วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
การสร้างปราสาทในวัฒนธรรมขอมจะใช้วัสดุประเภทไม้ อิฐ หิน (ส่วนใหญ่ เป็นหินทราย) และศิลาแลงในการก่อสร้าง
ไม้
ถือเป็นวัสดุพื้นฐานที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารโดยทั่วไป จากหลักฐานการสร้างปราสาทที่ใช้เป็นศาสนสถานในอินเดีย ระยะเริ่มแรกนั้นสร้างด้วยไม้ แต่ไม้เป็นวัสดุที่ผุพังได้ง่าย จึงไม่เหลือหลักฐานให้ศึกษา ต่อมาจึงก่อด้วยอิฐหรือหิน แต่ก็ยังสังเกตได้ว่า อาคารหรือลวดลายในระยะแรกนั้น มักสร้างหรือสลักเลียนแบบเครื่องไม้ อาคารในวัฒนธรรมขอมก็เช่นเดียวกัน ระยะแรกพบว่า สร้างเลียนแบบเครื่องไม้ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบางอย่างใช้ไม้เป็นส่วนประกอบ เช่น กรอบประตู ประตู หน้าต่าง เพดาน รวมทั้งโครงหลังคาที่เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องก็มี
อิฐ
เป็นวัสดุที่ใช้สร้างปราสาทขอมในระยะแรกเริ่ม ได้แก่ สมัยก่อนเมืองพระนคร ถึงสมัยเมืองพระนครตอนต้น (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔) ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ จึงเริ่มมีความนิยมสร้างปราสาทด้วยหินทราย วิธีการก่ออิฐในปราสาทขอมนั้น จะมีลักษณะเฉพาะคือ ใช้อิฐขนาดเล็ก การก่อเป็นแบบไม่สอปูน มีการขัดแผ่นอิฐก่อนนำมาเรียง ต่อกันแน่นจนแทบเป็นแผ่นเดียวกัน โดยสันนิษฐานว่า เชื่อมด้วยยางไม้ เสร็จแล้วจะขัดผิวอิฐจนเรียบ ในส่วนที่ต้องการลวดลายจะสลักลงไปบนเนื้ออิฐส่วนหนึ่ง และอีกส่วน หนึ่งจะปั้นปูนทับลงไป ปราสาทที่สร้างด้วยอิฐมีส่วนที่ใช้หินประกอบด้วย ได้แก่ ส่วนของกรอบประตู เสา และทับหลัง
หิน
ที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่ หินทราย เพราะเป็นวัสดุที่มีความมั่นคงแข็งแรง หาได้ง่าย สลักลวดลายง่าย และมีความงดงาม จึงได้รับความนิยมนำมาสร้างปราสาทขอมมากที่สุด การนำวัสดุประเภทหินมาใช้สร้างปราสาทนั้น ช่างขอมรู้จักมาแล้วตั้งแต่ในยุคแรกเริ่ม เช่นเดียวกับอิฐ แต่ในระยะแรก นำมาใช้ประกอบ เพื่อความมั่นคงแข็งแรง เช่น ทำเป็นส่วนฐานอาคาร เสา กรอบประตู ทับหลัง การสร้างปราสาทด้วยหินทรายเริ่มได้รับความนิยมในสมัยเมืองพระนครตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นต้นมา จนหมดสมัยที่รุ่งเรืองแห่งอาณาจักรขอมใน ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลังจากนั้นจึงกลับมาใช้วัสดุที่เป็นอิฐและเครื่องไม้อีกครั้งหนึ่ง
อาคารที่สร้างด้วยหินไม่ใช้ตัวเชื่อม เช่นเดียวกับอิฐ แต่จะใช้น้ำหนักของหินเป็นตัวยึดกันเอง มีส่วนที่ใช้ตัวยึดอยู่บ้างตรงมุมปราสาท โดยจะใช้เหล็กรูปตัวไอ (I) หรือตัวที (T) ฝังไว้ภายใน วิธีการก่อสร้าง คือ จะนำหินที่โกลนเป็นเค้าโครงเรียงซ้อนกันขึ้นไปก่อน แล้วจึงสลักรายละเอียดของลวดลายต่างๆ ในภายหลัง
ศิลาแลง
เป็นวัสดุที่มีความคงทนและ แข็งแรง เมื่ออยู่ใต้ดินจะอ่อนตัวสามารถตัด เป็นรูปทรงที่ต้องการได้ง่าย แต่เมื่อสัมผัส กับอากาศแล้วจะแข็งตัว ไม่สามารถตกแต่งเป็นรูปทรงได้ ดังนั้น จึงนิยมใช้ศิลาแลงมาทำเป็นส่วนฐานของอาคาร เพราะสามารถรับ น้ำหนักได้ดี อย่างไรก็ตาม การนำศิลาแลง มาใช้สร้างปราสาททั้งหลังได้เกิดขึ้นในศิลปะ แบบบายนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยพบในประเทศไทยทั้งในภาคอีสานและภาคกลาง จนถือเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่ง ของวัฒนธรรมขอมศิลปะแบบบายนที่พบในประเทศไทย เหตุที่ในสมัยนี้นิยมใช้ศิลาแลง อาจเป็นเพราะว่า เป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นและสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว เทคนิคของการสร้างอาคารด้วยศิลาแลงคือ การตัดมาทั้งก้อนตามขนาดที่ต้องการ นำมาวางซ้อนกัน ฉาบปูนทับ และปั้นลายปูนปั้น ประดับส่วนต่างๆ ให้สวยงาม