Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นาฎศิลป์ไทย

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
3,723 Views

  Favorite

นาฎศิลป์ไทย

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

เมื่อเด็กน้อยคนหนึ่งมานั่งตรงหน้า และแบมือยื่นตรงมาหาเรา เรารู้ว่า เขากำลังขออะไรอย่างหนึ่ง
ถ้าเราเห็นผู้ใหญ่กวักมือ เรารู้ว่า ท่านเรียกให้ไปหา
ถ้าท่านโบกมือออกจากตัว เรารู้ว่า ท่านสั่งให้เราออกไป 
ตำรวจจราจรเหยียดแขน และตั้งฝ่ามือขึ้นเป็นมุมฉากกับท่อนแขน เรารู้ว่า ตำรวจสั่งให้รถหยุด
มือจึงเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่สามารถแสดงท่าทางสื่อความหมายแทนคำพูดได้
ศีรษะและสีหน้าท่าทาง ก็แสดงความคิด และความรู้สึกได้
พยักหน้าหมายความว่า เห็นด้วย ยอมรับ ตกลง
สั่นศีรษะหมายถึง การปฏิเสธ
บางครั้งเมื่อเราดีใจ เรากระโดดโลดเต้น
เมื่อเราโกรธ เรากระทืบเท้า
เมื่อใดก็ตาม ศีรษะ คอ ลำตัว เอว แขน มือ ขา เท้า อวัยวะทุกส่วนของร่างกายเคลื่อนไหวรับกันงดงาม ท่วงท่าสอดคล้องกับทำนอง และจังหวะดนตรี สื่อความหมาย ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกได้ การแสดงท่ารำเหล่านี้ เรียกว่า นาฎศิลป์

 

นาฎศิลป์ มี ๒ ประเภท คือ ระบำ และ ละคร
ระบำ เป็นการร่ายรำตามจังหวะ และเพลงที่พร้อมเพรียงงดงาม ดูแล้วเพลิดเพลิน สนุกสนาน มีระบำเดี่ยว ระบำคู่ และระบำหมู่

ละคร คือ การแสดงรำที่เป็นเรื่องราว
ละครไทยแท้ ได้แก่ ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ โขน
ส่วนละครที่รับแบบอย่างมาจากประเทศทางตะวันตก ได้แก่ ละครร้อง ละครพูด ละครพูดสลับลำ ละครสังคีต
นาฎศิลป์เป็นศิลปะและวัฒนธรรมไทย เราต้องเห็นคุณค่าและบำรุงรักษาไว้ให้รุ่งเรือง

 

นาฎศิลป์ เป็นศิลปวัฒนธรรมสาขาหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นชาติ ที่เจริญรุ่งเรืองของไทยเรา ความงดงามของท่าร่ายรำตามจังหวะ และทำนองเพลง ตลอดจนการแสดงสื่อความหมายด้วยบทเจรจา ท่าทาง และคำร้องเป็นลำนำ ช่วยให้ผู้ชมได้ชื่นบานสนุกสนาน ได้อิ่มเอมกันสุนทรียรส และเกิดอารมณ์คล้อยตามไปกับการแสดง นาฎศิลป์ไทยจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่ปู่ ยา ตา ยาย ได้ถ่ายทอดไว้ให้ สมควรที่เยาวชนทั้งหลายควรสนใจรับสืบทอด และรักษาไว้เป็นศรีสง่าของชาติไทยสืบไป

ท่วงท่าของการร่ายรำนั้น เกิดขึ้นจากอิริยาบถต่างๆ ของคนในชีวิตประจำวันนั้นเอง แม้ว่ามือและแขนจะเป็นส่วนสำคัญ ของการรำ แต่อวัยวะทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นศีรษะ หน้า คอ ลำตัว เอว ขา และเท้า ก็ต้องเคลื่อนไหวรับสัมพันธ์กันทุกส่วน จึงจะแลดูงาม และสื่อความหมายได้ดี การแสดงท่ากวัก โบกสะบัด จีบคว่ำ จีบหงาย ร้องไห้ อิ่มเอม โกรธ ขับไล่ ฯลฯ ล้วนแต่มีท่ารำที่สวยงาม และดูได้เข้าใจชัดเจนทั้งสิ้น

เนื่องจากการร่ายรำ เป็นศิลปะขั้นสูง ผู้ที่จะรำเป็น จึงต้องได้รับการฝึกหัด และฝึกฝนอย่างจริงจัง จึงจะดูนิ่มนวล กลมกลืน และงามสง่า ครูนาฎศิลป์โบราณได้ประดิษฐ์ท่ารำไว้มาก เป็นท่าหลักที่ต้องเรียนรู้ให้แม่นยำ ท่าหลักสำหรับฝึกหัดรำนี้ มักเรียกกันว่า "แม่บท" เป็นท่ารำที่เลียนแบบอิริยาบถ ทั้งของเทพบุตร เทพธิดา คน สัตว์ และธรรมชาติแวดล้อม เช่น เทพนม สอดสร้อยมาลา กวางเดินดง เมขลาล่อแก้ว ยอดตองต้องลม เป็นต้น ท่ารำบางท่าเป็นการแสดงความรู้สึก และอารมณ์ เช่น เสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง หนุมานผลาญยักษ์ พระลักษมณ์แผลงฤทธิ์ เป็นต้น

การรำคือการแปลชื่อท่ารำต่างๆ มาประดิษฐ์ให้มีส่วนสัดงดงาม เรียบเรียงลำดับ ทำให้เข้ากับจังหวะ และทำนองของเพลงร้อง เพลงดนตรี ที่บรรเลงประกอบ ตบแต่งท่ารำ สำหรับเชื่อมท่าต่างๆ ให้ติดต่อกลมกลืนกัน การแสดงนาฎศิลป์แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. ระบำ
๒. ละคร
 
การฝึกหัดรำแม่บทท่าต่างๆ : ท่าพรหมสี่หน้า
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
ท่าเฉิดฉิน
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

ท่าพรหมนิมิต
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
ท่าโบกพักท่า
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

ละคร เป็นการแสดงรำ ที่มีเรื่องราวดำเนินไปโดยลำดับ มีหลายประเภท เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์และโขน สำหรับ โขนนั้นยังมีวิธีการแสดงที่แตกต่างกันไป เช่น โขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอ และโขนฉาก

นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการนำนาฏศิลป์แบบตะวันตกมาใช้ จึงเกิดมีละครร้อง ละครพูด ละครพูดสลับลำ และละครสังคีต การละครได้เฟื่องฟูมาก ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้มีวิวัฒนาการสืบต่อมา จนถึงปัจจุบัน

การแสดงโขน
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags

Content

1
มือ
เป็นอวัยวะที่เราใช้ทำอะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้เปิปข้าวเข้าปาก ใช้เขียนหนังสือ ใช้หยิบสิ่งโน้นสิ่งนี้ และใช้ทำอะไรได้อีกหลายอย่าง นอกจากจะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราโดยตรงแล้ว มือยังใช้บอกให้ผู้อื่นรู้ความประสงค์ของเราได้ด้วย เช่น
1K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow