Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เครื่องมือ วัสดุ และกระบวนการผลิตทองรูปพรรณ

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,440 Views

  Favorite

เครื่องมือ วัสดุ และกระบวนการผลิตทองรูปพรรณ

ในการผลิตชิ้นงานของทองรูปพรรณให้เป็นเครื่องประดับชนิดต่างๆ จำเป็นต้องมีเครื่องมือ วัสดอุปกรณ์ และการผลิตที่เป็นขั้นตอน โดยเครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ส่วนใหญ่ มักใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยคือ อาศัยเครื่องมือไฟฟ้าเข้าช่วย เช่น เครื่องเจาะ และเครื่องปั๊มขึ้นรูป เครื่องมือเหล่านี้เพียงช่วยชิ้นงานได้มาตรฐาน และมีขนาดตรงตามที่ต้องการมากขึ้น แต่ก็ยังต้องผ่านกระบวนการตกแต่งอีก ในปัจจุบันการผลิตชิ้นงานทองรูปพรรณ มีแนวโน้มจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยการนำเครื่องจักรอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น เช่น เครื่องรีดทอง ปั๊มขึ้นรูป แกะสลัก เจาะ ขัด ฯลฯ เมื่อผลิตชิ้นงานได้แล้ว ก็จัดระบบการตลาดสมัยใหม่ โดยใช้สื่อต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ แต่พื้นฐานการผลิตทองรูปพรรณที่ถือว่า เป็นงานหัตถศิลป์ ที่สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังจำเป็นต้องมีเครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการผลิต ดังนี้คือ 

๑. โต๊ะทำทอง 
โดยทั่วไปโต๊ะทำทอง มีความสูงจากพื้น ๗๕ - ๘๐ เซนติเมตร หรือแล้วแต่ความสะดวกสบายของช่างทอง เมื่อนั่งบนเก้าอี้ที่มีความสูงประมาณ ๔๕ เซนติเมตร ความสะดวกสบายนี้หมายถึง ในการนั่ง สรีระของร่างกาย เช่น ขา แขน มือ สะดวกต่อการหยิบจับอุปกรณ์และใช้เครื่องมือทำทองต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว โดยทั่วไปโต๊ะทำทองมีความยาวประมาณ ๙๐ - ๑๐๐ เซนติเมตร กว้าง ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร มีลิ้นชัก ๑ - ๒ ตัว เพื่อใช้เก็บเครื่องมือและอุปกรณ์บางชนิด รวมทั้งรองรับผงทองด้วย ด้านบนของโต๊ะทำทองอาจเป็นพื้นเรียบทั้งหมด หรือทำเป็นช่องเล็กๆ ด้านบน หรือด้านข้าง โดยใช้ไม้ซอยเป็นเส้นหนาประมาณ ๑ เซนติเมตร ความยาวแล้วแต่ความกว้าง หรือยาวตามสัดส่วนของโต๊ะ เมื่อได้ไม้ซอยแล้ว จึงนำมาตีเข้ากับด้านบนของโต๊ะ เพื่อกั้นเป็นช่องเล็กๆ โดยมีความกว้างจากขอบโต๊ะประมาณ ๑๐ เซนติเมตร จะกั้นขวางกี่ช่อง แล้วแต่ความต้องการของช่างทอง สำหรับวางอะไหล่ชิ้นงาน และเครื่องมือบางอย่าง ที่จะอำนวยความสะดวกในการทำทอง ซึ่งช่างทองที่ชำนาญจะเป็นผู้ออกแบบด้วยตนเอง 

 

การผลิตชิ้นงานทองรูปพรรณ โดยใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรม
การผลิตชิ้นงานทองรูปพรรณ โดยใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรม
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๒. เครื่องมือเป่าแล่นและหลอมทอง 
ในการทำทองรูปพรรณ เครื่องมือที่จำเป็นมากในการผลิตงานคือ เครื่องเป่าไฟด้วยลม ให้เนื้อทองหลอมละลาย เพื่อให้ชิ้นงานทองเชื่อมติดเข้าด้วยกัน และเครื่องเป่าแล่น เพื่อให้ชิ้นงานอ่อนตัว ง่ายต่อการเคาะขึ้นรูป ดัด หรือหลอมละลาย สะดวกในการเททองลงแบบพิมพ์ต่างๆ ตามต้องการ เครื่องเป่าแล่นประกอบด้วย หีบลมใช้เท้าเหยียบ เพื่อให้เกิดลมลงไปในถังน้ำมันเบนซิน และขับแก๊สที่ได้จากน้ำมัน ออกมาจากถังส่งต่อไปตามท่อยาง ถึงหัวเป่าแล่นจะมีรูเล็ก พร้อมปุ่มปรับปริมาณของแก๊ส ให้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าช่างทองต้องการให้เกิดความร้อนตรงหัวเป่าแล่นมากน้อยเพียงใด วิธีการใช้ เริ่มจากช่างทองเหยียบหีบลมให้เกิดแรงดันของแก๊ส จากน้ำมันเบนซิน ส่งผ่านท่อถึงหัวเป่า จากนั้นจุดไฟที่ปลายหัวเป่า ปรับเปลวไฟตามที่ต้องการ เปลวไฟจะเป็นสีน้ำเงินปลายเรียวแหลมและให้ความร้อนมาก และต้องเหยียบหีบลมตลอดเวลาที่ใช้งาน เครื่องเป่าแล่นจะวางอยู่ใต้โต๊ะทำงาน และต่อสายยางที่เป็นท่อนำแก๊สพร้อมหัวเป่าวางอยู่บนโต๊ะทำงาน 
๓. อุปกรณ์และเครื่องมือตีทอง 
ในการทำทองจำเป็นต้องตีทอง เพื่อให้ชิ้นงานขึ้นรูปตามต้องการ ซึ่งมีอุปกรณ์ หรือเครื่องมือ ที่สำคัญคือ ทั่ง ค้อน 
๔. เครื่องมือชักลวด 
การชักลวดเป็น การทำทองให้เป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ เครื่องมือชักลวดประกอบด้วย คีม แป้นชักลวด กว้านชักลวด ขี้ผึ้ง 

 

แป้นชักลวด
แป้นชักลวด
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๕. เครื่องมือสำหรับแกะทอง 
ในการผลิตทองรูปพรรณที่มีความหลากหลายของชิ้นงาน ทั้งส่วนที่เป็นลวดลาย ซึ่งปรากฏลงบนชิ้นงาน หรือลวดลายของส่วนประกอบที่ประดับลวดลายต่างๆ นั้น เกิดจากการแกะทอง ซึ่งมีเครื่องมือและอุปกรณ์สำคัญคือ แท่นรองแป้นแกะทอง แป้นแกะทอง ค้อนไม้ สิ่วแกะ เหล็กตุ๊ดตู่ สิ่วลักษณะเฉพาะ 
๖. เครื่องมือจับและตัดทอง 
ได้แก่ คีม และกรรไกร มีหลายลักษณะและหลายขนาดตามลักษณะงานที่จำเป็นต้องใช้ คีมจับ กรรไกร 
๗. เครื่องมืออื่นๆ ที่มีส่วนในการทำทองรูปพรรณ 
เพื่อใช้ประกอบ ขึ้นรูปเทียบขนาด ขัดถู และตกแต่งชิ้นงานให้ดูประณีตสวยงาม เช่น ไม้พันทอง ตะไบ หินขัดทอง แปรงปัดทอง เบ้าแบบทอง กะลาแต่งทอง แป้นวัดส่วนโค้ง เครื่องชั่ง 
๘. วัสดุอื่นๆ 
นอกเหนือจากเนื้อทองคำ อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ แล้ว ในการทำทองรูปพรรณยังต้องใช้วัสดุอื่นๆ อีก คือ น้ำยาล้างทอง ผงลงยาและน้ำประสานทอง

 

การเตรียมลงสี (ลงยา) ทองรูปพรรณ
การเตรียมลงสี (ลงยา) ทองรูปพรรณ เพื่อเพิ่มสีสันให้ดูแวววาวและสวยงาม
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow