Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จิตรกรรมและศาสนา

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,114 Views

  Favorite

จิตรกรรมและศาสนา
ศาสนาพุทธในประเทศไทย เป็นโครงสร้างสำคัญของสังคม เพราะรูปแบบของศิลปวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ รวมถึงงานจิตรกรรมของไทย อาศัยความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของพุทธศาสนา เป็นหลักในการสร้างสรรค์ การสั่งสอนพุทธปรัชญา และธรรมะแก่ประชาชน อาศัยสื่อกลางในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น อาศัยพระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอด ในรูปของการแสดงธรรม อาศัยครูเป็นผู้ถ่ายทอดในโรงเรียน และอาศัยบุคคลทั่วๆ ไปเล่าสืบต่อกันไปในรูปแบบของเรื่องราว
ตามลักษณะพื้นฐานของสังคมไทย ซึ่งมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่พึ่งพาอาศัยกัน มีการพบปะ และช่วยเหลือกันเป็นหมู่ เป็นคณะ วัดจะเป็นศูนย์รวมในการพบปะแทบทุกประเภท เพราะวัดในความรู้สึกของสังคมไทย เป็นศูนย์กลางในด้านศาสนา งานประเพณีต่างๆ รวมทั้งการศึกษาเบื้องต้นของเด็กไทย ดังนั้นจะเห็น ได้ว่า งานจิตรกรรม ซึ่งเป็นสื่อของการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ให้แก่สังคม แทนการสอนด้วยวาจา จะอยู่ที่วัดทั้งสิ้น

จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

จิตรกรรม หรือภาพเขียนฝาผนังที่อยู่ในโบสถ์และวิหาร มักจะแสดงเรื่องราวที่น่าสนใจต่างๆ ซึ่งต้องการถ่ายทอดออกสู่สังคม นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเป็นคณะอย่างมีระบบ กล่าวคือ ในการสร้างโบสถ์วิหารของวัดใดวัดหนึ่ง ผู้ที่ทำงานประสานกัน จะประกอบด้วยช่างฝีมือแขนงต่างๆ เช่น สถาปนิก ผู้ออกแบบโบสถ์ นายช่างตกแต่งภายในโบสถ์ ช่างปั้น และ ช่างเขียน เป็นต้น พระประธาน นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของโบสถ์ ดังนั้น งานประติมากรรม ซึ่งประกอบด้วยการปั้น และสร้างพระประธานในโบสถ์ จึงถือเป็นงานที่สำคัญที่สุด การออกแบบ และปั้นฐานพระประธาน จะเป็นงานรองจากการสร้างพระประธาน เพราะต้องออกแบบฐาน ซึ่งประดิษฐานองค์พระประธาน ตามลักษณะ และขนาดของพระประธาน ขนาดของโบสถ์และพระประธานต้องมีความสมดุลกัน ช่างเขียนซึ่งทำงานจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ จะต้องสร้างงานในลักษณะส่งเสริมองค์พระประธาน ส่วนมากพระประธานในโบสถ์ จะมีขนาดใหญ่มาก เพราะฉะนั้น ช่างเขียนที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง จะต้องรู้จักประมาณตน จะต้องไม่แสดงความอวดเก่ง เพื่อแสดงความสำคัญเฉพาะงานของตน การวางเค้าโครงเรื่องราวของภาพจิตรกรรมก็ดี การวางโครงสร้างของสี และขนาดสัดส่วน ของคน สัตว์ และสิ่งของต่างๆ ซึ่งประกอบเป็นเรื่องราวก็ดี ต้องวางเค้าโครงในลักษณะที่ส่งเสริมองค์พระประธาน ให้มีลักษณะเด่น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ภาพเขียนฝาผนังในโบสถ์วิหารต่างๆ ทำให้เราเกิดความรู้สึกสงบร่มเย็น ทั้งนี้ เพราะมีการวางเค้าโครงของการใช้สี เส้น รูปทรงต่างๆ ของภาพจิตรกรรมแวดล้อมพระประธานอย่างถูกต้อง 

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นงานที่ใช้เวลามาก งานบางแห่งใช้เวลาหลายสิบปี ครูช่างซึ่งเป็นนายงานของการเขียนภาพ เป็นผู้วางโครงการของงานทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็มีช่างเขียนที่เป็นลูกมือช่วยอยู่เป็นจำนวนมาก ครูช่างจะต้องสอนลูกศิษย์ เพื่อสืบทอดวิชาความรู้ให้สามารถทำงานแทนตนได้ จนกว่าจะแล้วเสร็จ ดังนั้น การสร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังแต่ละครั้ง จึงเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนศิลปะของตระกูลช่างต่างๆ โดยลูกศิษย์จะเริ่มต้น ด้วยการคอยปรนนิบัติรับใช้ครู ครูจะใช้งานทุกประเภท และสอนเทคนิคต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละสกุลช่าง ซึ่งแตกต่างกัน เช่น เทคนิคการบดสี ผสมสี การเตรียมพื้น จนศิษย์มีความรู้ความสามารถ ศรัทธา และมีฝีมือช่างที่ใช้การได้ ต่อไปครูช่างจึงจะอนุญาตให้เริ่มเขียน เริ่มจับพู่กันได้ การสอนเป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน จนศิษย์มีความรู้ความชำนาญ จึงให้แสดงฝีมือในบางส่วนของภาพเขียนฝาผนังได้ การสืบทอดตระกูลช่างของไทยแต่โบราณ ใช้กระบวนการนี้ทั้งสิ้น จึงเห็นได้ชัดว่า ช่างเขียนไทยโบราณ ซึ่งเขียนภาพแบบประเพณี มีความเคารพนับถือครูของตนมาก เพราะนอกจากศิษย์จะได้เรียนวิชาความรู้จากครูแล้ว ยังต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และคุณธรรมจากครูอีกด้วย 

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

ชื่อและเรื่องราวของช่างเขียนไทยในประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ค้นคว้าหาเรื่องราวได้ยาก เพราะในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตามลักษณะไทยแบบประเพณีสมัยโบราณ ไม่นิยมที่จะแสดงความสำคัญของช่าง ไม่มีการเขียนชื่อของผู้เขียน หรือแสดงหลักฐานใดๆ ไว้ในภาพเขียน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย เป็นการทำงานทางช่าง เพื่อเรื่องราวทางศาสนา ถือเสมือนเป็นการอุทิศตน โดยไม่ต้องการผลตอบแทนใดๆ ถือว่า ผลงานช่าง และเรื่องราวที่บันทึกไว้ ในภาพจิตรกรรม เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าตัวช่างเขียน ซึ่งแตกต่างไปจากช่างเขียนยุโรป ซึ่งจะต้องแสดงชื่อผู้เขียน ไว้ในภาพเขียนเสมอ

จิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

เรื่องราวของช่างไทยนั้น จะรู้ได้ก็แต่เพียงการบอกเล่าต่อๆ กันมา พอจับความได้ว่า ช่างเขียนของไทยเรานั้น อาศัยอยู่ในวัดเป็นส่วนใหญ่ บางท่านเป็นพระสงฆ์ ศึกษาความรู้ต่างๆ อยู่ในวัด แต่ด้วยความชอบและศรัทธาในทางช่าง ก็ได้ฝีกฝนกับครูช่าง เรียนการช่าง จนมีความรู้ดี

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

งานจิตรกรรมของไทยในสมัยโบราณนั้น เป็นจิตรกรรมแบบประเพณี ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ของโบสถ์ หรือวิหารแล้ว ยังมีการเขียนภาพจิตรกรรมกระดาษอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นการเขียนภาพ ด้วยสีฝุ่นบนกระดาษสมุดไทย หรือสมุดข่อย การเขียนภาพบนสมุดข่อย เป็นการเขียนภาพ เพื่อขยายความตามบันทึกในสมุดข่อย เช่น ไตรภูมิพระร่วง หรือเรื่องราวทางช่างเอง เช่น ตำราการปลูกสร้างบ้านเรือน ตำรายา ตำราการจับเส้น ตามแบบแพทย์แผนโบราณ เป็นต้น การเขียนภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อย เท่าที่ยังค้นพบในปัจจุบัน มีทั้งฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น ไปจนถึงช่างฝีมือ ซึ่งแสดงรูปแบบเส้นและสีที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกระบวนการเขียนภาพจิตรกรรม 

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

จิตรกรรมไทยแบบประเพณี ซึ่งในสมัยโบราณเขียนบนผนังโบสถ์หรือวิหารนั้น เป็นภาพจิตรกรรมในลักษณะ ๒ มิติ ระบายสี และตัดเส้น ลักษณะของการใช้สีโดยส่วนรวมของจิตรกรรมฝาผนัง เป็นไปตามยุคสมัย เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย สมัยอยุธยา จะใช้สีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่สีโดยส่วนรวมออกสีแดง ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ จะใช้สีมากขึ้น เพราะมีสี ซึ่งได้รับมาจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ทำให้โครงสร้างของสีในภาพมีลักษณะสดใส และมีจำนวนสีที่ใช้มากขึ้น และยังนิยมปิดทองคำเปลวในส่วนต่างๆ ของภาพ ให้แลดูแวววาว และสวยงาม

จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 13

 

การแสดงออกทางอารมณ์ของเรื่องราวในภาพ นอกจากจะแสดงด้วยสีสันต่างๆ ประกอบกันแล้ว ยังสามารถแสดงออกด้วยท่าทาง ขององค์ประกอบในภาพ เช่น คน สัตว์ หรือลักษณะการวางองค์ประกอบของกลุ่มคนหรือสัตว์ เช่น กองทัพช้าง ม้า หรือลักษณะของนางฟ้า เทวดา นางรำต่างๆ ลักษณะการแสดงท่าทางของคนหรือสัตว์ ช่วยทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกไปตามเรื่องราวได้ ช่างเขียนไทยมีความพยายามที่จะถ่ายทอดอารมณ์ของช่าง และลีลาของภาพ ให้แสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์
การเขียนภาพจิตรกรรม โดยใช้สีน้ำมันเขียนบนไม้ หรือผ้าใบเท่าที่ค้นพบหลักฐาน สมัยรัชกาลที่ ๖ พระสรลักษณ์ลิขิต (หลักฐานปี เกิดตายไม่แน่ชัด) เป็นผู้เขียน และในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (หลักฐานปีเกิดตายไม่แน่ชัด) เป็นผู้เขียน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow