Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน ชุมชนคั่นกระไดกับการประมงพื้นบ้าน ทางออกเพื่อความยั่งยืนของท้องทะเล

Posted By Greenpeace Thailand | 29 มี.ค. 60
4,111 Views

  Favorite

เคยสงสัยไหมคะว่า เหตุใดอาหารทะเลจึงแพงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ปลาก็ตัวเล็กลงเรื่อย ๆ ปลาในทะเลของเรากำลังหายไปไหน

ทำไมทะเลที่แสนกว้างใหญ่จึงเหลือปลาน้อยลง ?

 

ภาพ : Greenpeace

 

คำตอบที่เราค้นหาไม่ใช่สิ่งลี้ลับอย่างสัตว์ประหลาดที่กว้านกินปลาใต้ผืนมหาสมุทร แต่เกิดจากการประมงเกินขนาดอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการประมงที่เน้นการจับปลาปริมาณมากด้วยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง จนกระทั่งระบบนิเวศถูกทำลาย ปลาไม่มีโอกาสได้เติบโตฟื้นตัวทัน และแม้แต่สัตว์น้ำที่ไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจเป้าหมาย อาทิ เต่าทะเล โลมา วาฬ และฉลาม ก็เป็นเหยื่อให้กับการประมงอย่างขาดความรับผิดชอบต่อท้องทะเล การประมงเกินขนาดและการประมงแบบทำลายล้างนี้ นอกจากจะเป็นการตักตวงผลประโยชน์จากท้องทะเลอันเป็นสมบัติของเราทุกคนแล้ว ยังทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์ โดยที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างพวกเราเป็นหนึ่งในตัวการนั้นเนื่องจากเราเป็นผู้กินปลาที่จับมาอย่างไม่คำนึงถึงท้องทะเล

ทางออกไม่ใช่การเลิกกินปลา เพราะปลายังคงเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของโลก  ทางออกเพื่อความยั่งยืนของท้องทะเล คือ การประมงพื้นบ้านที่จับปลาอย่างเห็นคุณค่าของทะเล และฟื้นฟูท้องทะเลเพื่ออนุรักษ์ให้มีปลาสำหรับชนรุ่นหลัง

ชุมชนคั่นกระได จากที่ปลาเคยหายไป และการฟื้นฟู

เชื่อหรือไม่ว่า จะมีชุมชนหนึ่งซึ่งเคยประมงด้วยอวนตาถี่ จับปลาเล็กปลาน้อยจนกระทั่งอ่าวของตนไม่มีปลา จนต้องไปแย่งปลาของอ่าวอื่น ทำให้โดนไล่กลับมา และในที่สุดก็สามารถฟื้นฟูทะเลบ้านของตนเองให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการประมงที่เป็นมิตรต่อท้องทะเล

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของชุมชนอ่าวคั่นกระได

เดิมทีพี่น้องชาวคั่นกระไดก็ทำประมงด้วยรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากชุมชน หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ คือ เมื่อเหลือแต่ปลาที่มีขนาดเล็กลง ก็ลดขนาดตาของอวนตาม จาก 2.9 เซนติเมตร เหลือ 2 เซนติเมตร จนกระทั่งในปี 2551 เกิดวิกฤตปลาเริ่มหมดไปจากอ่าวคั่นกระได ไม่สามารถจับปลาได้ เนื่องจากลูกปลาถูกจับไปจนหมดไม่หลงเหลือให้เติบโตและขยายพันธุ์ ต้องออกไปจับปลาที่เขตบางสะพานน้อย และถูกชุมชนที่นั่นคัดค้านขับไล่ หลังจากนั้นชุมชนจึงหันมารวมตัวคุยกันถึงปัญหา โดยที่มีสมาคมรักษ์ทะเลไทยเป็นผู้แนะนำ หัวใจหลักของการฟื้นฟูมีวิธีการหลักสามวิธีด้วยกัน คือ

1. เลิกการใช้อวนตาถี่ที่คร่าชีวิตลูกปลา

เมื่อทางชุมชนลองงดใช้สัก 3 เดือน ปรากฎว่าได้ผล จึงมีตั้งกติกาตกลงกันว่าเลิกใช้อวนตาถี่ล้อมจับปลา จวบจนปัจจุบัน

2. แนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟู ด้วยธนาคารปู และซั้งกอบ้านปลา

แนวความคิดการทำธนาคารปู และซั้งกอบ้านปลานั้น เกิดจากการเรียนรู้รูปแบบการทำซั้งจากชุมชนท่าศาลา ผสมกับการล่อปลาของเรือประมงพานิชย์ ซึ่งเป็นวิธีที่ล่อปลาเพื่อจับปลา และซั้งของคั่นกระไดนี้เป็นการล่อให้ได้อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ อีกทั้งยังกำหนดไว้ว่า ห้ามล้อมจับซั้งซึ่งจะไม่ต่างจากการทำร้ายปลา แต่จับได้เฉพาะปลาที่อยู่รอบซั้ง หลังจากวางซั้งเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็เห็นผลทันทีว่ามีฝูงปลาทู และปลาทะเลเข้ามาอยู่อาศัย

3. เฝ้าระวังไม่ให้เรือพานิชย์เข้ามาจับ

เมื่อปลากลับมาชุกชุม สิ่งที่ตามมาก็คือเรือประมงพานิชย์พร้อมด้วยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง เหมือนกับการที่เรือประเภทนี้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากสิ่งที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟู

 

ภาพ : Greenpeace

 

ธรรมชาติเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เมื่อให้เวลาธรรมชาติเยียวยา ก็สามารถฟื้นตัวได้ และเปลี่ยนท้องทะเลที่ปลาหมดเป็นความอุดมสมบูรณ์ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ชุมชนคั่นกระไดสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลได้อย่างสำเร็จ คือความร่วมมือร่วมใจอย่างแข็งขันของชุมชน มีการสร้างกติกาชุมชนร่วมกัน

 

“ เราคิดว่าการกินแม่ปูตัวหนึ่ง เท่ากับการฆ่าลูกปู 100,000 ตัว หรือปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน ถ้าทุกคนทำแบบนี้ได้ ท้องทะเลจะยั่งยืน ”  พี่สมพงษ์ ปานน้อย สมาชิกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได กล่าว

 

 

แม้แต่เด็กในชุมชนเองก็เป็นหัวใจสำคัญในการร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟู โดยมีการจัดตั้งกลุ่ม “เด็กเลี้ยงปู” ขึ้น สำหรับเยาวชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลปูและท้องทะเล ซึ่งขณะนี้มีเด็กร่วมกลุ่มทั้งหมด 30 คน ช่วยกันเลี้ยงดูให้อาหารปู ให้เขาได้รู้จักถึงคุณค่าชีวิตของแม่ปูตัวหนึ่งว่าสามารถให้กำเนิดลูกปูได้ 100,000 ตัว และเมื่อนำปูที่วางไข่แล้วไปขายก็ได้เงินกลับมาออมพรัพย์ “ลูกชายผมไม่เคยเอาแม่ปูมาขาย ยึดถือเป็นกติกาของตนเอง อยากเห็นคนเคารพกฎกติกาเหมือนกับที่นี่ ถ้าทุกชุมชนมีกฎกติกาเหมือนกัน ก็ไม่ต้องแย่งชิงกัน” หนึ่งในตัวแทนชุมชนคั่นกระไดกล่าว 

 

“จากที่เคยไม่มีปลา ปัจจุบันสามารถจับได้มากถึง 1,000 กิโลกรัม ต่อวันต่อลำ หากเทียบตามราคาแล้ว ปลาขนาดเล็ก หรือที่เราเรียกว่า ปลาเป็ดปลาไก่นั้น เมื่อนำมาขายจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 5 บาท แต่มีปลาเป็นนับพันตัว ขณะที่หากขายปลาที่โตเต็มวัน จะได้กิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป โดยที่เป็นปลาตัวโตเต็มวัยเพียงแค่ 13 ตัว แต่อุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นฟูอนุรักษ์คือเรือประมงแบบทำลายล้าง ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่กับกฎหมายที่ขาดการบังคับใช้ หากมีกฎหมายห้ามการครอบครองเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ทะเลไทยจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างแน่นอน ”  พี่สมพงษ์ ปานน้อย กล่าวเสริม

 

ในบริเวณที่ท้องทะเลสงบและสวยงามอย่างที่นี่ ชุมชนยังเล่าอีกว่ามักพบวาฬบรูด้า และโลมาสีชมพู บ้างก็มีฉลามหัวค้อน พบเห็นอยู่เป็นประจำ สัตว์ทะเลมหัศจรรย์เหล่านี้คงเป็นหลักฐานที่ดีถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวคั่นกระได จากการที่ไม่มีเครื่องมือประมงที่ทำร้ายพวกเขา สิ่งที่ชุมชนได้สร้างการเปลี่ยนแปลงถือเป็นชัยชนะของท้องทะเลที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งต่อชุมชน ต่อทะเล และต่อผู้บริโภคที่ไม่ต้องกลายเป็นผู้ร้ายทำลายท้องทะเลโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่ใช่แต่เพียงชุมชนเท่านั้นที่คืนอนาคตให้กับท้องทะเลได้ แต่ผู้บริโภคอย่างเราเองคือผู้ที่มีอิทธิพลในการช่วยกำหนดชะตาท้องทะเล ซึ่งพี่สมพงษ์ ปานน้อย ยังได้ฝากถึงผู้บริโภคว่า 

 

“ ถ้าไม่ซื้อปูไข่ ปูไข่ก็ขายไม่ได้ ลูกปูก็ได้เกิด เช่นเดียวกับปลาตัวเล็กที่ยังไม่โตเต็มวัย เท่านี้ก็ช่วยลูกปูลูกปลาได้แล้ว ชาวประมงขอได้ไหมว่าอย่ากินเลย เพราะเป็นการส่งเสริมการฆ่าลูกปูลูกปลา หากปล่อยให้เติบโตก็จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและต่อท้องทะเลมากขึ้น ” เรื่องง่ายๆ เช่นนี้ คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องทะเลอย่างยั่งยืนได้ ดังที่ชุมชนคั่นกระไดกล่าวไว้ว่า ปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน เพราะทะเลเป็นของเราทุกคน หากทุกคนร่วมมือกันจะสามารถแก้วิกฤตทะเลได้อย่างแน่นอน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Greenpeace Thailand
  • 0 Followers
  • Follow