Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บริการบนอินเทอร์เน็ต

Posted By Plookpedia | 24 เม.ย. 60
6,617 Views

  Favorite

บริการบนอินเทอร์เน็ต

      การใช้หลักการแบบไคแอนต์-เซิร์ฟเวอร์ทำให้อินเทอร์เน็ตมีการให้บริการต่าง ๆ มากมาย ผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้บริการเหล่านี้จากระยะไกลได้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเครือข่ายที่ไม่ขึ้นกับระยะทางแม้ว่าผู้ใช้บริการจะอยู่คนละซีกโลกก็เหมือนอยู่ใกล้กันและมีระบบการทำงานเป็นแบบโลกาภิวัฒน์ คือ สามารถติดต่อถึงกันได้ทั่วโลก การให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันมากในขณะนี้ประกอบด้วย 

การบริการอิเล็กทรอนิกส์เมล์ 

      ผู้ใช้แต่ละคนที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตจะได้รับบัญชีรายชื่อของตนเองและมีที่เก็บอิเล็กทรอนิกส์เมล์ไว้ที่เครื่องบริการ เครื่องบริการจะเปิดตู้จดหมายให้ผู้ใช้บริการที่เรียกว่า เมล์บ็อกซ์ เมื่อมีผู้ส่งจดหมายมา จดหมายจะถูกเก็บไว้ที่สถานีบริการที่ผู้ใช้มีเมล์บ็อกซ์อยู่ เมล์บ็อกซ์นี้จะเก็บจดหมายเอาไว้รอจนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของเมล์บ็อกซ์มาขอให้บริการเซิร์ฟเวอร์และเปิดตู้จดหมายหรือเมล์บ็อกซ์ เพื่อนำจดหมายออกไปอ่าน  ในทำนองเดียวกันถ้าต้องการส่งจดหมายก็เขียนจดหมายแล้วฝากสถานีนำส่งให้สถานีบริการก็จะหาเส้นทางและส่งไปจนถึงปลายทางและไปเก็บไว้ในตู้จดหมายของผู้รับปลายทาง การรับส่งจดหมายจะกระทำอย่างอัตโนมัติบนเครือข่ายและกระทำอย่างรวดเร็ว 

การบริการโอนย้ายแฟ้มข้อมูล

      การบริการโอนย้ายแฟ้มข้อมูลเรียกว่า FTP คำว่า FTP มาจากคำว่า File Transfer Protocol การให้บริการนี้หมายถึง สถานีบริการ FTP อาจเป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่งที่มีการนำข้อมูลมาเก็บไว้ ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นเอกสารหรือแฟ้มข้อมูลอื่นใดก็ได้ สถานีบริการนี้จะดูแลแฟ้มและให้บริการผู้เรียกใช้ ผู้เรียกใช้จากที่ห่างไกลบนเครือข่ายสามารถติดต่อเข้าไปเพื่อขอคัดลอกแฟ้มที่ต้องการมาใช้งานได้  การโอนย้ายข้อมูลด้วย FTP นี้ ยังสามารถนำข้อมูลของผู้ใช้ที่มีอยู่โอนย้ายไปให้ผู้อื่นหรือนำไปไว้ในเครื่องบริการที่ต่ออยู่บนอินเทอร์เน็ตที่อื่นซึ่งผู้ใช้มีสิทธิในการใช้ 

การให้บริการข่าว 
 

 

หน้าจอแสดงการให้บริการข่าว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 25

 

      ข่าวในความหมายนี้ คือ การสร้างกระดานข่าวไว้ในสถานีบริการโดยให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้ามาเปิดดูข่าวสารได้ กลุ่มข่าวนี้เป็นเหมือนกระดานที่ใครมีข่าวก็นำมาติดไว้โดยมีการแยกข่าวออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ปัจจุบันมีกลุ่มข่าวประมาณ ๑๐,๐๐๐ กลุ่ม เช่น กลุ่มข่าวเกี่ยวกับคนไทยและเมืองไทย (soc.culture.thai) ใครมีข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยก็นำมาติดไว้บนกระดานนี้ได้ ส่วนของสถานีบริการข่าวที่มีทั่วโลกก็จะกระจายข่าวถึงกันเองอย่างอัตโนมัติ เช่น ที่องค์กรของเรามีสถานีบริการข่าวนี้สมาชิกองค์กรอ่านข่าวได้โดยการขอให้บริการจากเครื่องนี้แต่เมื่อมีการเสนอข่าวลงบนกระดานข่าวเราก็กระจายข่าวที่บรรจุใหม่จากเซิร์ฟเวอร์ต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์อื่น ๆ ทั่วโลก การให้บริการข่าวนี้เชื่อมโยงกันทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเมื่อมีใครเสนอข่าวในเครือข่ายข่าวนั้นจะกระจายออกไปทั่วทุกสถานีบริการข่าวบนอินเทอร์เน็ต เซิร์ฟเวอร์ทุกตัวบนอินเทอร์เน็ตจะรับส่งข่าวสารกันเองอย่างอัตโนมัติ 

สถานีบริการ IRC 

      IRC มาจากคำว่า Internet Relay Chat คือ สถานีบริการเพื่อเชื่อมโยงผู้ใช้บริการจำนวนมากให้เข้ามาพูดคุยหรือถกปัญหาพร้อมกันได้หลายคน สถานีบริการ IRC ทำให้ผู้ใช้ที่อยู่ห่างไกลกัน สามารถทำงานเสมือนนั่งประชุมอยู่บนโต๊ะกลมตัวเดียวกัน การพูดคุยสนทนาในกลุ่มมีลักษณะเป็นการป้อนข้อความ ข้อความที่ป้อน จะไปปรากฏบนหน้าจอของผู้ใช้บริการทุกคนที่อยู่ในวงสนทนาเดียวกัน

WAIS - Wide Area Information Service 

      บริษัทชั้นนำทางคอมพิวเตอร์หลายบริษัทได้ร่วมกันพัฒนาระบบ WAIS และนำออกมาใช้ประโยชน์บนอินเทอร์เน็ตลักษณะของ WAIS เป็นการรวมศูนย์ข้อมูลที่อยู่บนเครือข่ายจำนวนมากเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการค้นหาข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากว่าบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีฐานข้อมูลหลายแห่งกระจัดกระจายหากผู้ค้นข้อมูลต้องแยกค้นไปยังฐานข้อมูลต่าง ๆ จะทำให้ไม่สะดวก การดำเนินการของ WAIS จึงเป็นการทำให้ผู้ใช้เห็นฐานข้อมูลแห่งเดียวและเมื่อต้องการได้ข้อมูลที่ใดก็จะเข้าไปค้นยังฐานข้อมูลนี้โดยอัตโนมัติ การใช้งาน WAIS บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องที่สะดวก ปัจจุบันมี WAIS ให้เรียกค้นหลายที่ เช่น บนเครื่อง think.com นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาให้เรียกค้นด้วยระบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟสได้หลายแบบตามลักษณะเครื่องไคลแอนต์ของผู้ใช้งานซึ่งกำลังใช้งานอยู่

 

อินเทอร์เน็ต
บราวเซอร์ : Microsoft Internet Explorer
อินเทอร์เน็ต
บราวเซอร์ : Netscape Communicator

 

อาร์ชี (Archie)

      ปัญหาในเรื่องของการเก็บแฟ้มข้อมูลไว้บนเครื่องต่าง ๆ ที่อยู่บนเครื่องข่ายอินเทอร์เน็ตมีเป็นจำนวนมาก คือ ผู้ใช้ไม่สามารถเรียกค้นข้อมูลได้ว่าอยู่ที่เครื่องใดบ้าง อาร์ชีเป็นระบบที่พัฒนาขึ้น โดยสร้างระบบการเรียกค้นข้อมูลได้ทั้งแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์  โดยเน้นการค้นหาฐานข้อมูลที่จะให้เข้าไปคัดลอกด้วย FTP ได้สถาปัตยกรรมของอาร์ชีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแสดงให้เห็นดังรูป  ผู้ใช้จะใช้อาร์ชีเป็นเครื่องไคลแอนต์เรียกเข้าไปยังเครื่องบริการอาร์ชีเพื่อค้นหาข้อมูลที่ตนเองต้องการว่าเก็บไว้ที่สถานที่ใด โดยปกติการเก็บข้อมูลจะกระจัดกระจายแต่รวบรวมชื่อไฟล์และสถานที่เก็บไว้จึงทำให้ผู้ใช้เรียกค้นได้เสมือนเป็นการเปิดไดเร็กทอรีดูก่อนว่าข้อมูลที่ต้องการอยู่ที่ใด จากนั้นจึงเรียกค้นไปยังสถานที่ที่ต้องการเพื่อทำการคัดลอกด้วย FTP ต่อไป 

โกเฟอร์ (Gopher)

      โกเฟอร์เป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยมินเนโซต้าเพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลเป็นลำดับขั้นตามเมนูที่กำหนด  ฐานข้อมูลที่จะเรียกค้นเป็นฐานข้อมูลแบบกระจายที่เชื่อมต่อกัน การเรียกจากเมนูทำให้การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นลำดับ  ฐานข้อมูลแต่ละเครื่องบนเครือข่ายจะเชื่อมต่อเข้าหากัน เช่น ถ้าจะเรียกข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยก็เชื่อมต่อมาที่เครื่องหลักเครื่องใดเครื่องหนึ่งในประเทศ จากนั้นจะกระจายไปยังฐานข้อมูลและคิดว่าข้อมูลของตนจะเป็นประโยชน์ก็สามารถสร้างระบบเชื่อมโยงเข้าสู่โกเฟอร์เพื่อให้ผู้อื่นเรียกใช้ได้ ระบบโกเฟอร์มีจุดอ่อนที่เป็นการเรียกค้นข้อมูลแบบเอกสารจึงทำให้ความนิยมลดลงไปมากทั้งนี้เพราะระบบบริการข้อมูลข่าวสารแบบใหม่สามารถให้บริการได้ทั้งรูปภาพ เสียง และภาคเคลื่อนไหวที่ดีกว่า

ระบบข่าวสารเวิลด์ไวด์เว็บ (WWW) 

      ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๔ มีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข่าวสารแบบไฮเปอร์เทกซ์บนเครือข่าย ส่วนของไฮเปอร์เทกซ์เป็นเอกสารที่เชื่อมโยงกันได้ทั่วทั้งเครือข่ายจึงเรียกระบบสารเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารนี้ว่า WWW (World Wide Web) ระบบข่าวสาร WWW เป็นระบบข่าวสารที่มีประโยชน์มาก มีการใช้กันอย่างกว้างขวางและเป็นที่นิยมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต หากย้อนกลับไปในอดีตความคิดในเรื่องไฮเปอร์เท็กซ์มีมานานแล้ว  โดยเฉพาะในสมัยที่บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์สร้างเครื่องแมคอินทอชและระบบกราฟิกยูสเซอร์อินเทอร์เฟส (GUI) บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้สร้างรูปแบบของการเก็บข้อมูลแบบไฮเปอร์เท็กซ์ไว้ ระบบการเก็บข้อมูลแบบไฮเปอร์เท็กซ์จึงเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้ใช้เครื่องแอปเปิลแมคอินทอช 
      เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลายความคิดในการทำไฮเปอร์เท็กซ์มาประยุกต์บนเครือข่ายก็เริ่มเป็นรูปร่าง โดยมีการพัฒนากลไกขึ้นมา ๓ ส่วน ส่วนแรก คือ ตัวเนื้อหา หรือข้อมูล ซึ่งก็คือตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่รวมรูปภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวไว้หรือมีลักษณะเป็นแบบมัลติมีเดีย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์นี้มีลักษณะเฉพาะตามมาตรฐานที่กำหนดโดยเน้นการผลิตตัวหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่แยกออกไป การจัดรูปแบบหนังสือใช้มาตรฐาน HTML ส่วนที่สอง คือ ส่วนจัดการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมโยงบนเครือข่ายซึ่งได้มีการกำหนดโปรโตคอลพิเศษสำหรับการเชื่อมโยงบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เรียกว่า โปรโตคอล http (hypertext transfer protocol) โปรโตคอลนี้มีลักษณะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่สาม คือ เครื่องเปิดอ่านหนังสือหรือที่เรียกว่า บราวเซอร์ (browser) เครื่องเปิดอ่านหนังสือจะเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายตามโปตโตคอลที่กำหนดและเชื่อมโยงเพื่อนำข้อมูลหนังสือ (ไฮเปอร์เท็กซ์) มาแสดงผลบราวเซอร์สามารถแสดงผลแบบมัลติมีเดียได้ เมื่อรวมทั้ง ๓ ส่วนนี้เข้าด้วยกันจึงกลายมาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากมายเราเรียกระบบข่าวสารที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายว่า เวิลด์ไวด์เว็บ (WWW) 

      HTML เป็นคำย่อมาจาก HyperText Markup Language เป็นมาตรฐานสำหรับไฮเปอร์เท็กซ์ที่ใช้ใน www มาตรฐานนี้ทำให้ผู้สร้างไฮเปอร์เท็กซ์สามารถสร้างเองได้ง่ายโดยสร้างข้อมูลเป็นแฟ้มเอกสารและใช้ตัวกำหนดเอกสารที่เรียกว่า แท็ก (tag) แท็กที่ใช้มีรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย การใส่แท็กก็เหมือนกับการกำหนดขนาดตัวอักษรในเวิร์ดโปรเซสเซอร์สมัยแรก ๆ HTML เป็นมาตรฐานที่พัฒนากันขึ้นมาใช้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและมีผู้นิยมใช้กันมากจนปัจจุบันโฮมเพจของแต่ละแห่งที่ปรากฏบน www เขียนโดยใช้มาตรฐาน HTML ข้อดีของ HTML คือ สามารถเชื่อมโยงข้อความ รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งเชื่อมโยงแฟ้มไฮเปอร์เท็กซ์จากที่ห่างไกลบนเครือข่ายได้อีกด้วย 

 

อินเทอร์เน็ต
ตัวอย่างหน้าจอแสดง HTML

 

      HTTP เป็นโปรโตคอลการเชื่อมโยงไฮเปอร์เท็กซ์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โปรโตคอลนี้ทำงานอยู่บน TCP/IP เพื่อเชื่อมต่อไปยังปลายทางที่ต้องการ การเชื่อมโยงเข้าหาเอกสารจะดำเนินการอย่างอัตโนมัติซึ่งจะติดต่อกันระหว่างเครื่องและเครื่องเพื่อรับส่งข้อมูล การรับส่งข้อมูลจะรับและส่งได้ทั้งแฟ้มที่เป็นข้อความ รูปภาพ หรือเสียง พื้นฐานการทำงานภายในโปรโตคอลนี้ยังคงใช้หลักการคัดลอกแฟ้มข้อมูล การโต้ตอบกันจะกระทำได้อย่างมีระบบ การเชื่อมต่อด้วยโปรโตคอลนี้จึงให้การเชื่อมโยงหรือเรียกเอกสารที่อยู่ห่างไกลเชื่อมโยงกันเสมือนเป็นเอกสารชิ้นเดียวกันได้ รูปแบบการใช้จึงต้องกำหนดตำแหน่งหลายทาง เช่น http://www.nectec.or.th 
      บราวเซอร์ เป็นโปรแกรมที่ใช้อ่านข้อมูลไฮเปอร์เท็กซ์ตามมาตรฐาน HTML บราวเซอร์อ่านข้อมูลไฮเปอร์เท็กซ์เพื่อแสดงผล ข้อมูลที่อ่านได้นำมารวมกันเสมือนเป็นเครื่องเปิดหนังสือและนำแฟ้มต่าง ๆ มารวมกันเป็นภาพซึ่งมีทั้งแฟ้มรูปภาพ เสียง และวิดีโอ การรวมแฟ้มให้ปรากฏบนจอภาพจึงได้ผลลัพธ์เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นวิธีการผลิตที่ไม่ต้องใช้กระดาษและสามารถผลิตได้ง่าย ผู้ออกแบบจึงต้องทำให้บราวเซอร์สามารถใช้งานได้ง่ายโดยเป็นโปรแกรมที่ประยุกต์ใช้กับการเรียกใช้เปิดอ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เมล์ ใช้สำหรับการคัดลอกข้อมูลแบบ FTP ใช้ในการอ่านข่าวยูสเน็ตนิวส์

ข่าวสารบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 

      องค์กรแต่ละองค์กรมีสถานีบริการสำหรับให้ข่าวสาร การเขียนข่าวสารเก็บไว้ในสถานีบริการจึงแพร่ขยายเชื่อมโยงกันทั่วโลก ข้อมูลข่าวสารถูกเก็บอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า โฮมเพจ โฮมเพจจึงเป็นเสมือนบ้านในอินเทอร์เน็ตที่เก็บข่าวสารเอาไว้เพื่อให้บริการผู้เรียกใช้ซึ่งเป็นผู้ใดก็ได้ ผู้เขียนโฮมเพจของแต่ละหน่วยงานมักเขียนให้มีการเชื่อมโยงไปยังที่อื่นเพื่อโยงเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ออกไป เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้กระจายออกไปได้โดยไม่รู้จบ การเชื่อมโยงเหล่านี้จึงเป็นเสมือนเส้นทางที่สลับซับซ้อนกระจายออกไปได้มาก เช่น จากโฮมเพจ www.nectec.or.th มีจุดเชื่อมโยงไปยังที่ต่าง ๆ อีกมากมาย ด้วยวิธีการเชื่อมโยงบน www จึงเป็นหนทางที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกใช้ได้อย่างต่อเนื่องเสมือนแหล่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายทั้งหมดเป็นของผู้ใช้ที่จะเรียกค้นดูได้ 

 

อินเทอร์เน็ต
โฮมเพจเป็นเสมือนตัวแทนของบริการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ
อินเอร์เน็ต
ตัวอย่างหน้าจอแสดงเว็บไซต์ของ Search Engine

 

การค้นข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 

      เนื่องจากมีแหล่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงบนเครือข่าย www อยู่มากมาย จนยากที่จะหาสิ่งที่ต้องการได้ว่าอยู่ในโฮมเพจใดจึงต้องใช้เครื่องมือช่วยค้น เครื่องมือช่วยค้นเป็นซอฟต์แวร์ที่ให้บริการบนสถานีบริการต่าง ๆ เช่น สถานีบริการ www.bdg.co.th สามารถให้ผู้ใช้ใส่คำสำคัญที่ต้องการค้นหาหรือค้นหาตามรายการที่กำหนดให้ เครื่องมือช่วยค้นหามีหลายแห่ง การสร้างห้องสมุดเทียมบนเครือข่ายทำให้สามารถเรียกค้นข้อมูลได้ง่ายและช่วยในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้มาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow