Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต (พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๘)

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
2,255 Views

  Favorite

ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต (พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๘) 

ในยุคนี้เป็นยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ไมโครโพรเซสเซอร์ที่ใช้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 

  • สามารถรับคำสั่งได้ถึง ๑๖ ล้านคำสั่งหรือใช้ขนาดข้อมูลได้ถึง ๑๖ ล้านตัวอักษร
  • สามารถประมวลหรือเรียกใช้ข้อมูลได้ขนาด ๑๖ บิตต่อครั้ง ตัวเลขที่มีค่ามากกว่า ๖๕,๕๓๖ จะต้องถูกแยกประมวลเป็นหลาย ๆ ส่วนทำให้มีประสิทธิภาพต่ำ ข้อมูลที่ใช้ทั่วไปทางธุรกิจก็ยังมีขนาดมากกว่านี้จึงทำให้ไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะนำไปใช้ทางด้านธุรกิจ
  • วิทยาการในการเปิดหรือปิดวงจรทรานซิสเตอร์ได้เร็วถึง ๑๒.๕ ล้านครั้งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๑๑๖ เท่า)
  • สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้ถึง ๑๕๐,๐๐๐ ตัว (มากกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๖๕ เท่า)
  • สามารถประมวลคำสั่งได้เร็วถึง ๒.๗ ล้านครั้งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๔๔ เท่า)

 

แผ่นแม่เหล็ก magnatic tape
แผ่นแม่เหล็ก magnatic tape

 

      ไมโครคอมพิวเตอร์ยุคนี้ใช้ฟล็อปปีดิสก์ที่มีขนาด ๕.๒๕ นิ้วและขนาด ๓.๕ นิ้ว ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๘.๖ แสนตัวอักษรหรือข้อความ ๔๓๐ หน้า และใช้ฮาร์ดดิสก์ซึ่งสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้รวดเร็วกว่าฟล็อปปีดิสก์มากอีกทั้งสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๒๐ ล้านตัวอักษรหรือข้อความ ๑,๐๐๐ หน้า การแสดงผลข้อมูลก็ใช้จอภาพที่มีความละเอียดสูงขึ้น ขนาดใหญ่ขึ้น มีจนวนสีมากขึ้น และเริ่มมีเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ (laser printer) ซึ่งสามารถตีพิมพ์ข้อมูลทั้งภาพและตัวอักษรแบบขาวดำได้อย่างสวยงามและใกล้เคียงกับโรงพิมพ์ การป้อนข้อมูลก็ใช้แป้นพิมพ์และเมาส์ 

วิวัฒนาการทางฮาร์ดแวร์ 

      เมื่อปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๗๐ (พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๒๒) บริษัทไอบีเอ็มซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ในการผลิตคอมพิวเตอร์รุ่นเมนเฟรมหรือมินิคอมพิวเตอร์ก็เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของไมโครคอมพิวเตอร์จากการที่ได้เห็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ซื้อไมโครคอมพิวเตอร์และบริษัทที่ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ เช่น บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ บริษัทไอบีเอ็มจึงได้ตัดสินใจที่จะผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ให้สำเร็จภายในเวลา ๑ ปี และจะเป็นคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ที่สามารถใช้หน่วยคำจำได้มากกว่าคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต เช่น ไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๖ สามารถใช้หน่วยความจำได้ถึง ๑ ล้านตัวอักษรซึ่งมากกว่าไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต ที่ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๐ ถึง ๑๖ เท่า จึงเหมาะที่จะใช้โปรแกรมที่มีความซับซ้อนและการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับทางธุรกิจมากกว่า แต่เนื่องจากมีเวลาในการออกแบบน้อยทางกลุ่มออกแบบของบริษัทไอบีเอ็มจึงตัดสินใจที่จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยบริษัทอื่นและชิ้นส่วนที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เช่น ไมโครโพรเซสเซอร์และหน่วยความจำ 
      ในช่วงนั้นไมโครโพรเซสเซอร์ชนิด ๑๖ บิต รุ่นที่เด่น ๆ ที่มีให้เลือก คือ รุ่น ๘๐๘๖ และ รุ่น ๘๐๘๘ จากบริษัทอินเทล และรุ่น ๖๘๐๐๐ จากบริษัทโมโตโรลา ซึ่งไมโครโพรเซสเซอร์จากบริษัทอินเทลรุ่น ๘๐๘๖ และ ๘๐๘๘ นั้นแทบจะไม่มีข้อแตกต่างระหว่างกัน นอกจากว่ารุ่น ๘๐๘๘ จะแบ่งข้อมูลเป็น ๘ บิตในการเรียกใช้และการเก็บถึงแม้ว่าจะสามารถประมวลผลข้อมูลได้ครั้งละ  ๑๖ บิต ก็ตาม   ในขณะที่รุ่น ๘๐๘๖ สามารถเก็บเรียกใช้และประมวลผลข้อมูลครั้งละ ๑๖ บิต ทำให้ความเร็วในการประมวลผลและสมรรถภาพการใช้ข้อมูลของรุ่น ๘๐๘๘ ต่ำกว่ารุ่น ๘๐๘๖ บางครั้งไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๘ จะถูกถือว่าเป็นไมโครโพรเซสเซอร์ชนิด ๘ บิต เท่านั้น เนื่องจากสามารถเรียกใช้ข้อมูลครั้งละ ๘ บิต แต่ทั้งสองรุ่นนี้ใช้ทรานซิสเตอร์ ๒๙,๐๐๐ ตัวและสามารถประมวลผลข้อมูลได้เร็วระหว่าง ๓.๓ - ๓.๕ แสนครั้งต่อวินาที ซึ่งนับว่าเร็วกว่ารุ่น ๘๐๘๐ ถึง ๑๐ เท่า ส่วนไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๖๘๐๐๐ ของโมโตโรลาใช้ทรานซิสเตอร์ถึง ๖๘,๐๐๐ ตัวและมีสมรรถภาพที่เหนือกว่าไมโครโพรเซสเซอร์ รุ่น ๘๐๘๘ และ ๘๐๘๖ ของบริษัทอินเทล เนื่องจากไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๖๘๐๐๐ เรียกใช้และเก็บข้อมูลครั้งละ ๑๖ บิต แต่ทว่าสามารถประมวลผลข้อมูลได้ครั้งละ ๓๒ บิต ในแนวเดียวกันกับที่ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๘ ถูกเรียกว่าเป็นชนิด ๘/๑๖ บิต ไมโครโพรเซสเซอร์จากโมโตโรลา รุ่น ๖๘๐๐๐ ก็ถูกเรียกว่าเป็นชนิด ๑๖/๓๒ บิต เช่นกัน 
      ในที่สุดกลุ่มออกแบบไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทไอบีเอ็มได้ตัดสินใจเลือกใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทอินเทล รุ่น ๘๐๘๘ เหตุ ที่เลือกไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ทั้ง ๆ ที่ไมโครโพรเซสเซอร์อีก ๒ รุ่นมีสมรรถภาพและความเร็วเหนือกว่าก็เพราะว่าไมโครโพรเซสเซอร์ทั้งสองรุ่นนั้นยังไม่มีไมโครชิปหรือวงจรเบ็ดเสร็จอื่น ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ควบคู่ในการสร้างไมโครคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๘ ซึ่งเก็บและเรียกใช้ข้อมูลขนาด ๘ บิต สามารถร่วมใช้วงจรเบ็ดเสร็จอื่น ๆ ของไมโครโพรเซสเซอร์แบบเก่าของบริษัทอินเทล รุ่น ๘๐๘๐ ซึ่งเก็บและเรียกใช้ข้อมูลขนาด ๘ บิต เท่ากันได้เลยและนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต ไมโครคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จและมีความสำคัญในยุคนี้มีดังต่อไปนี้ 

ไอบีเอ็มพีซี (IBM PC) (พ.ศ. ๒๕๒๔) 

 

คอมพิวเตอร์
ไอบีเอ็ม ๕๑๕๐ พีซี ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรก

 

      หลังจากที่ใช้เวลาในการออกแบบและพัฒนาถึง ๑ ปี บริษัทไอบีเอ็มก็ได้เริ่มออกจำหน่ายไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแรก คือ ไอบีเอ็ม ๕๑๕๐ พีซี (IBM 5150 PC - Personal Computer) ซึ่งคำว่าพีซี หมายถึง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การให้นิยามคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นเนื่องจากบริษัทไอบีเอ็มต้องการเน้นถึงข้อแตกต่างระหว่างคอมพิวเตอร์รุ่นใหญ่ที่ผู้ใช้หลายคนจะต้องแบ่งกันใช้ในเวลา พร้อม ๆ กันและคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ที่ผู้ใช้สามารถใช้ทุกอย่างได้คนเดียว 
      พีซีรุ่นแรกได้ออกจำหน่ายในราคาประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ โดยใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทอินเทล รุ่น ๘๐๘๘ และใช้สัญญาณนาฬิกาด้วยความเร็วถึง ๔.๗๗ ล้านครั้งต่อวินาที โดยมีหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ขนาด ๖๔,๐๐๐ ตัวอักษร และหน่วยความจำแบบถาวร-รอม ขนาด ๔๐,๐๐๐ ตัวอักษร ใช้ฟล็อปปีดิสก์ขนาด ๕.๒๕ นิ้ว ซึ่งสามารถบรรจุข้อมูลได้ถึง ๑๖๐,๐๐๐ ตัวอักษร ใช้จอภาพที่มี ๑ สี และใช้ชุดคำสั่งควบคุมระบบของบริษัทไมโครซอฟต์ คือ พีซีดอส 1.0 (PC-DOS 1.0)  ปรากฏว่าไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงและเกินความคาดหมายของทั้งบริษัทไอบีเอ็มและบริษัทคู่แข่ง  เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๔ หลังจากเริ่มจำหน่ายได้ ๔ เดือน บริษัทไอบีเอ็มก็สามารถจำหน่ายพีซีได้ถึง ๕๐,๐๐๐ เครื่อง ในขณะที่บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์สามารถจำหน่ายไมโครคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้เพียง ๑๓๕,๐๐๐ เครื่องเท่านั้น เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เครื่องพีซีก็สามารถจำหน่ายได้มากกว่าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์จากบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ถึง ๒ เท่า  

      การประสบความสำเร็จอย่างสูงของเครื่องพีซีส่งผลให้บริษัทอื่น ๆ เริ่มมีความคิดทึ่จะผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบเครื่องพีซีขึ้นมา โดยเครื่องที่ลอกเลียนแบบเครื่องพีซีนี้สามารถจะใช้โปรแกรมทุก ๆ อย่างของเครื่องพีซีได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการแก้ไขเลย เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ชนิดนี้เรีกยกว่า เครื่องโคลน (clone) การผลิตเครื่องพีซีโคลนสามารถทำได้อย่างง่ายดายเนื่องจากเครื่องพีซีไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนที่ทำขึ้นพิเศษโดยบริษัทไอบีเอ็มจึงทำให้บริษัทอื่น ๆ สามารถซื้อชิ้นส่วนต่าง ๆ จากร้านจำหน่ายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ทั่วไปและสามารถผลิตเครื่องโคลนได้ ส่วนชุดคำสั่งควบคุมระบบพีซีดอสนั้นบริษัทที่ผลิตเครื่องโคลนก็สามารถซื้อจากบริษัทไมโครซอฟต์ได้เนื่องจากบริษัทไอบีเอ็มไม่ได้ทำสัญญากับบริษัทไมโครซอฟต์ว่าห้ามจำหน่ายให้แก่บริษัทอื่น ๆ สิ่งที่ยากที่สุดในการผลิตเครื่องโคลนขึ้นมา คือ การเขียนโปรแกรมการควบคุมระบบเครื่องและชิ้นส่วนต่าง ๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเราเรียกว่า โปรแกรมไบออส (BIOS - Basic Input Output System) โปรแกรมไบออสโดยทั่วไปจะถูกเรียกใช้โดยชุดคำสั่งควบคุมอีกต่อหนึ่งจึงทำให้เราสามารถใช้ชุดคำสั่งควบคุม ๑ ชุด ในการควบคุมเครื่องพีซีหลายชนิดที่มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันได้โดยชุดคำสั่งควบคุมจะสั่งให้โปรแกรมไบออสทำงานด้วยคำสั่งมาตรฐาน แต่โปรแกรมไบออสของแต่ละเครื่องจะปฏิบัติงานที่มีรายละเอียดแตกต่างกันแล้วแต่ความเหมาะสมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทราบถึงรายละเอียดปลีกย่อยและข้อแตกต่างทุก ๆ อย่างของเครื่องพีซีทุกชนิด 
      ภายในเวลา ๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็มีหลายบริษัทเริ่มผลิตเครื่องโคลนของพีซีออกมาจำหน่าย บริษัทแรกที่ผลิตเครื่องโคลนของพีซี คือ บริษัทโคลัมเบียเดทาโปรดักต์ (Columbia Data Product) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการจำหน่าย บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายเครื่องโคลนของพีซี คือ บริษัทคอมแพก (Compaq) ซึ่งผลิตเครื่องโคลนชนิดที่สามารถพกพาได้ โดยเรียกชื่อรุ่นว่า คอมแพก พอร์ตทาเบิล พีซี (Compaq Portable PC) ซึ่งใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ที่เหมือนกันกับที่ใช้ในเครื่องพีซีและด้วยความเร็วของสัญญาณนาฬิกาที่เท่ากันโดยจำหน่ายในราคา ๓,๐๐๐ เหรียญสหรัฐแต่มีหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ขนาด ๑๒๘,๐๐๐ ตัวอักษรและมีจอภาพขนาด ๙ นิ้ว ที่มี ๑ สี ติดอยู่ที่ตัวเครื่องด้วย บริษัทคอมแพกได้ลงทุนถึง ๑ ล้านเหรียญสหรัฐในการเขียนโปรแกรมไบออสขึ้นมาใหม่เพื่อที่จะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมไบออสของบริษัทไอบีเอ็ม  ภายในระยะเวลา ๑ ปีบริษัทคอมแพกสามารถจำหน่ายเครื่องโคลนของพีซีได้ถึง ๕๗,๐๐๐ เครื่อง ซึ่งมีมูลค่าทั้งหมดประมาณ ๑๑๑ ล้านเหรียญสหรัฐ 


ลิซ่า (Lisa) (พ.ศ. ๒๕๒๖) 

 

คอมพิวเตอร์
ไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแอปเปิล ลิซา  

 

      บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ชื่อว่า ลิซ่า ซึ่งได้ปฏิวัติรูปแบบของชุดคำสั่งควบคุมระบบและการใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ ก่อนหน้านี้ผู้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์จะต้องใช้เวลาเรียนรู้และจดจำคำสั่งหลายสิบชนิดเพื่อที่จะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์แต่สำหรับไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแอปเปิลลิซ่าผู้ใช้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจดจำคำสั่งในการใช้เครื่องอย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเราสามารถสั่งงานเครื่องจากการสื่อสารผ่านหน้าจอโดยการใช้เมาส์ควบคู่กับแป้นพิมพ์ในการเลือกรูปภาพและเมนู  เมาส์ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมการป้อนข้อมูลแบบกราฟิกได้อย่างง่ายและสะดวกซึ่งระบบการควบคุมและสั่งงานเครื่องโดยการใช้กราฟิกเรียกว่า จียูไอ (GUI - Graphic User Interface) แอปเปิลลิซ่าเป็นไมโครคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ใช้ระบบนี้  แต่การจำหน่ายเครื่องลิซาไม่ค่อยประสบความสำเร็จโดยถูกผลิตทั้งหมดเพียง ๑๐๐,๐๐๐ เครื่องเท่านั้น เพราะว่ามีราคาแพงถึง ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐและทำงานล่าช้า เนื่องจากไมโครโพรเซสเซอร์จะต้องทำงานหนักมากในการประมวลผลข้อมูลและวาดภาพบนจอภาพสำหรับการทำงานแบบกราฟิก  เครื่องลิซาใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทโมโตโรลา รุ่น ๖๘๐๐๐ ใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็ว ๕ ล้านครั้งต่อวินาที มีหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ขนาด ๑ ล้านตัวอักษร มีหน่วยความจำแบบถาวร - รอม ขนาด ๒ ล้านตัวอักษร มีเครื่องฟล็อปปีคู่ขนาด ๕.๒๕ นิ้ว ที่สามารถเก็บข้อมูลขนาด ๘๖๐,๐๐๐ ตัวอักษร และมีจอภาพขาวดำขนาด ๑๒ นิ้ว ซึ่งมีความละเอียดสูงติดอยู่ที่ตัวเครื่อง 

ไอบีเอ็มพีซีเอ็กซ์ (IBM PC/XT) (พ.ศ. ๒๕๒๖) 

 

คอมพิวเตอร์
ไอบีเอ็มพีซีเอกซ์ที 


      หลังจากบริษัทไอบีเอ็มได้ผลิตพีซีรุ่นแรกออกมาได้ ๑๘ เดือน ก็ได้มีการปรับปรุงเครื่องพีซีโดยการเพิ่มหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ให้มีความจุขนาด ๑๒๘,๐๐๐ ตัวอักษร เพิ่มความจุของฟล็อปีดิสก์ให้มีขนาด ๓๖๐,๐๐๐ ตัวอักษร และเริ่มใช้ฮาร์ดดิสก์ขนาดที่สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๑๐ ล้านตัวอักษร เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๖ บริษัทไอบีเอ็มก็สามารถจำหน่ายพีซีทุกรุ่นเป็นจำนวนทั้งหมด ๕๓๘,๐๐๐ เครื่อง 


แมคอินทอช (Macintosh) (พ.ศ. ๒๕๒๗) 
      หลังจากบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้เห็นข้อบกพร่องของเครื่องลิซ่าบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ก็ได้ทำการปรับปรุงแก้ไขโดยการผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ออกมาและให้ชื่อว่าแมคอินทอช หรือเรียกสั้น ๆ ว่า แมค ไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ได้เพิ่มความเร็วโดยการใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๖๘๐๐๐ ที่ใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็วถึง ๘ ล้านครั้งต่อวินาทีและลดขนาดงานของไมโครโปรเซสเซอร์ที่ต้องทำโดยการลดความละเอียดของจอภาพถึง ๓๐% การลดต้นทุนของเครื่องก็กระทำ โดยการลดขนาดจอภาพให้เหลือเพียง ๙ นิ้ว ลดความละเอียดของจอภาพ ลดจำนวนหน่วยความจำแบบชั่วคราว - แรม ที่ติดมากับเครื่องให้เหลือขนาด ๑๒๘,๐๐๐ ตัวอักษร และลดจำนวนเครื่องฟล็อปปีดิสก์จาก ๕.๒๕ นิ้วมาเป็นขนาด ๓.๕ นิ้ว ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ ตัวอักษรและจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่ามากโดยจำหน่ายในราคา ๒,๕๐๐ เหรียญสหรัฐ   เครื่องแมคอินทอชยังใช้ระบบสั่งงานและควบคุมเครื่องแบบกราฟิกเช่นเดียวกันกับเครื่องลิซารวมทั้งได้เพิ่มโปรแกรมหลายอย่างที่ใช้สำหรับวาดรูปและใช้ในการเรียงพิมพ์มาพร้อมกับเครื่อง แต่โปรแกรมที่ใช้สำหรับเครื่องรุ่นนี้จะไม่สามารถใช้กับเครื่องแอปเปิลรุ่นก่อน ๆ ได้ ภายในระยะเวลา ๑ ปีบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์สามารถจำหน่ายเครื่องแมคอินทอชได้ถึง ๒๕๐,๐๐๐ เครื่อง 

ไอบีเอ็มพีซีเอที (IBM PC/AT) (พ.ศ. ๒๕๒๗) 

 

คอมพิวเตอร์
ไอบีเอ็มพีซีเอที

 

      ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕ บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ชนิด ๑๖ บิต รุ่นใหม่ชื่อว่ารุ่น ๘๐๒๘๖ โดยมีทรานซิสเตอร์ ๑๓๔,๐๐๐ ตัว ซึ่งมีจำนวนทรานซิสเตอร์มากกว่ารุ่น ๘๐๘๘ และ ๘๐๘๖ ถึง ๔ เท่า โดยไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นนี้สามารถประมวลคำสั่งได้ระหว่าง ๙๐๐,๐๐๐ ถึง ๒.๖ ล้านคำสั่งต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่ารุ่น ๘๐๘๘ และ ๘๐๘๖ ระหว่าง ๓-๖ เท่า  บริษัทไอบีเอ็มได้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของอินเทล รุ่น ๘๐๒๘๖ ชื่อว่า รุ่นไอบีเอ็มพีซีเอที ซึ่งเครื่องพีซีเอทีนับว่าเป็นไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๒ ของบริษัทไอบีเอ็มเท่านั้นเนื่องจากเครื่องพีซีเอกซ์ทีถือว่าเป็นเครื่องรุ่นเดียวกับเครื่องพีซีแต่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เครื่องพีซีเอทีมีความเร็วมากกว่าเครื่องพีซีเอกซ์ทีประมาณ ๕ เท่าและใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็วถึง ๖ ล้านครั้งต่อวินาที  ใช้ฟล็อปปีดิสก์ขนาด ๕.๒๕ นิ้ว และสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๑.๒ ล้านตัวอักษร เครื่องรุ่นนี้ได้ใช้ระบบใหม่สำหรับการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างส่วนต่าง ๆ ของเครื่องหรือที่เรียกกันว่า บัส (bus) ให้มีขนาด ๑๖ บิต โดยมาตรฐานของบัสนี้มีชื่อว่า เอทีบัส (AT bus) หรือ ไอซาบัส (ISA bus) 
      เครื่องพีซีเอทีที่มีหน่วยความจำแบบชั่วคราว -แรม ขนาด ๕๑๒,๐๐๐ ตัวอักษรและฮาร์ดดิสก์ขนาด ๒๐ ล้านตัวอักษร มีราคาประมาณ ๖,๐๐๐ เหรียญสหรัฐและเครื่องพีซีเอทีสามารถใช้โปรแกรมทุก ๆ โปรแกรมของเครื่องพีซีได้ ครั้งนี้บริษัทคอมแพกใช้เวลาเพียง ๖ เดือนในการผลิตเครื่องโคลนของเครื่องพีซีเอทีซึ่งผลิตได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อมาถึงจุดนี้บริษัทที่ผลิตเครื่องโคลนของพีซีเอทีก็เริ่มผลิตเครื่องที่มีความเร็วกว่าเครื่องไอบีเอ็มพีซีเอทีแท้ ๆ โดยการใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็วขึ้น คือ ๘/๑๐/๑๒ ล้านครั้งต่อวินาที 

วิวัฒนาการทางซอฟต์แวร์ 

      ช่วงแรก ๆ ที่เครื่องไอบีเอ็มพีซีถูกผลิตออกมาก็มีโปรแกรมหลากหลายชนิดถูกผลิตออกมาแต่โปรแกรมที่มีส่วนสำคัญสำหรับความสำเร็จของเครื่องพีซีนั้น คือ โปรแกรมโลตัส ๑-๒-๓ ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมที่รวบรวมโปรแกรมสำหรับใช้ในการเรียงพิมพ์ สำหรับทางกราฟิก และสำหรับการบริหารฐานข้อมูล โดยผู้ใช้สามารถทำรายงาน ดูข้อมูล และวาดกราฟได้ ซึ่งได้เริ่มออกจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ หลังจากโปรแกรมนี้ออกมาได้ ๓ เดือน เครื่องไอบีเอ็มพีซีก็สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายได้ถึง ๓ เท่า ภายในปีแรกบริษัทโลตัสก็มียอดจำหน่ายมากถึง ๕๓ ล้านเหรียญสหรัฐและอีก ๑ ปีต่อมาก็มียอดจำหน่ายมากถึง ๑๕๗ ล้านเหรียญสหรัฐและมีลูกจ้างถึง ๗๐๐ คน  ส่วนโปรแกรมที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เครื่องแอปเปิลแมคอินทอชประสบความสำเร็จ ได้แก่ โปรแกรมเพจเมกเกอร์ (PageMaker) ซึ่งเมื่อใช้ด้วยกันกับเครื่องเลเซอร์ผู้ใช้จะมีความสามารถในการตีพิมพ์เสมือนเป็นโรงพิมพ์ขนาดเล็กโดยผู้ใช้สามารถจัดหน้ารายงานหรือหนังสือได้อย่างสารพัดรูปแบบโดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจ้างโรงพิมพ์แบบมืออาชีพในการทำรายงาน หรือหนังสือ  

      ยุคนี้ชุดคำสั่งควบคุมระบบถูกแบ่งออก เป็น ๒ อย่าง อย่างแรกจะเป็นวิธีใช้การพิมพ์คำสั่งเพื่อสั่งงานเครื่องซึ่งเครื่องระบบไอบีเอ็มพีซีและเครื่องโคลนทั้งหลายจะใช้ระบบนี้และอย่างที่ ๒ เป็นการสั่งงานเครื่องโดยใช้กราฟิกซึ่งไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทแอปเปิลรุ่นลิซาและแมคอินทอชจะใช้ระบบนี้  ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ บริษัทไมโครซอฟต์ได้ผลิตชุดคำสั่งควบคุมระบบแบบกราฟิกที่มีชื่อว่า ไมโครซอฟต์ วินโดวส์ ๑.๐ (Window 1.0) โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำให้เครื่องพีซีใช้งานอย่างเครื่องแอปเปิลแมคอินทอช แต่ปรากฏว่าไมโครโพรเซสเซอร์ของตระกูลพีซียังมีสมรรถภาพต่ำจึงทำให้การใช้งานช้าและไม่มีประสิทธิภาพอีกทั้งมีโปรแกรมอื่น ๆ น้อยมากที่จะสามารถใช้ควบคู่ไปกับวินโดวส์ได้จึงทำให้มีผู้ใช้น้อยมาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow