Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

the story : World of Electronic Games โลกแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์

Posted By Plook Magazine | 10 ต.ค. 59
530 Views

  Favorite


เรื่อง : กันตพร วิรบุตร์ ภาพประกอบ : พลอยขวัญ สุทธารมณ์


 World of Electronic Games 
 โลกแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์ 


World of Electronic Games

เมื่อพูดถึงเกม คนรุ่นใหม่ย่อมมองเป็นเรื่องสนุก แต่สำหรับคนรุ่นก่อนอาจมองเป็นเรื่องไร้สาระและคิดว่าควรเอาเวลาไปใช้กับอย่างอื่นมากกว่า นั่นเพราะเกมมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันอย่างไร เทคโนโลยีเกมถูกนำไปใช้อย่างหลากหลายทั้งเพื่อความบันเทิง ทางการศึกษา ทางการทหาร หรือแม้กระทั่งทางการแพทย์ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ เกมอิเล็กทรอนิกส์ถูกพัฒนามาไกลมาก ว่าแล้วเราลองมองย้อนกลับไปสำรวจจุดเริ่มต้นของเจ้าสิ่งนี้กัน


จากสงครามสู่ความบันเทิง
ทศวรรษที่ 50 เป็นช่วงเวลาแห่งสงครามเย็น มีการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อจำลองรูปแบบการรบและการใช้ขีปนาวุธ ตอนนั้นเองที่เกมอิเล็กทรอนิกส์ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยนักฟิสิกส์ผู้พัฒนาระบบจำลองการรบ ผู้ซึ่งเคยทำงานกับระเบิดปรมาณูลูกแรก เขาคือ William Higinbotham ด้วยวิถีชีวิตอันน่าเบื่อในวันธรรมดาของนักฟิสิกส์คนหนึ่ง เขาจึงพยายามสรรหาความบันเทิงด้วยการนำเอาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณวิถีโค้งของจรวดมิซไซล์มาทำเป็นเครื่องเกม โดยเกมนี้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องใช้จอยกดปุ่มสั่งให้บอลสีเขียวเด้งข้ามไปยังอีกฝ่าย และระหว่างสองฝั่งจะมีเส้นคั่นอยู่ตรงกลาง เรียกอุปกรณ์นี้ว่า "Tennis for Two" ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของเครื่องเล่นวิดีโอเกมครั้งแรกของโลก

ยุคแห่งการพัฒนาและแข่งขันของผู้ผลิต
เมื่อสงครามพัฒนา เกมก็พัฒนาตามไปและก้าวเข้าสู่สงครามอวกาศแบบเสมือนจริง Spacewar ในทศวรรษที่ 60 เรื่องราวของสงครามถูกรายงานผ่านทางโทรทัศน์มากขึ้น Ralph H. Baer จึงเปลี่ยนโทรทัศน์ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องเล่นวิดีโอเกมในบ้าน โดยมีต้นแบบชื่อว่า Brown Box ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "Magnavox Odyssey" ออกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ และถือเป็นเครื่องวิดีโอเกมเครื่องแรกของโลก แต่จุดอ่อนคือเล่นได้กับเฉพาะกับเครื่องรับโทรทัศน์ของ Magnavox เท่านั้น

ในเวลาไล่เลี่ยกัน Allan Alcorn ผู้พัฒนาเทคโนโลยีของ Atari ได้พัฒนาเกมตู้ หรือเกม Arcade ขึ้นมา โดยเกมแรกเป็นการจำลองการเล่นปิงปองที่มีรูปแบบการเล่นคล้ายเกม Magnavox Odyssey สามารถเล่นได้ 2 คน ชื่อเกมว่า "Pong" นับเป็นเกมตู้เกมแรก และเป็นเกมยอดนิยมที่สุดในยุคนั้นเลยก็ว่าได้ ซึ่งต่อมาถูกนำไปตั้งในศูนย์การค้า และยังประสบความสำเร็จอย่างมากกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากเกมตู้สู่รูปแบบของเกมคอนโซล "Pong Home" เล่นได้ 2 คน เปลี่ยนเกมได้ และราคาไม่สูงมาก จึงตีตลาดเครื่อง Magnavox Odyssey ที่สำคัญมีการพัฒนาที่ดีกว่า ตรงที่สามารถเล่นได้กับเครื่องรับโทรทัศน์ทุกเครื่องไม่ว่าจะเป็นขาวดำหรือสีนั่นเอง

 

World of Electronic Games

ความบันเทิงฉบับพกพา

เมื่อการเล่นเกมคอนโซลจาก Atari มีอิทธิพลนิยมไปทั่วทั้งญี่ปุ่น Nintendo จึงได้พัฒนาเกมคอนโซลรูปแบบพกพาที่เรียกกันว่า "Game & Watch" หรือเกมกดที่มีราคาถูก เล่นได้ทุกที่ โดยพัฒนาออกมาหลากหลายรูปแบบ และต่อยอดไปสู่เกมกดขนาดกะทัดรัดอย่าง Gameboy หรือ Nitendo DS

Nintendo ยังคงต้องการพัฒนาเครื่องเล่นเกมคอนโซลที่มีราคาถูกและทันสมัยกว่าของ Atari จึงออกมาเป็น Family Computer หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "Famicom" ซึ่งใช้ระบบปุ่มกดแทนคันโยก สามารถต่อเครื่องเข้ากับโทรทัศน์ และเปลี่ยนตลับเกมไปมาได้ตามต้องการ

ออฟไลน์สู่ออนไลน์
กลับมาที่ฝั่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในระบบ PC จากความสำเร็จในการพัฒนาของ IBM แม้จะเน้นเรื่องการทำงานและประมวลผลต่าง ๆ แต่ก็ได้ใส่เกมสำหรับเล่นแก้เครียดลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลด้วย ไม่ว่าจะเป็น Free Game PC ของ Microsoft หรือจะเป็นเกมไพ่ Solitaire เกมขุดหาระเบิด Minesweeper ที่ควบคุมด้วยระบบเมาส์ และมีระบบการเล่นที่ไม่ซับซ้อน

นอกจากจะมีเกมในเครื่อง PC ให้เล่นแบบออฟไลน์กันแล้ว ยังมีการเล่นเกม PC แบบเครือข่ายที่เรียกว่า Local area network (LAN) โดยสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายและเล่นพร้อมกันได้ เช่น Counter Strike, Command & Conquer ฯลฯ จนกระทั่งเกิดระบบอินเทอร์เน็ตจึงมีการพัฒนาโดยเน้นรูปแบบออนไลน์ที่มากขึ้น เป็นการเล่นเกมที่ต้องใช้ "สังคม" และเกิดเป็นเกมออนไลน์เกมแรกของโลกอย่าง Island of Kesmai ส่วนเกมออนไลน์เกมแรกที่เข้ามาในไทยคือ เกม King of King Online


World of Electronic Games 

The Creators vs The Players

หากถามว่าเกมให้อะไร หลายคนตอบได้อย่างเดียวคือความบันเทิง แต่หากลองมองมุมกลับและปรับมุมมองเราจะพบว่าเกมให้อะไรมากกว่าที่คิด หนึ่งในนั้นคือ เงิน แน่นอนว่าเราสามารถสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทางในอุตสาหกรรมนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นช่องทางหรือโอกาสเหล่านั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราลองมามองจาก 2 มุม มุมแรกคือมุมของผู้สร้าง และอีกมุมคือมุมของผู้เล่น แล้วมาดูกันว่าในแต่ละมุมจะมีช่องทางไหนทำเงินให้เราได้บ้าง
 

The Creators คนทำเกม
สำหรับคนที่หลงใหลในการเล่นเกมและใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งอยากจะเป็นผู้สร้างเกมให้คนอื่นได้เล่นบ้าง ต้องบอกเลยว่าสายอาชีพด้านการผลิตเกมยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดงานอยู่เสมอ อย่าง Game Designer ที่ทำหน้าที่ออกแบบรูปแบบของเกม วิธีการเล่น และองค์ประกอบหลัก ๆ ในเกม หรือจะเป็น Game Artist ซึ่งมีหน้าที่สร้างสรรค์และออกแบบส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มองเห็นได้ เช่น ตัวละคร ฉาก สิ่งของ ยานพาหนะ พื้นผิว เสื้อผ้า และอื่น ๆ อีกมากมาย หรือ Game Programmer ผู้มีบทบาทในการเขียนโค้ดที่ใช้ในการควบคุมระบบ และขับเคลื่อนเกมให้เล่นได้จริง และนี่เป็นเพียงบางส่วนที่เราหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง เพราะนอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายตำแหน่ง เช่น Creative Director, Animator, Audio Engineer, Technical Artist ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้จะทำงานร่วมกันเป็นทีม ไม่ว่าจะในรูปแบบของบริษัทผู้ผลิตเกม หรือทีมพัฒนาไร้สังกัดที่รวมตัวกันเองก็ตาม


รู้หรือไม่ ?
มีนักพัฒนาเกมสายเลือดไทยที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเกมดังระดับโลก

ขวัญรจิต สุขเกษม : ทีมศิลป์ ของเกม SimCity Societies
ปรีชญา ศรีสมบัติ : โปรแกรมเมอร์ ของเกม Final Fantasy
นภาพร เมธาอาภานนท์ : นักจำลองแวดล้อมเชิงวิศวกรรม ของเกม Final Fantasy 14, 15
ธิติพล ดีครื้น : คอนเซ็ปต์อาร์ต ของเกม World of Warcraft, Warhammer 40K


The Players คนเล่นเกม
ใครจะไปคิดว่าการเล่นเกมจะสามารถยึดเป็นอาชีพและสามารถทำเงินได้ไม่ต่างจากคนทำเกม มิหนำซ้ำบางอาชีพยังสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างนักแคสเกม และนักแข่งเกม นอกจากนี้ยังมีโค้ชและผู้จัดการทีมเกม, นักขายและประมูลไอเท็มในเกมออนไลน์, นักรับจ้างเก็บเลเวล, นักแปลเกมส์ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ช่างบันเทิงเริงรายได้จริง ๆ โดยเฉพาะอาชีพใหม่ในวงการคนเล่นเกม อย่าง Gamecaster หรือ นักแคสเกม หลายคนคงสงสัยว่านักแคสเกมคือใคร ? ทำอะไร ? และมีรายได้มาจากไหน ? ถ้าจะพูดง่าย ๆ หน้าที่ของนักแคสเกมก็คือการเล่นเกมให้ผู้อื่นดูผ่าน Channel ใน YouTube ส่วนเรื่องรายได้ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากค่าโฆษณาผ่านช่องทาง YouTube ยิ่งคลิปของใครมียอดผู้ติดตามและให้ความสนใจมาก ก็ยิ่งมีรายได้มากตามไปด้วย โดยเฉพาะนักแคสเกมดัง ๆ เรื่องรายได้นี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะพวกเขามีรายได้มากมายมหาศาลจนเราคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว ส่วนอีกอาชีพที่แม้บ้านเราอาจจะยังอยู่ในวงจำกัด แต่วงการเกมระดับโลก อาชีพนักแข่งเกมนั้นมีอยู่จริงและได้รับการยอมรับแพร่หลาย ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างว่ามีการจัดการแข่งขันเล่นเกมกันอย่างยิ่งใหญ่และจริงจังระดับอินเตอร์เนชันแนล ที่เรียกว่า eSports หรือ Electronic Sports ซึ่งเป็นการแข่งขันที่มีเงินรางวัลสูงเทียบเท่ากีฬาระดับโลก และมีผู้ชมการแข่งขันกว่า 100 ล้านคน โดยมีการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ เช่น The International, World Cyber Games (WCG), Intel Extreme Masters (IEM) และอีกหลายรายการ

รู้หรือไม่ ?
มีคนไทยหลายคนที่ประสบความสำเร็จจากการเล่นเกม

เอก สรเดช (MR.HEART ROCKER) : นักแคสเกมที่มียอดผู้ติดตามใน YouTube สูงเป็นอันดับหนึ่งของไทย
ทีมบางกอกไททัน : ทีมนักกีฬา eSports อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
ดิว รุ่งกิจ ทศานนท์ : นักเล่นเกมตู้อาชีพ ทำงานในบริษัทแกแลคซี่ เอ็ดดูไฮเทค จำกัด

 

World of Electronic Games

 

แหล่งข้อมูล

http://game.mthai.com/pc-games/66450.html
http://droidsans.com/e-sports-ep1-introduction-to-electronic-sports
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000133335
http://www.sarakadee.com/2012/09/06/dew-gamer/
http://www.compgamer.com/home/221470/
http://www.online-station.net/entertainment/hobby-toys/17
http://www.online-station.net/entertainment/hobby-toys/20
http://burinpachima.blogspot.com/2015/02/blog-post_14.html

 

นิตยสาร plook

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow