Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พัฒนาการของเงินตราไทย

Posted By Plookpedia | 23 เม.ย. 60
2,449 Views

  Favorite

พัฒนาการของเงินตราไทย

๑. เงินตราไทยก่อนรัชกาลที่ ๔ สมัยรัตนโกสินทร์ 
เงินตราที่ใช้ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ สมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย
ก. เงินพดด้วง 
เป็นเงินตราที่ผลิตเป็นรูปขดกลมคล้ายตัวด้วง โดยตัดก้อนโลหะเงินแบ่งออกตามมาตราน้ำหนัก เช่น กึ่งเฟื้อง เฟื้อง สลึง กึ่งบาท บาท กึ่งตำลึง ตำลึง และชั่ง ซึ่งมีอัตราการทดตามมาตราน้ำหนัก คือ 
    ๒ เฟื้อง เท่ากับ ๑ สลึง 
    ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท 
    ๔ บาท เท่ากับ ๑ ตำลึง 
    ๒๐ ตำลึง เท่ากับ ๑ ชั่ง 

 

เงินพดด้วงสมัยสุโขทัย
เงินพดด้วงสมัยสุโขทัย
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

พดด้วงสมัยอยุธยา
พดด้วงสมัยอยุธยาเนื้อเงินชนิดราคาบาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และกึ่งเฟื้อง
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

พดด้วงที่ระลึกตราครุฑเสี้ยว
พดด้วงที่ระลึกตราครุฑเสี้ยว และตรามงกุฎ สมัยรัตนโกสินทร์
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


ก้อนโลหะเงินที่ตัดแบ่งตามน้ำหนักมาตรฐานนี้ ประทับตราประจำรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดิน ที่ทรงให้ผลิตเงินตรานั้นขึ้น ซึ่งในสมัยสุโขทัยเงินพดด้วงประทับตราประจำรัชกาลที่โปรดให้ผลิตขึ้น ได้แก่ สิงห์ ช้าง กระต่าย วัว สังข์ ดอกไม้ และราชวัตร โดยตราที่ประทับในเงินพดด้วงแต่ละเม็ดจะมีมากกว่า ๒ ตรา ที่ขาเงินพดด้วงมีบากลึกลงไป เพื่อให้ตรวจดูเนื้อในของก้อนเงินพดด้วงได้ สำหรับสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีระบบการตอกตราเพียง ๒ ตรา โดยด้านบนประทับตราจักรแทนองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นสมมติเทพ ส่วนด้านหน้าเป็นตราประจำรัชกาล สมัยอยุธยาพดด้วงมีทั้งเนื้อทองคำและเนื้อเงิน ก้อนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ๑ บาท โดยเฉพาะชนิดสลึง เฟื้อง และ ๒ เฟื้อง นิยมใช้ตราสังข์ ช้าง และสังข์กนก ในขณะที่สมัยธนบุรีใช้ตราตรีเป็นตราประจำรัชกาล ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ใช้ตรามหาอุณาโลมตราพระครุฑ ตรามหาปราสาท ตรามหามงกุฎ เป็นตราประจำรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ตามลำดับ นอกจากนี้ ในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำตราอื่นๆ เพื่อเป็นเงินพดด้วงที่ระลึกอีกด้วย เช่น ตรารวงผึ้ง ลูกศร ดอกไม้ ใบมะตูม เฉลว ครุฑเสี้ยว พระเต้าสิโนทก รวมทั้งมีการผลิตพดด้วงทองคำด้วยเช่นกัน 

ข. เบี้ย 
เป็นเงินปลีก มีอัตราประมาณ ๑๐๐ เบี้ย ต่อ ๑ อัฐ หรือ ๘๐๐ ถึง ๑,๒๐๐ เบี้ย ต่อ ๑ เฟื้อง เบี้ยเป็นหอยทะเล เฉพาะที่ใช้เป็นเงินตรามี ๒ ชนิด เรียกชื่อว่า เบี้ยจั่น และเบี้ยนาง ซึ่งพ่อค้าชาวต่างชาตินำเข้ามาขาย บางครั้งเมื่อไม่มีเรือสำเภานำเบี้ยเข้ามาขาย และเกิดขาดแคลนเงินปลีก ราคาของเบี้ยก็เพิ่มสูงขึ้นได้ ในสมัยอยุธยาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงแก้ปัญหาขาดแคลนเบี้ย โดยทรงทำดินเผาประทับตราสิงห์ กระต่าย ดอกบัว กินรี และไก่ ใช้แทนเบี้ยชั่วคราว เรียกกันว่า “ประกับ”

 

เบี้ย
เบี้ย
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 


๒. เงินตราไทยในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ 
ก. เหรียญเงิน 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวยุโรปเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าจากไทยจำนวนมาก การผลิตเงินพดด้วงด้วยมือจึงทำได้ไม่ทันกับความต้องการใช้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญกษาปณ์เงิน ด้วยเครื่องจักรที่นำมาจากประเทศอังกฤษแทน โดยใน พ.ศ. ๒๔๐๑ เริ่มผลิตเหรียญเงินชนิด บาท สลึง และเฟื้อง ตราพระแสงจักรและตราพระมหามงกุฎ เมื่อได้นำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามาแล้ว จึงเริ่มผลิตเหรียญเงินชนิดราคาบาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และกึ่งเฟื้อง ขึ้นเป็นจำนวนมากใน พ.ศ. ๒๔๐๓ เป็นการแก้ไขปัญหาเงินตรา มูลค่าสูงที่มีจำนวนไม่พอใช้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๕ ได้แก้ไขปัญหาจำนวนเงินตรามูลค่าต่ำ โดยผลิตเหรียญอัฐและโสฬสด้วยดีบุก เพื่อใช้เป็นเงินปลีกแทนเบี้ยหอย รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญชนิดราคา ซีกและเสี้ยวด้วยทองเหลืองและทองแดงขึ้นใช้ด้วย มาตราของเงินไทยภายหลังจากได้มีการปรับปรุงแล้วจึงเป็นดังนี้ 

    ๒ โสฬส เท่ากับ ๑ อัฐ 
    ๒ อัฐ เท่ากับ ๑ เสี้ยว 
    ๒ เสี้ยว เท่ากับ ๑ ซีก 
    ๒ ซีก เท่ากับ ๑ เฟื้อง 
    ๒ เฟื้อง เท่ากับ ๑ สลึง 
    ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท 
    ๔ บาท เท่ากับ ๑ ตำลึง 
    ๒๐ ตำลึง เท่ากับ ๑ ชั่ง 

 

เหรียญซีกและเสี้ยว
เหรียญซีกและเสี้ยว ในรัชกาลที่ ๔
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เหรียญสยามอานาจักร
เหรียญ "สยามอานาจักร" ใช้หน่วยสตางค์เป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เหรียญทองแดง
เหรียญทองแดง จปร. กรุงสยาม
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


ข. ธนบัตร 
นอกจากเงินตราที่เป็นเหรียญดีบุก ทองแดง และเงิน แล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเงินกระดาษหรือธนบัตร เพื่อใช้ชำระหนี้มูลค่าสูงๆ ธนบัตรที่ใช้ในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “หมาย” โดยใน พ.ศ. ๒๓๙๖ ทรงให้พิมพ์หมายด้วยกระดาษ มีมูลค่าตั้งแต่ เฟื้อง สลึง บาทตำลึง และชั่ง มีข้อความอันเป็นสัญญาจ่ายเงินโลหะให้แก่เจ้าของหมาย ที่นำไปแลกกับพระคลัง พร้อมทั้งประทับตราพระแสงจักร และตราพระมหามงกุฎสีแดงชาดด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นพระราชลัญจกรนามกรุงในหมายชนิดราคาต่ำ ส่วนในหมายชนิดราคาสูง จะประทับด้วยพระราชลัญจกรไอยราพต (องค์กลาง) ไว้ นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ใบพระราชทานเงินตราหรือเช็คขึ้นใช้อีกด้วย แต่ทั้งหมายและใบพระราชทานเงินตรา ซึ่งเป็นเงินตราชนิดใหม่ทำด้วยกระดาษ ประชาชนไม่นิยม จึงมีใช้เฉพาะในรัชกาลของพระองค์เท่านั้น กล่าวได้ว่า การปฏิรูปทั้งรูปแบบเงินตราและวัตถุที่ใช้มาตราเงินของไทย มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 

หมายราคาตำลึง ด้านหน้า
หมายราคาตำลึง ด้านหน้า
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามเปลี่ยนมาตราเงินตราจากระบบน้ำหนัก เป็นระบบทศนิยม โดยกำหนดให้เงิน ๑ บาท มี ๑๐๐ สตางค์ และได้สั่งเหรียญนิกเกิล “สยามอานาจักร” เข้ามา ใช้ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ แต่ก็ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ ยังทรงให้พิมพ์อัฐกระดาษขึ้นใช้ชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเงินปลีก ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ เมื่อประชาชนนำปี้มาใช้แทนเงินตรา (ปี้เป็นวัตถุ ที่ใช้แทนเงินตราในบ่อนการพนัน ทำด้วยวัสดุมีค่าต่ำ เช่น ดินเผา หรือกระเบื้อง) ต่อมาทรงพยายามที่จะให้นำธนบัตร ซึ่งเรียกกันในขณะนั้นว่า “เงินกระดาษหลวง” เข้ามาใช้ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ก็ไม่สำเร็จจนกระทั่งเมื่อทรงนำธนบัตรออกใช้อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๔๕ จึงประสบความสำเร็จเนื่องจากมีระบบธนาคารพาณิชย์เกิดขึ้นแล้ว และการซื้อสินค้ารายใหญ่ๆ จำเป็นต้องใช้ธนบัตรในการซื้อขายจ่ายทอนมากกว่าจะใช้เหรียญกษาปณ์จำนวนมาก ส่วนการปรับปรุงมาตราเงินตราจากระบบน้ำหนักมาเป็นระบบทศนิยม ประสบความสำเร็จในตอนต้นรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow