Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบปฏิบัติการ

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,807 Views

  Favorite

ระบบปฏิบัติการ 

      เครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยตัวเครื่อง คีย์บอร์ด จอภาพ เมาส์ ลำโพง ฯลฯ ส่วนประกอบเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้เลยหากขาดชุดคำสั่งงานที่จะสั่งให้เครื่องทำงาน ชุดคำสั่งงานดังกล่าวเรียกว่า "ซอฟต์แวร์" ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่จัดการและควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เป็นไปตามที่ผู้ใช้ต้องการ เรียกว่า "ระบบปฏิบัติการ" หรือ "Operating System" หน้าที่ของระบบปฏิบัติการที่สำคัญ คือ การจัดแบ่งทรัพยากร (Allocation and Assignment) การกำหนดตารางการทำงาน (Scheduling) และการตรวจสอบการทำงาน (Monitoring)  

      การจัดแบ่งทรัพยากร หมายถึง ระบบปฏิบัติการจะจัดสรรทรัพยากรที่เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมีอยู่ให้แก่ระบบการทำงานต่าง ๆ ในการประมวลผลคำสั่งงานโดยจัดสรรเนื้อที่ในหน่วยความจำหลักให้แก่ข้อมูล โปรแกรม และควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ที่ต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์ เช่น เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ต่อพ่วง เป็นต้น 
      การกำหนดตารางการทำงาน หมายถึง ระบบปฏิบัติการจะเป็นผู้คอยกำหนดลำดับการทำงานให้แก่งานต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามาให้หน่วยประมวลผลกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ในขณะที่โปรแกรมหนึ่งกำลังทำงานระบบปฏิบัติการก็จะเป็นผู้คอยจัดตารางการใช้อุปกรณ์นำข้อมูลเข้า เช่น คีย์บอร์ดและการแสดงผลลัพธ์ เช่น จอภาพ เป็นต้น
      การตรวจสอบการทำงาน หมายถึง ระบบปฏิบัติการจะเป็นผู้คอยตรวจสอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ในระบบโดยจะเก็บรายการที่แต่ละงานทำอยู่ รายการใช้งานที่กำลังประมวลผลอยู่และรายการที่กำลังเข้าสู่ระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต
      ระบบปฏิบัติการมีหลายประเภทซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องคอมพิวเตอร์และวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น เมนเฟรม (Mainframe) หรือมินิคอมพิวเตอร์ (Minicomputer) มักจะใช้ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชใช้ระบบปฏิบัติการ ดอส (Dos) ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๙๕ (Windows 95) ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๙๘ (Windows 98) หรือระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux)

 

ระบบปฏิบัติการ
หน้าจอระบบปฏิบัติการแมคโอเอสที่ใช้บนเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช

 

ระบบปฏิบัติการดอส

      ระบบปฏิบัติการดอสเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ระดับไมโครคอมพิวเตอร์ การใช้งานระบบปฏิบัติการดอสนั้นผู้ใช้ต้องพิมพ์คำสั่งลงไป เช่น ถ้าต้องการดูรายชื่อแฟ้มข้อมูลที่จัดเก็บอยู่บนฮาร์ดดิสก์ของเครื่องผู้ใช้ก็ต้องพิมพ์คำสั่งในการดูชื่อแฟ้มข้อมูลลงไประบบปฏิบัติการจึงจะทำงานในแต่ละคำสั่งนั้น คำสั่งของระบบปฏิบัติการดอสแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ คำสั่งภายใน (internal command) และคำสั่งภายนอก (external command) 
      คำสั่งภายใน คือ คำสั่งที่สามารถเรียกใช้งานได้ทันทีเนื่องจากคำสั่งจะถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำสำรองตั้งแต่เมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งที่เรียกใช้งานบ่อย ๆ ตัวอย่างเช่น คำสั่งดูรายชื่อแฟ้มข้อมูล "dir" คำสั่งลบแฟ้มข้อมูล "del ตามด้วยชื่อแฟ้มข้อมูล" เป็นต้น 
      คำสั่งภายนอก คือ คำสั่งที่เรียกโปรแกรมที่เก็บไว้มาทำงานเนื่องจากโปรแกรมเหล่านี้ไม่มีการใช้งานบ่อยเหมือนกับคำสั่งภายในโดยโปรแกรมที่เรียกทำงานได้จะต้องเป็นโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น com exe และ bat เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีลำดับการทำงานอีกด้วยกล่าว คือ โปรแกรมที่มีชื่อเดียวกับระบบปฏิบัติการดอสจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น com ก่อนถ้าไม่มีจึงจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น exe และถ้าไม่มีทั้งสองส่วนขยายข้องต้นจึงจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น bat  

      ข้อจำกัดของระบบปฏิบัติการดอสมีหลายประการ คือ ระบบปฏิบัติการดอสไม่สามารถทำงานแบบหลาย ๆ งานพร้อมกันได้และจำกัดเนื้อที่หน่วยความจำเพียง ๖๔๐ กิโลไบต์  นอกจากนี้การใช้งานระบบปฏิบัติการดอสผู้ใช้จะต้องจำคำสั่งต่าง ๆ ในการใช้งานจำนวนมากเพื่อเรียกใช้โปรแกรมเพียง ๑ โปรแกรม ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์มีความยุ่งยากระบบปฏิบัติการดอสจึงไม่เป็นที่นิยมใช้กันแล้วในปัจจุบันนี้  ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาโปรแกรมโดยออกแบบส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่ใช้รูปภาพแทนคำสั่งขึ้นมาที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "โปรแกรมวินโดวส์"

 

ระบบปฏิบัติการ
ระบบปฏิบัติการดอสซึ่งผู้ใช้จะต้องรู้คำสั่งที่ต้องการใช้งานด้วยในปัจจุบันระบบนี้ไม่ได้รับความนิยมแล้ว

 

โปรแกรมวินโดวส์ 

      โปรแกรมวินโดวส์ยังไม่จัดว่าเป็นระบบปฏิบัติการเพราะโปรแกรมวินโดวส์จะทำงานได้นั้นจำเป็นต้องมีระบบปฏิบัติการดอสมารองรับก่อนนั่นเอง แต่การใช้ซอฟต์แวร์บนโปรแกรมวินโดวส์เน้นการใช้งานที่เข้าใจง่าย ผู้ใช้เรียนรู้การใช้งานได้รวดเร็วเนื่องจากโปรแกรมได้ถูกออกแบบให้มีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (Graphical User Interface) โดยใช้สัญรูปหรือที่เรียกว่า ไอคอน (Icon) เพื่อให้แสดงระบบงานต่าง ๆ ที่ประมวลผลบนโปรแกรมวินโดวส์นี้ ผู้ใช้สามารถสั่งงานโดยใช้เมาส์มากดที่สัญรูปเหล่านั้นก็จะสามารถเข้าสู่โปรแกรมได้โดยไม่จำเป็นต้องจำคำสั่งเรียกใช้งานระบบปฏิบัติการดอสเหมือนแต่ก่อน  การทำงานของโปรแกรมวินโดวส์สามารถใช้งานหลายโปรแกรมได้ในเวลาเดียวกันโดยทุกโปรแกรมที่เรียกใช้งานจะมีการเปิดหน้าต่างของตัวเองเพื่อทำงานขึ้นมา ๑ หน้าต่าง เพื่อความสะดวกในการใช้งานแต่ละโปรแกรมและสามารถนำโปรแกรมเดิมที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการดอสมาใช้งานบนโปรแกรมวินโดวส์ได้


ส่วนประกอบของโปรแกรมวินโดวส์มีดังนี้ 

  • คอนโทรลเมนูบ็อกซ์ (Control Menu Box) วางอยู่บนมุมซ้ายของหน้าจอ คอนโทรลเมนูบ็อกซ์ใช้เป็นคำสั่งในการย้ายหน้าต่าง การย่อ หรือขยายหน้าต่าง 
  • ไตเติลบาร์ (Title Bar) อยู่แถบบน ใช้แสดงชื่อของโปรแกรมที่กำลังทำงานอยู่ 
  • สกรอลล์บาร์ (Scroll Bar) วางอยู่ด้านข้างและด้านล่างของหน้าจอ  ใช้ในการเลื่อนดูส่วนอื่นของโปรแกรมที่มีอยู่ในวินโดวส์

      วินโดวส์เป็นโปรแกรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งงานได้ทั้งทางแป้นพิมพ์และเมาส์แต่การใช้งานด้วยเมาส์บนวินโดวส์จะง่ายกว่าการใช้แป้นพิมพ์และยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงโปรแกรมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วย ดังนั้นการสั่งงานบนวินโดวส์สามารถทำได้หลายวิธี คือ สั่งงานผ่านบนเมนู สั่งงานผ่านสัญรูปหรือใช้คีย์ลัด

 

ระบบปฏิบัติการ
โปรแกรมในแฟ้ม Main ของวินโดวส์ ซึ่งแต่ละโปรแกรมจะแสดงด้วยสัญรูป (Icon)

 

ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux)

      ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เป็นระบบปฏิบัติการแบบ ๓๒ บิต ที่พัฒนาขึ้นมาให้คล้ายระบบปฏิบัติการยูนิกซ์แต่สามารถทำงานได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล กล่าวคือสามารถใช้งานได้พร้อมกันหลาย ๆ คนและผู้ใช้แต่ละคนทำงานได้หลาย ๆ งานพร้อมกันรวมทั้งมีความสามารถในการทำงานทั้งในรูปแบบเท็กซ์ (text) และกราฟิก  ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ที่แท้จริงนั้นมีเพียงตัวแกนกลางของระบบ (Kernel) เท่านั้นที่เป็นตัวควบคุมการทำงานและจัดสรรทรัพยากรในระบบ เช่น หน่วยประมวลผลกลาง หน่วยความจำ การจัดการไฟล์และอุปกรณ์ เป็นต้น แต่เรามักจะเรียกโปรแกรมประยุกต์เพิ่มเติมอื่น ๆ ที่เข้ามารวมอยู่ทั้งหมดว่าระบบปฏิบัติการลีนุกซ์  นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมประยุกต์ที่สามารถใช้งานเพิ่มเติมบนระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ได้ เช่น โปรแกรมสำหรับงานธุรกิจซึ่งสามารถทำงานได้ตั้งแต่ตารางคำนวณ โปรแกรมประมวลผลคำ ฐานข้อมูล โปรแกรมนำเสนอข้อมูล เช่นเดียวกับโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 

      จุดเด่นของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ คือ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เป็นโปรแกรมที่พัฒนาภายใต้กรอบกติกาที่เรียกว่า General Public License หรือเรียกย่อว่า GPL กล่าวคือระบบปฏิบัติการลีนุกซ์จะเปิดเผยซอร์สโค้ด (Source Code) สำหรับผู้ที่ต้องการจะนำไปพัฒนาต่อแต่ผู้ที่นำไปพัฒนาต่อแล้วนั้นจะต้องเปิดเผยซอร์สโค๊ดเพื่อให้ผู้อื่นนำไปใช้งานได้ต่อไปอีกด้วย ลีนุกซ์จึงเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้งานได้ฟรีสามารถทำงานได้รวดเร็วแม้ว่าจะทำงานได้หลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เพราะระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ได้รับการออกแบบให้ใช้งานอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ทุกอย่างของเครื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นการจัดการหน่วยความจำเสมือน (Virtual Memory) การจัดการทำงานแบบหลาย ๆ งานพร้อม ๆ กัน (Multitasking) การใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการดอสและระบบปฏิบัติการวินโดวส์และความสามารถในการใช้แฟ้มข้อมูลร่วมกับระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ได้  

      ความต้องการทรัพยากรของระบบขั้นต่ำที่ลินุกซ์สามารถทำได้ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีหน่วยประมวลผลกลาง รุ่น ๘๐๓๘๖/ sx หน่วยความจำ ๔ เมกะไบต์ ฟล็อปปีดิสก์ ขนาด ๑.๔๔ หรือ ๑.๒ เมกะไบต์ จอภาพแบบ โมโนโครม ฮาร์ดดิสก์อย่างน้อย ๕๐๐ เมกะไบต์ แต่ถ้าต้องการเล่นกราฟิกโดยใช้ X Window ควรมีหน่วยความจำตั้งแต่ ๘-๑๖ เมกะไบต์ขึ้นไป นับตั้งแต่โปรแกรมวินโดวส์ ๓.๑๑ ที่ต่อมาได้พัฒนาเพิ่มเติมเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๙๕ จนถึงระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๙๘ และรุ่นล่าสุด คือ ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๒๐๐๐ ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ถือได้ว่าเป็นระบบของคนรุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาโดยศึกษาในยุคอินเทอร์เน็ตมีการเผยแพร่และเติบโตผ่านทางอินเทอร์เน็ตมาเป็นเวลานานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow