Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การคุมกำเนิดแบบถาวร

Posted By Plookpedia | 24 เม.ย. 60
535 Views

  Favorite

การคุมกำเนิดแบบถาวร 

 

สามีภรรยาที่มีลูกเพียงพอแล้วและไม่ต้องการที่จะมีลูกอีกสามารถป้องกันการมีลูกได้ตลอดไปโดยการคุมกำเนิดแบบถาวรนั่นคือการทำหมันซึ่ง ได้แก่ การทำหมันหญิงและการทำหมันชาย 

การทำหมันหญิง 
ประเทศไทยไม่มีกฎหมายบังคับเกี่ยวกับเรื่องการทำหมันหญิงโดยเฉพาะแต่จะแตกต่างกันไปบ้างตามดุลยพินิจของแต่ละสถาบันและมีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมหรือแม้แต่เหตุผลทางการเมืองในบางครั้งอย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะลดกฎต่าง ๆ ลงและมักมิได้ถือกฎเกณฑ์เคร่งครัดนักเพราะเหตุผลในการตัดสินใจที่จะมีลูกกี่คนนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของแต่ละครอบครัวซึ่งไม่เหมือนกัน 

อย่างไรก็ตาม การทำหมันหญิงควรทำเมื่อมีลูก เพียงพอแล้ว หรือทำในหญิงที่ไม่สมควรจะมีลูก เนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์ หรือทางพันธุศาสตร์ 

การทำหมันหญิงแบ่งออกได้กว้าง ๆ ตามระยะเวลาที่ทำ คือ 

1. การทำหมันหลังคลอดเป็นวิธีที่นิยมทำกันมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี เนื่องจากในระยะ 24-48 ชั่วโมง หลังคลอดมดลูกยังคงมีขนาดใหญ่ง่ายต่อการทำผ่าตัด 
2. การทำหมันในขณะที่ไม่ตั้งครรภ์หรือการทำหมันแห้ง ได้แก่ การทำหมันในขณะที่มิได้ตั้งครรภ์หรือคลอดภาษาชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "หมันแห้ง" ซึ่งเป็นคำใหม่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อ พ.ศ. 2513 โดยเป็นคำที่คนไข้ที่มาทำหมันตั้งขึ้นเองและเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันทั่วไปไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดถึงเหตุผลของผู้ที่ตั้งชื่อนี้แต่สันนิษฐานกันว่าคงเนื่องจากผู้ตั้งต้องการให้เห็นว่าลักษณะของการทำหมันประเภทนี้แตกต่างจากการทำหมันในระยะหลังคลอดเพราะขณะหลังคลอดหญิงจะมีน้ำคาวปลา (lochia) เปรอะเปื้อน หรือ "เปียก" ที่บริเวณปากช่องคลอดแต่การทำหมันในระยะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคลอดนั้นอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก "แห้ง"
คำใหม่นี้แม้ฟังดูจะไม่มีเหตุผลดีนักแต่วงการ แพทย์ไทยก็ยอมรับคำ "หมันแห้ง" กันทั่วไปเนื่องจากเป็นคำที่สั้นกะทัดรัดดียังไม่มีผู้ใดที่คิดจะเปลี่ยนแปลงคำนี้ 
3. การทำหมันในกรณีพิเศษร่วมกับการผ่าตัด อื่น ๆ เช่น การทำหมันร่วมกับการผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง (caesarean section) ร่วมกับการผ่าตัดทางนรีเวชวิทยา ฯลฯ 

วิธีทำหมันหญิง 
การทำหมันหญิงที่ทำกันโดยทั่วไป คือ การทำให้ปีกมดลูกตันทั้ง 2 ข้าง เพื่อตัดทางที่เชื้ออสุจิจะพบกับไข่ซึ่งการที่จะเข้าไปทำได้ก็มักต้องผ่านเข้าไปในช่องท้อง (ยกเว้นบางวิธีที่ไม่ต้องผ่านเข้าช่องท้องซึ่งบางวิธีกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและบางวิธีได้เลิกไปแล้ว) 

การผ่าตัดทำหมันจึงอาจแยกได้เป็น 2 ตอน คือ วิธีผ่านเข้าไปถึงปีกมดลูกและวิธีทำให้ปีกมดลูกตัน 

การผ่านเข้าไปถึงปีกมดลูกอาจทำได้โดย 

1. ผ่านเข้าทางหน้าท้อง (abdominal approach) ซึ่งอาจทำได้โดย 
ก. การผ่าท้อง (laparotomy) ซึ่งหากเป็นระยะหลังคลอดก็จะทำได้โดยเปิดหน้าท้องเป็นแผลแคบ ๆ ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ต่ำกว่าระดับสะดือเล็กน้อยเพราะมดลูกหลังคลอดใหม่ ๆ ยังมีขนาดใหญ่ 
หากเป็นการทำหมันแห้งมดลูกอยู่ลึกในอุ้งเชิงกรานการทำโดยวิธีธรรมดาจะต้องเปิดหน้าท้องกว้าง
จึงจะใส่มือเข้าไปถึงมดลูกได้แต่ก็อาจผ่าเป็นแผลเล็ก ๆ เพียง 3-4 เซนติเมตรได้ โดยใช้เครื่องมือสอดผ่านเข้าทางปากมดลูก (ผ่านทางช่องคลอด) เพื่อดันและยกมดลูกให้สูงขึ้นมาจนสามารถจับปีกมดลูกได้โดยง่ายวิธีนี้เรียกว่าการผ่าตัดแบบย่อ (mini-laparotomy) 
ข. การใช้กล้องส่องผ่านเข้าทางหน้าท้อง (laparoscopy) โดยใช้กล้องเล็ก ๆ ขนาดโตกว่าดินสอดำไม่มากนักสอดผ่านหน้าท้องบริเวณล่างของสะดือ (หรือบริเวณใกล้เคียง) เข้าไปส่องดูปีกมดลูกและสอดเครื่องมือที่จะทำให้ปีกมดลูกตันเข้าไปทางกล้องนี้หรือเจาะผ่านทางหน้าท้องอีกรูหนึ่งวิธีนี้นิยมทำในการทำหมันแห้งแผลที่เกิดจากวิธีนี้เป็นเพียงแผลเล็ก ๆ เกือบมองไม่เห็น

๒. ผ่านเข้าทางช่องคลอด (vaginal approach) ทำเฉพาะในการทำหมันโดย 
ก. การเปิดแผลเล็ก ๆ ที่บริเวณตอนบนของช่องคลอด (colpotomy) ซึ่งแผลนี้จะเปิดติดต่อกับช่องท้องและสามารถใส่เครื่องมือเข้าไปจับปีกมดลูกดึงออกมาเพื่อทำให้ตันได้ 
ข. การใช้กล้องส่องผ่านเข้าทางตอนบนของช่องคลอด (culdoscopy) 

การทำให้ปีกมดลูกตันอาจทำได้โดย 
๑. โดยการผูกหรือตัดปีกมดลูกด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ 
๒. โดยการจี้ด้วยไฟฟ้าซึ่งมีเทคนิคปลีกย่อยหลายวิธีเช่นเดียวกัน 
๓. โดยการใช้คลิปหนีบหรือใช้ห่วงรัดปีกมดลูกขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาเป็นวิธีที่ทางแพทย์คาดว่าจะดีมากวิธีหนึ่งและได้เริ่มใช้แล้วในบางประเทศ 
๔. วิธีอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างทดลอง เช่น การใช้สารเคมี 

การทำให้ปีกมดลูกตันนี้ส่วนมากต้องการให้ตันถาวรแต่ก็มีบางวิธีที่พยายามจะแก้ไขให้ปีกมดลูกเปิดได้อีกเมื่อต้องการ (reversible) แต่มักจะมีผลเสียตามมา คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะเลวลง

แผนภาพแสดงวิธีการทำหมันหญิง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

การปฏิบัติตัวก่อนและหลังการผ่าตัด 

แม้ว่าการผ่าตัดทำหมันจะเป็นเพียงการผ่าตัดเล็ก ๆ เท่านั้นแพทย์ก็จะต้องมีการตรวจสุขภาพคนไข้ว่า มบูรณ์พอที่จะทำผ่าตัดหรือไม่ ฯลฯ นอกจากนั้น นไข้จะต้องได้รับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดด้วย
หลังการผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดทำหมันหลังคลอด การปฏิบัติตัวของคนไข้ ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการปฏิบัติตัวหลังคลอดโดยทั่วไป

สำหรับการทำหมันแห้งโดยวิธีการผ่าตัดแบบย่อ รือโดยกล้องส่องทางหน้าท้องและทางช่องคลอดคนไข้จะรู้สึกเกือบเป็นปกติในวันรุ่งขึ้นและส่วนมากจะกลับทำงานได้ตามปกติยกเว้นผู้ที่ทำงานหนัก เช่น งานแบกหาม ฯลฯ ซึ่งอาจต้องหยุดพักงานหนักประมาณ 1-2 สัปดาห์ 

เกี่ยวกับการหลับนอนกับสามีถ้าเป็นการผ่าตัดทางหน้าท้องหรือการใช้กล้องส่องทางหน้าท้องใช้เวลารักษาแผลประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อแผลหายแล้วก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ตามปกติแต่ถ้าเป็นการผ่าทางช่องคลอดควรงดเว้นการร่วมหลับนอนประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด 

สุขภาพภายหลังการทำหมันหญิง 
สุขภาพของหญิงที่ทำหมันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลยมักมีผู้เข้าใจผิดว่าการทำหมันจะทำให้มีการเฉื่อยชาอ้วน ฯลฯ โดยเอาไปเปรียบเทียบกับการตอนสัตว์ซึ่งเป็นการกระทำคนละจุดมุ่งหมายการทำหมันนั้นไม่เหมือนกับการตอนเพราะมิได้เอารังไข่ออกหญิงที่ทำหมันยังคงมีฮอร์โมนเพศตามปกติหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นมักเกี่ยวเนื่องจากความกังวลและความกลัวผิด ๆ เป็นเหตุ 
หญิงที่ทำหมันแล้วโดยทั่วไปมักมีสุขภาพดีเพราะหมดกังวลเรื่องกลัวการตั้งครรภ์และมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นเมื่อลูกโตหมดแล้ว

การทำหมันชาย 
การทำหมันชาย คือ การผูกตัดท่อนำเชื้ออสุจิซึ่งทำได้ง่ายสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยและปลอดภัยมาก 
บางตอนของท่อนำเชื้ออสุจิอยู่ตื้นและเราสามารถคลำได้ที่บริเวณอัณฑะทั้งสองเมื่อใช้เครื่องมือจับท่อนั้นได้แล้วจึงกรีดผิวหนังบริเวณที่คลุมท่อนี้เป็นแผลเล็ก ๆ พอที่จะผูกและตัดท่อได้และเย็บปิดแผลเพียง 1 หรือ 2 เข็มเท่านั้น 

การทำผ่าตัดนี้ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่เท่านั้นเมื่อทำผ่าตัดเสร็จคนไข้จึงกลับบ้านได้ทันที 

ปัจจุบันนี้มีผู้พยายามคิดค้นทำให้ท่อน้ำเชื้ออสุจิตันโดยวิธีต่าง ๆ เช่น โดยการจี้ด้วยกระแสไฟฟ้าการใช้คลิปหนีบท่อไว้และการใช้สารบางอย่างอุดท่อให้ตัน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีผู้พยายามให้การทำหมันชายเป็นการทำหมันแบบชั่วคราว คือ สามารถทำให้ท่อนำเชื้ออสุจิเปิดใหม่ได้อีกเมื่อต้องการแต่ยังไม่ได้ผลดีนัก

แผนภาพแสดงวิธีการทำหมันชาย
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

อาการแทรกซ้อนของการทำหมันชาย 

โดยทั่วไปอาการแทรกซ้อนจากการทำหมันชาย มีน้อยมาก และมักเป็นเพียงอาการเล็กๆน้อยๆเท่านั้น อาการที่พบ คือ 
1. อาการเจ็บที่แผล 
2. อาการบวมที่ลูกอัณฑะ
3. การอักเสบหรือติดเชื้อของแผล 
4. เลือดออกคั่งอยู่ในลูกอัณฑะอาการนี้อาจรุนแรงได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานแต่พบน้อยมากถ้าทำโดยผู้ชำนาญ 
5. สเปิร์มแกรนูโลมา (sperm granuloma) คือ การมีแกรนูโลมาเกิดบริเวณที่ทำผ่าตัดแต่มักไม่มีอาการผิดปกติ 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำหมันชาย 
1. มีผู้เกรงไปว่าการทำหมันชายจะทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดต่ำลงแต่จากการศึกษาพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง 
2. มีผู้เข้าใจว่าการทำหมันชายจะทำให้สมรรถภาพทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนแปลงความจริงการทำหมันไม่มีผลโดยตรงต่อสมรรถภาพหรือความรู้สึกทางเพศเลยนอกจากจะมีผลทางด้านจิตใจ เช่น เมื่อแน่ใจว่าไม่ต้องระวังเรื่องมีลูกความต้องการทางเพศจึงเพิ่มขึ้นเพราะมีความสบายใจไม่ต้องกังวลว่าภรรยาหรือหญิงที่ตนมีความสัมพันธุ์ด้วยจะตั้งครรภ์ได้ 
ในทางตรงข้ามบางรายเกิดความรู้สึกไปในทางลบเพราะเมื่อเห็นว่าตนมีลูกไม่ได้แล้วจึงคิดว่าสมรรถภาพทางเพศจะลดตามไปด้วย 

หลักเกณฑ์ในการทำหมัน 
1. คู่สามีภรรยายินยอมและลงชื่อไว้เป็นหลักฐานแต่บางครั้งก็จำเป็นต้องมีข้อยกเว้น เช่น สำหรับหญิงที่ไม่มีสามีเป็นตัวเป็นตนแน่นอน 
2. จำนวนลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ส่วนมากมักถือจำนวน 2-3 คนเป็นเกณฑ์บางแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราชถือจำนวนลูก 3 คน สำหรับผู้ที่จะทำหมันหลังคลอดใหม่ (รวมคนที่คลอดใหม่ด้วย) ส่วนการทำหมันแห้งจะอนุญาตให้ทำได้เมื่อมีลูกแล้ว 2 คน และลูกคนที่ 2 อายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทั้งนี้เพราะระยะขวบปีแรกเป็นระยะที่อัตราการตายของเด็กยังสูง 
3. อายุของภรรยาหรือหญิงที่จะทำหมันมีหลายประเทศกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ด้วยแต่ในประเทศไทยถือว่าถ้ามีจำนวนลูกตามเกณฑ์แล้วก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุ 
4. เหตุผลทางแพทย์หรือพันธุกรรมในรายที่มีเหตุผลทางแพทย์หรือพันธุกรรมไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมาแล้ว 

การคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่เป็นแบบชั่วคราวและแบบถาวรจะเป็นวิธีที่ดีพร้อมได้ ถ้าประกอบ ด้วยคุณสมบัติดังนี้ 
1. มีประสิทธิภาพสูง 
2. ปลอดภัย และมีอาการแทรกซ้อนน้อย 
3. การเจริญพันธุ์ กลับสู่ภาวะปกติภายหลัง เลิกใช้ (ถ้าเป็นวิธีชั่วคราว) 
4. วิธีใช้ง่ายและสะดวก 
5. มีผู้นิยมใช้มาก 
6. ราคาถูก

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow