กระบวนพยุหยาตรา คือ ริ้วกระบวนอันสง่างาม ที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไป ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดผ้าพระกฐิน หรือเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี
หากเสด็จพระราชดำเนินทางบก คือ ริ้วกระบวนเคลื่อนไปตามถนนสายสำคัญ เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราสถลมารค
หากเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ ริ้วกระบวนเรือสวยงาม เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เคลื่อนลอยไปตามลำน้ำเจ้าพระยา พร้อม ๆ กับที่ฝีพายร้องเห่เรืออย่างไพเราะ เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค
ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีนี้ จะมีเรือพระที่นั่งลำใหม่ที่กองทัพเรือ และกรมศิลปากรต่อขึ้นใหม่ โดยใช้โขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับเรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
กระบวนพยุหยาตรา คือ ริ้วกระบวนเสด็จพระราชดำเนินในโอกาสต่าง ๆ การจัดรูปกระบวนกระทำเช่นเดียวกับกระบวนยุทธ์ในสมัยโบราณ ประกอบด้วยกระบวนแห่หน้าหลังอัญเชิญธง เครื่องสูงซึ่งเป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศ เช่น ฉัตร พัดโบก จามร บังแทรก บังสูรย์ และกลด กระบวนศัสตราวุธ กระบวน ช้าง และกระบวนม้า หากเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางบก เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคก็คือ การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ประกอบด้วยริ้วกระบวนเรือที่สวยงามตระการตา เป็นพระราชพิธีที่กระทำสืบเนื่องมาตั้งแต่สุโขทัย
กระบวนพยุหยาตราสถลมารคนั้น เป็นกระบวนที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปวัด เช่น เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท หรือเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน บางโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เพื่อโปรดเกล้า ฯ ให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการเสด็จเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคสองครั้ง คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่เลียบพระนครครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และเสนาบดี ที่ตามเสด็จในกระบวน ล้วนทรงฉลองพระองค์ และแต่งกายอย่างงดงาม พระมหากษัตริย์ทรงเครื่องสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาเขียนทอง ฉลอง พระองค์ตาดจีบ คาดเจียระบาด สายรัดพระองค์เพชร ทรงพระสังวาล พระธำมรงค์ ทรงพระมาลาเพชร
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นวิวัฒนาการของการจัดกระบวนทัพเรือ มีเรือประตูเป็นเรือนำริ้วกระบวน ตามด้วยเรือพิฆาต ซึ่งเป็นเรือรบของไทยสมัยโบราณ กล่าวกันว่า มีเรือพิฆาตร่วมอยู่ในริ้วกระบวนประมาณถึง ๑๐๐ ลำ มีเรือดั้ง เรือกลองนอก-กลองใน เรือตำรวจนอก-ตำรวจใน เรือรูปสัตว์ ซึ่งเชื่อว่า เรือรูปสัตว์นั้น มาจากตราตำแหน่งของเสนาบดี เพราะตราประจำตำแหน่งของเสนาบดี ตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ใช้รูปสัตว์ทั้งสิ้น เช่น ราชสีห์ คชสีห์ ครุฑ นาค ฯลฯ ตราตำแหน่งนี้ มีปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะศักดินา ซึ่งตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรือพระที่นั่ง ก็มีโขนเรือเป็นรูปสัตว์ ตามพระราชลัญจกรเช่นกัน เช่น เรือครุฑ มีพระราชลัญจกร " พระครุฑพ่าห์ "
นอกจากนี้ในริ้วกระบวนยังมีเรือแซ เรือแซง เรือริ้ว เรือกิ่ง เรือพระที่นั่งกิ่งนี้ ในสมัยอยุธยา ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีถึง ๙ ลำ เมื่ออยู่ในริ้วกระบวน เรือพระที่นั่งกิ่ง จะทอดบัลลังก์บุษบก ปักฉัตร เครื่องสูงกลางลำ ทั้งตอนหน้า และตอนหลังบุษบก ตัวอย่างเรือพระที่นั่งกิ่งก็คือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งประภัสสรไชย
เรือไชย เดิมเป็นเรือที่ข้าราชการนั่งในริ้วกระบวน มีพนักงานคอยกระทุ้งเส้าให้จังหวะ ถ้าเป็นเรือที่นั่งของเจ้านาย และเรือประตูเรียกว่า เรือเอกไชย
เรือโขมดยา โขมดแปลว่า หัว ยาหมายถึง น้ำยาที่เขียนลายที่หัวเรือ
เรือพระที่นั่งทรง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อาจใช้ลำใดลำหนึ่งดังนี้คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
สำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่แทนลำเดิม ที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่แท้ที่จริงนั้น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังปรากฏอยู่ในบทกาพย์ห่อโคลงเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ฯ ว่า " สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ "
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นเรือที่มีความงดงาม นับเป็นศิลปกรรมเยี่ยมยอด แสดงถึงอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยแต่โบราณ องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำปี ค.ศ. ๑๙๙๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕) เป็นการยกย่องเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ต่อจากเรือพระที่นั่งทรงก็คือ เรือพระที่นั่งรอง เรือศรี ปิดท้ายด้วยเรือกราบ ซึ่งเป็นเรือรบของไทย แต่โบราณใช้ฝีพาย มีไม้กระดานติดข้างเรือไปตามแนวนอนสำหรับเดิน ที่เรียกว่า กราบเรือ
ในรัชกาลปัจจุบัน กองทัพเรือออกแบบโครงสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญา เทียบเท่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ โดยใช้ต้นแบบเดิม ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โขนเรือแต่เดิม จำหลักไม้มีเพียงรูปพญาสุบรรณ (พญาครุฑ) ยุดนาคเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างรูปนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณ ทำให้เรือมีความสง่างามมากขึ้น เรือที่สร้างสมัยนั้น ทรุดโทรมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ยังคงเหลือแต่โขนเรือเท่านั้น เพื่อร่วมเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กองทัพเรือ และกรมศิลปากร จึงร่วมกันต่อและซ่อมเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ขึ้น ใช้ฝีพาย ๕๐ นาย เพื่อให้มีความหมายสอดคล้องกับโอกาสอันเป็นมหามงคลนั้น
ในการเสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคนั้น จะมีการเห่เรือในกระบวน เพื่อให้ฝีพายพายได้พร้อม ๆ กัน เป็นจังหวะ บทเห่แต่งเป็นร้อยกรองเรียกกาพย์เห่เรือ ดังบทนิพนธ์กาพย์ห่อโคลงเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป กระบวนพยุหยาตราจึงต้องถูกระงับไป ตราบจนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีการเสด็จ โดยกระบวนพยุหยาตราขึ้น ประชาชนชาวไทยจึงมีโอกาสได้ชื่นชมพระบารมี และได้ชมกระบวนพยุหยาตราอันสง่างามยิ่งนัก