Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความสัมพันธ์ของประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ในด้านวรรณกรรม

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,257 Views

  Favorite

ความสัมพันธ์ของประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ในด้านวรรณกรรม

วรรณกรรมที่เป็นของราชสำนัก และของประชาชนมักจะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการศึกษาของมูลนาย หรือชนชั้นสูง จะผูกพันกับตำรับตำราที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมักจะเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น บาลี เขมร หรือสันสกฤต แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไป การศึกษาจะผูกพันอยู่กับนิทาน นิยาย ตำนาน เรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาด้วยปากเปล่า โดยไม่มีการจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ประชาชนรับรู้ และนับถือศาสนา ตามคำเทศนาของพระภิกษุ และตามความเชื่อที่ได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคน ในขณะที่การรับรู้อดีตในหมู่ของชนชั้นมูลนาย จะอยู่ในรูปของพระราชพงศาวดาร ศิลาจารึก แต่การรับรู้อดีตของไพร่ฟ้าประชาชน จะเป็นในรูปของตำนาน นิทานต่างๆ เป็นต้น 

 

เพลงโคราช
เพลงโคราช
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18

 

จากสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จึงทำให้วรรณกรรมราชสำนักแตกต่างจากวรรณกรรมของชาวบ้าน เนื่องจากวรรณกรรมราชสำนักเป็นวรรณกรรมที่เกิดในเมือง โดยเฉพาะเมืองหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นเนื้อหาจึงมักแวดล้อมด้วยเรื่องของกษัติรย์หรือเทพเจ้าที่สัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับกษัตริย์ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ หรือมีหน้าที่ทางศาสนา เช่น โองการแช่งน้ำ หรือกาพย์มหาชาติ แต่เมื่อศึกษาพัฒนาการของฉันทลักษณ์แล้ว จะเห็นว่า มีความสัมพันธ์กับกลอน หรือคำขับที่เป็นพื้นฐานของการขับลำนำเพลง หรือการเล่านิทานนิยายของชาวบ้านสามัญชน

ลักษณะของถ้อยคำที่เป็นคำคล้องจองจะพบในคำพูดในชีวิตประจำวันของประชาชนที่พู ออกมาโดยไม่รู้สึกตัว เช่น คำประเภท "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ซึ่งเป็นคำคล้องจองที่ค่อนข้างเก่าแก่ที่สุด ที่มีหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จที่ตราขึ้น ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ก็มีคำคล้องจอง เช่น ตัดตีนสิ้นมือ ยื้อยักผลักไส เป็นต้น 

คำคล้องจองเหล่านี้บางคำก็ยาวกว่านี้มาก เช่น อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ ลูกท่านเล่น ในสมัยโบราณเรียกวลีคล้องจองเหล่านี้รวมๆ ว่า "กลอน" ถ้าเป็นวลีคล้อยจองร้อยต่อกันไปเรื่อยๆ ก็เรียกว่า "กลอนร่าย" และเรียกวิธีส่งสัมผัสระหว่างวรรคนั้นว่า "สัมผัสกลอนร่าย" คำประพันธ์อย่างนี้มีเรียกแตกต่างกันไป เช่น ทางภาคอีสานเรียกว่า "เซิ้ง" เป็นต้น 

ลักษณะคำคล้องจองในชีวิตประจำวันเช่นนี้ ภายหลังจึงได้พัฒนาการขึ้นเป็นร่าย เป็นกาพย์ เป็นกลอนเพลง และคำประพันธ์อื่นๆ ที่กวีได้พัฒนาขึ้นมา จนกระทั่งเป็นกลอนบทละคร และกลอนแปด หรือกลอนสุภาพอย่างกลอนสุนทรภู่ และในขณะที่กลอนร่ายมีพัฒนาการเข้าไปในราชสำนัก แต่ลักษณะของกลอนเพลงยังเป็นที่นิยมอยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยมีพัฒนาการอยู่ในเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองทั้งหลาย เช่น เพลงปรบไก่ เพลงเทพทอง เพลงโคราช ฯลฯ 

การเล่นเพลง หรือการขับลำนำของชาวบ้านนั้น แรกทีเดียวคงเป็นการโต้ตอบกันระหว่างหญิงชาย มิได้จับเรื่อง เพียงแต่ร้องแก้กันไปมา ทำนองเกี้ยวพาราสี ต่อมาก็มีพัฒนาการอย่างง่ายๆ เล่นเป็นชุด เช่น ขับลำโต้ตอบ ชุดชิงชู้ ลักหาพาหนี และตีหมากผัว เป็นต้น ลักษณะของการเล่นเรียกว่า "ละคร" คงเกิดขึ้นจากการผสมผสานกันระหว่างการขับลำกับการเล่านิทาน และเมื่อการเล่นในลักษณะนี้แพร่หลายแล้ว ราชสำนักก็รับรูปแบบไปพัฒนาขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมที่รับมาจากต่างชาติ จึงเกิดมีละครในราชสำนักขึ้นมา แล้วเรียกให้ต่างกันภายหลังว่า "ละครใน" เรียกละครที่ชาวบ้านเล่นว่า "ละครนอก" ซึ่งมีเนื้อหามาจากนิทานพื้นบ้าน หรือชาดกท้องถิ่นอย่างปัญญาสชาดก หรือผูกเรื่องขึ้นเอง เช่น สังข์ทอง คาวี พระรถเมรี 

จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างของวรรณกรรมราชสำนัก และของชาวบ้าน มิใช่เป็นการแบ่งแยกแตกต่างที่ขาดความสัมพันธ์กัน บางส่วนของวัฒนธรรมราชสำนัก ก็แพร่กระจายไปสู่ชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ที่จะอ่านวรรณกรรมลายลักษณ์ของราชสำนักได้ ก็สามารถซึมซับเรื่องราวต่างๆ ของชนชั้นมูลนายได้จากการฟัง การเทศน์มหาชาติ การแหล่ที่แทรกเรื่องชาดกของพระภิกษุได้ เรื่องราวชาดกก็ได้รับการดัดแปลงกลายเป็นนิทานพื้นบ้าน หรือการแสดงของชาวบ้านต่อไป 

ในขณะเดียวกันบางส่วนของวรรณกรรมชาวบ้าน แต่มูลนายนำไปดัดแปลง เช่น นิทานบางเรื่องในปัญญาสชาดก ก็เคยเป็นนิทานพื้นเมืองของประชาชนมาก่อน ที่ชนชั้นมูลนายจะนำไปแต่งเป็นเรื่องราว สำหรับแสดงหนังใหญ่ เช่น เรื่องสมุทรโฆษ ซึ่งเป็นตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการหยิบยืม รับส่งอิทธิพล ระหว่างประเพณีราษฎร์ และประเพณีหลวง ดังจะเห็น อิทธิพลได้จากทั้งในด้านเนื้อหา และฉันทลักษณ์ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่รู้จักกันดี ก็มีกำเนิดในวรรณกรรมของประชาชนมาก่อน และได้รับการเอาใจใส่จากราชสำนึกถึงกับรัชกาลที่ ๒ ทรงพระราช นิพนธ์เสภาเอง ทั้งโปรด ฯ ให้กวีราชสำนักแต่งเสภาขึ้นหลายตอน ประเพณีการขับเสภาที่ชาวบ้านใช้กรับเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเพียงอย่างเดียว ก็ได้รับการพัฒนาจากราชสำนักให้มีปี่พาทย์เข้ามาเล่นประกอบ ดังที่เห็นเล่นกันอยู่ในปัจจุบัน

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow