Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กฝึกงาน : GMC สื่อสู้ภัยธรรมชาติ

Posted By Plook Magazine | 27 พ.ย. 57
1 Views

  Favorite

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก

GMC สื่อสู้ภัยธรรมชาติ

 แผ่นดินไหว ภัยพิบัติที่เชียงราย

นักเรียนจากจังหวัดเชียงรายที่ประสบภัยแผ่นดินไหวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสื่อภูมิสารสนเทศ ครั้งที่ 3 (Geo-informatics Media Contest 2014: GMC 2014) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับทรูปลูกปัญญา และศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้ง 5 แห่งทั่วประเทศ

 

สื่อภูมิสารสนเทศ

“แผ่นดินไหว ภัยพิบัติที่เชียงราย” ผลงานที่มีแนวคิดจากนักเรียนในพื้นที่ที่ได้สัมผัสประสบการณ์แผ่นดินไหวจริงๆ ขณะที่ในห้องเรียนเด็กๆ ถนัดกับการใช้โปรแกรม Google Earth เป็นอย่างดี ทีม SUPER TWK จากโรงเรียนเทิงวิทยาคม พบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข้อได้เปรียบในการส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขัน

 

“เพราะว่าภัยพิบัติแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ครั้งนี้ ทำให้เชียงรายของเราได้รับความเสียหายอย่างมาก จึงคิดว่าการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน ด้วยการให้ความรู้เรื่องรอยเลื่อนในประเทศไทยที่พาดผ่านจังหวัดต่างๆ และการเตรียมความพร้อม การปฏิบัติตนในการรับมือแผ่นดินไหว ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขณะซึ่งเราไม่อาจคาดการณ์ได้” มิว-นุชจรี แก้วกันใจ เล่าถึงจุดเริ่มต้น

 

ศึกษา ค้นคว้า ลงพื้นที่

หลังเกิดภัยพิบัติได้ไม่นาน ทีม SUPER TWK เริ่มลงมือสร้างองค์ความรู้อย่างไม่รีรอ น้ำย้อย-ธัญลักษณ์ เรือนสิทธิ์ เล่าถึงขั้นตอนการทำผลงานว่า “อันดับแรกเราศึกษาประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ และคิดว่าเรื่องที่เรากำลังจะทำต้องเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด เราวางแผนให้เพื่อนๆ ในกลุ่มแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละด้านค่ะ ก็ได้ศึกษาองค์ความรู้ ค้นหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ และได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งเรียนรู้ เช่น สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงราย วัดร่องขุ่น วัดอุดมวารี สถานศึกษา โรงพยาบาล และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ พอได้ทั้งหมดนี้แล้วก็มารวบรวมจนเป็นองค์ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวที่เชียงราย และจัดทำสื่อด้วยโปรแกรม Google Earth”

 Google Earth

 

เมื่อถามถึงขั้นตอนที่ใช้เวลานานที่สุด น้ำย้อยเปิดเผยว่า “ขั้นตอนการทำสื่อ ก็เหมือนกับการทำหนังเรื่องหนึ่งค่ะ เราต้องมีบทก่อน หลังจากนั้นเราต้องเตรียมเนื้อหาหรือเตรียมวิดีโอ รูปภาพต้องตรงกับบทที่เราพูด ส่วนไหนที่เราพูดแล้วจะสามารถสื่อให้คนดูเข้าใจมากที่สุด ต้องหาวิดีโอที่จะสื่อสารได้ง่ายที่สุด รวมถึงเอฟเฟ็คต์ภาพหรือเสียง ในส่วนนี้จะใช้เวลาไปเยอะมาก”

 

Google Earth ดูให้เป็นเห็นประโยชน์

สื่อภูมิสารสนเทศให้ประโยชน์เป็นอย่างมากในด้านภูมิศาสตร์ สิ่งที่คนดูผลงานชิ้นนี้จะได้รับคือการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติอย่างถูกต้อง เมย์-ศิริวรรณ สกัญญา บอกด้วยความภูมิใจว่า “สิ่งที่คนดูจะได้รับคือความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตนเวลาเจอกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ การปฏิบัติจะมีทั้งก่อนที่จะเกิด ระหว่างที่เกิดและหลังเกิดค่ะ”

 

“จุดเด่นของผลงานเราคือเรื่องรอยเลื่อน รอยเลื่อนที่มีทั้งหมดในประเทศไทย มีการพาดผ่านจังหวัดหรือว่าอำเภออะไรบ้าง เพื่อที่จะให้ประชาชนที่อยู่ในอำเภอนั้นๆ รับมือและเตรียมตัวระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งถิ่นฐาน สมมติว่าเราจะไปตั้งถิ่นฐานในตรงนั้น เราก็ต้องรู้ว่าบ้านเราจะต้องสร้างในรูปแบบไหน ความมั่นคงของบ้านต้องมี และเราต้องมีการป้องกันการเกิดแผ่นดินไหว อย่างมีสติ ไม่ตื่นตระหนกเกินไปค่ะ” “น้ำย้อย” ช่วยเสริม

 

“ผมได้ความรู้จากโครงการครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางด้านภูมิสารสนเทศ และการใช้ Google Earth นอกจากนั้นยมีการใช้โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ ผมยังได้มิตรภาพที่ดีจากโรงเรียนอื่นๆ ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน” โฟร์ค-เกริกเกียรติ มีทุน ทิ้งท้าย

 

ที่มา: นิตยสาร plook ฉบับที่ 48 เดือนธันวาคม 2557

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow