ย้อนหลังไปหลายหมื่นหลายพันปี โลกมีแต่ต้นไม้ และสัตว์ป่า มนุษย์สมัยโบราณอาศัยอยู่ตามถ้ำ เชิงผา และโคนต้นไม้ใหญ่ในป่า ต่อมาคนเราฉลาดขึ้น รู้จักสร้างบ้านจากวัสดุธรรมชาติ เอากิ่งไม้มาทำเป็นโครงบ้าน เอาใบไม้ หญ้า ดินหนียว มามุงหลังคา ทำเป็นเพิง เพื่อพักอาศัย
มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ก็อาศัยอยู่ตามถ้ำในป่าเช่นกัน จับสัตว์ หาผัก และผลไม้ กินเป็นอาหาร เมื่อสัตว์และผลไม้หายากเข้า ก็จะย้ายไปหาถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ต่อไปเรื่อยๆ
ที่ใดมีน้ำ ก็จะตั้งบ้านเรือนที่นั่น
เราจะเห็นคนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง และตามชายฝั่งทะเล เพราะคนต้องการน้ำไว้กินไว้ใช้ในการเพาะปลูก และใช้เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน
ภูมิอากาศเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน
ที่ใดมีภูมิอากาศดี ฝนตกชุ่มฉ่ำ เหมาะแก่การปลูกพืช ผู้คนก็จะเลือกไปอยู่ ไปทำมาหากิน และตั้งหลักฐานบ้านเรือนที่นั่น
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยนั้น บรรพบุรุษของเราเป็นผู้ที่มีสายตากว้างไกล จึงเลือกตั้งถิ่นฐานที่แหลมทอง อันเป็นถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมสมบูรณ์ที่สุด เราจึงควรสำนึกในบุญคุณนี้ และช่วยกันรักษาบ้านเรือนของเรา ให้มีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป
ถ้าเดินทางท่องเที่ยวไปในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย จะเห็นภาพเมืองเก่าๆ อิฐ หิน กำแพง ป้อมปราการ ปรักหักพัง ทั้งบนดิน และใต้ดิน เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย อยุธยา และเมืองอื่นๆ อีกหลายเมือง ในพิพิธภัณฑ์หลายจังหวัดมีโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ พร้อมเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เป็นการยืนยันว่า มนุษย์ได้อาศัยอยู่ในเมืองเหล่านั้น และแต่ละแห่งจะมีลักษณะเฉพาะของตน มีวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นแตกต่างกันไป
สภาพแวดล้อมธรรมชาติ มีอิทธิพลต่อการตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของมนุษย์เป็นอันมาก มนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างดี
เมื่อเริ่มตั้งหลักแหล่ง มนุษย์จะศึกษาลักษณะภูมิประเทศ และดินฟ้าอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ ประเทศไทยตั้งอยู่ในทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร มีลมมรสุมพัดผ่านจึงมีฝนตกมากเป็นเวลาประมาณ ๖ เดือน หลังจากนั้นก็จะมีลมมรสุมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้เกิดอากาศแห้งแล้ง และหนาวเย็น ทำให้ประเทศไทยมีเขตชุ่มชื้นตลอดปีกับเขตที่ชุ่มชื้นสลับกับแห้งแล้ง
เขตชุ่มชื้นตลอดปี เช่น บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย มีต้นไม้เขียวชอุ่ม เป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ประชาชนที่มาตั้งหลักแหล่งที่นี่ จะจับสัตว์ และเก็บผลไม้ในป่าเป็นอาหารตามธรรมชาติ
เขตชุ่มชื้นสลับกับแห้งแล้ง เช่น บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเป็นป่าโปร่งทุ่งหญ้า บางแห่งจะแห้งแล้งมาก แต่บริเวณนี้จะมีฝนตกในบางฤดู ปีใดที่มีปริมาณฝนมาก พืชพันธุ์ธัญญาหารก็จะบริบูรณ์ มนุษย์จึงชอบที่จะอยู่อาศัยในบริเวณนี้มาก นอกจากจะมีพื้นที่กว้างขวางแล้ว ยังหักร้างถางพงได้ง่ายกว่าบริเวณป่าทึบ ทั้งยังสามารถเพาะปลูกพืช เพื่อเก็บไว้กินในภายหน้าได้ด้วย
ผู้คนซึ่งตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ จะไม่อพยพย้ายถิ่นไปที่อื่น แต่จะตั้งบ้านเรือน ทำมาหากิน มีหลักฐานมั่นคงสืบต่อไป
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งในการตั้งถิ่นฐานคือ ลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งแบ่งกว้างๆ เป็นบริเวณที่สูง และบริเวณที่ต่ำ
บริเวณที่สูง คือ บริเวณป่าเขา ไม่มีน้ำพอเพียงสำหรับทำการเพาะปลูก ชาวเขา หรือคนที่มาตั้งหลักแหล่งในบริเวณนี้ จึงมักจะเผาป่า หักร้างถางป่า เพื่อทำไร่ เมื่อทำไประยะหนึ่ง ดินก็จะหมดปุ๋ยตามธรรมชาติ ต้นไม้ไม่งอกงามเท่าเดิม คนพวกนี้ก็ย้ายไปหาถิ่นที่สมบูรณ์ต่อไป
บริเวณที่ต่ำ คือ บริเวณที่ราบลุ่มในหุบเขา ตามแม่น้ำ และชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณที่เพาะปลูกได้ผลดี มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้หนาแน่น จากหมู่บ้านกลายเป็นเมืองใหญ่ในปัจจุบัน
นอกจากสภาพดินฟ้าอากาศ และลักษณะภูมิประเทศแล้ว มนุษย์ยังเลือกตั้งหลักแหล่งในบริเวณที่เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น มีแร่ธาตุ เพชร พลอย และน้ำมัน ซึ่งทำให้เกิดอาชีพที่พัฒนาเรื่อยมา จนเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้าไปช่วย ทำให้เป็นอาชีพที่เจริญรุ่งเรืองมาก
บริเวณที่มนุษย์ตั้งหลักแหล่ง มักเป็นบริเวณที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวก แต่เดิมเส้นทางคมนาคมที่ดีที่สุด คือ ทางน้ำ เพราะเมื่อมีผู้คนมากขึ้น การติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าก็จะตามมา จากการติดต่อในหมู่บ้าน ก็เจริญขึ้นเป็นระหว่างเมือง และขยายไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียง และประเทศต่างๆ