Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิวัฒนาการของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
2,461 Views

  Favorite

วิวัฒนาการของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย
วิวัฒนาการของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ก้าวไปพร้อมๆ กับความเจริญ และวิวัฒนาการทางด้านต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ในกรณีที่วัฒนธรรมของสังคมใดสังคมหนึ่ง มีการเปลี่ยน แปลงไปตามระบบสังคม งานจิตรกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ก็ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมเช่นเดียวกัน

แม้ว่าส่วนหนึ่งของการแสดงออกของงานจิตรกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย จะได้รับอิทธิพลจากความเคลื่อนไหวของศิลปะ ซึ่งเป็นสากล แต่ก็ยังมีแนวความคิดที่เป็นอิสระ ไม่มีความผูกพันต่อสิ่งใด โดยเฉพาะ จิตรกรมีโอกาสแสดงแนวความคิดสร้างสรรค์ ในแนวใหม่ มีการทดลองเทคนิควิธีการที่เหมาะสมกับแนวความคิดของแต่ละบุคคล ในบางกรณี งานจิตรกรรมร่วมสมัยอาจอาศัยเค้าโครงของแนวความคิด ด้านจิตรกรรมไทยแบบประเพณี มาสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ของจิตรกรรมร่วมสมัยด้วยก็ได้ การศึกษาศิลปะเป็นสิ่งควบคู่มากับความเจริญ และวิวัฒนาการของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย เนื่องจากงานจิตรกรรมร่วมสมัย มิได้มีแนวทางตามแบบตระกูลช่างเขียน แบบเดียวกับงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี เช่น ตระกูลช่างนนทบุรี ตระกูลช่างเพชรบุรี ซึ่งสร้างสรรค์งานตามการวางโครงการ และแนวความคิดของครูช่าง แต่จิตรกรรมไทยร่วมสมัยนั้น จิตรกรผลิตงานสร้างสรรค์ตามแนวทางของตน ดังนั้น การศึกษา หาความรู้ และวิวัฒนาการด้านงานศิลปะ ในลักษณะสากล และวิเคราะห์วิจารณ์ลักษณะงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น

จักรพันธุ์ โปษยกฤต จิตรกรไทยผู้มีชื่อเสียงกำลังเขียนภาพ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

การจัดตั้งสถาบันการสอนทางศิลปะในประเทศไทย เริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยเริ่มมีการตั้ง "โรงเรียนเพาะช่าง" ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๖ เพื่อจัดการ และให้การศึกษาในวิชาการด้านศิลปะหลายสาขา และตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม (โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง) ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี  (Corrado Feroci, ค.ศ. ๑๘๙๒-๑๙๖๒) ชาวอิตาลี เป็นผู้วางรากฐานในการศึกษาเกี่ยวกับวิชาช่าง สาขาจิตรกรรม และประติมากรรม ทั้งในแบบของศิลปะสากล และศิลปะแบบประเพณีไทย มีจุดประสงค์ เพื่อผลิตศิลปิน ผู้ที่ทำงานศิลปะอย่างแท้จริง

วิวัฒนาการของจิตรกรรมร่วมสมัยของไทย เมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลา ของการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจิตรกรรมร่วมสมัย ของชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติในแถบเอเชียด้วยกัน ลักษณะการสร้างสรรค์ไม่จำกัดกรรมวิธี และเทคนิค มีทั้งสีน้ำ สีฝุ่น สีชอล์ก (chalk) สีน้ำมัน สีอะครีลิก (acrylic) และเทคนิคประสมอื่นๆ ด้วย ศิลปินแต่ละบุคคล ต่างก็มีวิวัฒนาการ ในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมของตนเอง

ภาพเขียน "พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา" 
ฝีมือประเทือง เอมเจริญ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

ในการพัฒนางานจิตรกรรมร่วมสมัยนั้น การแลกเปลี่ยนความรู้ การแสดงงานสร้างสรรค์ และการวิจารณ์งาน เป็นองค์ประกอบสำคัญ ของการพัฒนาการสร้างสรรค์ ของแต่ละบุคคล การ ส่งเสริมคุณค่าของงานจิตรกรรมร่วมสมัย ให้ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องมีการแสดงผลงานต่อสาธารณชน ดังนั้น สถานที่แสดงงาน หรือหอศิลป์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อวิวัฒนาการ ของงานจิตรกรรมร่วมสมัย รวมทั้งการเผยแพร่ และการจัดประกวดผลงานจิตรกรรมก็เช่นเดียวกัน เพราะทำให้ได้เห็นผลงาน ในแนวความคิดต่างๆ เปรียบเทียบกัน ซึ่งเป็นการกระตุ้น ให้ผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ มีพลังในการสร้างสรรค์ต่อเนื่องกัน และมีความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น

ปัจจุบันผลงานด้านจิตรกรรม เป็นที่นิยมแพร่หลายของสาธารณชน
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow