พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้กรมแผนที่ทหารจัดทำแผนที่ชนิดต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ทรงนำไปใช้ในการพิจารณาแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือจัดพัฒนาที่ดินให้แก่ราษฎร สำหรับประโยชน์สุขแก่ราษฎรของพระองค์ท่าน กรมแผนที่ทหารได้เริ่มจัดทำแผนที่ตามพระราชประสงค์ เริ่มจากโครงการจัดพัฒนาที่ดิน ฯ ตามพระราชประสงค์ "หุบกะพง" ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นแผนที่มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ เส้นชั้นความสูง ๒ เมตร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้เพิ่มรายละเอียดใหม่เดือนกรกฎาคม ๒๕๒๕ โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ "หนองพลับ" ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาตราส่วน ๑:๔,๐๐๐, ๑:๑๐,๐๐๐ เส้นชั้นความสูง ๐.๐๕ เมตร และ ๒ เมตร ตามลำดับ โดยใช้รูปถ่ายมาตราส่วน ๑:๕,๐๐๐, ๑:๑๐,๐๐๐ และ ๑:๒๕,๐๐๐ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๑๕ เดือนกรกฎาคม ๒๕๑๖ และเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๙ ทั้งสองบริเวณได้มีการสำรวจทางภูมิประเทศ เพื่อหาค่าจุดบังคับรูปถ่ายทางอากาศ แล้วจึงเขียนแผนที่จากเครื่องมือเขียนแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ นำมาประกอบระวางลงหมึกเป็นลายเส้นสีดำบนแผ่นพลาสติกใส สำหรับตัวเลข ตัวหนังสือ ใช้ช่างเขียนผู้มีความสามารถเขียนด้วยมือทั้งสิ้น เมื่อเสร็จเป็นต้นร่างใสแล้ว จึงพิมพ์เป็นพิมพ์เขียว นำไปใช้ในราชการโดยหน่วยงานของกระทรวงพัฒนาการในสมัยนั้นเป็นผู้ใช้
ต่อมาเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้มีการจัดทำแผนที่บริเวณพระตำหนักจิตรลดาขึ้นในมาตราส่วน ๑:๑,๕๐๐ จัดทำโดยวิธีการทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ ใช้รูปถ่ายมาตราส่วน ๑:๖,๐๐๐ หลังจากเขียนแล้วได้ส่งเจ้าหน้าที่กองทำแผนที่ไปสำรวจเพิ่มเติมรายละเอียดที่ยังไม่ปรากฏบนแผ่นต้นร่างให้สมบูรณ์ขึ้นอีก
โครงการสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่เป็นอีกโครงการหนึ่งที่กรมแผนที่ทหาร รับสนองพระราชประสงค์จัดทำขึ้นในบริเวณห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยความมุ่งหมายที่จะจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรเช่นเดียวกัน แผนที่บริเวณนี้จัดทำขึ้นเช่นเดียวกับโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ "หนองพลับ" ตำบลหนองพลับ และโครงการ "หุบกะพง" จัดพัฒนาที่ดิน ฯ ตามพระราชประสงค์ เป็นแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐ เส้นชั้นความ สูง ๒ เมตร ใช้รูปถ่ายทางอากาศ มาตราส่วน ๑:๒๐,๐๐๐
สำนักพระราชวังมีความประสงค์ให้กรมแผนที่ทหาร จัดทำแผนผังพระตำหนักต่าง ๆ ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ ในมาตราส่วน ๑:๑,๕๐๐ ใช้รูปถ่ายทางอากาศ มาตราส่วน ๑:๖,๐๐๐ เมื่อดำเนินการทำต้นร่างเสร็จแล้ว กองพิมพ์กรมแผนที่ทหารได้พิมพ์เป็นสีขาวดำ เพื่อมอบให้แก่สำนักพระราชวังได้แจกจ่ายแก่ผู้รับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยต่อไป แผนผังพระตำหนักที่จัดทำใน พ.ศ. ๒๕๒๒ นี้ มีรวม ๖ พระตำหนักคือ
๑. พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
๒. พระที่นั่งอัมพรสถาน กรุงเทพมหานคร
๓. พระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๔. พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๕. พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อำเภอ เมือง จังหวัดนราธิวาส
๖. พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อำเภอ เมือง จังหวัดสกลนคร
ส่วนพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ขณะนี้กรมแผนที่ทหารได้จัดทำขึ้นใหม่ตามพระราชประสงค์ เป็นมาตราส่วน ๑:๑,๐๐๐ เฉพาะตัวพระตำหนัก และมาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ จากตัวพระตำหนัก คลุมตัวเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด และจัดพิมพ์เป็นสีเหมือนแผนที่มูลฐานของกรมแผนที่ทหาร
การทำแผนที่อีกบริเวณหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดทำขึ้นคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ฯ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา การดำเนินการจัดทำแผนที่บริเวณนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นบริเวณเล็ก ๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่ตามพระราชประสงค์ ต่อมาได้ขยายแผนที่ออกไปอีก
ในการจัดทำแผนที่บริเวณนี้ไม่ได้มีการสำรวจหาจุดบังคับรูปถ่าย แต่ได้ใช้การโยงยึดจากแผนที่ภูมิประเทศ ๑:๕๐,๐๐๐ ซึ่งเป็นแผนที่หลัก ใช้รูปถ่ายมาตราส่วน ๑:๔๐,๐๐๐ เขียนแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ นำไปทำพิมพ์เขียวทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำแผนที่นี้ไปใช้ทรงพบว่ามีความต่างทางความสูง อยู่ ๕ เมตร จากการที่พระองค์ท่านได้เปรียบเทียบกับแผนที่ที่กรมชลประทานจัดทำขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากในการดำเนินการทำแผนที่บริเวณนี้ได้ใช้ค่าความสูงจากการอ่านเส้นชั้นความสูงบนแผนที่หลัก ซึ่งความคลาดเคลื่อนทางความสูงของแผนที่หลักอยู่ในเกณฑ์ คือ ๕ เมตร ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ที่จะได้แผนที่บริเวณนี้เป็นมาตราส่วน ๑:๑,๐๐๐ และ ๑:๕,๐๐๐ เส้นชั้นความสูง ๑ เมตร
การจัดทำแผนที่ใหม่นี้ กรมแผนที่ทหารได้ทำการบินถ่ายรูปใหม่ มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ มีการสำรวจหาค่าพิกัดทางแนวราบและแนวดิ่งเพื่อใช้เป็นจุดบังคับรูปถ่าย เฉพาะจุดบังคับทางแนวราบจัดทำเฉพาะแห่ง แต่จุดบังคับทางแนวดิ่งทำทุกรูป สำหรับจุดบังคับทางแนวราบได้จัดทำเพิ่มเติมให้กับรูปในสำนักงาน เมื่อได้ดำเนินการเขียนต้นร่างแผนที่เสร็จแล้ว จึงพิมพ์ทูลเกล้า ฯ ถวาย ในการทำแผนที่บริเวณนี้ครั้งใหม่นั้น ทางหมวดรังวัดจากรูปถ่ายแผนกประกอบแผนที่ได้ตรวจสอบจุดกำหนดสูงที่พระองค์ท่านทรงพบว่าผิดอยู่ ๕ เมตร นั้น ผลก็คือความสูงถูกต้องตามที่ทรงพระกรุณาทักท้วง การจัดทำแผนที่ประเภทเดียวกันนี้ ได้จัดทำหลายบริเวณด้วยกัน เช่น โครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ตำบลราชคราม อำเภอ บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัด เชียงใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
แผนที่บริเวณต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นแผนที่โครงการที่จัดทำขึ้นใหม่เป็นบริเวณๆ ไป เนื่องจากแผนที่หลักของกรมแผนที่ทหารที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้น ส่วนมากจัดทำมานานแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏบนแผนที่จึงไม่ทันสมัย ทั้งนี้เป็นเพราะกรมแผนที่ทหารมีกำลังพลและงบประมาณจำกัด ไม่สามารถจะทำการแก้ไขแผนที่เพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอทั่วประเทศได้พร้อม ๆ กัน เมื่อใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะใช้แผนที่บริเวณใด กรมแผนที่ทหารจะดำเนินการบินถ่ายรูปใหม่หรือใช้รูปถ่ายที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่มีอยู่เขียนเพิ่มเติมรายละเอียดขึ้นใหม่ เช่น การจัดทำแผนที่บริเวณที่จะสร้างวัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕ กรมแผนที่ทหารได้จัดทำเป็นแผนที่มาตราส่วน ๑: ๒๕,๐๐๐ เพิ่มเติมรายละเอียดใหม่จากรูปถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ แล้วนำไปทำพิมพ์เขียวทูลเกล้า ฯ ถวาย การจัดทำแผนที่ด้วยวิธีเดียวกันนี้ยังได้จัดทำขึ้นในอีกหลายบริเวณ เช่น ห้วยสามพันนาม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาตราส่วน ๑:๑๒,๕๐๐ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ และบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
กรมแผนที่ทหารได้ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ จึงได้ดำเนินการจัดการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดในแผนที่บริเวณอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง และอำเภอส่องดาว อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ด้วย การเพิ่มเติมรายละเอียด เช่น ถนน และหมู่บ้าน ซึ่งเป็นรายละเอียดที่พระองค์ทรงใช้อยู่เสมอ เป็นความสำคัญเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพื่อให้พระองค์ท่านได้ทรงใช้ ดังที่เราทุกคนได้ประจักษ์กันแล้วว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใช้แผนที่ที่ดี และทรงใช้แผนที่มากกว่าเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เมื่อทรงพบข้อผิดพลาดหรือข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะทรงแจ้งให้นายทหารแผนที่ผู้ติดตามเสด็จ ฯ ทราบทุกครั้ง เพื่อกรมแผนที่ทหารจะได้มีข้อมูลไว้แก้ไขแผนที่ต่อไป
นอกจากการจัดทำแผนที่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น กรมแผนที่ทหารยังได้จัดทำแผนที่ขึ้นตามพระราชกระแสรับสั่งที่มีต่อเจ้ากรมแผนที่ทหาร เช่น การจัดทำแผนที่โครงการ ๑:๒๕,๐๐๐ บริเวณลุ่มน้ำโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นแผนที่มูลฐานของกรมแผนที่ทหาร เพื่อทรงนำไปใช้พิจารณาแหล่งน้ำที่เป็นพรุต่าง ๆ โครงการทำแผนที่บริเวณนี้มีทั้งหมด ๑๑ ระวาง มาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ เส้นชั้น ความสูง ๑๐ เมตร เมื่อจัดทำแผนที่บริเวณนี้เสร็จแล้วก็ได้นำไปแก้ไขแผนที่บริเวณเดียวกัน แต่เป็นมาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ให้ถูกต้องทันสมัยด้วย ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้ นอกจากจะดำเนินการจัดทำแผนที่ลุ่มน้ำโก-ลกแล้ว ยังได้ดำเนินการจัดทำแผนที่บริเวณลุ่มน้ำทวย อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และแผนที่บริเวณเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร อีกด้วย
สำหรับโครงการทำแผนที่ตามพระราชดำรินั้นยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มิได้นำมากล่าว ซึ่งกรมแผนที่ทหารสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาต่อกรมแผนที่ทหารเสมอมา แม้ว่าพระองค์ท่านจะทรงพบข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่ปรากฏในแผนที่ ก็มิได้ทรงตำหนิ เพราะทรงเห็นว่าการทำแผนที่นั้นกว่าจะสำเร็จได้แต่ละระวาง ต้องกระทำกันหลายขั้นตอน ย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ทรงทราบดีและทรงเห็นใจที่ได้ทำงานจนสุดความสามารถให้ได้แผนที่ที่ดี และถูกต้องทันสมัยที่สุด กรมแผนที่ทหารจึงรู้สึกซาบซึ้ง และมีความปลาบปลื้มใจทุกครั้งที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทรงใช้แผนที่ เพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหลาย จึงขอคัดกระแสพระดำรัสตอนหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์ในรายการวิทยุของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เผยแพร่ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ ซึ่งได้นำมาลงในวารสารแผนที่ ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๒๗ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๗) เป็นบทความนำดังนี้
"...ท่านอาจจะถือแผนที่อยู่แผ่นหนึ่ง แผนที่แผ่นหนึ่งของท่านนี้ค่อนข้างกว้างกว่าใคร ๆ ท่านเอาแผนที่มาปะเข้าด้วยกันอย่างพิถีพิถัน ถือเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว...
เวลาที่ท่านจะเสด็จ ฯ ไหน ท่านจะต้องเตรียมแผนที่ละเอียด เริ่มตั้งแต่ตัดหัวแผนที่ออก และเศษที่ตัดออกนั้นจะทิ้งไม่ได้เลย ท่านจะต้องตัด แล้วเอากาวมาแปะติดกัน สำนักงานของท่านคือ ห้องกว้างๆ ไม่มีเก้าอี้ เพราะจะต้องนั่งอยู่กับพื้น เอากาวติดแผนที่เข้าด้วยกัน แล้วเอาหัวกระดาษต่างๆ ค่อยตัดแล้วแปะเรียงกันเป็นหัวกระดาษ และหัวแผนที่ใหม่ เพื่อจะได้ทราบว่าแผนที่นั้น เป็นแผนที่ใหม่แผ่นใหญ่ของท่าน ทำจากแผนที่จากไหนบ้าง เพราะเวลาเสด็จ ฯ ไปก็ต้องไปถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน แล้วทางทิศเหนือมีอะไร ทางทิศใต้มีอะไร ท่านถามหลาย ๆ คน เช็คกันไปมา ระหว่างที่ถามนั้นก็จะดูจากแผนที่ว่า แผนที่อันนั้นถูกต้องดีหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน...
บางครั้งแผนที่ไม่ถูกต้องท่านก็จะตรวจสอบได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ที่ตามเสด็จด้วย ก็เรียกมาชี้ดูว่า ตรงนี้จะต้องแก้ไข ในการเสด็จพระราชดำเนินนั้น ถ้าไปในทางรถธรรมดา ท่านก็จะมีแผนที่ที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำเป็นแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ แต่ในบางท้องที่ ท่านก็โปรดเกล้าฯ ให้ทำแผนที่ ๑:๒๕,๐๐๐ ซึ่งบางครั้งปรากฏว่า แผนที่ ๕๐,๐๐๐ ถูกต้องกว่า ที่ไปดูหมู่บ้าน ซึ่งติดไว้ข้างถนนบ้าง หลัก กม.บ้าง ท่านก็เอาชื่อหมู่บ้านเหล่านั้น หลัก กม.เหล่านั้น ใส่ลงในแผนที่ด้วย...
เวลาเดินทางต้องมีเข็มทิศ เครื่องวัดระดับความสูงอยู่ในรถนั่นด้วย ก็พอเช็คแผนที่ได้พอคร่าว ๆ พอไปถึงที่ ก็ถามได้ แต่เรื่องของระดับนั้นพิถีพิถันเป็นพิเศษ เนื่องจากหลักของท่าน ท่านจะทำงานด้านน้ำหรือชลประทาน ก็ต้องทราบว่าน้ำเริ่มต้นจากที่ไหน จะไหลไปจากที่ไหนสู่ไหน...
บางครั้งชาวบ้านที่กราบบังคมทูล แกคงคุยไม่ถูกต้องก็มี ถูกต้องก็มี ก็ต้องใช้ความรู้หลายๆ ด้าน เพื่อที่จะพิจารณาดูว่า คนไหนให้ข้อมูลถูก คนไหนให้ข้อมูลผิด แล้วก็สถานที่นั้นเป็นที่ไหน มีคนไหนกราบทูลว่าอย่างไร ก็จะทรงเก็บอยู่ในแผนที่นั้น เวลาเสด็จ ฯ ไปที่เดิมอีก ส่วนมากจะเป็นปีต่อไป ท่านก็ใช้แผนที่อันเดิมนั้น ในการที่จะตรวจสอบ ทำให้ท่านหวงแหนแผนที่ท่านมาก แผนที่อันเดิมนั้นก็ต้องเก็บไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนที่ทางภาคใต้นั้นโดนฝนมาก และภาคใต้นั้น เวลาเสด็จ ฯ ออกไปนั้นฝนตก ทำให้แผนที่ค่อนข้างจะเปื่อยยุ่ย และต้องถือด้วยความระมัดระวัง...
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงนำแผนที่ติดพระองค์ทุกครั้ง ในการเสด็จฯไปในถิ่นทุรกันดาร ทั้งนี้ เพื่อทรงใช้แผนที่ประกอบพระราชวินิจฉัย ในการพัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำสำหรับราษฎร แม้ในการเสด็จ ฯ นั้น จะทรงเหนื่อยยากเพียงใดก็มิได้ทรงย่อท้อ
เวลาท่านสอน ท่านสอนแม้กระทั่งการพับแผนที่ว่า ในเวลาเรานั่งในรถนี้ที่มันก็แคบ กางแขน กางขาออกไปมากไม่ได้ ก็เวลาเตรียมตัวเดินทางนี่ ต้องพับแผนที่ให้ถูกทางว่า ไปตอนแรกไปถึงไหน พอไปถึงอีกทีหนึ่ง จะต้องคลี่ให้ได้ทันท่วงที และคลี่ด้านไหน และก็ต่อไปไห้ถึงด้านไหน ถ้าแผนที่นั้นเน่าเต็มทน คือว่า โดนฝนโดนอะไรหลายปีหลายฤดูกาล เราจะต้องย้ายข้อมูลจากแผ่นหนึ่ง ไปเป็นแผ่นใหม่ ซึ่งท่านก็ต้องทำเองเหมือนกัน แล้วก็เวลาตอนหลัง พวกเราที่ตามเสด็จ ก็ได้รับพระราชทานแจกแผนที่ ซึ่งท่านทำขึ้นท่านใช้เองด้วย หรือว่าการที่ท่านเอามาแจกนี้หลายครั้งท่านก็ไม่เอาแผนที่ตัวจริง ท่านจะถ่ายสำเนาแผนที่นั้นแจก แล้วก็ที่ท่านใช้ ท่านก็ยังระบายสีเอง...
ท่านจะขีดเส้นส่วนที่คิดว่าเป็นที่สมควรที่จะทำเขื่อน หรือทำฝาย ในตรงไหน ในแปลนตรงนั้น แล้วจะระบายสีฟ้าเป็นน้ำ เป็นเขื่อน หรือถนนอะไรก็เอาสีแดงระบาย วาดเป็นเส้นไป ท่านก็ดูอย่างใกล้ชิด เพราะว่าการทำเขื่อนแต่ละแห่ง หมายถึงว่าต้องจ่ายงบประมาณลงไปเป็นจำนวนมาก การจะเลือกทำที่ไหนนั้นก็จะเลือกไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นจำนวนมาก จะต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นที่ตั้งบ้านเรือน และยังจะต้องคำนึงถึงงบประมาณความประหยัดด้วย เพราะฉะนั้นอย่างถ้าใครเสนอโครงการมา ท่านก็จะต้องทอดพระเนตรก่อนว่ากั้นน้ำตรงนี้ น้ำจะเลี้ยงไร่นาถึงแค่ไหน และจะได้ผลผลิตคุ้ม และเหมาะสมเพียงพอ หรือว่าเป็นเหตุผลพอไหมที่จะจ่ายเงินของราษฎรเป็นจำนวนสูงเท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องดูแผนที่ และถ้าใครมากราบบังคมทูลว่า ขอพระราชทานเขื่อน ฝาย ในที่ไหน จะต้องทรงถามคนที่กราบบังคมทูลว่า อยู่ที่ไหน การเดินทางไปเป็นอย่างไร ทิศเหนือจรดอะไร ทิศใต้จรดอะไร บริเวณ หรือลักษณะเป็นอย่างไร แล้วก็ทรงกำหนดเองในแผนที่..."
ดังนั้น กรมแผนที่ทหารจึงตั้งใจที่จะจัดทำแผนที่ให้ดีที่สุด และถูกต้องที่สุด เพื่อสนองพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นภัทรมหาราชาของชาวไทยทุกคน