Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การรักษาโรคมะเร็ง

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
252 Views

  Favorite

การรักษาโรคมะเร็ง 

มะเร็งรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ 
จากรายงานของสมาคมต่อต้านโรคมะเร็งของอเมริกาได้เคยรายงานไว้ว่าในปัจจุบันนี้มีประชากรชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากกว่า ๕ ล้านคน ซึ่งเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อนและได้รับการรักษาให้หายเรียบร้อยดีแล้วเป็นเวลาเกินกว่า ๕ ปี และทุกรายที่รอดชีวิตนี้เป็นผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกเริ่มทั้งสิ้นผู้ป่วยมะเร็งที่มีชีวิตรอดหลังการรักษาเกินกว่า ๕ ปี ถือว่า"หาย" การกำหนดระยะเวลา ๕ ปี เพราะว่าโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักจะกำเริบหรือกลับเป็นใหม่อีกภายในระยะเวลา ๕ ปี หลังรักษาสำหรับในประเทศไทยจากรายงานของสถาบันมะเร็งโรงพยาบาลศิริราชพบว่าผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกเริ่มได้รับการรักษาจนหายขาดและยังมีชีวิตและปฏิบัติการงานได้อย่างสมบูรณ์เหมือนบุคคลทั่ว ๆ ไปเป็นจำนวนมากมายหลังการรักษา ๑๐-๒๐ ปี และต่อมาอาจจะเสียชีวิตจากสาเหตุหรือโรคอื่นที่มิใช่จากโรคมะเร็งอย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมดผลของการรักษาให้หายขาดยังอยู่ในอัตราน้อยมากทั้งนี้เพราะผู้ป่วยชาวไทยที่เป็นโรคมะเร็งมักจะมาพบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้วเสมอซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้ป่วยไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง การเชื่อถือโชคลางขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณบางอย่างความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และปัญหาที่สำคัญอีกประการก็คือปัญหาในด้านฐานะของครอบครัวผู้ป่วยเองสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้าและโรคอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้วทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีและมักจะเสียชีวิตเสมอ

ความมุ่งหมายของการรักษาโรคมะเร็ง 

ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแพทย์มีจุดมุ่งหมายของการรักษา ๒ ประการ คือ 

ก. การรักษาเพื่อมุ่งหวังให้โรคหายขาด
การรักษาจะอยู่ในวงจำกัดที่โรคมะเร็งยังอยู่ในระยะเพิ่งเริ่มเป็นเท่านั้นวิธีการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหรือการใช้รังสีรักษาก็ตามจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะอาศัยเครื่องมือและเทคนิคของการรักษาอย่างละเอียด และแม่นยำ 

ข. การรักษาเพื่อบรรเทาอาการชั่วคราว 
สำหรับผู้ป่วยอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว (ซึ่งสำหรับผู้ป่วยชาวไทย แพทย์จะให้การรักษาแบบนี้มากกว่าร้อยละ ๙๐) การรักษามิได้มุ่งหวังที่จะทำให้โรคหายขาดแต่เพื่อทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้นชั่วคราวหรือทุเลาจากอาการต่าง ๆ เท่านั้นซึ่งอาจจะยืดอายุผู้ป่วยออกไปอีกเล็กน้อย เช่น ในรายที่มีเลือดออกจากแผลมะเร็งมาก ๆ หรือในรายที่มีก้อนมะเร็งไปกดหรืออุดช่องทางเดินอาหารหรือทางเดินหายใจในรายที่มีอาการปวดอย่างมากหรือเพื่อลดอัตราการโตของก้อนมะเร็งให้ช้าลงชั่วคราว การรักษาแบบนี้มีหลายวิธีแต่ควรยึดหลักของการรักษาโดยใช้วิธีการเครื่องมือที่ง่ายและสะดวกที่สุดและใช้เวลาสั้นที่สุดทั้งนี้เพื่อมิให้สิ้นเปลืองและเกิดผลแทรกซ้อนจากการรักษา 

วิธีการรักษาโรคมะเร็ง 

ในปัจจุบันมีใช้กันอยู่ ๖ วิธี คือ
๑. การผ่าตัด 
เป็นวิธีการรักษาที่ได้ทั้งการมุ่งหวังให้โรคหายขาดในกรณีที่โรคยังเป็นน้อย และเพื่อเป็นการบรรเทาอาการชั่วคราว ในกรณีที่โรคเป็นมากแล้ว มีรายงานทางการแพทย์ที่กล่าวถึงประวัติของการรักษาโรคมะเร็งโดยวิธีผ่าตัดมาตั้งแต่ ๕ ศตวรรษ ก่อนคริสตกาล ในปัจจุบันนี้ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งจะต้องชำนาญ และฝึกฝนมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ และจะต้องรู้ประวัติธรรมชาติของโรคมะเร็งเป็นอย่างดี 

วิธีการผ่าตัด อาจจะตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออกเท่านั้น หรือเลาะเอาต่อมน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อที่ดีบริเวณใกล้เคียงออกไปด้วย 

นอกจากจะผ่าตัดโดยใช้มีดผ่าธรรมดาแล้วในปัจจุบันยังได้มีวิวัฒนาการ โดยการผ่าตัดด้วยมีดไฟฟ้า การผ่าตัดโดยใช้ความเย็น ระหว่าง -๒๐ ถึง - ๑๕๐ องศาเซสเซียส การผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาจี้ให้ผิวหนังไหม้ในการรักษามะเร็งผิวหนังและการใช้แสงเลเซอร์แทนมีดผ่าตัดการผ่าตัดเหล่านี้ทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้ง่ายขึ้นเสียเลือดน้อยลงและใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยลงด้วย 

การผ่าตัดนอกจากจะมีบทบาทในด้านการรักษาแล้วยังมีบทบาทในด้านการวินิจฉัยโดยเอาชิ้นเนื้อมาตรวจในด้านการผ่าตัดเพื่อบริหารยาเข้าทางหลอดเลือดเฉพาะที่และในด้านการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความพิการภายหลังการรักษาด้วย 

๒. รังสีรักษา 
เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ได้ทั้งการมุ่งหวังให้โรคหายขาดและเพื่อการบรรเทาอาการชั่วคราวผู้ป่วยชาวไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๖๐-๘๐ ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดมักจะได้รับการรักษาด้วยรังสีเพราะอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว และการรักษาด้วยรังสีเพื่อบรรเทาอาการจะสะดวกสบายมากกว่าการผ่าตัดในประเทศไทยมีประวัติของการใช้รังสีเอกซ์รักษาโรคมะเร็งในโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ 

รังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งมี ๒ กลุ่มใหญ่ คือ 
๒.๑ รังสีโฟตอน 
ซึ่งมีพลังงานทะลุทะลวงระหว่า ๑.๒๔ กิโลโวลต์ ถึง ๑๒.๔ เมกะโวลต์ มีขนาดของคลื่นรังสีระหว่าง ๑๐-๐.๐๐๑ อังสตรอม อาทิเช่น รังสีเอกซ์ จากเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์รังสีแกมมาจากสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติ เช่น จากแร่เรเดียม (226 radium) หรือที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เช่น โคบอลต์ ๖๐ (60 cobalt) ซีเซียม ๑๓๗ (137 Cs) ไอโอดีน ๑๓๑ (131 I) ทอง ๑๙๘ (198 Au) ฯลฯ 

 

๒.๒ รังสีอนุภาค 
ส่วนใหญ่ได้จากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีหรือจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณูและโดยทั่วไปแล้วรังสีพวกนี้จะมีพลังงานทะลุทะลวงน้อยกว่ารังสีโฟตอนอาทิเช่น อนุภาคแอลฟา จากแร่เรเดียม ก๊าซเรดอนและอนุภาคเบตา จากแร่สตรอนเตียม ๙๐ (strontium-90) ฟอสฟอรัส ๓๒ (phosphorus-32)

เครื่องฉายรังสีโคบอลต์ เอ
เครื่องฉายรังสีโคบอลต์ เอ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

รังสีต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งโดยมีเทคนิคใหญ่ ๆ ๒ แบบ คือ ในรูปของตันกำเนิดรังสีอยู่ภายนอกร่างกายของผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการฉายรังสีลึก เช่น จากเครื่องฉายรังสีเอกซ์ชนิดลึก (ซึ่งแตกต่างไปจากเครื่องเอกซเรย์สำหรับการถ่ายเพื่อการวินิจฉัยโรค) เครื่องโคบอลต์ ๖๐ ซึ่งมีการติดตั้งการใช้รักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และเครื่องเร่งอนุภาค เป็นต้นและอีกแบบหนึ่งอยู่ในรูปของต้นกำเนิดรังสีอยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย ได้แก่ การฝังแร่เรเดียมในการรักษามะเร็งในช่องปากการสอดใส่แร่เรเดียมในการรักษามะเร็งปากมดลูกหรือการใช้ไอโอดีน ๑๓๑ รับประทานในการรักษามะเร็งต่อมไธรอยด์ เป็นต้น

 

๓. การใช้สารเคมีบำบัด 
การรักษาในรูปของการใช้ยารักษามะเร็งกำลังเป็นที่สนใจและมีบทบาทสำคัญในปัจจุบันนี้มีมะเร็งหลายชนิดที่อาจรักษาให้หายขาดด้วยยาแต่ส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะในรายที่เป็นมากแล้วเพื่อเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น

ชนิดของยาอาจจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ไม่ใช่ฮอร์โมนและฮอร์โมนหรือจะแบ่งตามลักษณะการออกฤทธิ์ของยาทางจลนศาสตร์ของเซลล์ได้เป็น ๒ ประเภท คือ 
ก. ออกฤทธิ์ต่อเซลล์ได้ทุกระยะในวงชีพของเซลล์โดยไม่จำกัดเวลาอาทิเช่น ยาประเภทไนโตรเจน มัสตาร์ด เป็นต้น 

ข. ออกฤทธิ์จำกัดได้เฉพาะระยะใดระยะหนึ่งในวงชีพของเซลล์เท่านั้น เช่น ยาประเภทอัลคาลอยด์จากพืชบางอย่างออกฤทธิ์ได้เฉพาะเซลล์ที่กำลังอยู่ในระยะแบ่งตัวหรือยาเมโธรเทรกเสตจะออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์ที่กำลังมีการสร้างดีเอ็นเอเท่านั้น 

การใช้ยารักษามะเร็งอาจจะแบ่งได้ตามวิธีใช้ คือ 
ก. การใช้ยาเฉพาะที่ เช่น ในรูปของการใช้ทาการฉีดเข้าไขสันหลัง 
ข. การใช้ยาให้ซึมซาบทั่วร่างกาย เช่น ในรูปของการใช้รับประทานการใช้ฉีดยาเข้าหลอดเลือด 

หรืออาจจะแบ่งตามรูปแนวการรักษา คือ 
ก. ใช้เป็นการรักษาหลัก คือ ใช้ยา (ชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้) รักษาเพียงวิธีเดียวอาทิเช่นการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว 
ข. ใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเพื่อหวังผลการรักษามากขึ้น เช่น การให้ยารักษามะเร็งภายหลังการผ่าตัดเพื่อหวังในการป้องกันการแพร่กระจาย

ยารักษามะเร็งในรูปของยารับประทานหรือยาฉีด
ยารักษามะเร็งในรูปของยารับประทานหรือยาฉีด
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

การใช้ยาอาจจะใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกันก็ได้สำหรับในประเทศไทยการรักษาโดยวิธีนี้ยังอยู่ในวงจำกัดเพราะยาพวกนี้ส่วนใหญ่มีราคาแพงมากบางชนิดก็ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยและมีพิษรุนแรงและมีผลแทรกซ้อนจากการรักษามากโดยเฉพาะการกดไขกระดูกจึงมักจะใช้โดยแพทย์ที่ชำนาญทางยารักษามะเร็งโดยเฉพาะ

การเก็บไขกระดูกในอุณหภูมิต่ำกว่าลบจุดน้ำแข็ง
การเก็บไขกระดูกในอุณหภูมิต่ำกว่าลบจุดน้ำแข็ง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

 

๔. การใช้การรักษาทั้ง ๓ วิธีกล่าวมาแล้วร่วมกัน 

ในปัจจุบันนี้การรักษาโรคมะเร็ง ได้ก้าวผ่านการรักษาตามอาการและการรักษาเพื่อบรรเทาเข้ามาสู่การรักษาเพื่อมุ่งหวังให้โรคหายขาดมากขึ้นแต่เดิมการรักษามักจะกระทำโดยแพทย์เฉพาะทางฝ่ายเดียวเมื่อการรักษาล้มเหลวจากวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นอีกวิธีหนึ่งทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควรในปัจจุบันนี้จึงนิยมใช้วิธีการรักษาหลาย ๆ วิธีร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นหรือสะดวกขึ้นอาทิเช่น 

การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอดโดยการผ่าตัดเอามะเร็งปฐมภูมิออกและฉายรังสีไปที่มะเร็งทุติยภูมิที่ต่อมน้ำเหลือง 

การผ่าตัดร่วมกับสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งปอด 

การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาและสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของไตในเด็ก 

รังสีรักษาร่วมกับสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว เป็นต้น 

 

๕. การรักษาโดยการเสริมภูมิคุ้มกัน 
เป็นวิธีการรักษาที่เพิ่งจะสนใจและเริ่มใช้กันในวงการแพทย์เมื่อไม่นานมานี้และนับวันจะยิ่งมีบทบาทมีความสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาศัยหลักที่ว่าผู้ที่เป็นมะเร็งนั้นเนื่องจากว่าร่างกายไม่สามารถที่จะค้นพบว่าที่ผิวของผนังด้านนอกของเซลล์มะเร็งมีแอนติเจนที่เรียกว่าทีเอเออยู่หรือในกรณีที่ร่างกายสามารถจะค้นพบแอนติเจนนี้ได้แต่ร่างกายไม่สามารถจะสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีไปต่อต้านหรือทำลายแอนติเจนนี้จะเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายล้มเหลวหรือมีอะไรไปยับยั้งในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายฉะนั้นการกระตุ้นให้ร่างกายสามารถจะค้นหาแอนติเจนจากเซลล์มะเร็งได้หรือการกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามก็น่าที่จะให้มะเร็งที่กำลังเป็นผู้อยู่ในบุคคลผู้นั้นมีการฝ่อตัวลงหรือหยุดการเจริญเติบโตหรือโตช้าลง

การทำวัคซีนมะเร็ง สำหรับฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วยมะเร็ง
การทำวัคซีนมะเร็ง สำหรับฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วยมะเร็ง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

๖. การรักษาทางด้านจิตวิทยา 

มีความสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมากเพราะว่าเพียงแต่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งเท่านั้นผู้ป่วยก็จะหมดกำลังใจเสียแล้วผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยส่วนใหญ่ก่อนจะมารับการรักษาที่ถูกต้องนั้นมักจะหมดแล้วทั้งกำลังกายกำลังใจและกำลังทรัพย์และโดยเฉพาะในระยะสุดท้ายของโรคนอกจากผู้ป่วยจะมีอาการไม่สบายเจ็บปวดทางกายแล้วผู้ป่วยยังมีความรู้สึกอ้างว้างรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งหรือเป็นที่รังเกียจแม้แต่กับญาติสนิทฉะนั้นการให้การรักษาในด้านจิตวิทยาและการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้ป่วยมีจิตใจสบายขึ้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมากผู้ป่วยอาจจะมีชีวิตยืนยาวขึ้นอีกเล็กน้อยโดยมีความสุขใจพอสมควรแม้ว่าจะเป็นความสุขความพอใจเล็ก ๆ น้อยๆ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ตาม

ผลของการรักษาโรคมะเร็งไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามจะดีหรือเลวนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาเพียงฝ่ายเดียวหากแต่ยังขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเองชนิดของมะเร็งและที่สำคัญที่สุดคือระยะของโรคการรักษาโดยอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคมะเร็งโดยเฉพาะและการมีเครื่องมือในการรักษาพร้อมเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาได้ผลดีแต่จะดีขึ้นถ้าหากว่าผู้ป่วยได้สนใจต่อตนเองหรือมารับการรักษาในขณะที่โรคยังเป็นน้อยและให้ความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดีด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow