Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กปัญญาเลิศคืออะไร (Gifted child) ... ลูกเราใช่หรือไม่

Posted By Plook Parenting | 10 เม.ย. 60
25,306 Views

  Favorite

เด็กปัญญาเลิศ (Gifted Child) หมายถึง เด็กที่มีความสามารถทางสติปัญญา และความถนัดเฉพาะทางอยู่ในระดับที่สูงกว่าเด็กอื่นในวัยเดียวกัน (อาจมีระดับสติปัญญาสูงถึง 130-140 )

 

เด็กกลุ่มนี้มักมีความอยากรู้อยากเห็น มีพลังงานในตัวเองมาก นอกจากนี้เขาจะมีสมาธิดีมากในเรื่องที่สนใจ อาจค้นคว้าจนมีความรู้เกินวัย แต่ถ้าเรื่องไหนไม่อยู่ในความสนใจ ก็อาจไม่สนใจเลย จึงดูคล้ายเด็กสมาธิสั้นได้

 

ภาพ : ShutterStock


ลักษณะของเด็กปัญญาเลิศ

     • มีความสามารถในการเจรจา ใช้ศัพท์แสงอย่างผู้ใหญ่ และรู้คำมากมาย สามารถเขียนหรือพูดอธิบายความคิดอ่านของตนได้อย่างชัดเจน

     • ช่างสังเกต และมีความอยากรู้อยากเห็นมากกว่าเด็กทั่วไป

     • สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำและเป็นเวลานาน

     • มีสมาธิดีเยี่ยม สามารถเรียนรู้อะไรได้รวดเร็วง่ายดายและมีประสิทธิภาพยิ่ง

     • มีความสนใจกว้างขวางและลึกซึ้ง สามารถเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนพิสดาร และเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดี

     • เข้มงวดกวดขันกับตนเอง

     • มีความคิดอ่านนอกระเบียบแบบแผน ชอบคิดอะไรเล่นสนุก ชอบคิดทำอะไรอย่างอิสระ มีประสาทความรู้สึกนึกคิดว่องไวเป็นพิเศษ คิดลึกซึ้ง ประณีต และสามารถอ่านหนังสือได้ตั้งแต่เล็ก ๆ และอ่านได้แตกฉาน บางคนเริ่มอ่านหนังสือง่าย ๆ ได้ตอนอายุ 4 ปี หรืออ่านได้เทียบเท่ากับเด็กที่เรียนสูงกว่าสองชั้นเรียนเป็นอย่างน้อย

     • มีทักษะพิเศษในด้านดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ และการละคร

     • เป็นคนอ่อนไหว จึงรู้สึกเจ็บปวด ผิดหวังได้ง่าย ตึงเครียดง่าย

     • คาดหวังว่าทุกอย่างต้องสมบูรณ์ (Perfectionistic) ค่อนข้างเจ้ากี้เจ้าการ พยายามบริหารจัดการเพื่อน ครู ไปจนถึงพ่อแม่ และจะผิดหวังง่ายเมื่อคนอื่นไม่เห็นด้วย

     • มีความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดีสูง

 

หากลูกมีลักษณะของเด็กปัญญาเลิศ ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกไปทำการประเมินพัฒนาการ ทำแบบวัดความถนัดและตรวจวัดไอคิว จากนักจิตวิทยาหรือแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เมื่อลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กปัญญาเลิศแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรภูมิใจว่าลูกเป็นเด็กปัญญาเลิศ หรือสบายใจว่าลูกฉลาด ไม่ต้องช่วยเหลืออะไรแล้ว ในทางกลับกันเด็กปัญญาเลิศจะมีปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น ปัญหาทางอารมณ์ และปัญหาการเข้าสังคม เพราะมีความเป็นตัวของตัวเอง และเชื่อมั่นในตนเองสูง จึงมักชอบทำงานคนเดียว สนใจเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจ มีความสามารถหลายอย่าง จึงมักจะปฏิเสธคำแนะนำของพ่อแม่ และคุณครู เข้ากับเพื่อนวัยเดียวกันไม่ได้ และอาจมีปัญหาการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงต้องได้รับการเลี้ยงดูและการสอนอย่างเข้าใจ เพื่อพัฒนาศักยภาพควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะด้านต่าง ๆ ของชีวิต


วิธีการ

1. คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของเด็กปัญญาเลิศ

โดยเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด คอยให้คำแนะนำเรื่องการพูดจา การแสดงออกทางอารมณ์ และพฤติกรรมต่าง ๆ รวมถึงสอนวิธีสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อให้ลูกใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ

 

2. ส่งเสริมหรือจัดโปรแกรมการเรียนให้เหมาะกับลูก

โดยพิจารณาจากความสามารถและความถนัดของเด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจต้องขอความร่วมมือจากโรงเรียนและคุณครู เนื่องจากเด็กปัญญาเลิศเรียนรู้ไวกว่าเด็กวัยเดียวกันมาก อาจทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายในชั้นเรียน คุณครูจึงควรจัดการเรียนการสอนแบบพิเศษที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นในชั้น เช่น อาจให้เรียนวิชาที่เด็กถนัดกับเด็กรุ่นพี่ แต่เรียนวิชาพลศึกษาร่วมกับเพื่อนวัยเดียวกัน เป็นการจัดหลักสูตรแบบยืดหยุ่น หรือเลือกโรงเรียนสำหรับเด็กปัญญาเลิศโดยเฉพาะ เพื่อให้ลูกสามารถเรียนรู้ได้ตามศักยภาพ

 

3. คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูก

อธิบายให้ลูกเข้าใจตามความจริงว่าเขาแตกต่างจากผู้อื่นอย่างไร โดยไม่ทำให้ลูกรู้สึกแปลกแยก และไม่ควรยกย่องหรือชื่นชมความเป็นอัจฉริยะของลูกมากจนเกินไป ควรส่งเสริมศักยภาพและอัจฉริยภาพลูกตามสมควร ไม่ควรผลักดันให้ลูกเรียนอย่างเดียว หรือพยายามพาลูกไปแข่งขัน เพราะอาจทำให้ลูกกดดันและเครียดได้

 

4. สนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสเล่นกีฬา หรือร่วมกิจกรรมกับเพื่อนวัยเดียวกัน

แม้จะมีสติปัญญาสูง แต่เด็กก็ยังมีความต้องการพื้นฐานแบบเด็ก ๆ ทั่วไป ควรให้เขาได้เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ มีอิสระในการเรียนรู้และการเล่น โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยส่งเสริม

 


คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษา ทำความเข้าใจเรื่องของพัฒนาการตามวัยอย่างละเอียด และเมื่อเข้าโรงเรียนแล้วเด็กปัญญาเลิศควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาช่วยดูแลเพื่อจัดหลักสูตร และจัดระบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับอัจฉริยภาพของเด็กต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow