Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศัพท์สังคีต

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
5,290 Views

  Favorite

ศัพท์สังคีต 


คือ ภาษาเฉพาะที่ใช้พูดกันในวงการดนตรีไทยซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหมายความถึงอะไรหรือให้ปฏิบัติอย่างไรจะนำมาอธิบายเฉพาะคำที่มีกล่าวไว้ในบทข้างต้นดังต่อไปนี้ 


กรอ 

๑. เป็นวิธีบรรเลงของเครื่องดนตรีประเภทตี (เช่น ระนาด ฆ้องวง) อย่างหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีตี ๒ มือ สลับกันถี่ ๆ โดยใช้มือซ้ายกับมือขวาตีมือละเสียงเป็นคู่ ๒ คู่ ๓ คู่ ๔ คู่ ๕ คู่ ๖ และคู่ ๘ 
๒. เป็นคำเรียกการดำเนินทำนองเพลงที่ใช้เสียงยาว ๆ ช้า ๆ เพลงที่ดำเนินทำนองอย่างนี้เรียกว่า "ทางกรอ" ที่เรียกอย่างนี้ก็ด้วยทำนองที่มีเสียงยาว ๆ นั้นเครื่องดนตรีประเภทตีต้องตีกรอ (ดังข้อ ๑) เพราะไม่สามารถจะทำเสียงยาวอย่างพวกเครื่องสีเครื่องเป่าได้

 

เก็บ

ได้แก่ การบรรเลงที่สอดแทรกเสียงให้มีพยางค์ถี่ขึ้นกว่าเนื้อเพลงธรรมดา เช่น เนื้อเพลงเดินทำนองห่าง ๆ ได้ ๔ พยางค์ การเก็บก็จะแทรกแซงถี่ขึ้นเป็น ๑๖ พยางค์ ซึ่งมีความยาวเท่ากัน (ดูโน๊ตเปรียบเทียบกับเนื้อเพลงที่คำว่าเนื้อ)

รำมะนา และขลุ่ย

 

 

คู่ 

หมายถึง ๒ เสียงและเสียงทั้งสองนี้จะบรรเลงพร้อมกันก็ได้หรือคนละทีก็ได้เสียงทั้งสองห่างกันเท่าใดก็เรียกว่าคู่เท่านั้นแต่การนับจะต้องนับเสียงที่ดังทั้งสองรวมอยู่ด้วยกัน เช่น เสียงหนึ่งอยู่ที่อักษร บ อีกเสียงหนึ่งอยู่ที่อักษร พ การนับก็ต้องนับ บ เป็น ๑ แล้ว ป เป็น ๒ ๓ผ ๔ฝ และ ๕พ คู่เช่นนี้ ก็เรียกว่า "คู่ ๕"

ฉิ่ง โทน และรำมะนา

 

 

จังหวะ

หมายถึง การแบ่งส่วนย่อยของทำนองเพลงซึ่งดำเนินไปโดยสม่ำเสมอทุก ๆ ระยะที่แบ่งนี้ คือ จังหวะ
จังหวะที่ใช้ในการบรรเลงดนตรีไทยแยกออกได้เป็น ๓ อย่าง คือ 
๑. การแบ่งระยะที่มีความรู้สึกอยู่ในใจแม้จะไม่มีสัญญาณอะไรตีเป็นที่หมายก็มีความรู้สึกแบ่งระยะได้อย่างสม่ำเสมอซึ่งจะกำหนดแบ่งระยะถี่หรือห่างอย่างไรก็แล้วแต่ถนัดอย่างนี้เรียกว่า "จังหวะสามัญ" หรือจังหวะทั่วไป 
๒. การกำหนดแบ่งระยะนั้นใช้เสียงฉิ่งที่ตีเป็นที่หมายเสียงที่ตีดัง "ฉิ่ง" เป็นจังหวะเบาและเสียงที่ตีดัง "ฉับ" เป็นจังหวะหนักซึ่งจังหวะหนักเป็นสำคัญกว่าจังหวะเบา 
๓. กำหนดเอาเสียงตีของตะโพนหรือสองหน้าหรือกลองแขกซึ่งเรียกว่า "หน้าทับ" เป็นที่หมายเมื่อตะโพนหรือสองหน้าหรือกลองแขกตีไปจบกระบวนครั้งหนึ่งก็กำหนดว่าเป็นจังหวะหนึ่งตีจบไป ๒ ครั้ง ก็ถือว่าเป็น ๒ จังหวะ ตีจบไปกี่ครั้งก็ถือว่าเป็นเท่านั้นจังหวะ จังหวะอย่างนี้เรียกว่า "จังหวะหน้าทับ"


ตับ 

หมายถึง เพลงหลาย ๆ เพลงที่นำมาร้องหรือบรรเลงติดต่อกันไปเหมือนอย่างปลาหลาย ๆ ตัวเอาไม้คาบให้เรียงติดกันก็เรียกว่าตับหรือใบจากหลา ๆ ใบนำมาเย็บให้เรียงติดกันก็เรียกว่าตับจากเพลงที่เรียงติดต่อกันเป็นตับนี้ยังแยกออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ 

๑. ตับเพลง ได้แก่ เพลงที่นำมาร้องหรือบรรเลงติดต่อกันนั้นต้องเป็นเพลงอัตราเดียวกัน ๒ ชั้นก็ ๒ ชั้นทุกเพลง หรือ ๓ ชั้นก็ ๓ ชั้นทุก ๆ เพลงและทำนองที่ติดต่อกันได้สนิทสนมส่วนใจความของบทร้องอาจเป็นคนละเรื่องหรือคนละตอนก็ได้ไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญ 
๒. ตับเรื่องเพลงที่นำมารวมร้องหรือบรรเลงติดต่อกันนั้นต้องมีบทร้องเป็นเรื่องเดียวกันและดำเนินไปโดยลำดับฟังได้ความเป็นเรื่องเป็นราวส่วนทำนองเพลงจะเป็นชั้นเดียว ๒ ชั้น หรือจะลักลั่นกันอย่างไรก็ได้ทั้งนั้นไม่ถือเป็นสิ่งสำคัญ

 

เถา 

คือเพลงที่เป็นเพลงเดียวกัน แต่มีอัตราลดหลั่นกันตามลำดับเช่น ๓ ชั้น ๒ ชั้น และชั้นเดียว อัตราที่ลดหลั่นกันนี้ต้องไม่น้อยกว่า ๓ อันดับ และต้องร้องหรือ บรรเลงติดต่อกัน โดยไม่เว้นระยะหรือมีเพลงอื่นมาแทรก เหมือนชามรูปเดียว กัน ๓ ขนาด มีใหญ่ กลาง และเล็ก นำมาซ้อนกัน หรือวางเรียงกัน ก็เรียกว่า เถา หรือ ๓ ใบเถา

วงมโหรีโบราณ (เครื่องสี่)

 

 

ทาง 

คำนี้มีความหมายแยกได้เป็น ๓ ประการคือ 

๑. หมายถึงวิธีดำเนินทำนองโดยเฉพาะของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เช่น ทางระนาดเอก ทางระนาดทุ้ม ทางซอด้วง ทางจะเข้ซึ่งแต่ละชนิดก็มีวิธีดำเนินทำนองของตนต่าง ๆ กัน (ดูโน๊ตเปรียบเทียบกับเนื้อเพลงที่คำว่าเนื้อ) 
๒. หมายถึงวิธีดำเนินทำนองของเพลงที่แต่งขึ้นโดยเฉพาะ เช่น ทางของครูคนนั้นทางของครูคนนี้หรือทางเดี่ยวทางหมู่และทางกรอเป็นต้น 
๓. หมายถึงระดับเสียงที่บรรเลงซึ่งแต่ละทางเป็นคนละเสียงและมีชื่อเรียกเป็นที่หมายรู้กัน เช่น ทางเพียงออล่างทางในและทางกลางเป็นต้น

วงเครื่องสายวงเล็ก

 

 

ทำนอง 

ได้แก่ เสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ซึ่งสลับสับสนกันและมีความสั้น ยาว หนัก เบา ต่าง ๆ แล้วแต่ความประสงค์ของผู้แต่ง 

 

เนื้อ 

คำนี้แยกความหมายออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ 

๑. หมายถึง บทประพันธ์ที่เป็นถ้อยคำสำหรับร้องซึ่งเรียกเต็ม ๆ ให้ได้ความหมายชัดเจนขึ้นว่า "เนื้อร้อง" 
๒. หมายถึง ทำนองเพลงที่เป็นเนื้อแท้ คือ ทำนอง ที่มิได้ตกแต่งพลิกแพลงออกไปถ้าจะเรียกเต็ม ๆ ให้ได้ความหมายชัดเจนก็ต้องเรียกว่า "เนื้อเพลง" การตีฆ้องวงใหญ่ในวงปี่พาทย์โดยปกตินั้น คือ "เนื้อ" (หรือเนื้อเพลง) ส่วนระนาดเอกหรือระนาดทุ้มหรือเครื่องดนตรีอื่น ๆ ซึ่งดำเนินทำนองพลิกแพลงออกไปตามวิธีการของเครื่องดนตรีชนิดนั้น ๆ เปรียบเสมือนหนังที่หุ้มห่อไปตามรูปของเนื้อ

 

เพี้ยน 

ได้แก่ เสียงที่ไม่ตรงกับระดับที่ถูกต้องเพี้ยนก็คือผิดแต่เป็นการผิดเพียงเล็กน้อยไม่ว่าเสียงร้องหรือเสียงดนตรีถ้าหากว่าไม่ตรงกับระดับเสียงที่ถูกต้องแล้วไม่ว่าจะสูงไปหรือต่ำไปแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็เรียกว่า "เพี้ยน" ทั้งสิ้น

วงมโหรีวงเล็ก

 

 

ลูกล้อลูกขัด 

เป็นวิธีการบรรเลงทำนองอย่างหนึ่งที่แบ่งเครื่องดนตรีออกเป็น ๒ พวก และผลัดกันบรรเลงคนละทีพวกหนึ่งบรรเลงก่อนเรียกว่า พวกหน้า อีกพวกหนึ่งบรรเลงที่หลังเรียกว่าพวกหลัง ทำนองที่ผลัดกันบรรเลงนี้จะเป็นวรรค สั้น ๆ หรือยาว ๆ ก็ได้ แต่ถ้าเมื่อพวกหน้าบรรเลงไปแล้วเป็นทำนองอย่างใดพวกหลังก็บรรเลงเป็นทำนองอย่างเดียวกันเหมือนการพูดล้อเลียนตามกันก็ เรียกว่า "ลูกล้อ" ถ้าหากเมื่อพวกหน้าบรรเลงไปเป็นทำนองอย่างหนึ่งแล้วพวกหลังแยกทำนองบรรเลงไปเสียอีกอย่างหนึ่ง (ไม่เหมือนพวกหน้า) เหมือนพูดขัดกันก็เรียก "ลูกขัด" ถ้าเพลงใด มีบรรเลงทั้ง ๒ อย่างก็เรียกว่า "ลูกล้อลูกขัด"

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow