Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พระพุทธรูป

Posted By Plookpedia | 20 เม.ย. 60
24,254 Views

  Favorite

เราทุกคนมีศาสนาประจำตัว เด็กๆ ก็มีศาสนาประจำตัวตามศาสนาที่พ่อแม่นับถืออยู่ คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีสิ่งที่เป็นเครื่องหมายสำคัญหลายอย่าง ได้แก่ วัด เจดีย์ พระพุทธรูป และพระสงฆ์ “กราบพระด้วยนะลูก” เป็นคำพูดที่ผู้ใหญ่มักบอกลูกหลานให้ทำความเคารพกราบไหว้ "พระ" เมื่อเวลาไปทำบุญที่วัด หรือเมื่อเวลาสวดมนต์ก่อนนอน โดยพระในที่นี้อาจหมายถึง “พระสงฆ์หรือพระภิกษุ” หรือหมายถึง “พระพุทธรูป” ก็ได้

 

พระพุทธรูป
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29



พระพุทธรูปเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นแทนองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น เพื่อให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้เคารพบูชา และระลึกถึงพระพุทธเจ้า ดังนั้น วัดในพระพุทธศาสนา จึงมีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในโบสถ์ วิหาร และศาลาการเปรียญ แม้แต่ตามบ้านของคนที่นับถือพระพุทธศาสนา ก็มักมีพระพุทธรูปตั้งไว้เป็นที่สักการบูชาด้วยเช่นกัน
 ประเทศไทยมีการสร้างพระพุทธรูปสืบต่อกันมานานแล้ว พระพุทธรูปสำคัญที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ และมีลักษณะที่งดงามมาก เป็นที่รู้จักกันดีคือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต อยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่สลักจากแก้วสีเขียวทั้งองค์ มีขนาดไม่ใหญ่นัก เด็ก ๆคงได้เห็นจากข่าวในพระราชสำนักทางโทรทัศน์ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ เสด็จฯ ทรงประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ ที่พระอุโบสถของวัดนี้  โดยเฉพาะในปีหนึ่ง ๆ จะมีหมายกำหนดการเสด็จฯ ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงของพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ถึง ๓ ครั้ง คือ เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่เด็ก ๆ คงได้เห็นบ่อย ๆ เช่นกัน คือ พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ เป็นพระพุทธรูปในท่าก้าวเดินขนาดใหญ่ อยู่ที่บริเวณพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่จัดงานพิธีทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จึงมีผู้คนจำนวนมากพากันไปกราบไหว้พระพุทธรูปองค์นี้
ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เด็ก ๆ คงพอเข้าใจได้แล้วว่า พระพุทธรูป คือ เครื่องหมายที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นพระพุทธศาสนา ซึ่งทุกศาสนาต่างก็มีสิ่งที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงศาสนาของตนเช่นกัน ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้นับถือศาสนานั้น ๆ เราก็ไม่ควรดูหมิ่นสิ่งซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของศาสนาอื่นใดทั้งสิ้น

 

 

 

พระพุทธศาสนา มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา พระพุทธศาสนาได้เกิดมานาน ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ในช่วงที่พระพุทธเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปี ก็ยังไม่มีการสร้างสิ่งที่เป็นรูปเคารพแทนพระองค์ หรือที่เรียกว่า พระพุทธรูป อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้ จนเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จล่วงลับไปแล้วถึงประมาณ ๗๐๐ ปี จึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรก
พระพุทธรูป ที่สร้างขึ้นถือเป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า เพื่อแสดงถึง ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสต่อพระองค์ และเพื่อเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป

เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปนานหลายร้อยปีแล้ว จึงไม่อาจทราบพระพุทธลักษณะที่แท้จริงของพระองค์ได้ ดังนั้น พระพุทธรูปที่เราเห็นทุกวันนี้ จึงสร้างไม่เหมือนกับพระองค์จริงทีเดียว แต่สร้างขึ้นตามความนึกคิดของช่าง ประกอบกับฝีมือช่าง และศิลปะในแต่ละสมัย พระพุทธรูปที่ปรากฏอยู่ในที่ต่าง ๆ จึงมีลักษณะองค์ประกอบ เช่น พระเศียร พระพักตร์ จีวร แตกต่างกัน รวมทั้งมีลักษณะท่าทางต่าง ๆ กันด้วย ท่าทางของพระพุทธรูปแต่ละท่าเรียกว่า ปาง ซึ่งแต่ละปางเป็นการบอกให้ทราบถึงพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง

 

พระศรีศากยะทศพลญาณ
พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


ในประเทศไทยการสร้างพระพุทธรูปมีทั้งที่สร้างให้มีขนาดใหญ่มาก เช่น พระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ท่านั่ง) พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (ท่านอน) พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นพระพุทธรูปลีลา (ท่าเดิน) ไปจนถึงการสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็ก ๆ สำหรับห้อยกับสร้อยคอติดตัวเรา การ สร้างก็มีหลายวิธี เช่น โดยการหล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ โดยการดุนนูนบนแผ่นทองคำและเงิน โดยการปั้นและเผา โดยการก่ออิฐถือปูน โดยการสลักบนหินตามหน้าผา หรือสลักจากไม้ และหินมีค่า และโดยการวาดเป็นภาพไว้ตามผนังโบสถ์หรือวิหาร ในต่างประเทศที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน และญี่ปุ่น ก็มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๆ ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
ในวัดต่าง ๆ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ เรียกว่า พระประธาน นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ที่อื่น ๆ อีก เช่น ที่วิหาร ระเบียง และศาลาการเปรียญ บางบ้านก็มีพระพุทธรูปตั้งไว้สำหรับเคารพบูชาด้วย หากมีจำนวนน้อย และขนาดไม่ใหญ่ ก็อัญเชิญไว้บนหิ้ง เรียกว่า หิ้งพระ ถ้ามีจำนวนมากๆ และมีขนาดค่อนข้างใหญ่ อาจจัดไว้ในห้องหนึ่งต่างหาก เรียกว่า ห้องพระ
เมื่อเราทราบว่า พระพุทธรูปคืออะไร และมีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างไรแล้ว เวลาที่กราบไหว้พระพุทธรูป เราจึงตั้งใจระลึกถึงพระคุณ ๓ ประการ ได้แก่ 
      ๑.พระพุทธคุณ คือ คุณของพระพุทธเจ้า อันประกอบด้วย พระปัญญาคุณ ที่ทรงรู้ดี รู้ชอบโดยสิ้นเชิง พระบริสุทธิคุณ ที่ทรงละความเศร้าหมองได้หมด และพระกรุณาคุณ ที่ทรงสงสารผู้อื่น และสั่งสอนให้ปฏิบัติตาม 
      ๒.พระธรรมคุณ คือ คุณของพระธรรม ที่จะรักษาผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว และ 
      ๓.พระสังฆคุณ คือ คุณของพระอริยสงฆ์ ที่ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ และกระทำการสืบพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อมาถึงปัจจุบัน 
พุทธศาสนิกชนที่ดีนั้น นอกจากจะถือปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยการละเว้นจากความชั่ว และทำความดีประกอบกันแล้ว การสวดมนต์และกราบไหว้พระก่อนนอนเป็นประจำทุกวัน ก็จะนำความสุข และความเจริญ ให้เกิดแก่ตัวเราตลอดไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow