Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อลูกป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ... จะให้ลูกเตรียมรับมืออย่างไร

Posted By Plook Parenting | 13 มี.ค. 60
4,093 Views

  Favorite

เมื่อลูกเจ็บป่วยขึ้นมาจนถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล คุณพ่อคุณแม่ทุกคนคงเป็นกังวลใจไม่น้อย แต่คนที่เป็นกังวลและหวาดกลัวมากที่สุดก็คือ เจ้าตัวน้อย

 

เพราะนอกจากต้องรับมือกับอาการเจ็บป่วยแล้ว ยังต้องห่างจากคนที่รัก และยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยอีกด้วย

เมื่อเด็ก ๆ จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล จะเกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งความเจ็บปวดทางกายอาจรักษาให้หายได้โดยแพทย์ แต่ความกังวลและความเครียดทางใจ สามารถจัดการได้โดยคนที่เด็กรักและไว้ใจที่สุด นั่นก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

 

ภาพ Shutterstock

 

วิธีการ

1. ให้ข้อมูลการรักษาที่ถูกต้อง

คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายเหตุการณ์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลให้ลูกฟังตามความเป็นจริง รวมถึงข้อมูลที่ลูกจำเป็นต้องรู้ เช่น เหตุผลในการเข้าโรงพยาบาล ระยะเวลาในการรักษา หลีกเลี่ยงการโกหกและการปกปิดความจริง ควรให้เด็กได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อจะได้เตรียมใจกับสิ่งที่เขาจะได้พบเจอ นอกจากนี้การช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ถูกต้อง จะช่วยแก้ไขหรือขจัดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาของเด็ก ช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย และเกิดความพร้อมที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

2. ลดความกลัวให้ลูก

ไม่ควรขู่ลูกหรือพูดถึงโรงพยาบาลในลักษณะที่น่ากลัว สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้เด็กเข้าใจผิด และเกิดจินตนาการที่น่ากลัวเกี่ยวกับโรงพยาบาล ควรพูดคุยถึงการรักษาและการอยู่โรงพยาบาลในด้านที่ดี ทำให้เด็กมีประสบการณ์ที่ดีต่อโรงพยาบาล เช่น “เมื่อเจอลุงหมอแล้ว ลุงหมอจะรักษาให้ลูกหายเจ็บ” หรืออาจใช้การเล่านิทานเกี่ยวกับการเจ็บป่วย หรือการนอนโรงพยาบาล ว่าเป็นสิ่งปกติที่เด็ก ๆ หลายคนเคยเจอ คำพูดปลอบโยนของคุณพ่อคุณแม่จะทำให้ลูกรู้สึกคลายกังวลและไว้วางใจในการรักษามากขึ้น

3. สร้างความคุ้นเคยในโรงพยาบาล

คุณพ่อคุณแม่อาจพาเด็กเดินเล่นในโรงพยาบาล ชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่าง ๆ หรืออธิบายบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน เช่น การวัดไข้ การตรวจชีพจร เพื่อให้เขาคุ้นเคยกับสถานที่และเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมากขึ้น เพราะเด็กจะเข้าใจในสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดีกว่านามธรรม

4. ตอบทุกคำถามของลูก

เป็นธรรมดาของเด็ก ๆ ในวัยอยากรู้อยากเห็นที่จะมีคำถามมากมาย มาถามคุณพ่อคุณแม่ให้หายสงสัย เช่น จะได้กลับบ้านตอนไหน จะเจ็บไหม พ่อแม่จะอยู่ด้วยได้ไหม ฯลฯ ทุกอย่างที่ลูกถามคุณพ่อคุณคุณแม่จะต้องตอบให้ชัดเจน และตรงกับความเป็นจริง ซึ่งไม่ควรโกหก เพราะเมื่อเด็กพบว่าคุณพ่อคุณแม่ที่เขาเชื่อใจหลอกเขา เด็กจะไม่ไว้วางใจอีก และอาจทำให้เกิดการต่อต้านไม่ยอมรับการรักษาได้

5. อยู่เคียงข้างลูก ช่วยสร้างความอุ่นใจ

เด็กแทบทุกคนต้องการพ่อแม่ในยามที่เขาป่วยไข้ คุณพ่อคุณแม่เท่านั้นที่สามารถให้กำลังใจและเอาใจใส่ลูกได้อย่างที่เขาต้องการ ดังนั้นจึงควรอยู่กับลูกเสมอ คอยให้ความอบอุ่นใจกับเขา ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพัง หากไม่สามารถอยู่เฝ้าลูกได้เอง ควรหาตัวช่วย เช่น ญาติผู้ใหญ่หรือคนที่เด็กคุ้นเคย อาจจะสัญญากับลูกว่าจะกลับมาหาเขาในเวลาไหนบ้าง ซึ่งควรทำตามสัญญา อย่าละเลยเวลาที่จะมาหาลูกเด็ดขาด เพราะมันคือความมั่นคงทางจิตใจที่ลูกต้องการอย่างยิ่งเวลาเจ็บป่วย นอกจากนี้พวกเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา ผ้าเช็ดตัว หมอน นิทานก่อนนอนเรื่องโปรด ก็สามารถช่วยให้ลูกรู้สึกอุ่นใจมากขึ้นระหว่างอยู่โรงพยาบาลได้

 

เมื่อจัดการกับอารมณ์และความเครียดของลูกได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่หรือคนดูแลก็ต้องควบคุมสติและอารมณ์ของตนเองให้ดี ไม่ควรแสดงความกังวลออกมาให้ลูกเห็น เพราะเด็กก็จับกระแสความเครียดและความกังวลได้ ดังนั้นต้องระวังให้มาก และใช้คำพูดเชิงบวกเกี่ยวกับการรักษาเสมอ เพื่อให้ลูกได้มีกำลังใจในการรับการรักษาต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow