Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิวัฒนาการในการตั้งถิ่นฐาน

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
3,677 Views

  Favorite

 

๑. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน 

การตั้งถิ่นฐานเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว จึงเกิด การรวมกลุ่ม เพื่อตั้งบ้านเรือน และจัดการกับสิ่งรอบตัวให้เหมาะกับการดำรงชีพ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานนั้นๆ ดังนี้

 

การอยู่ร่วมกัน
คนต่างชาติต่างภาษาสามารถอยู่ร่วมกันได้
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ก.ปัจจัยทางกายภาพ 

แบ่งได้เป็น 

๑) โครงสร้างและระดับความสูงของพื้นที่ 

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เขตที่ราบมีความเหมาะสมที่จะตั้งถิ่นฐานมากกว่าเขตที่สูง หรือภูเขา เนื่องจากลักษณะพื้นที่กว้างขวางราบเรียบ ทำให้สามารถเพาะปลูกได้สะดวก และเขตที่ราบมักจะมีดินอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกพืชได้หลายชนิดมากกว่า สำหรับพื้นที่สูงหรือทุรกันดารซึ่งเข้าถึงลำบากนั้น มีเหตุจูงใจให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่บ้าง เช่น เพื่อความปลอดภัยจากการรุกราน หรือหากจำเป็นต้องตั้งถิ่นฐานตามภูเขา ก็มักจะเลือกอยู่อาศัยในลาดเขาด้านที่เหมาะสม 

 

เมืองหนาว
ลักษณะการสร้างที่อยู่อาศัยจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม :ที่อยู่อาศัยเมืองหนาว
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

๒) อากาศ 

อากาศมีผลโดยตรงต่อมนุษย์ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการกำหนดลักษณะดินและพืช สภาพของดินฟ้าอากาศมีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน มีอิทธิพลต่อการสร้างบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย และวิถีการดำรงชีวิต จากแผนที่แสดงการกระจายตัวประชากรจะเห็นได้ว่า ประชาชนจะอยู่กันหนาแน่นในเขตที่มีอากาศเหมาะสม ส่วนบริเวณที่มีอากาศปรวนแปรจะมีประชาชนเบาบาง หรือปราศจากผู้อยู่อาศัย 

นอกจากอุณหภูมิแล้ว ความชื้นของอากาศก็มีความสำคัญ ในแถบศูนย์สูตรที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น จะทำให้เหนื่อยง่าย มีเหงื่อมาก ไม่สบายตัว ในเขตอากาศเย็นกว่าแถบละติจูดกลาง อุณหภูมิเย็นพอเหมาะ ทำให้การตั้ง ถิ่นฐานหนาแน่น 

๓) น้ำ 

ปัจจัยในเรื่องน้ำมีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานมาก โดยเฉพาะในสมัยโบราณ การตั้งถิ่นฐานทุกแห่งเป็นการหาพื้นที่ที่จะทำการเกษตรด้วย น้ำที่ใช้ในการทำเกษตรกรรม ไม่จำเป็นต้องมาจากฝนหรือแหล่งน้ำลำธารแต่เพียงอย่างเดียว ในบางแห่งที่ขาดฝน อาจหาแหล่งน้ำอื่นๆ มาใช้ เพื่อการเกษตร เช่น น้ำบาดาล

ปัจจุบันมนุษย์สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำไปได้มาก เช่น การจัดการระบายน้ำของชาวดัตช์ ทำให้สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกไปในที่ลุ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเลได้ สำหรับในประเทศไทยสามารถเพิ่มเนื้อที่เพาะปลูกริมทะเล ด้วยการถมทะเล หรือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตามภาคต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยปรับปรุงพื้นที่ชนบท ให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างกว้างขวาง

 

วัด
สถานที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญของวัฒนธรรม : วัด - ศาสนาพุทธ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ข.ปัจจัยทางวัฒนธรรม 

การที่มนุษย์ครอบครองพื้นที่ เพื่อตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ณ ที่ใดที่หนึ่ง ย่อมมีอิทธิพลต่อสภาพธรรมชาติ รวมทั้งเกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในถิ่นฐานเดียวกัน และระหว่างถิ่นฐานต่างๆ 

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างออกไปในถิ่นฐานแต่ละแห่ง สามารถจำแนกได้เป็น 

๑) ภาษา 

โดยเฉพาะภาษาพูด ถือว่าเป็นตัวแทนของลักษณะวัฒนธรรม ภาษาเป็นสื่อสำคัญที่สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นต่อๆ ไป กลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ มักมีภาษาของตนเอง จึงใช้ภาษาเป็นเครื่องวัดความแตกต่างของวัฒนธรรมได้ เช่น การห้ามใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นวิธีที่จะให้ประชาชนหันมาสนใจ และรักประเทศของตน ภูมิใจ ในชาติของตน รวมทั้งรักเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนยิ่งขึ้น 

๒) ศาสนา 

ศาสนาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรม ความเชื่อถือยึดมั่น และการปฏิบัติตามหลักของศาสนา เป็นหลักที่กำหนดวิถีชีวิตในท้องถิ่น สถานที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา อาจทำให้ท้องถิ่นหนึ่งมีความสำคัญมากกว่าท้องถิ่นอื่น วัด โบสถ์ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทางศาสนา จะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ ศาสนาอาจมีอิทธิพลต่อการเกษตรกรรม การบริโภคอาหาร ตลอดจนด้านเศรษฐกิจ 

๓) การเมือง

อิทธิพลทางการเมืองมีผลต่อพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินทำกิน เช่น กฎหมายปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม กฎหมายเกี่ยวกับการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พระราชกำหนดยกเลิกสัมปทานป่าไม้ เป็นต้น

 

การเพาะปลูก
การเพาะปลูก ปัจจัยทางเศรษฐกิจ มีความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานมนุษย์
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

ค.ปัจจัยทางเศรษฐกิจ 

การประกอบอาชีพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสภาพแวดล้อม และระดับความเจริญทางเทคโนโลยี ตัวอย่างของวิวัฒนาการการประกอบอาชีพที่มีความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ได้แก่ 

๑) การเพาะปลูก 

การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แบบถาวรเริ่มขึ้น เมื่อมนุษย์รู้จักเพาะปลูกด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งผลิตผลตามธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว และการตั้งถิ่นฐานแบบถาวรนี้ มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมาก ตัวอย่างเช่น การทำไร่เลื่อนลอย เป็นการเพาะปลูกแบบไม่บำรุงดิน เมื่อดำเนินไปหลายปี จะทำให้ดินเสื่อมสภาพลง และต้องย้ายไปหาที่เพาะปลูกใหม่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ เป็นการทำลายป่าและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่วนการเพาะปลูกแบบไร่นาสวนผสมจะมีการดุแลบำรุงดินที่ดีกว่า ทำให้สามารถคงความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ได้ 

 

การเลี้ยงสัตว์
การเลี้ยงสัตว์ จะทำในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

๒) การเลี้ยงสัตว์ 

แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ การเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค ไว้ใช้งาน และไว้ขาย ส่วนใหญ่จะทำในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์แบบอยู่เป็นที่ จะไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากเท่ากับการเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน 

๓) อุตสาหกรรม 

เป็นการนำผลิตผลมาดัดแปลง หรือแปรสภาพให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะซับซ้อน ในเนื้อที่น้อย ต้องใช้วัตถุดิบ และเชื้อเพลิงจำนวนมากในการผลิต มีการใช้แรงงาน ตลอดจนต้องการความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการนำวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานและผลิตผลจากโรงงานออกสู่ตลาด ทำให้เกิดการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้เกิดชุมชนขึ้นและมีการขยายตัวทั้งชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งย่อมจะมีผลต่อการเติบโตของเมืองอย่างกว้างขวาง

๒. ความสัมพันธ์ของการตั้งถิ่นฐานกับสภาพแวดล้อม

เมื่อมนุษย์มีความสัมพันธ์กัน และเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน มนุษย์จะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม สร้างบ้านเรือนแหล่งที่อยู่อาศัย ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ มีกิจกรรมร่วมกัน และมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อเลือกสถานที่ที่จะตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยแล้ว มนุษย์ก็เริ่มจัดการกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการดำรงชีพ สิ่งแวดล้อมดังกล่าวสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ 

๑) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ได้แก่ อากาศ แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ มหาสมุทร พื้นดิน แร่ธาตุ ภูเขา ป่าไม้ และสัตว์ป่า เป็นต้น 

 

ป่าไม้
สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ : ป่าไม้
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17
ทะเล
สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ : ทะเล
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

๒) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ บ้านเรือน โรงเรียน ถนน รถยนต์ เขื่อนกักเก็บน้ำ เป็นต้น รวมตลอดถึงขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ และสังคมด้วย 

สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นถิ่นฐานมนุษย์ โดยมีขนบธรรมเนียม ประเพณี ระบบเศรษฐกิจ และสังคม ที่มนุษย์สร้างขึ้น และข้อจำกัดทางธรรมชาติเป็นกฎเกณฑ์ และเป็นหลักสำหรับการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างผาสุก และให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี 

 

สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น
สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น : 
สาธารณูปโภคพื้นฐาน
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

มนุษย์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เราเรียกกันว่า ระบบนิเวศ ผลกระทบนั้นเป็นไปได้ ทั้งในทางทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น หรือในทางทำลายให้เลวลง แต่ถ้าเราไม่มีการวางแผนเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานแล้ว ย่อมทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลง การตั้งถิ่นฐานที่ขาดการควบคุมย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี ก็เป็นปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการที่เรามุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขยายการก่อสร้างปัจจัยพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น การที่เราเร่งผลิตสินค้าและบริการให้ทันกับความต้องการของถิ่นฐานที่ขยายใหญ่ขึ้น เหล่านี้ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จากกระบวนการพัฒนาและผลิตนี้เอง ทำให้มีของเสียเหลือทิ้งออกมาในรูปต่างๆ เจือปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ความสมดุลของธรรมชาติเสียไป 

เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย และมีของเสียปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งแวดล้อมก็จะอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม และอาจจะรุนแรง ถึงขั้นเป็นพิษเป็นภัยได้ การที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และเป็นพิษ จะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ และอนามัยของมนุษย์ อีกทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่หยุดยั้ง และไม่ระมัดระวัง จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติสูญสิ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมโทรมของสิ่มแวดล้อมในปัจจุบันนี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในรูปปัญหาทางสังคมอีก ซึ่งเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดี มีคุณภาพเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไปในวันข้างหน้า

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow