Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กฝึกงาน : สู่เส้นทางนักพัฒนาเกม

Posted By Plook Magazine | 01 ก.ค. 57
1 Views

  Favorite

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก

สู่เส้นทางนักพัฒนาเกม

Mecha Monkey

“Mecha Monkey” คือสุดยอดเกมอันดับหนึ่งจากการแข่งขัน Good Game Developer Projects 2013 (Season 2) โครงการสานฝันนักพัฒนาเกมสู่มืออาชีพ ในความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด และ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลงานประกอบไปด้วยสี่หนุ่มจาก ICT ม.ศิลปากร ภายใต้ชื่อทีม “NGD” ได้แก่ ซิง-นพปฎล วิสุทธิกุล เต๋า-สันติ มาอุ่น บุ๊ค-วรวิช โกศลกิติวงศ์ และ ฉงน-เวทิศ จริงจิตร โดยมี บริษัท แอดวานซ์ อินเทลลิเจนซ์ โมเดิร์นนิตี้ จำกัด (AIM) เป็นสตูดิโอเกมที่ปรึกษา

Mecha Monkeyลิง กวน เกรียน
เรื่องราวของ “Tamo” ตัวละครหลักที่อาศัยในป่าอันสุดแสนพิลึก ผู้เล่นต้องปกป้องมันจากเจ้าลิงตัวร้ายโดยสร้างกับดักต่างๆ และใช้พลังที่ซ่อนไว้ของกับดักนั้นๆ ชื่อเกม “Mecha Monkey” มาจากคำว่า mechanic monkey คาแรกเตอร์ของลิงที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรง ปีนต้นไม้ไม่เก่ง แต่มีความฉลาดเชี่ยวชาญในการสร้างอุปกรณ์ เครื่องกล

ทำไมต้องเป็นลิง “ฉงน” ให้คำตอบว่า “ถ้าเราพูดถึงสัตว์ที่รวบรวมความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ ความเฮฮา ความซ่าบ้าบิ่น สิ่งแรกที่ผมนึกถึงคือลิง เพราะลิงมันเกรียน สนุก เฮฮา และอยู่ไม่สุข ลิงต้องอยู่ในป่า แต่ป่าธรรมดามันไม่เวิร์ก ต้องเป็นป่าแฟนตาซีเล็กๆ เราอยากให้เกมหักมุมด้วยความตลกเฮฮา ลิงเราเลยไม่ปีนต้นไม้ครับ ลิงมุดดินไปข้างล่าง อันนี้คือเป็นแกนหลักที่เราเลือกดีไซน์ครับ”

เมื่ออธิบายถึงเทคนิคของเกม “เต๋า” เล่าว่า “เกมของเราเป็นเกมทาวเวอร์ดีเฟนซ์ สร้างป้อม ป้องกันศัตรูไม่ให้มาโจมตี เราคิดว่ามีทางอื่นไหมที่จะดีไซน์เกมให้ดูแปลกใหม่และน่าตื่นเต้น เราจึงเปลี่ยนเกมเป็นแนวตั้ง เน้นสร้างป้อมที่มุมแล้วศัตรูก็จะร่วงลงมาแทน ผสมผสานเรื่องฟิสิกส์ ใช้แรงโน้มถ่วงมาเกี่ยวข้องก็คือกับดัก จากแต่ก่อนเกมอื่นจะเน้นโจมตีให้ศัตรูตาย แต่เกมเราจะใช้แรงกระทำให้มันเด้งขึ้นไป ลอยขึ้นไป เป็นการทำคอมโบ และเพิ่มเติมในส่วนของเกมทาวเวอร์ดีเฟนซ์ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการนั่งดูให้มันยิงๆ ไป แต่เกมเราจะเพิ่มความเป็นแอ็คชั่น มีภาพมีเสียงที่พอเรากดๆ เข้าไปในระหว่างเล่นก็จะสนุกไปกับหน้าจอได้ไม่เบื่อ”

พัฒนาเกม พัฒนาฝีมือคนทำเกม
ทีม NGD ใช้เวลากว่าเจ็ดเดือนในการพัฒนาเกมขึ้น “เต๋า” เปิดเผยถึงความยากในการทำงานว่า “งานส่งต่อกันกับกราฟิก ซิงเป็นคนดีไซน์ป้อมเป็นภาพนิ่ง แล้วฉงนเป็นแอนิเมเตอร์ก็ต้องแอนิเมท และผมเป็นโปรแกรมเมอร์ก็ต้องทำให้มันใช้งานได้ ประเด็นคืองานของซิงทำเสร็จแล้ว ยากตรงที่ว่าเราต้องจินตนาการว่าคนต่อไปจากเราจะทำมันได้อย่างไรต่อ”

การประกวดในรอบแรกเป็นการนำเสนอเรื่องรูปแบบแนวคิดของเกม การออกแบบระบบเกม เมื่อผ่านเข้าสู่รอบต่อไป ทีมจะต้องทำต้นแบบหรือ prototype นำเสนอกับคณะกรรมการ ซึ่งจะมีสตูดิโอมาร่วมตัดสินด้วยเพื่อคัดเลือกทีมเข้ารอบที่ต้องการมาร่วมกันพัฒนาเกมต่อเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากผ่านการทดสอบจนสมบูรณ์แบบจึงเข้าสู่การตัดสินผู้ชนะเลิศ จากชิ้นงานแรกที่ทุกคนในทีมเห็นว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยว แต่เมื่อได้รับการขัดเกลาจากสตูดิโอเกมก็เสริมความแข็งแกร่งจนสามารถคว้ารางวัลมาได้

หนึ่งเดือนที่สตูดิโอคือการเรียนรู้จากมืออาชีพ “พวกผมไปทำงานกันที่ AIM หนึ่งเดือน ช่วงเวลานั้นทำให้ผมได้ค้นพบความจริงว่าตัวเองอยู่ในจุดไหนของนักพัฒนาด้วยกัน อยู่ในจุดต่ำสุดครับ เลยโดนขัดเกลาอย่างหนัก แล้วก็ทำให้ฝีมือของแต่ละคนพัฒนาทุกด้าน ทั้งกราฟิก ทั้งโปรแกรมมิ่ง เหมือนเป็นก้าวกระโดดครับ” “ฉงน” ยอมรับ เช่นเดียวกับ “บุ๊ค” มือกราฟิกของทีมที่เปิดเผยว่า “นอกจากพัฒนาเกมยังได้พัฒนาตัวเองด้วย แต่ก่อนเป็นคนทำกราฟิกไม่ค่อยสวย แต่พอทำเกมนี้ก็ได้พัฒนาฝีมืออย่างเยอะครับ ทำให้ตัวเองมีความสามารถมากขึ้น”

Mecha Monkey

เกมต้องมีมากกว่าความสนุก
“นักพัฒนาเกมส่วนมากคิดว่าเกมตัวเองสนุกแล้วทุกคนต้องสนุกตาม จริงๆ แล้วไม่ เราทำเกมให้คนอื่นเล่นไม่ใช่ทำให้เราเล่นเอง” “ฉงน” เชื่อว่าสิ่งที่ดึงดูดให้คนมาเล่นเกมใดเกมหนึ่งได้นั้น ปัจจัยหลักคือหน้าตาของเกมที่จะทำให้ผู้เล่นเลือกกดปุ่มเพลย์ จากนั้นเมื่อเล่นแล้วผู้เล่นได้อะไรตอบแทนนอกจากความสนุกสนาน แถมด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เล่น ซึ่งทีม NGD กำลังพัฒนาเกมไปในขั้นต่อไป

ขณะที่ “ซิง” เสริมทิ้งท้ายว่า “การทำเกมไม่ใช่ว่ามีไอเดียเราก็ทำ มีฝีมือเราก็ทำ แต่มันเป็นอะไรที่ต้องใช้จินตนาการ ใช้ความตั้งใจมากๆ เพราะมันกินระยะเวลา ต้องพยายามรักษาตัวเองให้มีกำลังใจที่จะทำ มีแรงทำต่อให้ได้”

 

ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 40 เดือนเมษายน 2557

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow