Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย (Network Data Mode)

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,331 Views

  Favorite

แบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย (Network Data Mode) 

      แบบจำลองข้อมูลนี้ถูกเสนอขึ้นโดยกลุ่มโคดาซิล (CODASYL Database Task Group) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ บางคนจึงเรียกแบบจำลองนี้ว่า ดีบีทีจี (DBTG Mode) โครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ระเบียน (Record) และเซต (Sets) โดยที่ระเบียนสำหรับแบบจำลองนี้คือที่เก็บรวบรวมข้อมูล ระเบียนแต่ละอันจะประกอบด้วยกลุ่มของค่าต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันมีลักษณะเหมือนกับระเบียนของแบบจำลองข้อมูลเชิงลำดับชั้นส่วนเซต คือ ความสัมพันธ์แบบ ๑ ต่อมาก (1:N relationship) ระหว่าง ๒ ระเบียนใด ๆ เซตหนึ่งจะประกอบ ด้วย ๓ ส่วน คือ

      ๑. ชื่อของเซต

      ๒. ชนิดของ ระเบียนที่เป็นเจ้าของ (Owner of set type) 

      ๓. ชนิดของระเบียนที่เป็นสมาชิกของเซต (Member of set type) 


      ตัวอย่างแสดงระเบียนและเซตซึ่งมี ๒ ระเบียน ได้แก่ ระเบียนวิชาและระเบียนนักศึกษาและ ๒ เซต ได้แก่ เซตลงทะเบียนเรียนซึ่งมีระเบียนวิชาเป็นระเบียนเจ้าของและมีระเบียนนักศึกษาเป็นระเบียนสมาชิกแสดงความสัมพันธ์ว่าวิชาหนึ่ง ๆ มีนักศึกษาคนใดลงทะเบียนเรียนบ้าง ข้อสังเกตการกำหนดเซตนี้จะทำให้เกิดข้อจำกัดที่ว่านักศึกษาแต่ละคนลงทะเบียนเรียนได้คนละ ๑ วิชาเท่านั้น ส่วนเซตผู้ช่วยสอนในวิชานั้นระเบียนเจ้าของและระเบียนสมาชิกตรงกันข้ามกับเซตแรกแสดงความสัมพันธ์ว่านักศึกษาคนใดเป็นผู้ช่วยสอนในวิชาใดบ้าง

 

ระบบฐานข้อมูล
แสดงระเบียนและเซตของแบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย

 

      เซตจะแตกต่างกับความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกในลักษณะที่ว่า ระเบียนที่เป็นเจ้าของและระเบียนสมาชิกในเซตหนึ่งจะสามารถกลับไปเป็นระเบียนสมาชิกและระเบียนเจ้าของในอีกเซตหนึ่งได้ตามลำดับ แต่ระเบียนที่เป็นพ่อและเป็นลูกจะไม่สามารถกลับเป็นลูกและเป็นพ่อตามลำดับได้ในอีกความสัมพันธ์หนึ่ง เซตจึงมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่าในจุดนี้  สำหรับความสัมพันธ์แบบ ๑ ต่อ ๑ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสามารถใช้เซตได้เพียงแต่เพิ่มข้อบังคับเข้าไปอีกอย่างว่าระเบียนที่เป็นสมาชิกจะมีได้เพียง ๑ ตัวเท่านั้น ต่อ ๑ ระเบียนเจ้าของ ส่วนความสัมพันธ์แบบมากต่อมากต้องมี การสร้างระเบียนใหม่ขึ้นมาอีก ๑ ระเบียนและสร้างเซตขึ้นมาอีก ๒ เซต โดยให้ระเบียนใหม่เป็นระเบียนสมาชิกของทั้งสองเซตและระเบียนเดิมในความสัมพันธ์แบบมากต่อมากนั้นเป็นระเบียนเจ้าของเซตทั้งสอง ดังแสดงในตัวอย่างการแทนความสัมพันธ์แบบมากต่อมาก 

ข้อบังคับของแบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย 

๑. ทางเลือกแบบแทรก (Insertion Option) 

      เป็นข้อบังคับสำหรับระเบียนสมาชิกหนึ่ง ๆ ของเซตหนึ่งที่เพิ่งจะถูกเพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูลว่าควรจะถูกจัดไว้ตรงจุดไหน แบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ แบบอัตโนมัติ (Automatic) และแบบทำเอง (Manual) สำหรับแบบอัตโนมัตินั้นสมาชิกใหม่จะถูกจัดให้ไปอยู่กับเซตที่เหมาะสมอัตโนมัติ  ส่วนแบบทำเองนั้นสมาชิกใหม่จะไม่ถูกต่อเข้ากับเซตใด ๆ เลยเมื่อผู้ใช้ต้องการจะให้ไปอยู่ที่ตรงจุดไหนก็สามารถทำได้ในเวลาต่อมาด้วยการใช้คำสั่งต่อ (Connect) 
๒. ทางเลือกแบบเป็นเจ้าของ (Retention Option) 
      เป็นข้อบังคับที่กำหนดว่าระเบียนสมาชิกหนึ่ง ๆ นั้นจะสามารถอยู่เดี่ยว ๆ ได้โดยไม่ต้องต่อกับระเบียนเจ้าของใด ๆ เลยได้หรือไม่ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ แบบเลือกได้ (Optional) แบบบังคับ (Mandatory) และ แบบจำกัด (Fixed) โดยที่ถ้าเป็นแบบเลือกได้หมายความว่าระเบียนสมาชิกอยู่โดด ๆ ได้  ถ้าเป็นแบบบังคับหมายความว่าระเบียนสมาชิกไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่โดด ๆ จะต้องต่ออยู่กับระเบียนเจ้าของตลอดเวลาโดยที่สามารถเปลี่ยนระเบียนเจ้าของได้แต่ถ้าเป็นแบบจำกัดจะมีลักษณะคล้ายกับแบบบังคับแต่ไม่สามารถเปลี่ยนระเบียนเจ้าของได้เลยหลังจากที่ได้ต่อเข้ากับระเบียนเจ้าของหนึ่งแล้ว
ข้อบังคับทั้งสองแบบนี้เมื่อนำมาใช้งานร่วมกันจริง ๆ แล้วจะมีเพียง ๓ แบบเท่านั้นที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ ได้แก่ 
      ๑. การแทรกแบบทำเองร่วมกับการเป็นเจ้าของแบบเลือกได้ 
      ๒. การแทรกแบบอัตโนมัติร่วมกับการเป็นเจ้าของแบบบังคับ 
      ๓. การแทรกแบบอัตโนมัติร่วมกับการเป็นเจ้าของแบบจำกัด 

ภาษาจัดดำเนินการแบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย 

      ขั้นแรกต้องระบุคำสั่งค้นหา (Find) เพื่อค้นหาระเบียนที่น่าสนใจว่ามีหรือไม่ ถ้ามีอยู่ที่ไหนและเมื่อหาพบแล้วจึงใช้คำสั่งนำออกมา (Get) เพื่อจะดึงข้อมูลระเบียนนั้นออกมาจากฐานข้อมูล อย่างไรก็ตามภาษาที่ใช้สำหรับแบบจำลองข้อมูลนี้เป็นภาษาขั้นต่ำเช่นเดียวกับภาษาจัดดำเนินการของแบบจำลองข้อมูลเชิงลำดับชั้น ตัวอย่างของ ภาษาประเภทนี้ คือ

 

ระบบฐานข้อมูล

 

      นอกจากคำสั่งค้นหา (Find) และคำสั่งนำออกมา (Get) แล้วก็ยังมีคำสั่งอื่น ๆ อีก ได้แก่ คำสั่งจัดเก็บ (Store) คำสั่งลบทิ้ง (Erase) คำสั่งลบออกทั้งหมด (Erase All) คำสั่งเปลี่ยนแปลง (Modify) คำสั่งต่อ (Connect) คำสั่งยกเลิกการต่อ (Disconnect) คำสั่งต่ออีกครั้ง (Reconnect) ตัวอย่างของระบบจัดการฐานข้อมูลที่มีใช้และจำหน่ายในท้องตลาดและมีพื้นฐานเป็นแบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่ายคือ ทิอินทิเกรตเท็ด เดทาเบส แมเนจเมนต์ (the Integrated Database Management System : IDMS) ไอดีเอส ทู ของฮันนีเวลล์ (IDS II of Honeywell) ดีเอ็มเอส ทู ของเบอร์โรส (DMS II of Burroughs) ดีเอ็มเอส ๑๑๐๐ ของ ยูนิแว็ก (DMS 1100 of UNIVAC) แว็กซ์ - ดีบีเอ็มเอส ของดิจิทัล อีควิปเมนต์ (VAX-DBMS of Digital Equipment) และอิมเมจของฮิวเล็ตต์ แพกการ์ด (IMAGE of Hewlett-Packard) เป็นต้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow