ในวิชาอุตุนิยมวิทยาการวัดความกดอากาศมีความสำคัญมาก เพราะในบริเวณความกดอากาศสูง (high pressure) หรือแอนติไซโคลน (anticyclone) มักจะมีอากาศดี และ สงบ ส่วนบริเวณความกดอากาศต่ำ (low pressure) หรือไซโคลน (cyclone) มักจะมีอากาศไม่ดี เช่น พายุหรือฝน
นักอุตุนิยมวิทยาใช้เครื่องมือ "บารอมิเตอร์" อย่างละเอียด สำหรับวัดความกดอากาศหน่วยที่ใช้วัดความกดของอากาศนั้นอาจจะเป็นความสูงของปรอทเป็นนิ้วหรือเซนติเมตร ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือกิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรก็ได้แต่ในปัจจุบันส่วนมากนิยมใช้หน่วยเป็น มิลลิบาร์ (millibar) เพราะเป็นหน่วยที่สะดวกกว่าซึ่งเราจะเปรียบเทียบกันได้ตามหลักการคำนวณต่อไปนี้
ถ้าความสูงของปรอทเท่ากับ ๗๖ เซนติเมตร เราจะคำนวณความกดของอากาศได้ดังนี้
จากมาตรา
๑ บาร์ (bar) = ๑,๐๐๐,๐๐๐ ไดน์ต่อตารางเซนติเมตร
๑ บาร์ = ๑,๐๐๐ มิลลิบาร์
๑ มิลลิบาร์ = ๑,๐๐๐ ไดน์ต่อตารางเซนติเมตร
ฉะนั้น ความกดสูง ๗๖ เซนติเมตรของปรอท
= ความสูงของปรอท ๒๙.๙๒ นิ้ว
= ๑,๐๑๓,๓๔๑ ไดน์ต่อ ๑ ตารางเซนติเมตร
= ๑๔.๗ ปอนด์ต่อ ๑ ตารางนิ้ว
= ๑,๐๑๓.๓ มิลลิบาร์
นอกจากบารอมิเตอร์ปรอทแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังใช้เครื่องวัดความกดอากาศอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "บารอมิเตอร์แบบแอนิรอยด์" (aneroid barometer) คำว่า "แอนิรอยด์" แปลว่า ไม่เปียก (คือ แห้ง) หลักของแอนิรอยด์บารอมิเตอร์ก็คือการใช้กล่องโลหะซึ่งดูดอากาศออกเป็นบางส่วนเป็นเครื่องวัดความกดของอากาศเมื่อความกดของอากาศเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้กล่องโลหะนั้นขยายหรือหดตัว เราสามารถใช้คานต่อจากกล่องโลหะไปที่หน้าปัดเพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศได้
ถ้าเรามีความประสงค์จะบันทึกการเปลี่ยนแปลงความกดของอากาศ ตลอดชั่วโมง ตลอดวันหรือตลอดเดือน ก็สามารถทำได้โดยใช้แขนปากกาต่อกับกล่องโลหะซึ่งถูกดูดอากาศออกเป็นบางส่วน แล้วใช้แผ่นบักทึกความกดม้วนรอบกระบอกซึ่งหมุนด้วย ลานนาฬิกา เครื่องบันทึกความกดอากาศนี้เรียกว่า "บารอกราฟ" (barograph) |