำอาหารหกหล่นได้มาก ถ้าภาชนะไม่มีที่ป้องกัน หรือที่บังคับให้คุ้ยได้น้อยที่สุด

มีที่ให้น้ำ อาหาร และมีลานให้ลูกไก่วิ่งได้

 

วิธีสอนให้ลูกไก่รู้จักกินน้ำกินอาหาร เราทำ ได้ ๒ วิธี วิธีแรก คือ เลียนแม่ไก่ที่จิกอาหารหรือ ดื่มน้ำให้ลูกไก่ดู เราจิกไม่เป็น ก็ให้จับหัวลูกไก่กดเบาๆ ให้ปากจุ่มน้ำหรือให้ลงจิกกินอาหาร ลูกไก่ ก็จะได้ความคิดแล้วกินน้ำกินอาหารได้เองต่อไปอีก วิธีหนึ่ง เราจัดให้แสงสว่างแรงหน่อย ตรงที่กินน้ำ และอาหาร ลูกไก่ชอบไปที่สว่างก็จะได้รู้วิธีกินน้ำ และอาหารเอง วิธีนี้ใช้ได้ผลดี อีกทั้งทุ่นเวลาด้วย เพราะลูกไก่เรียนเองและเอาอย่างกันเอง

 

ภาระของผู้เลี้ยงไก่ในช่วงนี้ มี ๓ ประการ ด้วยกัน ประการแรก คือดูแลความสบาย ความเป็นอยู่ของลูกไก่ว่าไม่ร้อนไม่หนาว อากาศถ่ายเท หายใจได้สะดวก แต่มิให้ลมโกรก ศัตรูไม่รบกวน อาหารและน้ำมีพอกิน การถ่ายมูลเป็นปกติไม่เหลว ไป หรือแห้งไป ทั้งไม่หมักหมมอยู่บนพื้นกรง หรือในที่นอน กรงเลี้ยงไก่ที่ออกแบบดีแล้ว เมื่อไก่ ถ่ายมูลปกติ ก็จะลอดพื้นกรงไปรวมอยู่ในถาดรองรับมูลไก่เกือบทั้งหมด สะดวกแก่การทำความสะอาด และเก็บรวบรวมไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ย ปลูกต้นไม้ พืช ผักต่างๆ ถ้ามูลไก่เหลวไป แห้งไป ก็เป็น หลักฐานฟ้องว่า เราบกพร่องในการดูแลต้องรีบพิจารณาหาสาเหตุ แล้วแก้ไขเสียโดยเร็ว จะผัดผ่อน เวลาไม่ได้

 

 

โรงเรือนควรเป็นที่ถ่ายเทอากาศได้ดีแต่ไม่มีลมโกรก

 

ประการที่ ๒ ไก่ที่เราเลี้ยงต้องการอาหาร ดีพอเหมาะสมแก่ความต้องการของร่างกายในอายุ ต่างๆ กัน และเพื่อหน้าที่ต่างๆ กัน บางคนใจดี คิดว่าถ้าเราหาอาหารที่มีแป้งมาก มีโปรตีนสูง มี ไขมันเกินพอ มีแร่ธาตุและวิตามิน ตลอดจนยา เสริมต่างๆ ครบครันแล้ว ก็พอใจเลี้ยงอย่างนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏแล้วแน่ชัดว่า ทั้งลูกไก่และไก่ รุ่นตลอดจนไก่ใหญ่ คือ ไก่ไข่และพ่อแม่ไก่สำหรับ ผสมพันธุ์ ล้วนแต่มีความต้องการอาหารจำเพาะ เจาะจง ไก่ เป็ดระยะไข่ต้องการอาหารคุณภาพและ ปริมาณเพิ่มขึ้นตามความสามารถให้ไข่ (โปรดดู ตาราง) ถ้าเราให้ขาดหรือเกินจะเสียผล หรือถ้าให้ อาหารอุดมสมบูรณ์เกินต้องการ ก็อาจทั้งเสียผลและ เสียค่าใช้จ่ายมากโดยไม่ได้ผลตอบแทน เราจะต้อง คำนึงถึงพันธุ์ไก่ ชนิดไก่ ประเภทของอาหาร ฤดู กาลและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุผลดังว่ามานี้ ผู้เลี้ยงไก่ จะต้องศึกษาเรื่องสูตรอาหารให้เข้าใจ แล้วจะ ผสมใช้เอง หรือซื้ออาหารผสมสำเร็จก็กระทำได้ ด้วยความแน่ใจว่าเราไม่ได้ลงทุนมากแต่กลับได้ผล น้อยไม่คุ้ม

 

 

โรงเรือนเลี้ยงไก่

 

 

 

ประการที่ ๓ เราเลี้ยงไก่หรือสัตว์เลี้ยงก็ ตาม เราต้องดูแลสุขอนามัยให้สมบูรณ์จึงจะได้ผล ไก่จะมีสุขอนามัยดีก็เริ่มด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ สบาย ได้กินอาหารและน้ำพอเพียงตามที่ร่างกาย ต้องการ แล้วไม่มีโรคภัยเบียดเบียน การเลี้ยง สัตว์ถือหลักโบราณของไทยว่า "กันดีกว่าแก้" ไว้เสมอ การป้องกันโรคเบื้องต้น คือ รักษาความ สะอาดของสถานที่ กรงเลี้ยงไก่ น้ำ อาหาร ป้อง กันสัตว์นำเชื้อโรค เช่น เหา ไร หนู นกกระจอก และคนแปลกหน้า เป็นต้น มิให้เพ่นพ่านในสถานที่ การป้องกันขั้นกลาง คือ ป้องกันการแพร่เชื้อทางน้ำ กินและอาหารโดยใช้ยาหรือยาเสริมต่างๆ โดยระมัด ระวังและสม่ำเสมอตามคำแนะนำ อย่าใช้ตาม ใจชอบหรือตามใช้สะดวกอาจเป็นโทษภายหลัง ขั้น ปลายก็คือ การป้องกันโรคสำคัญๆ สำหรับไก่ ได้ แก่ ใช้วัคซีนเฉพาะบางโรค เช่น โรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบ และโรคฝีดาษไก่ เป็นต้น สำหรับเป็ดก็คือ โรคตับอักเสบติดต่อในลูกเป็ด โรค เพล็กเป็ด โรคอหิวาต์เป็ด ควรปฏิบัติตามคำแนะ นำของสัตวแพทย์ สัตวบาล หรือผู้ผลิตยาโดย เคร่งครัดและครบถ้วน

วิธีเลี้ยง

กระทำได้หลายวิธี ผู้เลี้ยงไก่เลือกเอาตามความต้องการ ให้เหมาะสมแก่จุดประสงค์ และทุนที่มี

๑. เลี้ยงปล่อยรอบบ้านแบบช่วยตัวเอง มีอาหารให้บ้าง ที่นอนก็มีอาศัยใต้ถุนบ้าน หรือมีเล้าพออยู่อาศัยตอนกลางคืน ปลอดภัยจากศัตรู ได้แก่ ขโมย แมว สุนัข งู พังพอน เป็นต้น จัดหารัง สำหรับออกไข่ และฟักไข่ด้วยก็ได้ การเลี้ยงปล่อยนี้ เหมาะแก่บ้านชนบทในไร่นา ซึ่งมีบริเวณกว้าง และเลี้ยงจำนวนเพียง ๑๐-๒๐ ตัว ไก่สามารถคุ้ยเขี่ยหาอาหารโปรตีนจำพวกแมลง ไส้เดือน ตัวปลวกได้ มีเมล็ดข้าวเมล็ดหญ้าบ้าง แต่ผู้เลี้ยงคงต้องให้ข้าวเปลือก ข้าวโพดบดให้แตก ข้าวฟ่าง
เป็นต้น วันละ ๑-๒ ครั้ง อาหารประเภทผักสด ใบกระถิน ที่เหลือจากในครัวก็ใช้เลี้ยงไก่ได้

๒. เลี้ยงครึ่งปล่อยครึ่งกัก คือ ทำเรือนโรงมีลานล้อมรั้วมิดชิด ไก่ต้องอยู่ภายในเล้า ไม่เพ่นพ่านทั่วไป เพราะในบ้านอาจมีแปลงสวนครัว ดอกไม้ และของราคาแพง ซึ่งไก่จะคุ้ยเขี่ยจิกให้เสียหายได้ ไก่สามารถคุ้ยเขี่ยในลานใต้แสงแดดบริบูรณ์ แต่อาหารต้องจัดหาให้ครบถ้วน น้ำกินก็จัดให้มีพอเสมอ และไม่สกปรกหมักหมม อาหารที่ให้ต้องพิถีพิถันมากขึ้น คือ ให้ได้ครบทั้งแป้ง โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน ซึ่งจะได้จากข้าวเปลือก ข้าวโพดบดแตก ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง รำข้าว และถั่วต่างๆ หรือกากถั่วเหลือง เศษเนื้อ ปลา ผักสด และเศษผัก ใบกระถิน
เปลือกหอย เป็นต้น ปลาสด หอยสด ที่หาได้ง่าย ราคาถูก หรือปล่อยเป็ดหากินเองเป็นของดีสำหรับการเลี้ยงเป็ดในชนบทต่างๆ ชายทะเล และหนองน้ำ นิสัยเป็ดชอบอาหารที่คลุกน้ำเปียกหมาดๆ มากกว่าอาหารแห้ง

นอกจากอาหารก็ต้องการกรวดบ้าง เพื่อช่วยบดอาหารหยาบในกึ๋น วิธีเลี้ยงอย่างนี้ก็คงเหมาะสำหรับผู้เลี้ยงไก่แบบสวนครัว จะได้ไข่และเนื้อเป็นอาหารบ้าง แต่ไม่หวังซื้อขายเป็นอาชีพ

๓. เลี้ยงบนพื้นคอก ไม่ทำลานวิ่งภายนอก พื้นคอกจะเป็นดินแข็งทุบแน่น พื้นฉาบปูนทราย หรือพื้นคอนกรีตก็ได้ มีวัสดุปูรองพื้น เช่น แกลบ ขี้กบ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพดจากการสีข้าวโพด หรือฟางข้าวสับเป็นท่อนสั้นเพื่อช่วยซับมูลไก่ และระเหยความเปียกชื้นได้ดีกว่าพื้นเปล่าๆ บางแบบก็อาจทำเป็นพื้นไม้ระแนงแทนพื้นทึบ เพื่อระบายมูลไก่ และความเปียกชื้นลงใต้ถุน หรือลงในบ่อเลี้ยงปลาดุก ปลาสวายก็ได้ ถ้าใช้เลี้ยงไก่กระทงก็ไม่ต้องจัดทำคอนนอน ถ้าใช้เลี้ยงไก่ใหญ่ก็ควรทำคอนนอน และรังไข่ให้ด้วย นิยมทำรังแบบที่ไข่สามารถไหลออก พ้นระยะที่ไก่ตัวอื่นจะจิกกินได้ ซึ่งจะทำให้เก็บได้ง่าย รางน้ำรางอาหารตั้งไว้ในคอก นิยมใช้แบบเติมอาหารเองในตัว หรือแบบอัตโนมัติก็มีใช้มาก เพราะประหยัดแรงงาน และลดการเสี่ยงกับผลเสียเมื่อไก่ขาดอาหาร

 

 

การเลี้ยงบนพื้นคอก

 

 

การเลี้ยงไก่วิธีนี้ก็ต้องให้อาหารครบถ้วนตามความต้องการทุกอย่าง และไม่มีโอกาสที่จะค่อยๆ เติมให้ทีละอย่าง จึงนิยมใช้อาหารผสมที่มีครบทั้งแป้ง โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ วิตามิน และยา หรืออาจทำอาหารผสมนี้เป็นแบบอัดแน่น ป็นเม็ด เพื่อสะดวกแก่การขนส่ง และการใช้รางอาหารแบบเติมเอง หรือแบบอัตโนมัติด้วย

 

๔. เลี้ยงขังกรงเดี่ยว หรือกรงตับ นิยมสำหรับเลี้ยง เพื่อเอาไข่ขายสำหรับรับประทาน กรงเดี๋ยวนี้ตั้งในโรงเรือนเรียงเป็นแถวยาว อาจซ้อนกัน หรือซ้อนแบบเหลื่อมกันก็ได้ จึงเรียกว่า กรงตับ เพื่อความสะดวกในการดูแลเติมอาหาร เก็บไข่ หรือเก็บกวาดมูลไก่ นิยมตั้งกรงสูงกว่าพื้นประมาณ ๖๐ ซม. ไก่รุ่นตัวเมียอายุ ๔ - ๔ ๑/๒ เดือน เป็นอายุพอเหมาะสำหรับเริ่มขึ้นกรง เพราะว่าเป็นระยะจวนจะไข่ หากรอนานจนเริ่มไข่ แล้วย้ายที่อยู่มาเข้ากรง ไก่จะหยุดไข่ และจะชะงักไประยะหนึ่ง ทำให้เสียผล ขนาดกรงกว้าง ๓๐ ซม. ลึก ๔๐-๔๕ ซม. สูง ๔๐ ซม. จะใส่ไก่ไข่ได้ ๒ ตัว โดยไม่มีผลเสียนับว่า ประหยัดได้เพิ่มจากการใช้กรงกว้าง ๒๐ ซม. แต่เลี้ยงได้ตัวเดียว รางน้ำ และอาหารอยู่นอกกรง ไก่ยื่นหัวออกมากินได้สะดวก อีกทั้งสะดวกแก่การเติม
หรือทำความสะอาด และหากจะใช้รางอาหารแบบอัตโนมัติก็สะดวกแก่การติดตั้ง

 

 

 

การเลี้ยงแบบขังกรงตับ

 

 

การเลี้ยงขังกรงตับทั้งเดี่ยวและคู่นี้ ประหยัดการใช้พื้นที่ได้มาก จึงสามารถตั้งเล้าในเขตใกล้เมืองซึ่งที่ดินมีราคาแพงได้ การดูแลก็สะดวก ผู้เลี้ยงสามารถติดตามผลผลิตของไก่ได้เป็นรายตัว เป็นการเสริมประสิทธิภาพการเลี้ยงดูโดยต้องจ่ายค่าลงทุน และค่าแรงสูงขึ้นบ้าง

 

๕. เลี้ยงขังกรงฝูง เป็นวิธีพัฒนามาจากการเลี้ยงแบ่งคอกเล็กๆ แต่จัดเป็นกรงขนาดย่อม ขนาด ๒ x ๓ เมตร ใช้เลี้ยงไก่ตั้งแต่ ๑๕-๒๕ ตัว ใช้เรือนโรงที่ก่อสร้างอย่างง่าย การดูแลกรงฝูงทีตั้งเรียงรายกันเป็นแถวสองข้างทางเดินสำหรับให้อาหาร
เลี้ยงดู เก็บไข่ ทำให้ประหยัดทั้งเวลา และค่าวัสดุมากกว่าคอกเล็กๆ และอีกทั้งสามารถใช้วัสดุหลายราคาตั้งแต่ไม้ไผ่ ไม้จริง เหล็ก และลวดตาข่าย
ตามสภาพ

 

 

 

เป็ดพันธุ์เนื้อปักกิ่ง

 

นิยมใช้เลี้ยง เพื่อขุนไก่ให้อ้วนก็สะดวก เลี้ยงไก่ไข่ก็ได้ หรือแม้จะทำหน่วยเลี้ยงผสมพันธุ์ เพื่อผลิตไข่ฟักก็ได้ดี

เป็ดก็เลี้ยงขังกรงเดี่ยวหรือฝูงได้เช่นเดียวกับไก่ แต่ต้องการพื้นที่ตลอดจนรางน้ำอาหารมากกว่าไก่อีกราว ๒๐-๕๐% เพราะเป็ดกินน้ำและอาหารมากกว่าไก่ราว ๓๐-๕๐%

อายุไข่ของเป็ด เช่นเดียวกับของไก่ แต่ เป็ดพื้นเมืองมักมีอายุเริ่มไข่หลัง ๖ เดือนแล้ว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow