Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เศรษฐกิจพอเพียงฟื้นผืนดินไทยด้วยภูมิพลังแผ่นดิน

Posted By Greenpeace Thailand | 31 มี.ค. 60
3,800 Views

  Favorite

“ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้ทุกคนทุกประเทศในโลกจึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์”  

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ไม่ว่าแสงแดดจะแผดกล้า ไม่ว่าจะฝนตกฟ้าร้อง หุบเขาสูงอันห่างไกลหรือที่ลุ่มที่ดอน ทุกที่ที่แร้นแค้นพ่อจะเสด็จไป นำมาศึกษาหาทางแก้ไขเพื่อพสกนิกรด้วยความเอาใจใส่ ความรัก และเมตตา ความอุดมสมบูรณ์และความเป็นอยู่ของประเทศไทยที่อยู่ดีกินดี 

นานาโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นประดุจดังแสงประทีปส่องทางให้กับประเทศไทย ชี้นำให้ประเทศไทยอยู่อย่างพอเพียง แต่อยู่ดีกินดี อย่างมีความสุขบนความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่านซึ่งเป็นสิ่งที่ประยุกต์จากเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือมีขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การปลูกพืชผสมผสาน มีการขุดสระน้ำ เพื่อเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ผลิตเพื่อตนเองและผลิตเพื่อขาย เป็นการบริหารจัดการดิน น้ำ และทรัพยากรอย่างยั่งยืน สามารถทำการเกษตรได้ทั้งยามฝนและยามแล้ง ทั้งช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ และสร้างรายได้ผลผลิตทางการเกษตรโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

greenpeace

ดังตอนหนึ่งของพระราชดำริที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจากวารสารชัยพัฒนา)

หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาบนทางสายกลาง

เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง พอดี พอมี พอใช้ และการรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ ประชาชนชาวไทยเริ่มรู้จักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อ พ.ศ.2517 เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัส ชี้แนะ แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า 30 ปี และเริ่มมีอิทธิพลต่อชาวไทยในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในยุคฟองสบู่แตก ปีพ.ศ.2540 แต่ในพุทธศักราชปัจจุบันก็ยังเป็นแนวคิดที่ไม่เคยล้าสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมกำลังเสื่อมโทรมและหมดไปเนื่องจากการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างเกินขนาดในปัจจุบัน

การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการตัดสินใจ และการกระทำ ซึ่งนี่คือหลักการที่อิงตามหลักธรรมชาติ ไม่เบียดเบียน นอกเหนือจากการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเองด้วยความพอเพียงแล้ว หัวใจสำคัญ คือการยึดถือแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม

 

“พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย  ถ้าทุกประเทศมีความคิด “อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ” มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข  พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น  ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง” 

-- พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Greenpeace Thailand
  • 0 Followers
  • Follow