Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบสุริยะ

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
18,899 Views

  Favorite

ระบบสุริยะ

โลกของเรามีกลางวันและกลางคืน ถ้ามองท้องฟ้ากลางวันจะเห็นดวงอาทิตย์ กลางคืนเห็นดวงจันทร์ และดวงดาวที่มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์จำนวนมากมาย แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าดวงดาวมีขนาดต่าง ๆ กัน มีสีต่างกัน เช่น บางดวงมีสีขาว บางดวงมีสีเหลือง บางดวงมีสีแดง 

•ดวงดาวที่เห็นเป็นสีขาว สว่างสุกใสที่สุดในท้องฟ้า คือ "ดาวศุกร์" เราจะเห็นดาวศุกร์ในท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น สลับกับการเห็นดาวศุกร์ในท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำ โดยดาวศุกร์อยู่ในท้องฟ้าด้านหนึ่ง ๆ นานหลายเดือน คนสมัยก่อนเข้าใจว่าเป็นดาวคนละดวง จึงเรียกดาวศุกร์ที่เห็นตอนเช้ามืดว่า "ดาวรุ่ง" หรือ "ดาวประกายพรึก" และเรียกดาวศุกร์ที่เห็นตอนพลบค่ำว่า "ดาวประจำเมือง"
"ดาวศุกร์" เป็นดาวเคราะห์ ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่ได้รับแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นได้ในท้องฟ้า

•ส่วน "ดวงอาทิตย์" เป็นดาวฤกษ์ เป็นกลุ่มก๊าซทรงกลม สามารถแผ่รังสีแสงสว่างและความร้อนได้รอบตัว และมีแรงดึงดูดให้ดาวเคราะห์ทั้ง ๙ ดวง เดินทางรอบดวงอาทิตย์ตลอดเวลา เราเรียกดาวเคราะห์เหล่านี้ว่า "บริวารของดวงอาทิตย์"
 

•ดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ มีรวมทั้งหมด ๙ ดวง เรียงลำดับจากที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดถึงไกลที่สุดดังนี้ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวมฤตยูหรือยูเรนัส ดาวสมุทรหรือเนปจูน 

 

ระบบสุริยะ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 31

 

 

•โลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารเพียงดวงเดียว ส่วนดาวเคราะห์อื่นๆ บางดวงก็ไม่มีดวงจันทร์เป็นบริวาร บางดวงมีดวงจันทร์เป็นบริวารหลายดวง
 

โลก
โลกกับดวงจันทร์ ถ่ายโดยยานอวกาศกาลิเลโอ ในระะห่างจากโลก ๖ ล้านกิโลเมตร
(ภาพอนุเคราะห์โดย NASA/JPL)
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 31

 

 

•เราเรียกอาณาเขตที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ ๙ ดวง ที่กล่าวแล้ว รวมทั้งบริวารของดาวเคราะห์เหล่านี้ว่า "ระบบสุริยะ" นอกจากนี้ ยังมีดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย อุกกาบาต และวัตถุน้ำแข็ง โคจรรอบดวงอาทิตย์ รวมอยู่ในระบบสุริยะด้วย

 

 

องค์ประกอบของระบบสุริยะ

•"ดาวเคราะห์" ในระบบสุริยะแบ่งเป็น "ดาวเคราะห์ชั้นใน" อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ลักษณะพื้นผิวเป็นหินแข็ง มี ๔ ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร ส่วน "ดาวเคราะห์ชั้นนอก" อยู่ไกลดวงอาทิตย์ ประกอบด้วยดาวเคราะห์ที่เหลือ ๓ ดวง คือ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน  มีลักษณะเป็นดาวเคราะห์ก๊าซ มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ ขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์ชั้นใน 

•ดาวเคราะห์แต่ละดวงหมุนรอบตัวเอง ใช้เวลาในการหมุนครบ ๑ รอบ เรียกว่า ๑ วัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเร็ว ในการหมุน เช่น เวลา ๑ วันของดาวศุกร์ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโลก เท่ากับ ๒๔๓ วันของโลก ส่วน ๑ วันของดาวเสาร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลกหลายสิบเท่า เท่ากับ ๑๐.๕ ชั่วโมง ไม่ถึงครึ่งวันของโลก

•เส้นทางการเดินทางของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า "วงโคจรของดาวเคราะห์" ส่วนมากค่อนข้างกลม ส่วนระยะเวลาในการเดินทางครบ ๑ รอบวงโคจรของดาวเคราะห์แต่ละดวง ซึ่งเรียกว่า ๑ ปี ของดาวเคราะห์นั้น ๆ ขึ้นกับความยาวของวงโคจรและความเร็วในการเคลื่อนที่ อาทิ ๑ ปีของดาวศุกร์ เท่ากับ ๒๒๕ วันของโลก น้อยกว่า ๑ ปีของโลก ซึ่งมี ๓๖๕.๒๖ วัน แต่ ๑ ปีของดาวยูเรนัสเท่ากับ ๘๔ ปีของโลก
 

•อุณหภูมิและบรรยากาศของดาวเคราะห์แต่ละดวงนั้นมีความแตกต่างกัน อาทิ ดาวศุกร์ มีอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มดวง และบนพื้นผิวสูงประมาณ ๔๘๐ องศาเซลเซียส เพราะมีก๊าซบางชนิดและไอน้ำปริมาณสูง อัดกันอยู่อย่างหนาทึบมาก แต่ดาวอังคารมีอุณหภูมิพื้นผิวต่ำ เฉลี่ยประมาณ -๔๐ องศาเซลเซียส เพราะบรรยากาศที่ห่อหุ้มดวงเบาบางมาก ไม่สามารถเก็บความร้อนได้

 

ภาพเรดาร์ของดาวศุกร์
ภาพเรดาร์ของดาวศุกร์ ซึ่งถ่ายจากยานอวกาศแมกเจลแลน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๓
(ภาพ อนุเคราะห์ โดย NASA/JPL)
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 31

 

ยานอวกาศกาลิเลโอถ่ายภาพดาวศุกร์
ยานอวกาศกาลิเลโอถ่ายภาพดาวศุกร์ ซึ่งมีบรรยากาศหนาทึบจากระยะห่างประมาณ ๒.๗ ล้านกิโลเมตร ขณะกำลังเดินทางไปสำรวจดาวพฤหัสบดี 
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓
(ภาพ อนุเคราะห์ โดย NASA/JPL)
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 31

 

 

•ดาวเคราะห์มีขนาดต่างกัน โดยดวงใหญ่สุดคือ ดาวพฤหัสบดี มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ ๑๑ เท่าของโลก ความหนาแน่นก็ต่างกันด้วย ขึ้นกับลักษณะเนื้อในของแต่ละดวง เช่น ดาวพุธซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลก แต่มีความหนาแน่นพอ ๆ กับโลก เพราะมีพื้นผิวเป็นหินแข็ง และใจกลางเป็นโลหะเหล็กขนาดใหญ่คล้ายใจกลางโลก แต่ดาวพฤหัสบดีมีความหนาแน่นน้อยกว่าโลก เพราะเนื้อในส่วนมากเป็นก๊าซ นอกจากนี้ดาวเคราะห์มีบริวารจำนวนต่าง ๆ กัน เช่น ดาวพุธไม่มีบริวาร โลกมีบริวาร ๑ ดวง คือ ดวงจันทร์ ดาวพฤหัสบดีมีบริวารมากที่สุด จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ พบว่ามีถึง ๖๓ ดวง

•บริวารของดาวเคราะห์มีขนาดต่างกัน เช่น ดวงจันทร์ของโลกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓,๔๗๖ กิโลเมตร ดวงจันทร์แกนิมีดของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นบริวารขนาดใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕,๒๖๒ กิโลเมตร ขณะที่บริวารที่พบใหม่เป็นดวงเล็ก ๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ กิโลเมตรเท่านั้น
 

•จากการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พบวัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กโคจรรอบดวงอาทิตย์จำนวนมากมาย ซึ่งเรียกว่า "ดาวเคราะห์น้อย" ปัจจุบันได้พบดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ดวง ส่วนใหญ่โคจรระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี แต่บางดวงก็โคจรผ่านมาใกล้โลก ดาวเคราะห์น้อยแตกต่างกันทั้งขนาด รูปทรง และระยะเวลาหมุนรอบตัวเอง เช่น ขนาดตั้งแต่เม็ดกรวดถึงขนาดใหญ่เท่าบ้าน ขนาดที่ใหญ่มาก ๆ เท่ากับประเทศหนึ่ง ๆ รูปทรงไม่ค่อยเป็นทรงกลม มีรูปร่างแปลก ๆ เช่น คล้ายเมล็ดถั่ว ฝักถั่ว รูปกระดูก และระยะเวลาหมุนรอบตัวเองมีตั้งแต่หลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน

•"ดาวหาง" เป็นเศษดาวเคราะห์ที่ห่อหุ้มด้วยน้ำแข็ง คาดคะเนว่า มีดาวหางจำนวนมากในเขตที่เลยดาวเนปจูนออกไป บางดวงมีระยะเวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์น้อยกว่า ๒๐๐ ปี บางดวงมีวงโคจรกว้างไกลใช้เวลานานมากกว่านั้น


•"อุกกาบาต" ที่ตกบนผิวโลกนั้น เชื่อว่าคงหลุดมาจากดาวเคราะห์น้อย จากการศึกษาอุกกาบาตที่รวบรวมได้พบว่าส่วนใหญ่เป็นชนิดหิน นอกจากนี้มีชนิดที่เป็นโลหะ และหินผสมโลหะ จากการศึกษาเป็นเวลายาวนาน ด้วยวิธีการและเครื่องมือหลายประเภท ตั้งแต่การสังเกตด้วยตาเปล่า ใช้กล้องโทรทรรศน์ ใช้วิชาคณิตศาสตร์ช่วยในการคำนวณ การถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ การสำรวจด้วยยานอวกาศทั้งระยะไกลใกล้ต่างกัน จนถึงการลงสำรวจพื้นผิว ทำให้ข้อมูลของระบบสุริยะเปลี่ยนแปลงและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หากมองด้วยตาเปล่า จะมองไม่เห็นบริวารของดาวพฤหัสบดี แต่เมื่อใช้กล้องโทรทรรศน์จึงพบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากการสำรวจของยานอวกาศ ทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวพุธ เช่น พื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตคล้ายดวงจันทร์ วงแหวนของดาวเสาร์ที่เคยเห็นจากกล้องโทรทรรศน์ที่คิดว่ามีเพียงไม่กี่ชั้นนั้น แท้จริงแบ่งเป็นวงแหวนเล็ก ๆ หลายพันวง

 

ภาพพื้นผิวดาวพุธ
ยานมาริเนอร์ ๑๐ ถ่ายภาพพื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตจากระยะห่าง ๑๘,๒๐๐ กิโลเมตร 
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗
(ภาพ อนุเคราะห์ โดย NASA/JPL)
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 31

 


อย่างไรก็ตามเรายังมีความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะไม่มากนัก จึงมีโครงการสำรวจสมาชิกของระบบสุริยะ เช่น ส่งยานเมสเซนเจอร์ไปสำรวจดาวพุธ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดเวลาให้ยานเดินทางนาน ๖ ปี  เพื่อไปโคจรสังเกตการณ์รอบดาวพุธ ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ การสำรวจดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ ทำให้เรารู้จักสมาชิกของระบบสุริยะบางดวงได้ดียิ่งขึ้น

 

ภาพเขียนยานอวกาศเมสเซนเจอร์
ภาพเขียนยานอวกาศเมสเซนเจอร์เดินทางไปสำรวจดาวพุธ
(ภาพ อนุเคราะห์ โดย NASA/JPL)
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 31

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow